ลบภาพลายรดน้ำ สมัยรัชกาลที่ 3 ที่วัดโพธิ์ ?!?

วัดโพธิ์หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ในบรรดาเรื่องน่าสังเวชที่พานพบมาหลายร้อยเรื่อง ผู้เขียนเห็นว่ากรณีวัดโพธิ์ กรุงเทพฯ ลบภาพลายรดน้ำอันล้ำค่าสมัยรัชกาลที่ 3 ในพระอุโบสถทิ้งเป็นเรื่องสุดยอดของความน่าสังเวชอย่างหนึ่งที่ควรนำมาย้ำถามหาความจริงกันอีกสักครั้ง

ถามทั้งทางวัดโพธิ์และทางกรมศิลปากรกันใน “ศิลปวัฒนธรรม” แห่งนี้เลย โดยไม่ต้องอาศัยสถานการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะนึกไม่ออกว่าเกิดขึ้นกับวัดใหญ่กลางพระนครได้อย่างไร ทั้งเกิดในยุคที่คนพอจะรับทราบข่าวสารเรื่องการอนุรักษ์ของเก่าแล้วด้วย เป็นข้อสงสัยที่ค้างคาใจมานานสิบกว่าปีแล้ว แต่ยังหาคำตอบไม่ได้

คุณค่าของภาพ

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ในพระอุโบสถวัดโพธิ์หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามมีภาพวาดสมัยรัชกาลที่ 3 อยู่ทั่วไป ทั้งบนฝาผนัง และบนบานหน้าต่าง (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงครองราชย์ตั้ง แต่ พ.ศ. 2357 ถึง พ.ศ. 2394 รวม 27 ปี ภาพต่างๆ จึงมีอายุประมาณ 150 ปี) แต่ละจุดล้วนมีคุณค่าน่าพิจารณาเนื้อหา และรายละเอียดทั้งสิ้น

บนฝาผนัง ท่านจะเห็นภาพผู้คน เรือแพ ตึกรามบ้านช่อง ตลอดจนการละเล่นแบบโบราณต่างๆ ละลานตาไปหมด แม้ภาพหุ่นหลวง หรือภาพเด็กขี่ม้าก้านกล้วยถือป๋องแป๋ง หรือภาพคนคลอดลูกก็มีให้ดู ในที่นี้บนบานหน้าต่าง ด้านบนท่านจะเห็นลายรดน้ำรูปพัดยศและลวดลายอันงามวิจิตร

ด้านล่างสุด เป็นภาพลายรดน้ำที่วาดจากเพลงกล่อมเด็ก กับนิทานสำหรับเด็ก ซึ่งน่าสนใจมากเพราะหาที่ไหนไม่ได้ มีทั้งภาพจากเพลงวัดเอ๋ยวัดโบสถ์ ตาลโตนดเจ็ดต้น บทร้องเล่นจิงโจ้โล้สำเภา นิทานเรื่องยายกับตาปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า นิทานเรื่องทำไมกระต่ายจึงหางสั้น จระเข้จึงไม่มีลิ้น และอื่นๆ อีกมาก ภาพด้านล่างสุดเหล่านี้แหละคือประเด็น

ลบฉลองกรุง

ประเด็นมีอยู่ว่า ก่อน พ.ศ. 2525 ภาพบนบานหน้าต่างด้านล่างทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนมากมายหลายสิบบาน อยู่ในสภาพดีเยี่ยม เนื้อรักสีดำที่รองพื้นอยู่หาได้แตกกะเทาะเสียหายแต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่

อยู่ดี ๆ ในปีฉลองกรุง พ.ศ. 2525 มีการซ่อมวัดโพธิ์ขึ้น ปรากฏว่าภาพเพลงกล่อมเด็ก นิทานสำหรับเด็กของเก่าถูกใคร ไม่ทราบสั่งลบทิ้งเสียสิ้น แล้วก็ให้นักวาดมือใหม่วาดภาพใหม่แทนลงไปทั้งหมด

สุดแสนสังเวชซ้ำสองก็คือ นอกจากจะให้ช่างฝีมือชั้นเลวมาวาดภาพด้วย ลายเส้นพื้น ๆ แทนช่างโบราณแล้ว นักวาดรุ่นใหม่นั้นยังหาได้เข้าใจเนื้อหาสาระเดิมของภาพไม่ ยกตัวอย่าง เช่น เพลงกล่อมเด็ก

