ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2546 |
---|---|
ผู้เขียน | ปรามินทร์ เครือทอง |
เผยแพร่ |
ราว 50 ปีที่แล้ว (นับจาก พ.ศ. 2546 – กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม) จากการขุดรากสะพานเดชาติวงศ์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จังหวัดนครสวรรค์ ทำให้พบซากฟอสซิล ช้างดึกดำบรรพ์ โดยบังเอิญ ประมาณ 6 ชิ้น ในจำนวนนี้มีชิ้นสำคัญเป็น “กรามช้างโบราณ” ที่ทำให้สามารถระบุชนิดของช้างได้ ว่าเป็นช้างตระกูลไหน พันธุ์ไหน
ผู้ที่สนใจเข้าไปศึกษากระดูกกรามช้างชิ้นนี้คือ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ซึ่งได้ส่งให้บริติชมิวเซียม และจีโอโลจิคอล โซไซเอตี ในประเทศอังกฤษ ตรวจสอบ พบว่าเป็น “กรามช้างโบราณ” พันธุ์ Stegodon insignis อยู่ในยุคไพลสโตซีน อายุราว 2,000,000-10,000 ปี การค้นพบครั้งนี้สร้างความตื่นเต้นให้กับแวดวงนักวิทยาศาสตร์ไทยได้พอสมควร
อย่างไรก็ดีการค้นพบโดยบังเอิญครั้งนั้น หรืออีกหลายครั้งต่อมา ก็ไม่ได้ทำให้หน่วยงานใดทำการศึกษาขุดค้น ช้างดึกดำบรรพ์ อย่างจริงจัง
หลังจากนั้นก็มีการพบซากช้างโบราณโดยบังเอิญอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะทางภาคเหนือของไทย เช่นที่เหมืองถ่านหินลิกไนต์ อำเภองาว จังหวัดลำปาง พบฟันและงาส่วนล่างของ สเตโกโลโฟดอน (Stegolophodon) เช่นเดียวกับที่เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และที่อำเภอปง จังหวัดพะเยา พบงาช้างโบราณสภาพสมบูรณ์ มีอายุราว 14-17 ล้านปี เป็นต้น
การพบในลักษณะนี้เป็นการค้นพบโดยบังเอิญจากการทำเหมือง ไม่ได้เป็นการขุดค้นตามหลักวิชาการ ทำให้ซากชิ้นส่วนกระจัดกระจาย ยากต่อการกำหนดอายุจากชั้นดิน และการศึกษาอย่างละเอียด
ล่าสุดเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว (ราว 30 ปี ในปัจจุบัน) ได้ค้นพบ “สุสานช้างโบราณ” แหล่งมหึมา ซึ่งมีซากบรรพบุรุษช้างโบราณในยุคต้นๆ ของสายวิวัฒนาการของช้าง จากการขุดบ่อทราย ริมแม่น้ำมูน ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา มีอายุราว 13-15 ล้านปี
ประมาณกันว่าในเขตพื้นที่นับหมื่นไร่นี้ อาจมีซากช้างโบราณในเขตพื้นที่นี่ไม่น้อยกว่า 1,000 ตัว หากมีการขุดค้นอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และเป็นไปได้ว่าพื้นที่นี้จะเป็นสุสานช้างขนาดใหญ่ และที่มีความสำคัญในระดับโลก (ปัจจุบัน ได้มีการจัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑ์ ช้างดึกดำบรรพ์ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน จังหวัดนครราชสีมา-กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)
ช้างโบราณ
เมื่อหมดยุคไดโนเสาร์ซึ่งครองโลกยาวนานกว่า 100 ล้านปี ก่อนจะสูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 65 ล้านปีก่อน สัตว์ชนิดอื่นๆ ก็ได้มีโอกาสครอบครองพื้นที่หากินแทน โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งมีสมองใหญ่กว่า ได้มีวิวัฒนาการสายพันธุ์ต่างๆ ขยายออกไปจนขึ้นมาครองโลกแทนไดโนเสาร์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์หนึ่งที่มีวิวัฒนาการต่อเนื่องหลังจากยุคไดโนเสาร์ จนกระทั่งกลายเป็นสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันคือช้าง
