เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ผบ.โรงเรียนเพาะช่างพระองค์แรก ทรงพระปรีชาแม้แต่งานของผู้หญิง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ผบ. โรงเรียนเพาะช่าง พระองค์แรก
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ทรงฉายกับฮาร์ป (พิณฝรั่ง) พระองค์ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่เล่นฮาร์ปได้

“—นี่พอมีเมียก็เย็บให้เมียใส่—” เป็นพระราชดำรัสของ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ตรัสกับ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ซึ่งทรงเป็นเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์เดียวที่มีพระปรีชาสามารถด้านศิลปะทุกแขนง

ไม่ว่าจะเป็นด้านดนตรี การละคร และการช่าง โดยเฉพาะงานช่างด้านศิลปะที่ต้องอาศัยความละเอียดถี่ถ้วน แม้แต่งานซึ่งถือกันในสมัยนั้นว่าเป็นงานของผู้หญิง เช่น การเย็บปักถักร้อย ตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งมักไม่มีผู้ชายคนใดสนใจ แต่เจ้านายพระองค์นี้ นอกจากจะสนพระทัยแล้วยังสามารถที่จะทำได้อย่างประณีตงดงาม

Advertisement

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (5 กรกฎาคม 2435 – 8 กรกฎาคม 2466) หรือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 8 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นพระราชโอรสรุ่นเล็กซึ่งเสด็จไปทรงศึกษาวิชาการต่อยังประเทศในยุโรป

บ้านเมืองเริ่มคลี่คลายจากวิกฤตการณ์การถูกคุกคามจากนักล่าอาณานิคมตะวันตก พระราชประสงค์ในการที่จะกำหนดให้พระราชโอรสศึกษาวิชาการที่จำเป็นจะต้องนำมาใช้พัฒนาประเทศลดน้อยลง พระราชโอรสรุ่นเล็กจึงทรงมีโอกาสและอิสระในการเลือกศึกษาวิชาการที่สนพระทัยและพอพระทัย

เจ้านายพระองค์นี้มีความสนพระทัยในงานศิลปะการช่างมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ดังที่หม่อมศรีพรหมาได้บันทึกเรื่องราวที่ได้พบเห็นขณะอยู่ในพระบรมมหาราชวังไว้ว่า ในขณะที่พระเชษฐาอนุชาทรงเล่นซุกซนต่าง ๆ แต่เจ้าชายพระองค์นี้กลับทรงแยกพระองค์ไปให้ความสนพระทัยกับงานช่าง “—พระองค์ไม่โปรดที่จะเล่นอย่างที่เล่นกัน โปรดประทับเงียบ ๆ กับคนมีอายุ ปั้นรูปสัตว์ด้วยขี้ผึ้ง ซึ่งทรงกระทำได้เป็นอย่างดี—”

ดังนั้น เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมในประเทศอังกฤษแล้ว จึงทรงเลือกวิชาเรียนที่พอพระทัย คือวิชาอักษรศาสตร์ ซึ่งมีวิชาหลักคือ ภาษาศาสตร์ วรรณคดี การดนตรี และการละคร ซึ่งก็ทรงพระปรีชาสามารถในการศึกษาทุก ๆ วิชา

ในส่วนวิชาช่างที่พอพระทัยเป็นพิเศษก็ทรงขวนขวายศึกษาด้วยพระองค์เองทั้งจากตำราและพระอาจารย์พิเศษที่ชำนาญในการช่างแต่ละด้าน จึงทรงมีความรอบรู้ในการช่างแขนงต่าง ๆ อย่างน่ามหัศจรรย์ เพราะเมื่อสนพระทัยศึกษาวิชาใด จะเอาพระทัยใส่ มีพระวิริยะอุตสาหะ และละเอียดถี่ถ้วน ทำให้ผลงานทุกชิ้นของพระองค์ประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาแบชเลอร์ออฟอาร์ตส์ (Bachelor of Arts) เสด็จกลับสยาม .. 2461 ทรงใช้วิชาที่ทรงศึกษามาเป็นประโยชน์กับการศึกษาของไทย โดยทรงรับราชการเป็นพระอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะรัฐประศาสนศาสตร์

แต่ทรงสอนเพียงสัปดาห์ละ 2 วัน ทรงใช้เวลาที่เหลือส่วนใหญ่ช่วยเหลือ โรงเรียนเพาะช่าง ในตำแหน่งที่ปรึกษา ทรงให้คำแนะนำทั้งด้านการบริหาร หลักสูตรที่จะเป็นประโยชน์กับนักเรียน ตลอดจนทฤษฎีและการปฏิบัติในเชิงช่างแขนงต่าง ๆ ทำให้ โรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ เป็นรูปเป็นร่างตามแบบสากล และดำเนินไปอย่างราบรื่นเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว

