อักษรจีนบน “หุ่นทหารดินเผา” สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ หมายถึงอะไร?

ทหารดินเผา สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้
หทารดินเผาสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ (ภาพพื้นหลังจาก pixabay.com - public domain)

ทหารดินเผา สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ จำนวนมหาศาลนับพันนาย แต่ละตัวมีรายละเอียดและเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกัน จนถึงกับมีคำกล่าวกันว่า ช่างสมัยนั้นอาจปั้นหุ่นโดยมีทหารจริง ๆ มา เป็นแบบให้ แต่จากการศึกษาในชั้นหลังพบว่าเป็นกรรมวิธีในการผลิตที่ใช้แม่พิมพ์ขึ้นรูป ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ แล้วค่อยเก็บรายละเอียดภายหลัง

หุ่นดินเผาแบ่งออกเป็น 6 ประเภท คือ

ทหารราบ Infantry พบมากที่สุด มีลักษณะยืนถืออาวุธ มักสวมเกราะ มีทั้งระดับชั้นสามัญ และระดับนายพล

ทหารม้า Cavalry Warriors พบในหลุมขุดค้นที่ 2 มีลักษณะเป็นทหารชุดเกราะ หมวกทรงกลม ยืนประจำหน้าหุ่นม้าดินเผาของตัวเอง

ทหารรถม้าศึก Chariot Warriors พบรถม้าศึกทำด้วยไม้อยู่ราว 140 คัน มีความแตกต่างกันไปตามระดับชั้น จากรถม้าบัญชาการไปจนถึงรถม้าศึกสามัญ พร้อมทหารประจำรถม้าทั้งพลขับ และนายพล

พลธนูในท่าชันเข่า Kneeling Archers อยู่ในท่าน้าวธนูพร้อมยิง สวมชุดยาวทับด้วยเกราะ และรองเท้าทรงสี่เหลี่ยม ด้วยท่านั่งชันเข่า ทำให้มองเห็นพื้นรองเท้าที่มีลวดลายเหมือนจริง

พลธนูในท่ายืน Standing Archers ยืนน้าวธนูเตรียมพร้อมวางเท้าโดยแบะปลายเท้าซ้ายออกไปข้างลำตัว สวมชุดยาวถึงเข่า เกล้ามวยผม

ม้าศึกดินเผา Terracotta Horses พบอยู่ราว 600 ตัว มีขนาดเท่าตัวจริง รูปทรงกำยำล่ำสันตามแบบของม้าศึกสมัยฉิน แบ่งเป็นม้าศึกของทหารม้า และม้าเทียมรถศึก ซึ่งต่างกันตรงอานม้าที่ใช้

หุ่นดินเผาเหล่านี้ หากสังเกตจะมีตัวอักษรปรากฏอยู่ มีตั้งแต่น้อยสุด 2 ตัวอักษร จนมากสุด 11 ตัวอักษร นอกจากจะระบุชื่อผู้สร้าง ก็มีช่วงเวลาในการผลิต บ้างเป็นรอยเขียนอย่างบรรจง บ้างเป็นรอยขีดหยาบ ๆ

อักษรจีนที่ปรากฏบนหุ่นดินเผา (ภาพจาก หนังสือ พลิกสุสาน อ่านจิ๋นซี)

นักโบราณคดีทำการแบ่งตัวอักษรในหุ่นแต่ละตัวที่พบได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ

กลุ่มที่ 1 มีตัวอักษร 宫 นำหน้าชื่อช่างที่ทำ 宫 หมายถึง วัง จึงน่าจะหมายถึง ช่างในสังกัดวัง

กลุ่มที่ 2 มีตัวอักษร 大 และ 右 หมายถึง 大匠 หน่วยงานช่างฝีมือ และแม่กองก่อสร้างฝ่ายขวา 右司空

กลุ่มที่ 3 มีชื่อเมืองนำหน้าชื่อช่าง หมายถึง นายช่างคนนี้มาจากเมืองนี้

ทั้งนี้ พบอักษรว่ามีนายช่างจาก เสียนหยาง มากที่สุด เนื่องจากเป็นเมืองหลวงของแคว้นฉิน ย่อมเป็นที่รวมของผู้คนมีฝีมือไว้มากมาย

กลุ่มที่ 4 มีเพียงชื่อตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว

ตัวอักษรเหล่านี้ทำให้นักวิชาการเข้าใจกระบวนการผลิตที่เป็นระบบของโครงการก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ของสุสานจิ๋นซี ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงผู้ผลิตหุ่นดินเผาแต่ละตัวได้ว่า ใครเป็นผู้ผลิต ผลิตจากหน่วยงานไหน เรียกได้ว่าเป็นระบบ “QC” (Quality Control) ของจีนยุคโบราณก่อนคริสตกาล ที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพ และตรวจสอบการผลิต เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

อักษรที่ปรากฏบน ทหารดินเผา ใน สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ ยังสามารถบ่งบอกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ดีอีกด้วย เช่น จารึกบนอาวุธสำริดที่ระบุชื่อ “หลี่ว์ปู่เหวย” พร้อมปีการผลิต มีตั้งแต่ปี 244 ก่อนคริสตกาล จนถึงปี 237 ก่อนคริสตกาล ซึ่งนั่นเป็นช่วงที่ “หลี่ว์ปู่เหวย” อัครเสนาบดีของแคว้นฉินกำลังครองอำนาจอยู่

ปี 224 ก่อนคริสตกาลนั้นอยู่ในช่วงที่ “จิ๋นซีฮ่องเต้” เพิ่งปกครองแคว้นฉินได้เพียง 2 ปี และยังอยู่ภายใต้อิทธิพลและอำนาจของ “หลี่ว์ปู่เหวย” ส่วนปี 237 ก่อนคริสตกาล เป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่ “หลี่ว์ปู่เหวย” จะตกอับ หมดอำนาจ และถึงแก่กรรม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สมชาย จิว. (2563). พลิกสุสาน อ่านจิ๋นซี. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2565