พระราชพิธีแรกนาสมัยอยุธยา จาก จดหมายเหตุวันวลิต

เศษภาชนะดินเผามีลายประทับรูปบุคคล คันไถ และวัว จากเตาเผาบ้านบางปูน ต. พิหารแดง อ. เมืองฯ จ. สุพรรณบุรี

จดหมายเหตุวัน วลิต ได้บันทึกถึงพระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ในช่วงหนึ่ง แต่อย่าลืมว่า ตอนนั้น วันวลิตยังไม่เข้ามาอยุธยา อย่างน้อยก้รู้ว่า พระเจ้าปราสาททอง มีพระนามเดิมว่า พระองค์ไล แล้วเข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก  มีบรรดาศักดิ์เป็น จมื่นศรีสรรักษ์ แล้วท่านก็ไปก่อกวนในพระราชพิธีแรกนา

เมื่อถึงคราวพระราชพิธีแรกนา พระเจ้าทรงธรรมทรงแต่งตั้งให้ “ออกญาข้าว” เป็นพระยาแรกนา ซึ่งบันทึกนี้ก็สะท้อนถึงพระราชพิธีแรกนาในสมัยอยุธยา (จะผิดจะถูกก็ช่วยกันวิเคราะห์กันต่อไป วันวลิตคงได้รับฟังจากชาวบ้าน)

“…พระองค์ได้พระราชทานพระภูษาใหม่อันเป็นฉลองพระองค์ของกษัตริย์ และให้ใส่มงกุฎรูปกรวยแหลมลงบนศีรษะ ออกญาข้าวต้องนั่งในบุษบกเล็กๆ ทรงปิรามิด มีคน 8 คน หามออกเดินจากพระราชวังไปตามถนน มีบริวารล้นหลาม พร้อมด้วยเครื่องดีดสีตีเป่าติดตามไปยังชนบท ทุกๆ คนแม้แต่เสวกามาตย์และชาววังคนอื่นๆ ถวายเกียรติยศทำนองเดียวกับที่ถวายพระเกียรติแก่พระเจ้าแผ่นดิน ทั้งนี้เพราะเขาได้ถูกสมมุติให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ออกญาข้าวไม่ได้รับค่าตอบแทนอื่นใด นอกจากเงินที่เก็บจากค่าปรับไหมจากคนที่พบกลางทาง…

พระยาแรกนาเมื่อมาถึงโรงพิธี ก็อนุญาตให้ทุกๆ คนเข้าโจมตีต่อสู้กับพรรคพวกและบริวารผู้ติดตามมีกฎอยู่ว่าผู้ที่เข้าโจมตีจะแตะต้องตัวหรือองครักษ์ของพระยาแรกนาไม่ได้ และถ้าหากพระยาแรกนาได้ชัยชนะในการต่อสู้กับฝูงชนแล้ว จะเป็นสัญลักษณ์ว่าปีนั้นข้าวอุดมสมบูรณ์และถ้าการณ์กลับตรงกันข้าม พระยาแรกนาก็ต้องหนีกระเจิง ก็ทำนายว่าเป็นลางร้ายและเกรงว่าภูตผีจะทำลายพืชผลของแผ่นดิน…

ขณะนั้นออกญากลาโหมเพิ่งมียศเป็นจมื่นศรีสรรักษ์และมีอายุประมาณ 18 ปี วันหนึ่งเมื่อการทำพิธีนี้เขาได้อยู่ที่ชนบทนั้นด้วย โดยมากับน้องชาย…ทั้ง 2 คนขี่ช้างมีบ่าวไพร่ติดตามมาหลายคนและได้เข้าโจมตีพระยาแรกนาอย่างดุเดือด ดูเหมือนว่ามีเจตนาจะฆ่าพระยาแรกนาและกลุ่มผู้ติดตามทั้งหมดด้วย…จมื่นศรีสรรักษ์ก็ถอดดาบและโถมเข้าสู้อย่างดุเดือด จนพระยาแรกนาและองครักษ์จำต้องถอยหนี…”