รัชกาลที่ 6 ทรงถูกเกณฑ์ให้ “เลือกคู่” กับเจ้าฟ้าหญิงที่ได้รับเลือก

รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 5 สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี
พระบรมฉายาลักษณ์ทรงฉายเมื่อคราวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินคืนสู่พระมหานคร ครั้งทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินออกไปรับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ประทับคอยอยู่ในเรือพระที่นั่งมหาจักรี ที่หน้าเมืองสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2445

“ฉันเองเปนผู้ที่ได้เคยกล่าวค่อนแคะผู้ชายที่แต่งงานกับผู้หญิงที่ไม่รู้จัก มาบัดนี้สิฉันเองจะต้องทำเช่นนั้น” พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้ง ทรงถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร คือองค์รัชทายาทผู้ที่จะสืบสันตติวงศ์ดำรงสยามรัฐ ดังความในประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ตอนหนึ่งว่า

“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถท่านตั้งพระราชหฤทัยอยู่โดยแน่นอนว่าจะไว้วางพระราชหฤทัยไนตัวฉันโดยบริบูรณ อีกทั้งตั้งพระราชหฤทัยไว้มั่นคงว่าอย่างไรๆ ก็ต้องมิให้มีผู้ใดสงสัยได้เลยว่าฉันคือรัชทายาทผู้ที่จะสืบสันตติวงศ์สนองพระองค์ท่านต่อไป”

เมื่อ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ กลับพระนครในปลาย พ.ศ. 2445 และได้ทรงผนวชใน พ.ศ. 2447 แล้ว พระองค์ก็ยังทรงครองพระองค์เป็นโสดต่อมา หาได้มีวี่แววว่าจะทรงเลือกหญิงใดมาเป็นคู่ครองจนพระชนมายุ 30 พรรษา จึงเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ทรงวิตกว่าจะไม่มีพระราชโอรสเพื่อสืบราชตระกูล

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ จึงมีพระราชประสงค์ให้ทรงเลือกคู่ และออกพระโอษฐ์กับพระองค์อยู่บ่อยครั้งว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้พระองค์มีพระชายา เจ้าฟ้าหญิงที่ทรงเลือกให้นั้น เป็นเจ้าฟ้าหญิงพระราชธิดาของทูลกระหม่อมรัชกาลที่ 5 กับพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ พระนามว่า เจ้าฟ้าหญิงน้อย (สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล) ทั้งสองพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดในเวลานั้น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 กับพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ เจ้าฟ้าหญิงน้อยที่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์ที่จะให้อภิเษกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ

แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ไม่มีพระราชประสงค์จะเลือกพระขนิษฐาของพระองค์เป็นพระชายา ข้อนี้พระองค์ทรงพระราชปรารภตั้งแต่ครั้งเสด็จฯ กลับจากยุโรป ดังความในประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ตอนหนึ่งว่า

“ในวันที่ 17 ตุลาคมนั้นได้มีเรื่องเนื่องด้วยตัวฉันซึ่งจะเล่าให้เธอทราบ [เจ้าพระยารามราฆพ (เฟื้อ พึ่งบุญ)] คือฉันได้ถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่ เวลาบ่ายวันที่ 17 นั้นได้มีงานที่วังสราญรมย์เปน 2 อย่างรวมกัน อย่าง 1 คือ เสด็จแม่ทรงทำบุญพระบรมอัษฐิทูลกระหม่อมปู่ และอีกอย่าง 1 มีสวดมนตร์ในการทรงหล่อพระสมาธิ ที่จะได้ไปประดิษฐานในศาลาที่บรรจุพระอังคารของพระชนนี (คือสมเด็จพระปิยามาวดีศรีพัชรินทรมาตา) ที่วัดราชาธิวาศ ในงานนี้เสด็จแม่ได้ตรัสแก่ฉันว่าให้เลือกคู่เสียทีเถิด และทรงอ้างว่าทูลกระหม่อมก็ได้ทรงบ่นอยู่ว่าอยากให้ฉันมีเมีย

ส่วนพระองค์เสด็จแม่เองนั้นมีพระประสงค์ให้ฉันเลือกลูกเธอของทูลกระหม่อมองค์ 1 และทรงแนะนำว่าหญิงน้อย (สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงนิภานภดล) เปนผู้ที่ทรงเห็นเหมาะ แต่ฉันก็ยืนยันอยู่เช่นที่ได้เคยยืนยันมาแล้วตั้งแต่กลับจากยุโรป ว่าไม่ยอมเลือกน้องสาวเปนเมียเปนอันขาด”

เหตุที่พระองค์ไม่มีพระราชประสงค์เช่นนั้น สันนิษฐานว่าพระองค์ทรงจบการศึกษามาจากยุโรป ประเพณีการแต่งงานกับน้องสาวนั้นชาวยุโรปไม่นิยมกัน และพระองค์น่าจะทรงกังวลในด้านหลักของการแพทย์ด้วย เพราะถ้าบุคคลที่เป็นสายเลือดเดียวกันมาแต่งงานกัน พอมีบุตรจะส่งผลร้ายต่อบุตรเสี่ยงที่จะผิดปกติ อาจจะมีความพิการทางด้านร่างกาย หรือพิการทางสมอง

สาเหตุนี้เอง พระองค์จึงไม่มีพระราชประสงค์จะเลือกพระขนิษฐาของพระองค์มาเป็นพระชายาอย่างแน่วแน่ในพระราชหฤทัย ดังความในประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ตอนหนึ่งว่า

