“บ้านสวนพลู” ชุมชนเชลยมลายูพลัดถิ่น สู่กำเนิด “ตลาดพลู”

สถานีรถไฟ ตลาดพลู ชุมชน บ้านสวนพลู
สถานีรถไฟตลาดพลู (ภาพจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)

ชุมชน “บ้านสวนพลู” มีรากฐานมาจากชุมชนของเชลยสงครามชาวมลายู ที่ลงหลักปักฐานทำสวน หมาก และ พลู ส่งตลาดค้าหมากพลูที่นิยมกันมากในหมู่ชาวสยาม ทั้งเป็นที่มาของชื่อ “ตลาดพลู” แหล่งของกินและร้านอร่อยของชาวฝั่งธนฯ

ที่มาของชุมชนบ้านสวนพลู ต้องย้อนไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวมลายูซึ่งเป็นพลเมืองของรัฐสุลต่านในคาบสมุทรมลายูเผชิญการขยายอำนาจของรัฐสยามมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 22 แล้ว จึงมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของชาวมลายูสู่ที่ราบภาคกลาง บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงกลุ่มขุนนางและช่างฝีมือชาวมลายูบางส่วน ที่ไปตั้งถิ่นฐานแถบชานเมือง ไม่ไกลจากพระนครของกรุงศรีอยุธยา สืบเนื่องมาถึง กรุงธนบุรี และกรุงเทพฯ

ปลายสมัยอยุธยา เชลยศึกชาวมลายูจำนวนมากถูกกวาดต้อนจากปาตานีและรัฐสุลต่านทางใต้มายังที่ราบทางใต้และตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมืองอยุธยา เพื่อเป็นแรงงานผลิตเสบียงเติมให้ยุ้งฉางหลวง กระทั่ง พ.ศ. 2310 ภายหลังเหตุการณ์เสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 ครัวเรือนเชลยมลายูก็แตกกระสานซ่านเซ็น บางส่วนกลับถิ่นฐานทางใต้ ส่วนที่หลบหนีการจับกุมของทัพพม่าได้นั้น มีทั้งกลุ่มที่กลับมาอยู่บริเวณเดิมไม่ห่างจากกรุงเก่า และกลุ่มที่ตอบรับคำชวนของสมเด็จพระเจ้าตากสิน โยกย้ายไปยังพระนครแห่งใหม่ของรัฐสยาม คือ กรุงธนบุรี

ชาวมลายูเหล่านั้นได้รับคำมั่นสัญญาจากชนชั้นนำไทยว่า พวกเขาจะถูกปลดปล่อยจากสถานะเชลยสงคราม และอนุญาตให้เปิดพื้นที่ทำกินใหม่ ๆ ได้อย่างเสรี

ครัวเรือนชาวมลายูบางส่วนจึงไปอาศัยอยู่ร่วมกับกลุ่มผู้อพยพชาวจามกับเปอร์เซีย ที่เป็นมุสลิมเหมือนกัน และผูกแพอยู่บริเวณคลองบางกอกใหญ่ ทั้งอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกำแพงเมืองกรุงธนบุรี แต่เนื่องจากชาวมลายูมีสถานะอดีตเชลยศึก จึงถูกจัดให้อยู่หมู่บ้านที่ห่างออกไปทางเหนือของลำน้ำคลองบางกอกใหญ่ และไกลจากกำแพงเมืองไปอีกถึง 3 กิโลเมตร

ที่นั่น (อดีต) เชลยชาวมลายู ก่อตั้ง “บ้านสวนพลู” ทำสวนหมากและพลูส่งให้ตลาดหมากที่ได้รับความนิยมสูงลิ่วในสังคมสยาม อย่างไรก็ตาม การรับรู้เกี่ยวกับชุมชนบ้านสวนพลูอันห่างไกลมีไม่มากนัก กระทั่งชาวสวนและพ่อค้าชาวจีนเริ่มหลั่งไหลเข้าไปในพื้นที่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 แล้วยืมชื่อหมู่บ้านไปตั้งชื่อตลาดข้างลำคลองว่า “ตลาดพลู” และการเข้ามาของทางรถไฟที่รุกตัดผ่าหมู่บ้านกับมัสยิดของชาวมลายูพอดี

ทางรถไฟได้เชื่อมศูนย์กลางของสยามสมัยรัชกาลที่ 5 กับจังหวัดชายทะเลตะวันตก หัวรถจักรเคลื่อนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2447 โดยมีสถานีอยู่ที่ตลาดพลูด้วย

การ “เปิดพื้นที่” ดังกล่าว ทำให้ชุมชนบ้านสวนพลูดึงดูดพ่อค้าชาวอินเดียมุสลิมจากบ้านแขกและบ้านสมเด็จเข้ามาในพื้นที่ด้วย ย่านนี้จึงมีความหลากหลายมากขึ้นตามลำดับ

แม้จะมีพัฒนาการของประชากร การรุกล้ำจากโครงสร้างพื้นฐานของเมือง พัฒนาการของธุรกิจการค้า และความหลากหลายทางชาติพันธ์ุ์ แต่ “บ้านสวนพลู” ยังคงกลิ่นอายของวัฒนธรรมมลายูไว้อย่างเหนียวแน่น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Edward Van Roy; ยุกติ มุกดาวิจิตร แปล. (2565). Siamese Melting Pot ก่อร่างเป็นบางกอก. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม 2566