เพื่อให้การศึกษาเป็นไปอย่างมีระบบ นักโบราณบรรพชีวิน (Paleontologist) ได้จําแนกแยกย่อยสิ่งมีชีวิต เป็นชั้น เป็นกลุ่ม หรือทำอนุกรมวิธาน (Classification) เพื่อสะดวกต่อการศึกษา
ช้างถูกจัดอยู่ในชั้น (Class) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในชั้นนี้ยังแยกออกเป็น อันดับ (Order) อีก 20 อันดับ เช่น มนุษย์ กับลิง อยู่ในอันดับ ไพรเมต (Primates) ส่วนช้างอยู่ในอันดับ โปรบอสซิเดีย (Proboscidea) หมายถึงสัตว์มีงวง
ในอดีตกาลโปรบอสซิเดียมีอยู่มากกว่า 162 ชนิด (Species) อาศัยอยู่ทั่วไปทุกทวีป ยกเว้นออสเตรเลีย และแอนตาร์กติก แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 2 ชนิด คือ ช้างเอเชีย (Elephas maximus) กับช้างแอฟริกา (Loxodonta africana)
นอกจากนี้ยังมีการแยกชนิดออกเป็นสายพันธุ์ย่อยๆ (Subspecies) ได้อีก คือช้างเอเชียแยกเป็นสายพันธุ์ย่อยอีก 3 สายพันธุ์ คือ ช้างอินเดีย (Elephas maximus indicus) ช้างศรีลังกา (Elephas maximus maximus) และช้างสุมาตรา (Elephas maximus sumatranus) ส่วนช้างแอฟริกาแยกออกเป็น 2 สายพันธุ์ย่อยคือ ช้างทุ่ง (Loxodonta africana africana) และช้างดง (Loxodonta africana cyclotis)
คำเรียกชื่อช้าง
ช้างมีชื่อเรียกแตกต่างกันตามท้องถิ่นที่อยู่ เช่น ในประเทศเคนยา เรียกช้างว่า Ndovu ในภาษาเขียน หรือเรียกกันอีกอย่างว่า Tembo ซึ่งต่อมาพวกล่าสัตว์ หรือนักท่องเที่ยวเรียกเป็น Jumbo ในประเทศอินเดียเรียกช้างว่า Hastin หมายถึง “มีมือ” ชาวจีนเรียกช้างว่า Shiang ประเทศไทยเรียกว่า ช้าง ในภาษาอังกฤษคือ Elephant ผันมาจากภาษากรีก Elephas และ Elephantos หมายถึง สัตว์ตัวโค้งใหญ่ (huge arch)
นอกจากนี้ยังมีอีกข้อสันนิษฐานที่ว่า คำว่า elephant อาจเพี้ยนมาจากภาษาสันสกฤต ซึ่งเรียกช้างเอราวัณ คือ Airavata แล้วกรีกเรียกเป็น Elephas ความน่าสนใจของข้อสันนิษฐานนีก็คือ ไอราวตะ หรือเอราวัณในภาษาไทย เป็นคำโบราณมีใช้ตั้งแต่กรีกยังไม่รู้จักช้าง จนกระทั่งมีคนนำช้างเข้าไปในกรีก และช้างตัวแรกที่กรีกเห็นก็เป็นช้างอินเดีย?
ต้นตระกูลช้าง
บรรพบุรุษช้างพัฒนามาจากสัตว์ตัวเท่าๆ กับหมู มีชื่อว่า เมอริธีเรียม (Moeritherium) รูปร่างหน้าตาคล้ายกับฮิปโปโปเตมัส สูงประมาณ 70 เซนติเมตร หนักประมาณ 180 กิโลกรัม ตัวอ้วนใหญ่ หางสั้น มีขา และเล็บคล้ายกับช้างปัจจุบัน แต่ยังไม่มีงวง เพียงแต่มีจมูกยื่นยาวออกมา เคยอาศัยอยู่ในดินแดนอียิปต์ เมื่อประมาณ 50-35 ล้านปีก่อน
วิวัฒนาการของช้าง
ช้างรุ่นต่อๆ มา หลังจากเมอริธีเรียม ก็ได้พัฒนาตัวเองให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และการดำรงชีวิต เพื่อให้ได้เปรียบสัตว์อื่น ช้างเป็นสัตว์ที่ชอบน้ำ มีชีวิตอยู่ใกล้แหล่งน้ำซึ่งเป็นที่ชุมนุมของสัตว์ทั้งร้ายและดี เพื่อความอยู่รอดในแหล่งอาหาร และให้รอดพ้นจากศัตรู ช้างจึงพัฒนาตัวเองให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพียงพอที่จะครอบครองแหล่งน้ำได้
