ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
กบฏบวรเดช เมื่อ พ.ศ. 2476 ปรากฏขึ้นเพียงปีเดียวหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลุ่มผู้กระทำการเรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านเมือง” มี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นผู้นำ การเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่เป็นผล เมื่อการรบที่สมรภูมิบางเขนกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญซึ่งทำให้ฝ่ายกบฏถอยร่นจากดอนเมืองกลับนครราชสีมา ในการถอยครั้งนี้ พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) (10 พฤษภาคม 2434-23 ตุลาคม 2476) ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการรบหน่วยระวังหลัง เพื่อสกัดการติดตามจากฝ่ายรัฐบาลที่บ้านหินลับ สถานที่แห่งนี้เอง เป็นจุดที่พระยาศรีสิทธิสงครามเสียชีวิตจากกระสุนปริศนา
กลยุทธ์ที่พระยาศรีสิทธิสงครามวางแผนสำหรับสกัดการติดตาม ณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนหนังสือ “กบฏบวรเดช : เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475” อธิบายว่า จัดกองลาดตระเวนของคณะกู้บ้านกู้เมืองออกเป็น 3 สาย ได้แก่ ลาดตระเวนจากสถานีมวกเหล็กถึงแก่งคอย ซึ่งเป็นสายลาดตระเวนในป่าเป็นหลัก, ลาดตระเวนจากหินลับถึงท่าเสาจรดแม่น้ำป่าสัก และปฏิบัติการตามทางรถไฟถึงสถานีทับกวาง
สำหรับชัยภูมิที่คณะกู้บ้านเมืองวางไว้ที่หินลับ ก็ถือว่าได้เปรียบเหนือฝ่ายรัฐบาล เพราะสถานีหินลับตั้งอยู่ในทางแคบระหว่างช่องเขาและทางโค้ง มีป่ารกชัฏ เส้นทางรถไฟนี้เป็นเส้นทางเดินทางต่อไปยังนครราชสีมา ที่มั่นของคณะกู้บ้านเมืองได้แค่ทางเดียว เมื่อฝ่ายรัฐบาลผ่านเข้ามา พระยาศรีสิทธิสงครามจะให้รังปืนกลบนหน้าผาโจมตีขบวนรถไฟ คณะกู้บ้านเมืองก็ตั้งตารอคอยรัฐบาลผ่านมาตามแผนการ
อย่างไรก็ตาม จุดด้อยของฝ่ายคณะกู้บ้านเมืองในครั้งนี้คือ จำนวนกำลังพลซึ่งร่อยหรอลงทุกขณะ ทหารที่เห็นท่าทีพ่ายแพ้ก็เริ่มหลบหนีออกจากสนามรบ พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ เล่าไว้ว่า นายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงครามเลือกแนวตั้งรับขั้นสุดท้ายที่หลักกิโลเมตร 140 ใกล้ผาเสด็จซึ่งทางรถไฟบริเวณนี้เป็นทางโค้งและแคบเพราะธรรมชาติบีบบังคับ เหนือทางรถไฟเป็นเนินเขาเตี้ยๆ สั่งให้ตั้งรังปืนกลไว้อย่างแข็งแรงสามารถยิงกราด ควบคุมพื้นที่ได้ในระยะไกลและกว้างขวางเป็นแนวต้านทานแรก