ความสนพระทัยและพระปรีชาสามารถในด้านการช่างปรากฏแก่พระเนตรพระกรรณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง และโปรดให้ทรงงานที่โรงเรียนเพาะช่างเพียงที่เดียว จึงเป็นโอกาสให้ทรงสามารถทุ่มเททั้งกำลังพระสติปัญญา กำลังพระทัย ตลอดจนกำลังพระวรกาย ในการพัฒนาโรงเรียนเพาะช่างได้อย่างเต็มที่

ตลอดระยะเวลาที่ทรงงานในโรงเรียนนี้ ทรงทำให้กิจการของโรงเรียนเจริญรุดหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการเพิ่มสาขาวิชาและหลักสูตรใหม่ ๆ โดยเฉพาะการช่างแบบไทย ๆ ซึ่งทรงพระดำริว่าเป็นศิลปะที่แสดงถึงรากเหง้าของความเป็นไทยซึ่งจะต้องรักษาไว้ให้คงอยู่ ในขณะที่ศิลปวัฒนธรรมตะวันตกทยอยกันหลั่งไหลเข้ามา

ความนิยมของคนไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงหันไปสนใจกับวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะส่วนประกอบในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน การแต่งกาย อาหารการกิน ของใช้ของตกแต่งและเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งทำขึ้นจากวัสดุที่ผลิตจากเครื่องจักร มีความงามอย่างฉาบฉวย ทรงพระดำริว่าหากไม่มีการฟื้นฟูอนุรักษ์วิชาช่างต่าง ๆ ของไทยไว้ นับวันวิชานี้ก็จะเสื่อมความนิยมอาจถึงขั้นสูญหายไปได้

ดังนั้น เมื่อทรงรับหน้าที่บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง จึงโปรดให้เปิดสอนวิชาช่างแบบดั้งเดิมของไทยผสมผสานไปกับวิชาช่างสมัยใหม่ เช่น ช่างเขียน ช่างออกแบบ ช่างพิมพ์ ช่างเงิน ช่างไม้ ช่างแกะ ช่างกลึง ช่างปั้น ช่างชุบ ช่างทอง ช่างเจียระไน ช่างบล็อคสกรีน เป็นต้น

ในตำแหน่งและหน้าที่นี้ เจ้านายพระองค์นี้ทรงทุ่มเททั้งกำลังพระทัยและพระวรกายให้กับการริเริ่มงานใหม่ในแขนงต่าง ๆ และการบริหารงานของโรงเรียนอย่างเต็มพระสติกำลัง แม้พระพลานามัยจะไม่สู้ทรงสมบูรณ์นัก เพราะพระโรควักกะเรื้อรังมักกำเริบทุกครั้งที่ทรงงานหนัก แต่ก็มิได้ทรงย่อท้อ ยังเสด็จทรงงานที่โรงเรียนเพาะช่างทุกวัน จะเสด็จถึงโรงเรียนราว 10.30 . และเสด็จเข้าประทับที่ห้องทรงงานทันที

เริ่มทรงงานด้วยการลงพระนามในหนังสือที่ทางโรงเรียนเสนอให้ลงพระนาม จากนั้นจะทรงประชุมปรึกษาหารือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเรียนการสอน ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ต้องแก้ไข แล้วจึงเสด็จไปทรงงานที่โรงฝึกงานของแต่ละแผนก

พระองค์ทรงเเอาพระทัยใส่ควบคุมการปฏิบัติงานของนักเรียนอย่างใกล้ชิด ทรงให้คำแนะนำติชมและพิจารณาผลงานแต่ละชิ้นอย่างพิถีพิถัน ถ้าไม่ถูกต้องหรือไม่งดงามก็จะทรงออกแบบและแก้ไขให้ใหม่ นอกจากนี้ยังทรงพยายามหาโอกาสและสนับสนุนให้ผลงานของนักเรียนปรากฏแก่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอ

โดยเฉพาะในงานรื่นเริงฤดูหนาว จะโปรดให้นักเรียนแต่ละแขนงวิชานำผลงานของตนออกแสดง เช่น เฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้ เครื่องปั้นดินเผา ปูนปลาสเตอร์ การสลักเครื่องเงินในรูปของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ขันน้ำพานรอง ถาด

ช่างทองช่างเจียระไนเพชรพลอยก็นำผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ มีสร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน ตุ้มหู และเข็มกลัด ช่างสลักก็นำผลงานการสลักไม้ที่ทำเป็นเครื่องตกแต่งบ้าน ผลิตภัณฑ์ที่นำออกแสดงทั้งหมดจะต้องผ่านการตรวจสอบ เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน คือ ทั้งสวยงามประณีตคงทน มีประโยชน์ในการใช้สอย แต่ราคาย่อมเยา