“ส่วนตัวฉันไม่เปลี่ยนแปลงความคิดเดิมเลย คงดื้อดันมั่นอยู่ว่าไม่ยอมเลือกน้องเปนเมีย ในข้อนี้ฉันต้องเถียงกับใครๆ มากมายจนเหลือที่จะจดจำ บางคนขู่ว่าถ้าไม่ทำเช่นนั้นจะนับว่าเปนอันผิดราชประเพณี แต่ในข้อนี้ฉันชี้แจงว่า พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ทรงได้น้องเปนพระชายาก็เคยมีมา 2 พระองค์เท่านั้น คือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 [พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2] ทรงได้เจ้าฟ้ากุณฑลเปนพระมเหษีพระองค์ 1, กับทูลกระหม่อมของฉันอีกพระองค์ 1. [พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5]

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเครื่องเเบบนักเรียนนายร้อยเเซนด์เฮิร์สต์ เมื่อครั้งทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ

เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ไม่มีพระราชประสงค์จะเลือกพระขนิษฐาของพระองค์เป็นพระชายาแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ จึงรับสั่งให้พระองค์เลือกหม่อมเจ้าหญิงคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นพระองค์จึงทรงเลือกพระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ที่ประสูติแต่หม่อมใหญ่ เทวกุล ณ อยุธยา พระธิดาคนที่ 5 พระนามว่า หม่อมเจ้าหญิงทิพรัตนประภา เทวกุล แต่ในเวลานั้นพระองค์ทรงไม่รู้จักมักคุ้นกับหม่อมเจ้าหญิงพระองค์นี้ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ทรงรับว่าจะฝึกฝนกิริยามารยาทและสั่งสอนให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึงค่อยกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตต่อไป ดังความในประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อฉันไม่ยอมเลือกน้องสาวเปนเมียแล้ว เสด็จแม่จึ่งยอมว่าถ้าเช่นนั้นก็ให้เลือกหม่อมเจ้าหญิงคนใดคน 1 ฝ่ายฉันเห็นว่าจะอิดเอื้อนหรือผัดผ่อนต่อไปก็ไม่งาม จึ่งทูลว่าถ้าเช่นนั้นขอเลือกลูกสาวเสด็จลุงคน 1 เสด็จแม่จึ่งรับสั่งว่าทรงเห็นว่าพอใช้ได้มีอยู่คน 1 คือ [หม่อมเจ้าหญิงทิพรัตนประภา เทวกุล]…(ที่เรียกกันว่า ‘หญิงโอ’) แต่ในเวลานั้นฉันยังมิได้รู้จักมักคุ้นอะไรเลย จึ่งตกลงเปนอันว่าเสด็จแม่ทรงรับจะฝึกฝนกิริยามรรยาทและสั่งสอนให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึ่งค่อยนำความกราบบังคมทูลพระเจ้าหลวง ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตต่อไป”

“เมื่อได้ตกลงเช่นนั้นแล้วฉันรู้สึกชอบกล ฉันเองเปนผู้ที่ได้เคยกล่าวค่อนแคะผู้ชายที่แต่งงานกับผู้หญิงที่ไม่รู้จัก มาบัดนี้สิฉันเองจะต้องทำเช่นนั้น ฉันได้เคยฟังผู้ใหญ่พูดอยู่ว่า การที่มิได้เคยรักใคร่กันอยู่ก่อนนั้นไม่สำคัญอะไร พอได้อยู่กินด้วยกันแล้วก็เกิดความรักกันขึ้นเอง จริงอยู่ ที่เขาเปนเช่นนั้นก็มีอยู่เปนมาก แต่ฉันอดรู้สึกไม่ได้เลย ว่าการแต่งงานกันเช่นนั้นเปนเหมือนการทดลอง ซึ่งถ้าเปนผลสำเร็จก็อาจที่จะได้รับความสุขพอสถานประมาณ แต่ถ้าไม่เปนผลสำเร็จก็อาจที่จะเปนเครื่องให้ความทุกข์และรำคาญมากอยู่”

แต่ภายหลังจากที่ถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่ได้ไม่ทันถึงสัปดาห์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระประชวรอยู่ก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ซึ่งตามโบราณราชประเพณีจะต้องงดการรื่นเริงทั่วทั้งพระราชอาณาจักร เพื่อไว้ทุกข์ถวายพระบรมศพเป็นเวลา 1 ปีเต็ม แต่ในระหว่างนั้นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ก็ยังทรงฝึกสอนกิริยามารยาทให้หม่อมเจ้าหญิงทิพรัตนประภา แต่ภายหลังไม่ทราบว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น จึงทำให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถทรงกริ้วและตรัสให้งดเสีย ดังความในประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ตอนหนึ่งว่า

“เสด็จแม่ก็ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยฝึกสอนหญิงโอ เพื่อให้สมควรเปนเมียฉัน แต่ต่อมาภายหลังเสด็จแม่กริ้วและทรงบอกงดเอง”

เรื่องที่ รัชกาลที่ 6 ทรงถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่ จึงเป็นอันระงับไป ประกอบกับเมื่อ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสวยราชสมบัติดำรงสยามรัฐสืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถแล้ว ทรงอุทิศเวลาทั้งหมดปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่ออาณาประชาราษฎร์ชาวสยามทั้งปวง โดยมิได้ทรงคำนึงถึงเรื่องความสุขส่วนพระองค์

ดังนั้นการที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่ จึงไม่ประสบความสำเร็จ และไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ในครั้งนั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. เจ้าชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : ริเวอร์ บุ๊คส์, 2555.

ราม วชิราวุธ (นามแฝง). ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545.

วรชาติ มีชูบท. “เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรง ‘ถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่’,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 37 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2558), น. 79-95.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2560