“แรกนาขวัญ-นาตาแฮก” การสร้างขวัญและกําลังใจของเกษตรกร

จิตรกรรม พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัล แรกนาขวัญ ทำนา
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัล หรือพิธีแรกนาขวัญ (ภาพจิตรกรรมวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม)

“แรกนาขวัญ” หรือ “นาตาแฮก” พิธีสร้างขวัญกำลังใจแก่เกษตรกร เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิต

เดือนหก ทางจันทรคติของชุมชนท้องถิ่นพวกหนึ่งในอุษาคเนย์ เริ่มเข้าวันแรมขึ้น 1 ค่ำ เดือนหก ขณะที่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยานับเดือนหก แต่ทางล้านนาและบางท้องถิ่นที่อยู่ตอนบนของภูมิภาคจนถึงทางใต้ของจีน นับเป็นเดือนแปดแล้ว เพราะนับเร็วกว่ากันราว 2 เดือน ตามลักษณะแตกต่างทางภูมิศาสตร์

ประเพณีชาวบ้านช่วงเวลานี้สืบเนื่องจากเดือนก่อน (คือ เดือนห้า) เป็นช่วงเวลาหลังฤดูการเก็บเกี่ยว พืชพันธุ์ธัญญหาร แล้วเริ่มเข้าฤดูการผลิตใหม่ เพราะฝนเริ่มตกแล้ว ถึงเวลาต้องเตรียมเครื่องมือทําไร่ไถนา ที่สำคัญก็คือต้องทำ พิธีแรกนา หรือ นาแรก ทางอีสานเรียก นาตาแฮก

ในทวาทศมาส (โคลงดั้น) เอกสารยุคต้นกรุงศรีอยุธยา พรรณนาฤดูเดือนหก (ไพศาขย) เริ่มมีฝนตกแล้วว่า “ฤดูไพศาขยสร้อง ฝนสวรรค์” ต่อจากนี้ไปจะมี พิธีแรกนาขวัญทั่วไป ในชนบทหมู่บ้านเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้ชาวนาชาวไร่ มีโคลงดั้นบอกว่า “แขไขบ่าวไถนา ถถั่น มานา”

แรกนาขวัญในชนบทหมู่บ้านทุกแห่งจะมีธงปัก และผูกคันไถปลิวไปตามลมทุกหนทุกแห่ง ทวาทศมาส (โคลงดั้น) พรรณนาดังนี้

๏เดือนหกเรียมให้ร่ำ   ฤาวาย ท่องหล้า

ยามย่อมชนบทถือ   ท่องหล้า

ธงธวัชโบกโบยปลาย   งอนง่า

คิดว่ากรกวักข้า   แล่นตาม ฯ

๏ทันธงบใช่น้อง   เรียมทรุด

หิวกระหนรนกาม   พรั่นกว้า

ธวัชงอนโบกโบยสุด   ลิ่วลี่

กรใช่กรหน้าหน้า   ใช่น้องนาไถ ฯ

จนถึงปลายกรุงศรีอยุธยา ก็ยังมีพรรณนาแรกนาขวัญไว้ใน นิราศธารโศก ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง) ว่า

๏ เดือนหกสรกฝนสวรรค์ จรดนังคัลตามพิธี

แรกนาเข้าธรณี   พี่ดูเจ้าเปล่าใจหาย

๏เดือนหกตกครั่นครื้น   ฝนสวรรค์

พิธีจรดนังคัล   ก่อเกล้า

แรกนาจอมไอศวรรย์   กรุงเทพ

พี่แลบเห็นเจ้า   เปล่าแล้วใจหาย

แรกนาขวัญ เป็นภาษาของคนในภาคกลางที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตรงกับภาษาของคนบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขงว่า นาตาแฮก (แฮก คือ แรก) หมายถึง การไถนาทำนาปลูกข้าวครั้งแรกในนาจำลองขนาดเล็กๆ ที่สมมุติขึ้น แล้วมีพิธีสู่ขวัญวิงวอนร้องขอต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ (บางที่เรียกผีนาหรือพระภูมินา) จงบันดาลให้ทำนาจริงๆ ได้ผลผลิตเป็นข้าวงอกงามอุดมสมบูรณ์ เหมือนนาจำลองที่สมมุติขึ้นครั้งแรกนี้ บางแห่งเช่นภาคเหนือจะทำพิธีสังเวยแม่โพสพพร้อมกันไปด้วย

พิธีอย่างนี้มีมาแต่ดั้งเดิม ในชุมชนคนดึกดำบรรพ์ราว 3,000 ปีมาแล้ว สมัยก่อนๆ ทุกคนมีอาชีพทำนาต้องทำกันทั่วไปก่อนจะลงมือทำนาจริง ต่อมาเมื่อราชสำนักรับแบบแผนฮินดูจากชมพูทวีป (อินเดีย) จึงปรุงแต่งให้สอดคล้องกับพิธีพราหมณ์ เพื่อความศักดิ์สิทธิ์สูงขึ้น เช่น มีพระโคเสี่ยงทาย มีการเชิญเทวดามาเสกเป่าข้าวเปลือกที่ใช้หว่านในพิธี เมื่อเสร็จงานก็ให้ชาวบ้านแย่งกันเก็บเม็ดข้าวเปลือกไปบูชา และโปรยลงในนาของตน เพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นเมล็ดข้าวมากขึ้น และรอดพ้นจากภัยธรรมชาติ