1. “วัดเอ๋ยวัดโบสถ์   มีตาลโตนดเจ็ดต้น

ขุนทองไปปล้น   ป่านฉะนี้ไม่เห็นมา

คดข้าวใส่ห่อ   ถ่อเรือไปหา

เขาก็ร่ำลือมา   ว่าขุนทองตายแล้ว

เหลือกระดูกลูกแก้ว   เมียรักจะไปปลง

ขุนศรีถือฉัตร   ยกกระบัตรถือธง

ถือท้ายเรือหงส์   ปลงศพพ่อคุณ”

ของเดิมวาดภาพหญิงถ่อเรือสวนกับเรืออีกลำหนึ่ง กับวาดตาลโตนดเจ็ดต้นขึ้นอยู่ข้างๆ โบสถ์ นักวาดมือใหม่วาดเป็นคนพายเรือสวนกันหน้าโบสถ์ แต่ตาลโตนดหายหมด กลายเป็นต้นอะไรไม่ทราบสองต้น

(ภาพบน) ของเก่า ภาพประกอบเพลงกล่อมเด็กเจ้าขุนทอง-วัดโบสถ์ มีตาลโตนด 7 ต้น (เอนก นาวิกมูล ถ่ายเมื่อ 22 มี.ค.2523 ฟิลม์ขาวดำม้วนที่ 570) (ภาพล่าง) ของใหม่ ต้นตาลโตนด 7 ต้นหายไป กลายเป็นต้นไม้อื่น 2 ต้น เรือเก่าเปลี่ยนไป กลายเป็นเรือสำปั้น (เอนก นาวิกมูล ถ่ายเมื่อ 8 ม.ค.2532 ฟิลม์ขาวดำม้วนที่ 1435)

2. คำร้องเล่น “จิงโจ้ โล้สำเภา หมาในไล่เห่า จิงโจ้ตกน้ำ หมาในไล่ซ้ำ จิงโจ้ดำหนี ได้กล้วยสองหวี ทำขวัญจิงโจ้”

ของเดิมวาดเป็นจิงโจ้ในความคิดของคนสมัยรัชกาลที่ 3 คือสัตว์ประหลาดที่มีหัวเป็นคน ตัวเป็นนก เท้าเป็นนก กำลังเอาปีกเอาเท้าเกาะหัวเรือสำเภา มีหมากำลังยืนเห่าอยู่ตัวหนึ่ง (เรื่องนี้มีกล่าวอยู่ในหนังสือสาส์นสมเด็จ ให้ค้นดัชนีคำว่า จิงโจ้)

นักวาดมือใหม่วาดเป็นคนไม่สวมเสื้อผ้า กำลังทำท่าเกาะหัวเรือสําเภา ทั้งใบเรือ ต้นไม้ โขดหินก็เปลี่ยนแปลงหมด

(ภาพบน) ของเก่าประกอบบทร้องเล่น จิงโจ้โล้สำเภา หมาในไล่เห่าฯ คนสมัยรัชกาลที่ 3 จินตนาการให้ “จิงโจ้” เป็นสัตว์ประหลาดมีหัวเป็นคน มีปีกและเท้าอย่างนก (เอนก นาวิกมูล ถ่ายเมื่อ 22 มี.ค.2523 ฟิลม์ขาวดำม้วนที่ 570) (ภาพล่าง) ของใหม่จิงโจ้ของคนสมัยรัชกาลที่ 3 กลายเป็นคนเปลือยกาย (เอนก นาวิกมูล ถ่ายเมื่อ 8 ม.ค.2532 ฟิลม์ขาวดำม้วนที่ 1435)

3. นิทานพื้นบ้านเรื่องทำไมกระต่ายจึงหางสั้น จระเข้จึงไม่มีลิ้น (กระต่ายแต่ก่อนหางยาว วันหนึ่งกระต่ายลงไปดื่มน้ำ ถูกจระเข้งับ กระต่ายออกกลอุบายท้าให้จระเข้อ้าปากร้อง ฮ่า ฮ่า ฮ่า เมื่อจระเข้อ้าปาก กระต่ายก็กระโดดออกมาเต็มแรง เล็บเท้าอันแหลมคมของกระต่าย ทำให้จระเข้ลิ้นขาด ส่วนหางยาวของกระต่ายก็ถูกจระเข้งับจนขาด)

ทั้งของเก่าของใหม่วาดจระเข้กำลังงับ กระต่ายจนหางขาดเหมือนกัน แต่รายละเอียดอื่นๆ เช่น ระลอกน้ำ คันไม้ และโขดหิน นักวาดมือใหม่เปลี่ยนแปลงหมด

