ย้อนราก “3 ทหารเสือ” คณะราษฎร ผลผลิตจากโรงเรียนนายร้อยเยอรมนี

ขบวนสวนสนามของนักเรียนายร้อยทหารบกเยอรมัน (ภาพจากwww.wikipedia.org)

คณะราษฎรได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของชาติสู่ระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยผู้นำสำคัญในครั้งนั้น ที่เรียกว่า “4 ทหารเสือ” คือ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), พลเอก พระยาฤทธิอาคเนย์ (สละ เอมะศิริ), พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) และพลโท พระประศาสน์พิทยยุทธ (วัน ชูถิ่น)

4 ทหารเสือ (จากซ้าย) พระยาทรงสุรเดช, พ.ท.พระประศาสน์พิทยยุทธ, พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา และ พ.อ.พระยาฤทธิอาคเนย์

มีเพียงพ.อ.พระยาฤทธิอาคเนย์ คนเดียวที่ไม่ใช่นักเรียนนายทหารเยอรมัน

ส่วน พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช และพลโท พระประศาสน์พิทยยุทธ ต่างเป็นนักเรียนทหารไทยที่ไปเรียนวิชาการทหารที่ประเทศเยอรมนีในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ที่เรียกกันว่า “รุ่นไกเซอร์” (ประมาณ พ.ศ. 2439-2456) ซึ่งเป็นการเรียกตามพระนามของ พระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 พระมหากษัตริย์ที่ทรงปกครองเยอรมนีในขณะนั้น

ใครได้ไปเรียนวิชาการทหารที่เยอรมนีสมัยนั้นถือว่าดังมาก ก่อนไปก็ต้องเตรียมตัวฝึกฝนภาษาเยอรมันอย่างหนัก นักเรียนไทยหลายคนมักจะไปเรียนภาษากับครูแย้ม หรือ พลโท พระพรรฤกสรศักดิ์  และภรรยาของท่านคุณนายเออร์แนลลี่ ชาวเยอรมัน  พลโท พระพรรฤกสรศักดิ์ผู้นี้เคยเป็นผู้ช่วยทูตทหารประจำเบอร์ลิน ก่อนย้ายกลับมาประจำโรงเรียนนายร้อย และเป็นบิดาของ พลโท ประยูร ภมรมนตรี

สำหรับการไปเรียนที่เยอรมนีในยุคนั้นต้องเดินทางโดยทางเรือจากกรุงเทพฯ ไปเปลี่ยนเรือใหญที่สิงคโปร์  ขึ้นบกที่เมืองเยนัว ประเทศอิตาลี หรือเมืองมาเซย์ ประเทศฝรั่งเศส แล้วนั่งรถไฟข้ามไปเยอรมนี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 กว่าวัน

โรงเรียนนายร้อย Die Köoniglich Preussische Haupt-Kadetten-Anstalt, Grass Licheterfelde (ภาพจาก www.wikipidia.orgX

การเรียนจะเริ่มที่โรงเรียนเตรียมนายร้อย Kadetten schule เมือง Potsdam 1 ปี และต่อโรงเรียนายร้อย Die Köoniglich Preussische Haupt-Kadetten-Anstalt, Grass Licheterfelde อีก 2 ปี แต่คนที่อายุเกิน 18  ปี เข้าโรงเรียนนายร้อยไม่ได้ ก็ต้องไปสมัครเป็นพลทหารประจำหน่วยใดหน่วยหนึ่งแล้วสอบขึ้นเป็นพลทหารประทวน สอบต่อไปเข้าโรงเรียนรบได้ก็เรียนพร้อมกับพวกโรงเรียนนายร้อย แล้วออกมาเป็นนายทหารสัญญาบัตรเช่นเดียวกัน

สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กระมพระนครสวรรค์พินิต

นักเรียนนายร้อยเยอรมนีคนแรก คือ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์พินิต (เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมขุนนครสวรรค์พินิต) ซึ่งทรงเลือกเรียนเหล่าปืนใหญ่ เช่นเดียวกับ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน),

เมื่อเกิดสงครามโลกนักเรียนไทยในเยอรมนีกลับไทยทั้งหมด ต่อมาไทยก็ประกาศสงครามกับเยอรมนี เมื่อเยอรมนีแพ้สงคราม การส่งนักเรียนไทยไปศึกษาต่อที่เยอรมนีจึงห่างหายไป จนกระทั่ง พ.ศ. 2470 จึงมีการส่งนักเรียนไทยไปอีกครั้ง

 


ข้อมูลจาก

สรศัลย์ แพ่งสภา. “นักเรียนนายร้อยเยอรมัน รุ่นไกเซอร์”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2530


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มิถุนายน 2561