กล่าวได้ว่าผลิตภัณฑ์ของนักเรียนในโรงเรียนเพาะช่างสมัยนั้น เป็นที่รู้จักและนิยมกันอย่างแพร่หลาย และเป็นที่ไว้วางใจของลูกค้าทั้งด้านคุณภาพและราคา โดยเฉพาะเครื่องเรือนหรือเครื่องตกแต่งบ้านที่ทำด้วยไม้ นักเรียนเพาะช่างสมัยนั้นสามารถที่จะหารายได้ด้วยตนเอง ในส่วนกำไรที่แผนกขายสินค้าได้รับก็เป็นกอบเป็นกำ นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการก่อสร้างโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ปัจจุบันคือสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย

ในส่วนพระองค์ก็ทรงใช้วิชาช่างทำประโยชน์ให้กับเหล่าบรรดาพระญาติวงศ์ เช่น งานออกแบบควบคุมการสร้างพระตำหนักให้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ที่วังบางขุนพรหม เป็นพระตำหนักเล็ก ๆ ประทับส่วนพระองค์ ลักษณะเป็นตึกชั้นเดียว มีเพียงส่วนที่ประทับและส่วนรับแขก แต่มีความงดงามและสะดวกในการใช้สอย ตลอดจนความสบายเนื่องมาแต่ลักษณะอาคารที่เปิดรับลมได้ทุกด้าน

อีกพระตำหนักหนึ่งที่ทรงออกแบบได้อย่างเหมาะเจาะงดงาม คือ พระตำหนักของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร เป็นพระตำหนักที่ประทับส่วนพระองค์ ในวังคันธวาส ทรงออกแบบเป็นลักษณะครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นที่อยู่ของข้าหลวงและห้องเตรียมอาหาร ชั้นสองเป็นที่ประทับ มีห้องรับแขก ห้องสรง หลังคา 2 ชั้น มีดาดฟ้าทำเป็นห้องเก็บของ ตัวตำหนักตั้งอยู่บนเนิน มีทางขึ้น 4 ด้าน เชิงเนินปลูกดอกบัวและดอกไม้ต่างๆ เป็นพระตำหนักที่งดงามทันสมัยและมีประโยชน์ใช้สอยครบถ้วน

นอกจากนี้ยังทรงออกแบบเครื่องเรือนและการตกแต่งภายใน เช่น ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้สร้างพระตำหนักพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ที่นครปฐม โปรดให้เจ้านายพระองค์นี้ทรงออกแบบเครื่องเรือนทั้งหมด 22 ชิ้น

มีทั้ง แท่นบรรทม ตู้ใส่ฉลองพระองค์ พระฉาก โต๊ะทรงพระอักษร โต๊ะวางเครื่องพระสำอาง และชุดรับแขกแบบหลุยส์ ซึ่งขณะนั้นช่างไทยยังไม่มีผู้ใดสามารถผลิตได้ ต้องสั่งมาจากเมืองนอก แต่ก็ทรงสามารถคุมให้นักเรียนเพาะช่างผลิตได้จนสำเร็จ จัดแต่งเข้าที่ได้อย่างเรียบร้อยงดงามครบถ้วนด้วยประโยชน์ใช้สอย

และงานช่างอีกประเภทหนึ่งที่สนพระทัยและมีพระปรีชาสามารถในการทำได้อย่างดีเลิศ คือการออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี ทรงออกแบบเครื่องฉลองพระองค์ให้กับพระพี่นางน้องนางจนเป็นที่เลื่องลือ และเมื่อทรงออกแบบตัดเย็บฉลองพระองค์ถวายสมเด็จพระบรมราชชนนี ก็พอพระราชหฤทัย จนเป็นที่มาของพระราชดำรัสสัพยอกที่ว่านี่พอมีเมียก็เย็บให้เมียใส่

ซึ่งก็เป็นความจริงดังพระราชดำรัส เพราะเมื่อทรงอภิเษกสมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธร ชุมพล นั้นเล่ากันว่าทรงออกแบบฉลองพระองค์ให้เจ้าสาวด้วยพระองค์เอง ลือกันว่าทั้งงามเก๋และแปลกตาอย่างไม่เคยมีมาก่อนด้วยผ้าแพรที่ไม่บางนัก เนื้อเกลี้ยงทิ้งตัวสะบัดพลิ้ว เย็บเป็นเสื้อแต่งด้วยแพร 2 สี เย็บซ้อนกันด้วยวิธีเย็บตะเข็บเข้าถ้ำอย่างเย็บถลกบาตรพระ ให้เห็นได้ทั้ง 2 หน้า 2 สี แล้วพับองค์โอบชายไปเบื้องซ้ายปล่อยทิ้งชายยาวลากไปกับพื้น เข้ากันได้อย่างพอเหมาะกับผ้าซิ่นไหมเชิงทองเมืองอุบล ทั้งเก๋และงดงาม

สมพระราชดำรัสของสมเด็จพระบรมราชชนนีที่ว่านี่พอมีเมียก็เย็บให้เมียใส่

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กรกฎาคม 2559