แนวต่อมาก็ตั้งรังปืนกลเป็นระยะ ที่หลักกิโลเมตร 141-142-143 และ 144 ใกล้สถานีหินลับซึ่งเป็นแนวต้านทานสุดท้าย เป็นจุดที่ใช้เป็นกองบัญชาการการตั้งรับ โดยระยะทางตลอด 4 กิโลเมตรที่วางปืนกลพระยาศรีสิทธิสงครามสั่งถอดรางรถไฟทั้งหมด บีบบังคับให้ต้องเดินเท้า สร้างความได้เปรียบให้แก่ฝ่ายตั้งรับ
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม การวางกำลังตั้งรับทั้งหมดนี้ก็เสร็จสิ้น จากนั้นก็รายงานให้กองบัญชาการที่นครราชสีมาทราบ แต่ทางฟากกองบัญชาการนั้นเลิกสนใจแผนการต่อสู้ทั้งหมดแล้ว พระองค์เจ้าบวรเดชทรงกำลังวางแผนจะเสด็จลี้ภัยไปยังอินโดจีนของฝรั่งเศส นายทหารระดับสูงวางแผนเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศตามความถนัด ประโยชน์จากแผนการตั้งรับของนายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงครามจึงเป็นเพียงการซื้อเวลาเพื่อแผนหลบหนี ส่วนนายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม ไม่ทราบความจริงประการนี้ จึงยังคงปักหลักยึดมั่นในคำสั่งที่ได้รับต่อไปอย่างสุดกำลังจนถึงฉากสุดท้ายของชีวิต
คำให้การถึงกระสุนปริิศนา
ในฉากสุดท้ายของพระยาศรีสิทธิสงคราม ท่านเสียชีวิตเพราะถูกยิงที่บ้านหินลับ จอมพล ประภาส จารุเสถียร ให้สัมภาษณ์ไว้ระหว่าง พ.ศ. 2525-30 ปรากฏเนื้อหานี้ในหนังสือ “เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ” ของ “นายหนหวย” หรือนามจริง “ศิลปชัย ชาญเฉลิม” ใจความตอนหนึ่งว่า
“เมื่อเข้ายึดสถานีทับกวางได้แล้ว ที่หมายในการเข้าตีขั้นต่อไปก็คือสถานีหินลับ นายทหารระดับผู้บังคับหมวดแทบทุกคนไม่เคยผ่านภูมิประเทศบริเวณนี้มาก่อน จึงอาศัยแผนที่และทางรถไฟเคลื่อนที่เข้าทำการรบ หลวงวีระโยธา ผู้บังคับกองพันได้สั่งให้ ร้อยโท ซันซอน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘สุริยบุตร ศูระสุรางค์’ นำหมู่ปืนกลเบาขึ้นรถโยกเป็นส่วนล่วงหน้าไปเท่าที่จะไปได้ และในบางตอนก็ต้องลงเดินเท้าเข้าไป กำลังส่วนใหญ่ที่เข้าตีตรงหน้าใช้กำลังในกองร้อยที่ 1 ในบังคับบัญชา ร้อยเอก ขุนชัชวิชัยชาญยุทธ ทั้งหมดนี้คือแผนปฏิบัติการในตอนเช้าของวันที่ 23 ตุลาคม แต่เนื่องจากภูมิประเทศในช่วงนี้ทางรถไฟคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา มีการยิงสกัดจากรังปืนกลของฝ่ายปฏิวัติบ้างประปราย ทหารต้องลงเดินเท้ารบตั้งแต่เช้าจนบ่ายรุกคืบหน้าไปไม่ได้เท่าที่ควรเพราะทั้งกองร้อยตกอยู่ในหุบเขา
ประมาณ 14.00 น. เศษ หลวงวีระโยธาจึงสั่ง ว่าที่ร้อยตรี ตุ๊ คือจอมพล ประภาส นำทหาร 1 หมู่ลงจากทางรถไฟ ให้ลัดเลาะไปโอบหลังรังปืนกลของฝ่ายปฏิวัติที่กำลังยิงสกัดการรุกอยู่ จอมพล ประภาสจึงนำทหารลงเดินลัดเลาะไปตามขอบเหวและไหล่เขา
