ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
ความเป็นมา “ถนน” สำคัญอย่าง สาทร สุรวงศ์ สี่พระยา ที่เกิดขึ้นเมื่อการซื้อขายที่ดินบูม
ไม่ว่าจะเป็นสมัยใด “ที่ดิน” ก็ยังเป็นทรัพย์สินที่น่าลงทุนในลำดับต้นๆ ปัจจุบัน ใครทุนน้อยก็ค่อยๆ ซื้อสะสม ใครทุนหนาก็กว้านซื้อที่ดิน โดยเมื่อเห็นว่า “ความเจริญ” ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า, หน่วยงานราชการ, การตัดถนนเส้นทางใหม่ ฯลฯ ที่กำลังจะไปถึงที่ดินบริเวณนั้นๆ
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรุงเทพฯ อยู่ในช่วงการเติบโตขยายบ้านเมือง การซื้อที่ดินสะสมเป็นการลงทุนที่ได้รับความนิยมเช่นกัน รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำรัสในเรื่องนี้ว่า “…การซื้อที่ดินตึกเรือนแลให้เช่า นั้นเปนการที่มีประโยชน์ยืดยาวชั่วบุตรและหลานเหลนสืบไป…”
โดยผู้ซื้อที่ดินรายใหญ่เวลานั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ 1. การซื้อที่ดินของทางการ มีพระคลังข้างที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดซื้อที่ดิน เนื่องจากพระคลังข้างที่ทราบข้อมูลล่วงหน้าว่าบริเวณใดจะมีการตัดถนน จึงสามารถซื้อที่ดินแต่ละแปลงไว้ก่อนที่จะมีการตัดถนน สามารถแบ่งขาย หรือให้เช่าได้กำไรดี
2. การซื้อที่ดินของเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นนำของประเทศ ได้แก่ เจ้านาย, ขุนนาง, พ่อค้า โดยเป็นการซื้อตามทางการ หรือออกไปกว้านซื้อที่ดินชานพระนครที่ราคาถูกกว่าไว้ล่วงหน้า แต่ก็ต้องประสบปัญหาว่าที่ดินดังกล่าวไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เพราะยังไม่มีถนนเข้าถึง เดินทางไม่สะดวก
เจ้าของที่ดินหลายราย จึงแก้ปัญหาด้วยการ “ตัดถนน” เสียเอง (ราคาที่ดินในเวลานั้นยังมีราคาไม่สูงเช่นปัจจุบัน) เพื่อให้ราคาที่ดินของตนสูงขึ้น ซื้อขายได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นก็น้อมเกล้าฯ ถวายถนนดังกล่าวให้เป็นถนนหลวง รัชกาลที่ 5 พระราชทานนามถนนให้มีนัยเป็นอนุสรณ์แก่บุคคลผู้ตัดถนนนั้นๆ
ถนนหลายสายในกรุงเทพฯ จึงมีที่มาจากชื่อตามเจ้าของที่ดินในบริเวณนั้นๆ เช่น
หลวงสาทรราชายุกต์ (ยม พิศลยบุตร) ดำเนินการตัด “ถนนสาทร”
พระยาสีหราชเดโชชัย (โต บุนนาค) ต่อมาคือ เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ ตัด “ถนนเดโช” และ “ถนน สุรวงศ์”
พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์) พระยาพิพัฒโกษา (เซเลสติโน ซาเวียร์), พระยานรฤทธิ์ราชหัช (ทองดี โชติกเสถียร), พระยานรนารถภักดี (สุด บุนนาค) และหลวงมนัศมานิต (เผล่ วสุวัต) ตัด “ถนนสี่พระยา”
ฯลฯ
การตัด “ถนน” ส่วนใหญ่ในขณะนั้น เป็นการตัดถนนจากที่ดินของตนเอง มาเชื่อมกับถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นถนนสายแรกของกรุงเทพฯ การตัดถนนเพิ่มเติมของเอกชนอย่างถนน สาทร สุรวงศ์ สี่พระยา นอกจากจะมีผลโดยตรงต่อการค้าขายที่ดินแล้ว ชื่อถนนที่พระราชทานยังเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ตัดถนน และความสะดวกของประชาชนในการเดินทางเป็นประโยชน์ทางอ้อม
อ่านเพิ่มเติม :
- แยกท่าพระ กรุงเทพฯ เคยมีผลไม้? อร่อยขึ้นชื่อจนที่อื่นสู้ไม่ได้
- เจ้าของ “โฉนดที่ดิน” ฉบับแรกของไทย กับจุดเริ่มต้นการทำแผนที่และโฉนดแบบใหม่
- เปิดที่มาชื่อ “สามย่าน” แหล่งเรียน แหล่งเที่ยว ศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพฯ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมือง. สำนักพิมพ์มติชน พิพม์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2538.
อาทิพร ผาจันดา. 100 ปี ถนนเจริญกรุงกับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2411-2511), ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีการศึกษา 2564.
เผยแพร่ในะรบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มกราคม 2565