ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ผ่าระบบ “ทาสอยุธยา” คนยุคนั้นมีเสรีแค่ไหน? ทำไมปรากฏวลี “เสรีภาพอย่างเจ็บปวด”
ในยุคจารีตเราไม่อาจปฏิเสธเรื่องการแบ่งชนชั้นได้ หากตรวจจากข้อมูลและหลักฐานจะปรากฏทั้งเจ้าขุนมูลนายที่อยู่ชนชั้นบนของสังคม และกลุ่มชนชั้นล่าง นอกเหนือจากไพร่แล้วก็ยังมี “ทาส” ซึ่งเป็นชนชั้นต่ำสุดในสังคมจารีต
บทความ “ทาสอยุธยาในประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 10 ฉบับที่ 10 ประจำเดือนสิงหาคม ปี 2532 โดยชาติชาย พณานานนท์ ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าในสังคมมนุษย์มีการใช้ทาสมานานแล้ว ดังที่มีหลักฐานชาวสุเมเรียนแห่งเมโสโปเตเมียใช้ทาสมาตั้งแต่ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล
สำหรับการศึกษาทาสในสมัยอยุธยานั้น ชาติชาย ใช้ข้อมูลหลักฐานจากศิลาจารึกสมัยอยุธยา บันทึกร่วมสมัยของชาวต่างชาติ และประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 เป็นหลักฐานในการศึกษา
ชาติชายระบุว่า หลักฐานทั้งสามชิ้นที่เขานำมาศึกษาพบว่า ศิลาจารึกในสมัยอยุธยาให้ข้อมูลเรื่องทาสได้ไม่มากนักแต่ก็พอใช้ตีความได้ ส่วนบันทึกร่วมสมัยของชาวต่างชาติมีไม่กี่คนที่บันทึกเกี่ยวกับ “ทาสอยุธยา” และก็เป็นการบันทึกเพียงสั้นๆ แต่สามารถนำมาใช้ประกอบเพื่อยืนยันกับหลักฐานฝ่ายไทยได้ ส่วนประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 ให้ข้อมูลเรื่องทาสมากที่สุด ซึ่งชาติชายใช้หลักฐานชิ้นนี้เป็นแกนกลางในการศึกษา
แต่มีปัญหาอยู่ว่า ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 ที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์จะยังคงเนื้อความของกฎหมายอยุธยาไว้มากน้อยเพียงใด อีกปัญหาที่มีการถกเถียงคือ กฎหมายของอยุธยาที่เขียนขึ้นมีการนำไปปฏิบัติกับทาสมากน้อยเพียงใด หรือเพียงแค่เขียนขึ้นไว้ในแผ่นกระดาษเท่านั้น
แม้มีการถกเถียงประเด็นดังกล่าว แต่ชาติชายก็ยังคงใช้ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 ในการศึกษาเรื่อง ทาสอยุธยา เขาระบุเหตุผลว่าสมัยรัชกาลที่ 1 ยังเป็นสังคมแบบอยุธยา คนก็เป็นคนจากอยุธยา ดังนั้น กฎหมายก็ควรเป็นกฎหมายที่สะท้อนให้เห็นภาพของอยุธยา ซึ่งชาติชายยืนยันว่ากฎหมายดังกล่าวต้องสะท้อนภาพของอยุธยาได้อย่างน้อยก็ในสมัยปลายอยุธยา และอีกประการคือ ส่วนใหญ่ประมวลกฎหมายของรัชกาลที่ 1 ยังคงใช้มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5
สาเหตุการเป็น “ทาสอยุธยา”
สำหรับสาเหตุของการเป็นทาสในอยุธยา ชาติชาย ระบุไว้ 3 สาเหตุคือ