เมื่อปี 2523 ภาพยังอยู่

อันภาพลายรดน้ำวัดโพธิ์นี้ ผู้เขียนเคยไปถ่ายรูป ไว้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2523 (ฟิล์มขาวดำ ม้วนที่ 570) คือตั้งแต่ก่อนถูกลบทิ้ง แต่ถ่ายไว้เพียง 3 เรื่องดังยกตัวอย่างเท่านั้น เพราะไม่มีเงินพอจะถ่ายเก็บไว้ทั้งหมด ทั้งไม่คิดว่าจะเกิดเหตุร้ายแรงขึ้น หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยได้ไปวัดโพธิ์อีก กระทั่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2532 ไปเที่ยววัดโพธิ์อีกครั้ง ก็แทบผงะ เพราะภาพลายรดน้ำของเก่าหายหมด กลายเป็นภาพใหม่เอี่ยมอย่างที่บอก

ของใหม่ น่าจะประกอบคำร้องเล่น กระต่ายติดแร้ว ยายแก้วตีกลอง ยายแก้วกลายเป็นผู้ชาย ภาพของเก่าเป็นเช่นไรไม่ทราบ (เอนก นาวิกมูล ถ่ายเมื่อ 8 ม.ค. 2532 ฟิลม์ขาวดำม้วนที่ 1435)

ถามพระในโบสถ์ว่าทำไมจึงทำเช่นนี้ ท่านก็ได้แต่ตอบว่า ไม่ทราบ ใครสั่งลบ ท่านก็ไม่ทราบ ทางวัดเคยถ่ายภาพของเดิมไว้บ้างหรือไม่ก็ไม่ทราบ ทราบแต่ซ่อมปี 2525 เท่านั้น

เรื่องบันทึกภาพนี้ ผู้เขียนเคยพบว่าในหนังสือ “สงกรานต์ 2510” ที่วัดโพธิ์จัดทำ (ห้องสมุดเอนก นาวิกมูล) ทางวัดเคยนำภาพนิทานยายกับตามาลงไว้หนหนึ่ง รวม 4 หน้า หน้าละ 3 ภาพหรือ 3 ช่อง เริ่มแต่ยายกับตาปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า หลานไม่เผา กามากินถั่วกินงา ยายมายายด่า ตามาตาดี หลานไปขอให้นายพรานช่วยยิงกา นายพรานก็ไม่ช่วย หลานเที่ยวขอร้องใครๆ ให้ช่วยก็ไม่สำเร็จ ที่สุดไปได้แมลงหวี่ช่วยจัดการ เรื่องจึงเป็นอันจบ ภาพทั้ง 12 ช่องนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพลายรดน้ำทั้งหมด

อีกแหล่งหนึ่งคืออาจารย์สุกัญญา ภัทราชัย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์สุกัญญาผู้นี้แหละ บอกให้ผู้เขียนไปดูภาพลายรดน้ำตั้งแต่ยังไม่เกิดเหตุ อ.สุกัญญาเคยถ่ายภาพไว้จำนวนหนึ่ง แล้วร่วมกับ อาจารย์ศิรากรณ์ ฐิตะฐาน ที่ความภาพแต่ละภาพเอาไว้ ทั้งสองมีโครงการจะพิมพ์หนังสือเผยแพร่ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้พิมพ์จนกระทั่งบัดนี้ วัดโพธิ์ กรมศิลปากร ตลอดจนผู้รับเหมาเคยบันทึกภาพของเก่าทั้งหมดก่อน ลบทิ้งหรือไม่ ยังไม่มีคำตอบ

ด้วยความเสียดายและประหลาดใจเป็นที่สุด ผู้เขียนเคยนำเรื่องนี้มาเอ่ยถามในคอลัมน์ห้าแยกบันเทิง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 แต่ก็หามีใครแสดงความรับผิดชอบไม่ เป็นอันว่าประเทศนี้ใครจะทำอะไรกับสมบัติของชาติก้ได้

ปัจจุบัน

ช่วง 2-3 ปีหลังที่ได้ไปวัดโพธิ์ นักท่องเที่ยวมีสิทธิ์ชมพระอุโบสถได้เพียงพื้นที่ตรงหน้าพระประธาน นอกนั้นห้ามเข้า เพราะทางวัดตั้งนั่งร้านซ่อมภาพบน ฝาผนังหมดทั้งพระอุโบสถ

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ผู้เขียนลองแวะไปวัดโพธิ์อีกโดยหวังว่าจะได้เข้าชมภาพลายรดน้ำ กับภาพฝาผนังระหว่างช่องหน้าต่างบ้าง พบว่าซ่อมภาพเสร็จแล้วแต่ยังมีรั้วกั้นห้ามเข้าอย่างเก่า เป็นอันท่านที่สนใจไม่มีโอกาสเห็นว่าวัดโพธิ์จัดการกับภาพวาด ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างไร

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 สิงหาคม 2562