ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังจากที่ รัชกาลที่ 6 (พระอิสริยยศในขณะนั้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร) เสด็จนิวัตพระนครใน พ.ศ. 2445 ทรงดำรงพระองค์เป็นโสด ไร้ไม่มีวี่แววว่าจะทรงอภิเษกสมรสเมื่อใด นั่นทำให้พระราชบิดาและพระราชมารดากังวลพระทัย จึงทรงมีพระราชประสงค์ให้รัชกาลที่ 6 ทรง “เลือกคู่”
รัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกเรื่อง “ฉันถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่” ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6″ ว่า “…ในงานนี้เสด็จแม่ได้ตรัสแก่ฉันว่าให้เลือกคู่เสียทีเถิด, และทรงอ้างว่าทูลกระหม่อมก็ได้ทรงบ่นอยู่ว่าอยากให้ฉันมีเมีย. ส่วนพระองค์เสด็จแม่เองนั้นมีพระประสงค์ให้ฉันเลือกลูกเธอของทูลกระหม่อมองค์ 1. และทรงแนะนำว่าหญิงน้อย (สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงนิภานภดล) เปนผู้ที่ทรงเห็นเหมาะ แต่ฉันก็ยืนยันอยู่เช่นที่ได้เคยยืนยันมาแล้วตั้งแต่กลับจากยุโรป ว่าไม่ยอมเลือกน้องสาวเปนเมียเปนอันขาด…”
วรชาติ มีชูบท (บทความ เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรง “ถูกเกณฑ์ให้ทรงเลือกคู่”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2558) อธิบายว่า “การที่ทรงถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่คราวนั้นคงจะเป็นเพราะเมื่อประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ มักจะมีข่าวปรากฏทางหน้าหนังสือพิมพ์และถูกรายงานกลับมากรุงเทพฯ ว่า ทรงคบหาสมาคมกับหญิงสาวมากหน้าหลายตา”
ตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งเสด็จประพาสรัสเซียในเดือนมกราคม พ.ศ. 2442 ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถนำเสด็จไปพบกับ มาธิลเด คเชซินสกายา (Mathilde Kchesinskaya) ดาราบัลเล่ต์ชื่อดังชาวรัสเซีย
กรมขุนพิษณุโลกประชานาถได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในสมุดบันทึกรายวันส่วนพระองค์ว่า “เธอเฝ้าพยายามทูลขอให้ทูลกระหม่อมโต (เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ) ประทับอยู่ที่เซนต์ปีเตอร์สเบอร์กต่ออีกหลาย ๆ วัน และเมื่อเราจะกลับ เธอก็ยกมือขึ้นออดอ้อนและทูลขอพระองค์ไม่ให้เสด็จกลับเร็วนัก”
นอกจากนี้ ในหนังสือ “แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม” ได้กล่าวถึง “ข่าวร้ายจากอังกฤษ” ซึ่งเป็นเรื่องที่รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ ไปส่งนางละครชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ มาเบล กิลแมน (Mabel Gilman) ที่สถานียุสตัน (Euston) ไว้ว่า
“เธอได้ทูลขอให้เสด็จร่วมทางไปถึงเมืองรักบี้ (Rugby) พระองค์จึงรับสั่งให้นายร้อยเอกหลวงสรสิทธิ์ [1] ไปถามห้องขายตั๋วว่า รถขบวนดังกล่าวหยุดที่สถานีรักบี้หรือไม่ ถ้าหยุดก็ให้ซื้อตั๋วมาให้พระองค์ อย่างไรก็ดีระหว่างที่พระองค์ประทับรับสั่งกับมาเบลอยู่บนขบวนรถไฟอย่างเพลิดเพลินนั้น พระองค์ก็ต้องตกพระทัยมาก เมื่อรถไฟเคลื่อนขบวนออกจากสถานี