เมื่อทิ้งทางรถไฟอันเป็นเส้นทางหลักเสียแล้ว จอมพล ประภาสก็เริ่มหลงทิศทางฟังเสียงปืนที่ยิงต่อสู้กันก็ไม่รู้ว่าเป็นฝ่ายไหน เพราะเสียงปืนในหุบเขาเป็นเสียงก้องและบางตอนก็สะท้อนกลับ ทหารที่ติดตามมาก็หลงทิศแตกหมู่กันไปบ้าง จะตะโกนเรียกกันก็ไม่กล้าเพราะไม่รู้ว่าฝ่ายไหนอยู่ข้างหน้า
จอมพล ประภาสนำหมู่วกวนอยู่จนเวลาประมาณ 17.00 น. ได้ยินเสียงปืนยิงสู้กันหนัก ภูมิประเทศในเทือกเขามืดเร็ว ถ้าตกกลางคืนแล้วจะลำบากมาก อาจพลาดท่าเสียทีเดินไปชนลูกปืนฝ่ายปฏิวัติเอาง่ายๆ จอมพล ประภาสจึงตัดสินใจนำหมู่วกขึ้นทางรถไฟบริเวณที่ได้ยินเสียงปืนอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าไปโผล่ขึ้นกลางแนวปะทะของทั้งสองฝ่ายซึ่งยิงโต้กันเป็นเชิงข่มขวัญกันมากกว่า ต่างฝ่ายต่างก็มองไม่เห็นกัน มีก้อนหินขนาดใหญ่เป็นที่กำบังอย่างดี จอมพล ประภาสนำหมู่พรวดพราดขึ้นมาก็จำพวกเดียวกันได้เพราะยังไม่มืดนัก ทหารหมวดหนึ่งในกองร้อยที่ 1 จึงเข้ามาสมทบกำลังกับจอมพล ประภาสขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 18.00 น. แล้ว บรรยากาศในหุบเขาเริ่มมืด หากจอมพล ประภาสนำหมู่ขึ้นมาบนทางรถไฟช้าสักเครื่องชั่วโมงก็น่ากลัวจะลำบาก
เมื่อได้ทราบจากทหารที่เข้ามาสมทบว่า ร้อยโท ซันซอน ส่วนหน้าของกองพันกำลังต่อสู้กับฝ่ายปฏิวัติซึ่งอยู่ในรังปืนกลถาวร จอมพล ประภาสสังเกตเห็นที่ตั้งของรังปืนกลรังนั้นจากวิถีกระสุนอยู่ห่างประมาณ 50 เมตร ซึ่งเป็นระยะเผาขนของปืนกลและเป็นระยะรบประชิดก็เตรียมนำทหารเข้าตะลุมบอน จึงสั่งจ่านายสิบ สุข สังขไพรวัลย์ รองผู้บังคับหมวด ให้ใช้ปืนกลเบายิงตรึงปืนกลหนักของฝ่ายปฏิวัติกระบอกนั้นไว้ แล้วสั่งทหารที่ติดตามมาติดดาบ จอมพล ประภาสนำทหารวิ่งเข้าประชิดรังปืนกลรังนั้นซึ่งตั้งอยู่บนเนินข้างทางรถไฟได้สำเร็จ เพราะผลการยิงถูกกระสุนฝ่ายรัฐบาลตรงหัวเลือดสาด ยังไม่ตายทันที นอนร้องครวญครางอยู่ในรังปืน พลทหารอีก 4 คนยกมือยอมจำนนโดยดี ปืนกลกระบอกนั้นเป็นปืนกลหนักแบบโคลท์มีหม้อน้ำหล่อเลี้ยง ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดีที่สุด หากพลยิงทราบชื่อภายหลังว่า สิบโท น้อย ไม่ถูกกระสุนเสียก่อน รังปืนกลนี้จะไม่มีทางยอมจำนน และ จอมพล ประภาส อาจไม่ประสบความสำเร็จก็ได้
เมื่อมอบรังปืนกลหนักและพลทหารเลือดโคราชทั้ง 4 ให้แก่ร้อยโท ซันซอน แล้ว จอมพล ประภาส ก็นำทหารหมวดนั้นรุกคืบหน้าต่อไป
ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 19.00 น. เศษ ภูมิประเทศในหุบเขามืดแล้ว หมวดของ ร้อยโท ซันซอน ซึ่งเป็นส่วนล่วงหน้าของกองพันได้เข้าสมทบกับหมวดของจอมพล ประภาสติดตามหนุนเนื่องกันไป เนื่องจากเป็นช่องทางแคบขยายแนวไม่ได้ จึงนำกำลังประมาณ 1 หมู่วิ่งตามทางรถไฟเข้าไปพร้อมกับร้องไชโย-ไชโย ปลอบขวัญตนเองไปด้วย ทุกคนยิงตรงไปข้างหน้ายิงสุ่มเข้าไปในความมืด จอมพล ประภาสได้ใช้ไฟฉายที่เตรียมไปฉายส่องทางเป็นระยะผ่านศพทหารฝ่ายปฏิวัติ 2-3 ศพ
ทันใดนั้น จอมพล ประภาสมองฝ่าความมืดไปข้างหน้า ได้เห็นเงาคนตะคุ่มๆ อยู่ 2-3 คนยืนขวางหน้าอยู่บนทางรถไฟ จึงตะโกนถามไปว่า ‘ใคร’ พร้อมกับฉายไฟในมือตามไปเห็นคนแต่งเครื่องแบบทหารถือปืนเล็งตรงมาพร้อมกับมีเสียงร้องตอบมาว่า ‘พวกเดียวกัน’ คนที่อยู่หน้าสุดกำลังเล็งปืนพกจะยิง จอมพล ประภาสรู้ทันทีว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร คนที่ถือปืนพกเล็งตรงมามีลักษณะเป็นนายทหาร
ในเสี้ยววินาทีแห่งความคับขันแต่ละคนต่างก็ใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน จอมพล ประภาสยิงปืนพกในมือออกไปในทันที พร้อมกันนั้นทหารที่ติดตามมาต่างก็ระดมยิงไปยังที่หมายตะคุ่มๆ ข้างหน้าในระยะห่างไม่เกิน 20 เมตร คนกลุ่มนั้นแตกกระเจิงและล้มฟุบลง เพราะปืนแต่ละกระบอกยิงกรอกเข้าไปในช่องเขาซึ่งมีความกว้างไม่เกิน 10 เมตรนั้น แม้จะไม่ต้องเล็งเป้าที่ขวางหน้าอยู่ก็มีโอกาสน้อยที่จะพ้นวิถีกระสุนไปได้
จอมพล ประภาสวิ่งนำหมู่รบเข้าไปแล้วใช้ไฟส่องไปยังร่างของคนสองคนที่ล้มฟุบอยู่บนทางรถไฟ เมื่อก้มลงดูหน้าอีกทีก็รู้ว่าคนหนึ่งติดเครื่องหมายยศพันเอกบนอินทรธนู คนนี้ถึงแก่ความตายทันทีเพราะถูกกระสุนหลายนัด แต่จะเป็นใครนั้นจอมพล ประภาสไม่รู้จักเพราะเพิ่งออกเป็นนายทหาร ไม่รู้จักกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ส่วนอีกคนหนึ่งไม่ถูกกระสุนแต่ล้มฟุบลง คนนี้เครื่องหมายยศร้อยตรีติดอยู่ที่อินทรธนู จึงจับตัวเป็นเชลย จอมพล ประภาสนำทหารวิ่งต่อไปเข้ายึดสถานีหินลับ ทิ้งศพนายทหารชั้นพันเอกและนายทหารยศร้อยตรีที่จับได้ให้เป็นภาระของหน่วยที่ติดตามมาภายหลัง ในชั่วโมงต่อมาเมื่อกำลังส่วนใหญ่ของกองพันเคลื่อนมาถึง จึงพิสูจน์ทราบว่า นายทหารยศพันเอกที่เสียชีวิตในการรบนั้นคือพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม…”
ศพพระยาศรีสิทธิสงคราม
เมื่อข่าวการเสียชีวิตของนายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงครามไปถึงพระนคร หลวงพิบูลสงครามจึงเดินทางมายังพื้นที่การรบ จอมพล ประภาส ให้สัมภาษณ์ “นายหนหวย” ต่อไปว่า