จากนั้นก็ได้พัฒนาจมูกให้ยาวขึ้น จนกลายเป็นงวงที่มีประโยชน์มหาศาลสำหรับช้าง คือใช้เป็นจมูก และเป็นอาวุธในบางครั้ง ส่วนฟันหน้าของช้างก็ได้พัฒนาขึ้นจนเป็นงา ซึ่งเป็นทั้งอาวุธ และเครื่องมือหาอาหาร
ช้างสายพันธุ์ต่างๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์ได้จำแนกชนิดโดยอาศัยฟันกรามเป็นหลัก เนื่องจากมักจะเป็นชิ้นส่วนฟอสซิลที่หลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบันมากที่สุด นอกจากนี้ยังอาจใช้กะโหลกและกระดูกส่วนอื่นประกอบด้วย
ช้างรุ่นต่อจากเมอริธีเรียม ได้มีสายวิวัฒนาการต่อมาอีกหลายสิบล้านปี เกิดชนิดของช้างมากกว่า 162 ชนิด และช้างโบราณรุ่นแรกๆ ของสายวิวัฒนาการนี้เอง ที่ได้มีการค้นพบซากฟอสซิลจำนวนมากที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา
บรรพบุรุษช้างที่โคราช
จากการที่บริษัทเอกชนได้เปิดหน้าดิน พื้นที่กว้างประมาณ 10 ไร่ ริมฝั่งแม่น้ำมูน เพื่อทำการฉีดและดูดทราย ลึกจากผิวดิน 20-40 เมตร ทำให้พบซากดึกดำบรรพ์ของช้างโบราณ สัตว์ชนิดต่างๆ และไม้กลายเป็นหิน เป็นจำนวนมาก นักวิชาการจากกรมทรัพยากรธรณีพบว่าซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบ มีช้างอยู่หลายสกุล ซึ่งเคยมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 25 ล้าน-700,000 ปีก่อน จำแนกได้ 7 สกุล และที่ยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้อีกหลายชนิดดังนี้
กอมโฟธีเรียม (Gomphotherium)
เป็นช้างที่มีวิวัฒนาการมาจากเมอริธีเรียมต้นตระกูลช้าง เริ่มมีงวงสั้นๆ ยื่นยาวออกมา ตัวสูงใหญ่ขึ้นจากเมอริธีเรียม สูงประมาณ 2 เมตร ลักษณะพิเศษคือมีงา 2 คู่ งาคู่หนึ่งงอกออกจากขากรรไกรบน งาอีกคู่หนึ่งงอกออกจากขากรรไกรล่าง มีชีวิตอยู่ระหว่าง 25-13 ล้านปีก่อน
เมืองไทยเคยพบช้างสกุลนี้มาก่อนในเหมืองถ่านหินจังหวัดลำปาง แต่เป็นการพบเพียงเล็กน้อย และพบเป็นจำนวนมากในบ่อดูดทราย ตำบลท่าช้าง และตำบลช้างทอง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
ไดโนธีเรียม (Deinotherium)
พบครั้งแรกในแถบแอฟริกาตะวันออก มีชีวิตอยู่ประมาณ 25 ล้านปีก่อน เป็นช้างที่มีลักษณะพิเศษที่ต่างจากช้างโบราณทั่วไปและสายวิวัฒนาการของช้างปัจจุบัน
ไดโนธีเรียม ต่างจากช้างโบราณทั่วไปคือ ไม่มีงางอกออกจากขากรรไกรบน แต่กลับมีงางอกออกจากขากรรไกรล่าง 1 คู่ งาที่งอกออกมามีลักษณะโค้งลงด้านล่าง ใช้ประโยชน์เพื่อการขุดดินเป็นอาหาร มีขนาดเล็กใกล้เคียงกับช้างเอเชียตัวเมีย คาดว่าจะสูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 2 ล้านปีก่อน พบชิ้นส่วนกระดูกขาจึงยังยืนยัน 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ นอกจากนี้ยังพบช้างชนิดโปรไดโนธีเรียม (Prodeinotherium) ซึ่งมีลักษณะงา เหมือนกับไดโนธีเรียม แต่ตัวเล็กกว่า และอายุเก่าแก่กว่า พบฟันและวิเคราะห์แล้วว่าเป็นโปรไดโนธีเรียม
ในประเทศไทยเคยพบช้างไดโนธีเรียมที่อำเภอปง จังหวัดพะเยา และมาพบอีกที่บ่อดูดทราย ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