ภาษาทางราชการเรียก จรดพระนังคัล เป็นคำเขมร (นังคัล คือ ผาลไถนา) แปลว่า ไถนาครั้งแรก มีหลักฐานยืนยันในเอกสารเก่าแก่ว่า พระเจ้าแผ่นดินเมื่อราว 700 ปีมาแล้ว มอบให้เจ้านาย และขุนนาง ทำพิธีนี้ เพื่อความมั่งคั่งในพืชพันธุ์ธัญญาหารของราชอาณาจักร จะละเว้นมิได้ ต้องทำทุกปี จึงมีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ขวัญ มีอยู่ในคน สัตว์ สิ่งของ และธรรมชาติ

ตัวตนของคนทุกคนในชุมชน (ยุคก่อนรับศาสนาจากอินเดีย) นานมาแล้ว เชื่อว่ามีส่วนประกอบสำคัญอยู่ 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นตัวตน ได้แก่ ร่างกาย กับส่วนที่ไม่เป็นตัวตน คือ ขวัญ แม้สัตว์ สิ่งของ และธรรมชาติที่มีขวัญทั้งนั้น เช่น ขวัญควาย ขวัญยังข้าว ขวัญนา จึงมี พิธีแรกนาขวัญ

ขวัญต่างจากวิญญาณ (ในคำสอนทางศาสนา) เพราะเมื่อคนตายไปวิญญาณที่ดับหายไป แต่ขวัญไม่หายไปพร้อมเจ้าของที่ตาย ในทางตรงข้าม ขวัญของผู้ตายยังมีอยู่ แล้วพยายามหาหนทางกลับเหย้าเรือนเดิมของคน ไม่ว่าเหย้าเรือนเดิมจะอยู่ส่วนไหนของโลก

ขวัญมีหน่วยเดียว แต่ถึงกระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่แรกเกิดมาเป็นตัวตน และมีความสำคัญเท่าๆ กันหมด รวมถึงสำคัญเท่ากับร่างกายด้วย เพราะร่างกายต้องมีขวัญ ถ้าไม่มีขวัญก็ไม่มีชีวิต ฉะนั้น ร่างกายที่มีชีวิต ต้องมีขวัญ เช่น ขวัญหัว ขวัญตา ขวัญมือ ขวัญแขน ขวัญขา ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ คนสมัยก่อนจึงเชื่อว่า ถ้ามีขวัญอยู่กับร่างกาย เจ้าของขวัญจะมีความสุข แต่ถ้าขวัญออกจากร่างกายไป เจ้าของขวัญที่ก็ไม่มีความสุข ไม่เป็นปกติ อาจเจ็บไข้ได้ป่วยจนถึงตายได้ ฉะนั้น เมื่อคนเราเจ้าของขวัญเจ็บป่วย แสดงว่าขวัญไม่ได้อยู่กับตัว มีความจำเป็นต้องจัด พิธีเรียกขวัญ หรือ พิธีสู่ขวัญ ให้กลับเข้าสู่ตัวตนเหมือนเดิม จะได้อยู่ดีมีสุขตามปกติ

พิธีกรรมเกี่ยวกับขวัญมีชื่อเรียกต่างๆ กันไปตามท้องถิ่น เช่น เรียกขวัญ สู่ขวัญ ทำขวัญ ฯลฯ เป็นพิธีกรรมที่แสดงความผูกพันในระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ระหว่างบุคคลกับครอบครัว และบุคคลกับชุมชน ที่เริ่มมีขึ้นในสังคมกสิกรรม หรือสังคมชาวนาที่ยังล้าหลังทางเทคโนโลยี เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว บรรดาเครือญาติจะจัดขึ้น เมื่อเกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งเหตุดี และเหตุไม่ดี เช่น ฝันร้าย รวมทั้งได้รับอุบัติเหตุเภทภัยจากสถานการณ์ต่างๆ

ผู้ทำพิธีเกี่ยวกับขวัญ ด้วยการท่องบ่นคำสู่ขวัญ เป็นทำนองอย่างหนึ่งด้วยฉันทลักษณ์กลอนร่าย เรียก หมอขวัญ เป็นคนเดียวกับหมอผี-หมอพร เทียบเท่ากับผู้เชี่ยวชาญพิเศษในวิชาความรู้เหมือนนักบวชในศาสนาต่างๆ สมัยหลัง โดยใช้เครื่องมือสื่อสารกับขวัญ และอำนาจเหนือธรรมชาติ คือ ดนตรี มีฆ้องกับแคนเป็นหลัก ที่ภายหลังเรียกกลอง-ปี่ หรือปี่-กลองก็ได้

ผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ คือ นาค เพราะเป็นผู้พิทักษ์มนุษย์ และธรรมชาติ จึงเรียกทำนองเพลงที่แต่งขึ้น เพื่อพิธีกรรมทำขวัญว่า นางนาค มีชื่อเป็นเพศหญิง เพราะรากเหง้าเก่าแก่ของสังคมในอุษาคเนย์เรียกผู้หญิงว่า “แม่” หรือ “นาง” หมายถึง เป็นใหญ่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง

ในพิธีแรกนาขวัญต้องไถนาแรก หรือนาตาแฮกที่จำลองขึ้นเป็นนามสมมุติ เมื่อผู้นำในพิธีกรรมเริ่มไถนา แรกพนักงานดนตรีปี่พาทย์ต้องเริ่มต้นประโคมด้วยเพลงนางนาค เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ร้องขอความอุดมสมบูรณ์แก่พืชพันธุ์ปัญญาหาร และอาจตามด้วยเพลงที่เป็นสิริมงคลอื่นๆ ต่อไปให้ยืดยาวได้จนกว่าจะไถนาแรกเสร็จสิ้นตามที่กำหนดไว้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

เดือนหก (ชุดประเพณี 12 เดือน) พฤษภาคม 2548, เอกสารเผยแพร่แบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่สาธารณะ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2562