“หลวงพิบูลฯ เมื่อขึ้นไปถึงแก่งคอยในตอนสายของวันที่ 24 ตุลาคม ก็ได้รับรายงานรายละเอียดจากหลวงวีระโยธา พร้อมกับนำตัวจอมพล ประภาสผู้นำหมวดเข้ารบประชิด หลวงพิบูลฯ เข้าสวมกอดจอมพล ประภาสด้วยความดีใจพร้อมกับสรรเสริญไม่ขาดปาก ถึงจะยังไม่เห็นศพพระยาศรีสิทธิ์ฯ ด้วยตนเอง หลวงพิบูลฯ ก็เชื่อรายงานของนายทหารชั้นผู้ใหญ่คือพระเริงรุกปัจจามิตรและหลวงวีระโยธา ซึ่งรู้จักพระยาศรีสิทธิ์ฯ ดีและได้ไปดูศพมาแล้ว
หลวงพิบูลฯ จึงสั่งให้นายดาบพลาธิการคนหนึ่งขึ้นไปรับศพพระยาศรีสิทธิ์ฯ จากหินลับลงมาที่แก่งคอยซึ่งทุลักทุเลพอดูเพราะทางรถไฟขาดเป็นช่วงๆ ต้องใช้รถยกที่มีน้ำหนักเบาขึ้นไปประมาณ 20 กิโลเมตรเศษ จนบ่ายมากแล้วจึงได้ศพลงมา จอมพล ประภาสได้เล่าถึงเหตุการณ์ตอนนั้นว่า นายดาบพลาธิการผู้นั้นนำศพพระยาศรีสิทธิ์ฯ ขึ้นนอนคุดคู้ใต้เก้าอี้รถโยก แล้วขึ้นนั่งคร่อมศพแสดงกิริยาเป็นผู้พิชิต เมื่อนำศพผ่านทหารหน่วยต่างๆ รายทางลงมาแก่งคอย ทหารที่ไม่รู้ความจริงก็คิดว่านายดาบผู้นั้นเป็นผู้ยิงพระยาศรีสิทธิ์ฯ เมื่อหลวงพิบูลฯ และคณะนายทหารในกองผสมส่วนหน้าได้เห็นศพและทำกรรมวิธีเรียบร้อยแล้ว หลวงพิบูลฯ ได้ถอดสายสร้อยห้อยพระสมเด็จวัดระฆังออกจากศพพระยาศรีสิทธิ์ฯ แล้วสวมคอจ่านายสิบ สุข สังขไพรวัลย์ เป็นบำเหน็จความชอบในฐานะผู้บังคับหมู่รบที่ทำลายปืนกลของฝ่ายปฏิวัติให้จอมพล ประภาสนำหมู่เข้ารบประชิดตัวจนได้ชัยชนะขึ้นเด็ดขาด…”
เนื้อหาจากบันทึกคำให้สัมภาษณ์นี้ เมื่ออ่านแล้วทำให้บ่งชี้ว่า ท่านคือผู้นำกำลังเข้าปะทะ การปะทะครั้งนั้นเป็นผลให้นายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม เสียชีวิต แต่กระสุนนัดสังหารนั้นยังมิอาจฟันธงได้ว่ามาจากปืนพกในมือของท่านก็ตาม
ข้อมูลที่ขัดแย้ง
แต่เมื่อดูเนื้อหาในหนังสือ “ฝากเรื่องราวไว้ให้ลูกหลาน” ผลงานการเขียนของ จอมพล ประภาส จารุเสถียร เมื่อ พ.ศ. 2534 กลับไม่ได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญนี้ไว้ดังที่เล่าให้ “นายหนหวย” ฟังโดยละเอียดเลย มีบันทึกไว้สั้นๆ เพียงว่า
“ฝ่ายกองบังคับการรบของรัฐบาลเมื่อยึดแนวสถานีหินลับ ทับกวางซึ่งเป็นแนวหน้าสุดของฝ่ายกบฏได้ก็เป็นเวลามืดค่ำพอดี กว่าจะกวาดล้างโดยเฉพาะบริเวณช่องเขาจากทับกวางขึ้นไปจนถึงหินลับให้เรียบร้อย เวลาก็ล่วงเลยเข้าไปเกือบ 24.00 น. ทางผู้บังคับการกองรบ นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม ได้สั่งให้หน่วยเคลื่อนที่ไปพักแรมที่สถานีปากช่อง ซึ่งหน่วยหน้าได้ขึ้นไปยึดและตรวจความปลอดภัยตั้งแต่ตอนหัวค่ำแล้ว กว่าจะเข้าที่พักแรมได้เรียบร้อยก็เป็นเวลาเกือบ 02.00 น. สำหรับข้าพเจ้าซึ่งเป็นส่วนหน้าสุดก็ได้ไปถึงปากช่องก่อนเพื่อนเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. เศษ จะเป็นเพราะเดือนหงายหรือภูมิประเทศแถบนั้นมีอากาศกระจ่างตามฤดูกาลก็ไม่แน่นัก ทำให้มองเห็นที่ตั้งบริเวณสถานีปากช่องชัดเจนมาก ทั้งๆ ที่เป็นเวลากลางคืนเกือบ 20.00 น. แล้ว”