ยิ่งไปกว่านั้น ขบวนนี้เป็นรถด่วน ซึ่งไม่จอดที่รักบี้ ทำให้ทั้งสองต้องไปลงที่ลิเวอร์พูล (Liverpool) เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า ‘ด้วยเหตุบังเอิญเช่นนี้เองที่ทำให้ทูลกระหม่อมต้องจำใจเสด็จไปลิเวอร์พูลและเหตุการณ์นี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้น เพราะถ้าหากเป็นที่ล่วงรู้กันทั่วไป ศัตรูของเราก็จะสามารถฉวยโอกาสใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ได้’
แน่นอนที่พระองค์ทรงหวั่นวิตกว่า ข่าวนี้จะซ้ำรอยเดิมในเรื่องที่พระองค์โปรดปรานคเชสซินสกายา คือ จะไม่รู้กันแต่ที่ในลิเวอร์พูลเท่านั้น แต่จะรู้กันไปถึงกรุงเทพฯ ทีเดียว”
นอกจากนั้น เสวกโท จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) อดีตมหาดเล็ก ได้บันทึกไว้ใน “อนุสรณ์ ‘ศุกรหัศน์'” ว่า เมื่อครั้งประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษนั้น ทรงใช้ชีวิตในวัยหนุ่มเยี่ยง “Londoner” โดยแท้ และเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์ (Royal Military Academy, Sandhurst)
“ทรงเป็นนายทหารใหม่ๆ เวลามีสวนสนามที่บริเวณไฮด์ปาร์ค ทรงแต่งพระองค์เต็มยศเครื่องสนาม ทรงสายสพายจักรีสีเหลืองสด ทรงเป็นหนุ่มทั้งแท่ง ทรงคุยอวดว่าผู้หญิงฝรั่งติดกรอ คราวหนึ่งทรงนำแถวทหารราบเบาเดอรัม [2] พอถึงสี่แยกแห่งหนึ่งมีสุภาพสตรีอังกฤษถลันวิ่งออกมาส่งช่อดอกไม้ให้ แล้วก็จูบพระองค์กลางสนามนั่นเอง พระองค์ทรงอายเกือบแย่ ตั้งแต่นั้นมาต้องทรงรับแขกผู้หญิงอังกฤษมิได้ว่างเว้น ต้องประทานเลี้ยงน้ำชาบ้าง ดินเน่อร์บ้าง ทรงเล่าขำๆ ว่า บางวันเงินหมดต้องให้ฮื่อ [3] ไปจัดการ”
ดังนั้น เมื่อเสด็จนิวัตพระนครจนได้ทรงผนวชใน พ.ศ. 2447 แล้ว รัชกาลที่ 6 ก็ยังทรงครองพระองค์เป็นโสดต่อมา จนพระชนมายุล่วงเข้า 30 พรรษา เป็นเหตุให้พระราชบิดาและพระราชมารดา ทรงกังวลพระทัยว่าจะไม่มีพระราชกุมารเพื่อสืบราชตระกูล ดังนั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงออกพระโอษฐ์ “เกณฑ์ให้ทรงเลือกคู่”
อ่านเพิ่มเติม :
- นิยาม “ความเป็นชาย” ของสังคมนายใน สมัยรัชกาลที่ 6
- คำเล่าลือรัชกาลที่ 6 “มีพระชายาไม่ได้” และคำอธิบายจากเจ้านายที่ถวายรับใช้ใกล้ชิด
- “พระคู่หมั้นพระองค์แรก” ของร.6 กับความขัดข้องพระราชหฤทัยใน “พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี”
เชิงอรรถ :
[1] นายร้อยเอก หลวงสรสิทธยานุการ (อุ่ม อินทรโยธิน) ราชองครักษ์ ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น นายพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน
[2] เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์แล้ว ได้เสด็จเข้าประจำการในกองพันที่ 1 กรมทหารราบเบาเดอรัม (Duhram Light Infantry) ที่ออลเดอร์ช็อต (Aldershot) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2441 เพื่อทรงฝึกหัดการบังคับบัญชาหน่วยทหารอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วจึงเสด็จฯ ไปทรงศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่และปืนเล็ก กับเสด็จฯ ไปทรงศึกษาวิชาพลเรือนที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดตามลำดับ
[3] เป็นนามแฝงที่ทรงใช้เรียก นายพันโท พระยาราชวัลภานุสิษฐ (อ๊อด ศุภมิตร) ราชองครักษ์ประจำพระองค์ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พระตำรวจเอก เจ้าพระยาราชศุภมิตร สมุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มกราคม 2564