เตตระโลโฟดอน (Tetralophodon)
มีอายุอยู่ในช่วง 22.5-1.8 ล้านปีก่อน เป็นตัวแทนของกลุ่มบรรพบุรุษดั้งเดิมของช้างแท้ในปัจจุบัน หัวมีลักษณะยาว ขากรรไกรบนและล่างยาวปานกลาง มีงา 4 อัน หรือ 2 คู่ จากขากรรไกรบนและล่าง เชื่อว่าเตตระโลโฟดอนกินหญ้าอ่อนลำต้นสูง ซึ่งสัตว์อื่นกินไม่ถึง
พบซากดึกดำบรรพ์ในยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือ ในประเทศไทยพบขากรรไกร ฟันและงา ที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา
โปรตานันคัส (Protanancus)
เรียกง่ายๆ ว่า “ช้างงาเสียม” มี 4 งา งาล่างใช้สำหรับแซะหรือขุดตัก งาบนยาวและมีขนาดใหญ่ งาล่างกว้าง ปลายงาแผ่ยืนออกไปคล้ายเสียม มีอายุประมาณ 16-5 ล้านปีก่อน คาดว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใกล้แหล่งน้ำโดยใช้งาล่างขุดแซะดินกินพืชน้ำหรือรากไม้
ช้างในสกุลนี้มี 2 ชนิด พบในทวีปแอฟริกาและเอเชีย ได้แก่ Protanancus macinnesi และ Protanancus chinjiesis ในประเทศไทยพบที่ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา
สเตโกโลโฟดอน (Stegolophodon)
มีชีวิตอยู่ระหว่าง 25-5 ล้านปีก่อน เป็นบรรพบุรุษของช้างปัจจุบัน มีงา 1 คู่ งอกออกจากขากรรไกรบน แต่ขากรรไกรล่างยังยาวกว่าช้างปัจจุบันอยู่ ช้างชนิดนี้พบเฉพาะในเอเชีย มีอยู่ทั่วไปใน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย พม่า และไทย เป็นบรรพบุรุษของช้างสเตโกดอน ชนิดเดียวกับที่หมอบุญส่งพบที่สะพาน เดชาติวงศ์ นครสวรรค์
ช้างชนิดนี้เคยพบในเหมืองถ่านหิน จังหวัดลำปาง ลำพูน และพะเยา และพบอีกที่บ่อดูดทราย ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
สเตโกดอน (Stegodon)
มีชีวิตอยู่ระหว่าง 5 ล้าน-10,000 ปี ถือเป็นบรรพบุรุษ ตัวจริงของช้างปัจจุบัน สูงประมาณ 3 เมตร งายาวโค้งออก และมักพบว่างาของสเตโกดอนจะมีลักษณะแคบมาก จนงวงไม่สามารถรอดผ่านระหว่างกลางได้ จึงต้องใช้งวงอ้อมงาเพื่อหยิบจับอาหาร
สเตโกดอนที่รู้จักกันมากคือ Stegodon ganesa พบในอินเดีย และตั้งชื่อตามพระคเณศ ส่วนสเตโกดอนที่หมอบุญส่งพบนั้นเป็นชนิด Stegodon insignis
ข้อพิเศษของสเตโกดอนคือ ถือเป็นบรรพบุรุษตัวจริงของช้างเอเชียในปัจจุบัน คือพบเฉพาะในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น
ฟอสซิลสเตโกดอน มีการพบหลายแห่งในประเทศไทย รวมทั้งที่บ่อดูดทราย ตำบลท่าช้างอีกด้วย
เอลิฟาส (Elephas)
เป็นช้างสกุลเดียวกับช้างเอเชียปัจจุบัน มีชีวิตอยู่ระหว่าง 1.8 ล้าน-10,000 ปี พบซากอยู่ในยุโรปและเอเชีย เป็นช้างที่มีรูปร่างสูงใหญ่มากกว่า 3 เมตร มีงาขนาดใหญ่ เหยียดตรง สูญพันธุ์ไปในช่วงหนาวเย็นที่สุดของยุคน้ำแข็ง และเชื่อว่าเคยเป็นช้างโบราณอีกพันธุ์ที่ถูกมนุษย์ล่า เช่นเดียวกับแมมมอธ
ซากช้างเอลิฟาสนี้พบที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติอีกเช่นกัน
บรรพบุรุษช้างที่อาจสูญพันธุ์ครั้งที่สอง