ข้อแตกต่างอีกประการคือ ข้อมูลที่ “นายหนหวย” เล่าฟังถึงการให้สัมภาษณ์ของท่านว่า ถูกนำตัวเข้าพบหลวงพิบูลสงครามที่แก่งคอยในวันรุ่งขึ้น 24 ตุลาคม แต่ในบันทึก “ฝากเรื่องราวไว้ให้ลูกหลาน” ที่ท่านเขียนเองเล่มนี้กลับระบุว่าพบกับหลวงพิบูลสงครามในอีกเกือบ 2 เดือนผ่านไป ที่หัวลำโพง หลังจากตัวท่านได้รับมอบหมายให้คงกำลังไว้ที่นครราชสีมาประมาณ 2 เดือน แล้วจึงได้เดินทางกลับพระนคร
ขณะที่หนังสือ “กบฏบวรเดช : เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475” ของ ณัฐพล ใจจริง อ้างถึง บันทึกของ ร้อยโท สุตรจิตร จารุเศรนี นายทหารเสนาธิการฝ่ายรัฐบาล ซึ่งบันทึกเหตุการณ์การเสียชีวิตของนายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงครามไว้ว่า
“เมื่อได้ที่มั่นขั้นแรกของพวกกบฏแล้ว ร้อยโท หงส์ [กฤษณะสมิต] จึงได้นำทหารเคลื่อนที่ต่อไป ไปด้วยความมั่นหมายที่จะปราบเสียให้ราบคาบด้วยน้ำไจ แต่ขณะนั้นมืดลงสนิท จึงต้องถือไฟฉายติดมือไปด้วย เอาทางรถไฟเป็นที่หมายเดิน เอาน้ำใจและอาวุธปืนเป็นเพื่อน วิ่งเข้าไปอย่างระมัดระวังท่ามกลางความมืด ข้างหน้าออกไป มีทหาร 5-6 คนสวนทางเข้ามา ร้อยโท หงส์จึงถามออกไปว่า ใคร แล้วก็มีเสียงตอบมาว่า พวกเรา
ร้อยโท หงส์คิด เอ ถ้าพวกเราทำไมจึงวิ่งมาทางนี้ พวกเราต้องไปข้างหน้า ไปจนกว่าจะจับหัวหน้ากบฏได้ เมื่อเกิดความสงสัย ร้อยโท หงส์จึงฉายไฟออกไป ก็ปรากฏว่า ไม่ใช่ทหารฝ่ายเรา จึงหยุดแล้วสั่งให้ทหารยิงทันที ยิงไปจากทุกทิศทุกทาง ในทันใดนั้นพวกกบฏก็หันหลังกลับ ร้อยโท หงส์จึงให้ทหารออกไล่ติดตามทันที ไปได้ประมาณ 15 เมตร ก็เห็นร้อยตรี บุญรอด เกษสมัย นอนคว่ำหน้าถือปืนพกอยู่ ร้อยโท หงส์เข้าไปดูปรากฏว่ายังไม่ตาย จึงให้วางอาวุธและจับตัวไว้ เสร็จแล้วจึงเคลื่อนที่ติดตามต่อไปอีก พบศพทหารนอนตายอยู่หนึ่งคน
เมื่อส่องไฟดูจึงรู้ว่าเป็นนายดิ่น (ศรีสิทธิ์ฯ) อ้าว ตายเสียแล้ว เรารู้ดอกว่า แผนการตั้งรับที่ช่องเขานี้หลุดมาจากหัวของท่าน แต่ท่านไม่ได้คิดว่า เรามีน้ำใจกล้าเป็นหลักมากกว่าจะถือเอาแผนที่ดีเป็นใหญ่ เราเป็นเด็กๆ ท่านเป็นผู้ใหญ่ เราพลาดเราก็ตาย แต่ท่านพลาดท่านก็เป็นอย่างนี้ ช่วยไม่ได้…เมื่อตรวจดูปรากฏว่ามีรอยถูกกระสุนปืนหลายแห่งและคงขาดใจตายเสียนานแล้ว”