สาเหตุแรกเกิดจากการเมืองซึ่งเป็นพวกที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองอื่นๆ หรือ “เชลย” นี่เป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองในการบั่นทอนกองกำลังฝ่ายตรงข้ามและเพิ่มกำลังให้ฝ่ายตน
สาเหตุที่สองคือด้านเศรษฐกิจ แรงงานเป็นกำลังสำคัญในระบบเศรษฐกิจอยุธยา สังคมอยุธยาขาดแรงงานไม่ได้ ทาสจึงเป็นแรงงานที่สำคัญในการผลิตเพื่อป้อนผลผลิตให้อยุธยา
สาเหตุที่สามเป็นเงื่อนไขทางสังคม เช่น บิดามารดาเป็นทาส ลูกที่ออกมาก็ต้องเป็นทาส บทลงโทษทางกฎหมายหากผู้ใดทำผิดก็ถูกลงโทษให้เป็นทาส อีกทั้งค่านิยมในสมัยนั้นยกย่องคนที่มีทาสเป็นจำนวนมากว่า เป็นคนที่มีเกียรติ คนเหล่านี้จึงต้องการทาสมาเสริมบารมี ทาสจึงเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย
ประเภททาส
สำหรับประเภททาสในสมัยอยุธยาที่ชาติชายแบ่งมีหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็มีเกณฑ์การแบ่งที่แตกต่างกันไป มีดังนี้
ประเภทแรก แบ่งตามสภาวะความเป็นทาสได้เป็นสองกลุ่มคือ “ทาสถาวร” เป็นทาสไปชั่วชีวิต ไม่สามารถเป็นอิสระได้ แต่มีเงื่อนไขพิเศษที่จะมีอิสระคือเมื่อนายปลดปล่อย หรือนายให้บวชเป็นพระ หรือเข้าร่วมสงคราม และ “ทาสชั่วคราว” เป็นทาสที่อยู่ภายใต้กฎหมายข้อตกลงระหว่างนายกับทาสซึ่งสามารถเป็นอิสระได้ เช่น ทาสไถ่ไม่ขาดค่า
ประเภทที่สอง แบ่งตามลักษณะเจ้าของทาส แบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ “ทาสของกษัตริย์” ส่วนใหญ่เป็นทาสเชลยและผู้ถูกลงโทษให้เป็นทาส “ทาสของสถาบันศาสนา” เป็นทาสถาวรที่อุทิศให้ศาสนารวมถึงคนทั่วไปที่อุทิศตนเองเพื่อการศาสนา และ “ทาสของเอกชน” เช่น ทาสสินไถ่ ทาสในเรือนเบี้ย ทาสเบ็ดเตล็ด
ประเภทที่สาม แบ่งตามหน้าที่ ทาสประเภทนี้อาศัยการทำงานเป็นตัวกำหนด ประกอบด้วย ทาสบริการคอยรับใช้เจ้านาย และทาสทำการผลิตทำหน้าที่ผลิตสินค้า
ทั้งนี้ ชาติชาย ได้สันนิษฐานเรื่องสถานะทางกฎหมายของทาสว่า ทำไมทาสจำยอมกับทาสเบ็ดเตล็ดถึงไม่มีสถานะทางกฎหมาย
ผู้ศึกษาสันนิษฐานว่า เป็นเพราะกฎหมายนั้นอาจสูญหายไปหรือรัชกาลที่ 1 อาจจะออกกฎหมายอื่นมาทดแทน หรือกฎหมายเกี่ยวกับทาสจำยอมและทาสเบ็ดเตล็ดอาจจะไม่มีก็ได้
ชาติชายระบุต่อโดยอ้างตามพระไอยการทาสที่กล่าวถึงทาสสินไถ่ประเภทชั่วคราว โดยระบุว่าจากประเภทและสถานะของทาสพอจะประมวลได้ว่า ทาสสินไถ่ประเภทชั่วคราวมีสถานะเป็นแรงงาน เพราะมีศักยภาพในการผลิต ทั้งนี้แรงงานยังมีสถานะเป็นสินค้าที่สามารถขายฝาก จำนำ หรือใช้หนี้ได้ กล่าวคือทาสมีสถานะเสมือนสิ่งของที่เจ้านายจะทำอะไรก็ได้
สถานะทางสังคมของทาส
