กำเนิด “ชุมชนคลองเตย” เกิดขึ้นอย่างไร?

แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2453 ระบุที่ตั้ง วัดหน้าพระธาตุ วัดเงิน วัดทอง วัดไก่เตี้ย บริเวณ ท่าเรือคลองเตย ชุมชนคลองเตย
แผนที่กรุงเทพฯ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2453 ยังระบุที่ตั้งของวัดทั้ง 4 แห่ง คือ วัดหน้าพระธาตุ วัดเงิน วัดทอง และวัดไก่เตี้ย ในบริเวณที่ต่อมาจะกลายเป็นท่าเรือคลองเตย [กรมแผนที่ทหาร, แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2431-2474 (กรุงเทพฯ : กรมแผนที่ทหาร, 2530).]

กำเนิด “ชุมชนคลองเตย” ที่มีพัฒนาการจาก เมืองพระประแดงเก่า สืบย้อนไปได้ถึงสมัยอยุธยาตอนต้น

แต่เดิมบริเวณ ท่าเรือคลองเตย ทั้งหมด เคยมีร่องรอยว่าเป็นเมืองโบราณชื่อ “เมืองพระประแดงเก่า” (ส่วนอำเภอพระประแดงปัจจุบัน ตั้งขึ้นใหม่สมัยรัชกาลที่ 2 กรุงรัตนโกสินทร์) พบว่า เคยมีวัดโบราณอยู่ถึง 4-5 แห่ง เช่น วัดหน้าพระธาตุ วัดไก่เตี้ย วัดเงิน วัดทอง และวัดสะพานพระโขนง เป็นส่วนหนึ่งของเมืองนี้ด้วย

Advertisement

เมืองพระประแดงนี้คงเก่าแก่จนถึงราวสมัยอยุธยาตอนต้น เพราะพื้นที่โดยรอบ เช่น แถบแจงร้อน ราษฎร์บูรณะได้พบวัดวาอารามที่มีพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยาตอนต้นประดิษฐานอยู่มากมาย กรมพระยาดำรงฯ ทรงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเมืองสมัยขอมตั้งขึ้นดูแลปากน้ำเจ้าพระยา ก่อนที่ทะเลจะร่นถอยห่างไปจนถึงสมุทรปราการเดี๋ยวนี้ ส่วนกรมพระยานริศฯ เมื่อทรงเสด็จฯ ไปประทับที่ตำหนักบ้านปลายเนินที่คลองเตยก็ทรงกล่าวว่า มีผู้ขุดได้โบราณวัตถุแถวนั้นอยู่ด้วย

เมืองแห่งนี้คงทิ้งร้างไปนานจนไม่มีใครจดจำได้ ครั้นพอสร้างกรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2310 จึงปรากฏว่า มีการไปรื้ออิฐกำแพงเมืองพระประแดงมาก่อกำแพงกรุงธนบุรีด้วย

พ.ศ. 2480 มีการสร้าง ท่าเรือกรุงเทพ โดยกำหนดให้ตั้งอยู่บริเวณคุ้งน้ำเจ้าพระยาที่คลองเตย จึงทำการเวนคืนพื้นที่และผาติกรรมเขตวัดเก่าทั้งหมดไปสร้างขึ้นใหม่เป็นวัดธาตุทอง (เอกมัย)

ภาพถ่ายท่าเรือกรุงเทพ หรือท่าเรือคลองเตย เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 (Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

การก่อสร้างท่าเรือกรุงเทพทำให้มีการเข้ามาของแรงงานจำนวนมาก ทั้งในการก่อสร้าง และในภาคการขนส่ง เมื่อการก่อสร้างเสร็จ ประชากรเหล่านั้นจึงลงหลักปักฐานกันอยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่ท่าเรือ (ตามแนวสองฟากฝั่งทางรถไฟสายแม่น้ำ) และมีการถ่ายเทเพิ่มเติม เปลี่ยนมือกรรมสิทธิ์กันมากยิ่งขึ้น ด้วยความต้องการที่อยู่อาศัยระหว่างกรุงเทพฯ พัฒนาทางเศรษฐกิจช่วง พ.ศ. 2510-2530 จึงเกิดเป็นชุมชน (แออัด) ขนาดใหญ่ขึ้น คือ ชุมชนคลองเตย และขยายตัวออกไปอย่างไม่มีทิศทาง

ชุมชนคลองเตย จึงเกิดขึ้นจากการพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ โดยมีท่าเรือกรุงเทพเป็นปัจจัยหลัก ขณะเดียวกันภูมิหลังของพื้นที่เคยเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญมาก่อน แต่ถูกทิ้งร้างและเปลี่ยนหน้าที่ใช้งานไป ความแออัดของชุมชนเกิดจากการกระจุกตัวภายในพื้นที่แคบๆ ระหว่างท่าเรือและทางรถไฟตามแนวยาวของแม่น้ำ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 พฤษภาคม 2564