เป็นอันว่ากระสุนที่ปลิดชีพพระยาศรีสิทธิสงครามนั้น มีข้อมูลหลายด้านที่ขัดแย้งกัน และยังไม่อาจสรุปได้ชัดเจน แต่มีข้อสังเกตจากพลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ ว่า เมื่อปรากฏเอกสารหลักฐานจากฝ่ายรัฐบาลที่ตั้งรางวัลนำจับกบฏ ซึ่งในรายชื่อปรากฏนามพระยาศรีสิทธิสงคราม มีรางวัลนำจับ 5,000 บาท (พระองค์เจ้าบวรเดช 10,000 บาท และพระยาเทพสงคราม 5,000 บาท) หากทราบได้ว่ามีการจ่ายรางวัลให้ อาจพอเห็นเบาะแสที่จะให้คำตอบกับปมปริศนากระสุนลึกลับที่หินลับได้
สภาพอันน่าสลด
เกี่ยวกับการนำศพพระยาศรีฯ มาทางรถไฟที่สถานีแก่งคอยนั้น ยังปรากฏข้อมูลจากบันทึกของนายนาวาเอก แสวง ทัพภะสุต เวลานั้นมียศร้อยโทของ ร.พัน.3 ทำหน้าที่หน่วยหนุนอยู่สถานีแก่งคอย ซึ่งสะท้อนความน่าสลดหดหู่ใจเป็นอันมากว่า
“เมื่อรถจวนหยุดหน้าสถานี ภาพที่ชัดเจนที่สุดคือ ทหารคนที่นั่งบนเก้าอี้คือนายดาบ (จำชื่อไม่ได้) ส่วนศพพระยาศรีฯ กลับนอนเหยียดขอขาหงายอยู่ใต้ขาคร่อมของนายดาบคนนั้น เมื่อเป็นศพพระยาศรีฯ แน่แล้ว ส่วนใหญ่ของประชาชนที่มุ่งดูอยู่นั้นต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘น่าสงสารมาก’ และหลายคนก็หลั่งน้ำตา แต่ก็มีส่วนน้อยที่ยังแค้น เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ขณะปฏิบัติการกบฏ กล่าวคำที่ไม่เหมาะที่จะบันทึกลงไปได้
แล้วทหารสองคนช่วยกันยกศพไปนั่งพิงด้านหน้าสถานีเป็นคอนกรีต เหยียดขาคอตกไปทางขวา เสื้อเครื่องแบบสีกากีแกมเขียวแขนยาวกระดุมเสื้อปลด 3 เม็ด ชายเสื้อเหน็บในกางเกง กระเป๋าเสื้อข้างซ้ายชุ่มไปด้วยเลือด มีรอยกระเป๋าเสื้อขาด ไม่สวมเสื้อชั้นใน ไม่มีสายสร้อยและพระเครื่อง ตามธรรมดาท่านมีใส่เสมอ รอยกระสุนหนึ่งนัดจากข้างหลังมาทะลุใต้ราวนมซ้าย แผลข้างหลังเล็ก
ส่วนแผลข้างหน้ากระสุนออกใหญ่กว่า และก็คิดกันไม่ตกว่าใครยิง แต่ก็เพียงสันนิษฐานกันเป็น 2 นัยๆ หนึ่งอาจถูกยิงจากพวกเดียวกัน เหตุผลก็คือไปเปลี่ยนผู้นำจากพระยาศรีฯ เป็นพระองค์เจ้าบวรเดช และก็รับปากว่าต้องปราบและขับรัฐบาลสำเร็จ แต่กลับไม่สำเร็จและต้องถอยเลยมีความโกรธจึงยิงเสีย อีกนัยหนึ่งถูกกระสุนจากฝ่ายรัฐบาลในขณะที่บัญชาการอยู่นั้นเพื่อประสานงานกันจึงเอี้ยวตัวหันหน้ามาสั่งการส่วนข้างหลัง พอดีจังหวะที่หันหลังมาทางรัฐบาลจึงถูกกระสุน
เวลา 20.00 น. ทหารเอาเปลมายกศพคลุมด้วยผ้าขาวขึ้นไปไว้บนรถโบกี้ จัดทหารยามเฝ้า 2 คน”
อ่านเพิ่มเติม :
- บทบาทพลเมืองสยาม ในการปราบกบฏบวรเดช 2476
-
ย้อนราก “3 ทหารเสือ” คณะราษฎร ผลผลิตจากโรงเรียนนายร้อยเยอรมนี
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดย่อและเรียบเรียงจากบทความ “กระสุนปริศนาที่หินลับ ที่มั่นสุดท้ายพระยาศรีสิทธิสงคราม” เขียนโดย พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2562
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มิถุนายน 2563