การพบแหล่งช้างโบราณขนาดใหญ่ที่อำเภอเฉลิมพระเกียรตินี้ กินบริเวณนับหมื่นไร่ มีซากดึกดำบรรพ์ของช้างโบราณ แรดโบราณ เต่า จระเข้ หอย และซากไม้กลายเป็นหินจำนวนมาก แต่ความพยายามที่จะเข้าไปจัดการกับพื้นที่นี้ให้เป็นเขตสงวนพิเศษยังไม่ประสบผล
ฟอสซิลช้างจำนวนหนึ่งได้เก็บรักษาไว้โดยหน่วยงานของรัฐ คืออำเภอเฉลิมพระเกียรติ สถาบันราชภัฏนครราชสีมา กรมทรัพยากรธรณี แต่นั้นก็เป็นเพียงส่วนเดียว ส่วนอื่นๆ นั้นถูกครอบครองโดยเอกชน มีการซื้อขายกันอย่างเปิดเผย ทำให้หลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับช้างโบราณต้องสูญหายไปจำนวนไม่น้อย
นอกจากนี้ยังไม่สามารถจัดการให้เป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีตามหลักวิชาการได้อย่างเต็มที่ แม้จะได้มีการเสนอแผนเพื่อจัดการพื้นที่นี้ให้เป็นเขตสงวนแล้ว แต่กว่าจะได้อนุมัติดำเนินการก็คงจะทำให้หลักฐานทางโบราณคดีต้องเสียหาย และสูญหายไปจำนวนไม่น้อย ซากช้างโบราณก็จะสูญพันธุ์อีกครั้งต่อหน้าต่อตาคนไทยผู้รักช้างทั้งหลายอย่างเงียบเชียบ
การให้ความสำคัญกับช้าง ในฐานะของสัตว์คู่บ้านคู่เมือง จำเป็นต้องทำความรู้จักกับช้างในแบบที่ถูกต้อง โดยทำความรู้จักกับช้างตั้งแต่เริ่มแรก การได้รู้ได้เห็นวิวัฒนาการของช้างมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เข้าใจช้างปัจจุบันมากยิ่งขึ้น แหล่งช้างโบราณในอำเภอเฉลิมพระเกียรติจึงมีความสัมพันธ์กับอนาคตของช้างปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ส่วนสถานการณ์ช้างไทยในปัจจุบัน คาดว่ามีช้างป่าประมาณ 2,000 ตัว และช้างเลี้ยงประมาณ 4,000 เชือก ตามทฤษฎีนั้นช้างจะดำรงเผ่าพันธุ์ได้จะต้องมีช้างรวมอยู่ในธรรมชาติไม่น้อยกว่า 2,000 ตัว ในป่าผืนใหญ่ แม้ว่าประเทศไทยจะมีช้างป่าจำนวน 2,000 ตัวตามเกณฑ์ แต่ก็กระจัดกระจายไปอยู่ตามป่าเล็กป่าน้อยในจังหวัดต่างๆ โขลงหนึ่งมีไม่กี่สิบตัว ไม่มีช้างวัยเจริญพันธุ์เพียงพอที่จะดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ได้อีกต่อไป
ส่วนช้างเลี้ยงนั้นนอกจากจะอายุสั้น เนื่องจากอยู่ผิดธรรมชาติแล้ว โอกาสตกลูกก็มีน้อยเช่นกัน
จนถึงวันนี้สถานการณ์ช้างในประเทศไทยก็ยังไม่ดีขึ้น ประมาณกันว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ช้างอาจจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางของการศึกษา และอนุรักษ์ช้างที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เรามีนักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวกับช้าง เรามี “คชศาสตร์” อันเป็นศาสตร์พิเศษสำหรับดูแลช้าง แม้แต่ประเทศอินเดียที่มีช้างมากที่สุดในเอเชีย ก็ปรากฏหลักฐานว่าเคยสั่งนำเข้าช้างจากกรุงศรีอยุธยา และขณะนี้เรามีแหล่ง ช้างดึกดำบรรพ์ ที่มีซากช้างโบราณจำนวนมากพอที่จะเป็นศูนย์กลางอีกแห่งหนึ่ง ไม่ยากเลยที่เราจะเป็นศูนย์กลางช้างโลก เพราะเราสามารถเชื่อมต่อช้างจากอดีตสู่ช้างปัจจุบันได้ และอาจจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยรักษาช้างในปัจจุบันไว้ได้
บัดนี้วัตถุดิบทุกอย่างพร้อมแล้ว อยู่ที่เราจะทำกัน หรือไม่เท่านั้น?
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ธันวาคม 2565