ส่วนสถานะทางสังคมของ ทาสอยุธยา นั้นเป็นไปตามโครงสร้างทางสังคมที่ประกอบด้วย 2 ชนชั้นคือชนชั้นผู้ปกครอง และชนชั้นที่ถูกปกครอง แน่นอนว่าทาสมีสถานะทางสังคมที่เป็นผู้ถูกปกครอง แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือทาสจะต้องรับใช้ทั้งชนชั้นผู้ปกครองและชนชั้นที่ถูกปกครอง ดังนั้นทาสจึงมีสถานะที่ต่ำที่สุดในสังคม
นอกจากนั้นชาติชายยังกล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ของทาสว่า ทาสเป็นเครื่องหมายแห่งเกียรติยศ ผู้ที่มียศถาบรรดาศักดิ์หรือผู้ที่มีความมั่งคั่งเท่านั้นจึงจะมีทาส และทาสมีหน้าที่รับใช้พวกเจ้านายภายในบ้าน และหน้าที่ในการผลิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำงานในภาคเกษตรกรรม อีกทั้งทาสยังมีบทบาทเป็นฐานอำนาจในแง่จำนวนของกำลังคนภายในรัฐ
สำหรับทาสเชลย อันเป็นทาสที่ถูกกวาดต้อนมายังอยุธยาในวาระต่างกัน มีปรากฏในพงศาวดารหลายฉบับ บางส่วนพระมหากษัตริย์เก็บไว้เป็นของส่วนพระองค์ บางส่วนแจกจ่ายเป็นรางวัลแก่ข้าราชการ หรือแม่ทัพนายกอง จึงกล่าวได้ว่า การจับคนมาเป็นทาสมีนัยยะสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจ ในแง่นามธรรมหมายถึงเกียรติยศ ส่วนรูปธรรมเจ้าของทาสก็ได้แรงงานบริการรับใช้ และหน้าที่ในการผลิตด้านเกษตรกรรม
สภาพชีวิต ทาสอยุธยา
ในส่วนของสภาพชีวิตทาสนั้น ชาติชายระบุว่า ในทางกฎหมายได้เขียนว่า เจ้าของทาสต้องเลี้ยงดูทาส การทอดทิ้งทาสจะทำให้เจ้าทาสสิ้นสุดการเป็นเจ้าของในตัวของทาสนั้น นอกจากนี้ กฎหมายก็ยังให้เจ้าของทาสสามารถลงโทษทาสได้ แต่หากกระทำรุนแรงมากไป เจ้าของทาสต้องจ่ายค่าตัวทาส หรือหากทำให้ทาสเสียชีวิต เจ้าของทาสจะต้องรับโทษถึงชีวิต
กิจกรรมการขายตัวเป็นทาสในอยุธยาดูเหมือนว่าจะเป็นกิจกรรมที่แพร่หลาย ซึ่งเรื่องนี้พบในบันทึกของชาวต่างชาติ การแพร่หลายดังกล่าวทำให้รัฐต้องออกมาควบคุมโดยออกกฎหมายพระไอยการทาส มีรายละเอียดอันรอบคอบเพื่อคุ้มครองทาส และควบคุมเกี่ยวกับการซื้อขายทาส พันธะของทาส และบทลงโทษต่างๆ
ชาติชาย กล่าวไว้ว่า แม้ภาพชีวิตของทาสอยุธยาที่กล่าวมาอาจดูสวยหรูไปสักหน่อย แต่ความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคงเป็นไปได้ยากที่ทาสจะไม่โดนกดขี่หรือถูกทำร้ายร่างกายเลย
ประเด็นที่นำมาศึกษาเพิ่มด้วยคือ มุมมองของชาวต่างชาติที่บันทึกไว้ว่า ทาสแม้จะเป็นทาสในเรือนเบี้ยแต่มักจะได้รับการปฏิบัติอย่างละมุนละม่อมและฉันมิตร บางคนตั้งข้อสังเกตว่าดูเหมือนว่าเสรีภาพจะเป็นสิ่งที่หน้าเจ็บปวดกว่าการเป็นทาสเสียอีก ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าสภาพชีวิตของทาสอยุธยาไม่ได้เลวร้ายแต่มีชีวิตที่ดีพอสมควร จากตรรกะและหลักฐานที่ปรากฏ ผู้เขียนมองว่า “สภาพชีวิตของทาสอยุธยามิได้เลวร้ายในสายตาคนอยุธยาและต่างชาติ”
“เสรีภาพอย่างเจ็บปวด” ของประชาชนกรุงศรีฯ ?
แต่ในอีกแง่หนึ่ง เสรีภาพของทาสในมุมมองของผู้ศึกษาเรื่องทาสนั้น กลับมองว่าเป็นสิ่งที่เจ็บปวดกว่าการเป็นทาส กล่าวคือ คนที่มีเสรีภาพคือคนที่ไม่ใช่ทาส คนที่ไม่ใช่ทาสส่วนใหญ่เป็นไพร่
“เสรีภาพ” เป็นสิ่งที่เจ็บปวดสำหรับคนที่มีเสรีภาพ เป็นเพราะ ไพร่ (คนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ใช่ทาส) ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน หรือสิ่งชดเชยให้รัฐหรือกษัตริย์เป็นเวลา 6 เดือน ดังนั้น บันทึกของชาวต่างชาติที่กล่าวถึงทาสในทางบวก และเห็นได้ว่ากล่าวถึงไพร่ในทางลบและน่าสงสาร เช่นนี้ย่อมหมายความว่า ระบบไพร่ หรือการเกณฑ์ที่ใช้ในสมัยอยุธยาต่อจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์คือระบบที่ทำให้เสรีภาพ เป็นสิ่งที่น่า “เจ็บปวด”
การเกณฑ์แรง 6 เดือนต่อปีย่อมส่งผลต่อการผลิต โดยเฉพาะในยุคนั้นที่เป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพ ประชากรทำนาเป็นหลัก ยิ่งเมื่อถูกเกณฑ์ไปช่วงฤดูทำนาหรือเก็บเกี่ยวก็ยิ่งส่งผลต่อการผลิต ขณะที่การจ่ายเงินแทนเข้าเวรเกณฑ์แรงงาน 12-15 บาทต่อปี ก็ดูเหมือนเป็นทางเลือกหนึ่ง
แต่หากพิจารณาอัตราค่าเงินในเวลานั้น ชาวต่างชาติผู้หนึ่งบันทึกว่าเงิน 12 บาทในปลายศตวรรษที่ 17 เป็นจำนวนที่คนหนึ่งใช้ดำรงชีพได้ตลอดปี อีกรายหนึ่งบันทึกว่า โดยเฉลี่ยแล้วขายตัวกันในราคา 4-6 บาท ผู้เขียนจึงอธิบายว่า
“เงินที่จะจ่ายแทนการเข้าเวรเกณฑ์แรงจำนวน 12-15 บาทต่อปีจึงเป็นอัตราที่สูงมาก จนชาวไร่ชาวนาธรรมดาคงยากที่จะหามาจ่ายได้ ในขณะที่ไพร่ชายมีภาระดังกล่าวนี้ ทาสกลับได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์แรงงาน นี่เอง ‘เสรีภาพ’ จึงเป็นสิ่งที่ ‘เจ็บปวด’ กว่า”
อ่านเพิ่มเติม :
- ข้อมูลเรื่องข้าวปลายสมัยอยุธยายืนยัน “กรุงศรีอยุธยา” เมืองอู่ข้าวอู่น้ำตัวจริง
- คลายข้อสงสัย คนกรุงศรีอยุธยา “หน้าตา” เป็นอย่างไร?
อ้างอิง :
ชาติชาย พณานานนท์. “ทาสอยุธยาในประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1, ใน“ ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 10 ฉบับที่ 10 : สิงหาคม 2532. หน้า 96 – 113.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มีนาคม 2563