ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
กลุ่่มผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่เรียกกันว่า “คณะราษฎร” มีผู้จัดทำบันทึกเนื้อหารวบรวมข้อมูลประวัติของสมาชิกไว้มากมาย แต่ปฏิเสธได้ยากว่า คนที่ต้องการเสาะหาข้อมูลของผู้ล่วงลับบางส่วนเพิ่มเติมต้องไปหาจากแหล่งข้อมูลประเภท “อนุสรณ์งานศพ” สำหรับบุคคลในคณะราษฎรแล้ว แหล่งข้อมูลเหล่านี้ได้บ่งชี้ที่มาของ “ซอยทองหล่อ” ที่ปรากฏมาถึงปัจจุบันด้วย
แต่อีกด้านหนึ่ง ก็มีข้อมูลจากอนุสรณ์งานศพนักธุรกิจสายอสังหาริมทรัพย์ในช่วงยุคเดียวกันว่า ชื่อทองหล่อมาจากนามของนักธุรกิจผู้นั้น
ในที่นี้จะต้องกล่าวถึงข้อมูลผู้ร่วมก่อการโดยรวมเสียก่อน ข้อมูลรายนามของผู้ร่วมก่อการนี้ปรากฏในหลายแหล่งโดยผู้รวบรวมที่หลากหลาย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับอนุสรณ์งานศพสมาชิกคณะราษฎร อธิบายว่า ตัวเลขที่พบมักอยู่ระหว่าง 90 ปลายๆ จนถึงเกือบ 120 ท่าน และเชื่อว่ามีมากกว่านี้ที่ยังคงนิรนาม
ตัวอย่างการงานรวบรวมรายนามชิ้นหนึ่งคือ รายนามในหนังสือ “2475 การปฏิวัติสยาม” โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และภาคผนวก : เอกสารประวัติศาสตร์ ที่รวบรวมโดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ซึ่งวิเคราะห์อย่างละเอียดในภาคผนวกที่ 52 โดยเทียบเคียงรายนามจาก 4 แหล่ง และะสรุปยอดที่ได้เป็นจำนวน 102 ท่าน แบ่งเป็น 3 สาย คือ ทหารบก 34 ท่าน ทหารเรือ 18 ท่าน พลเรือน 50 ท่าน
สำหรับเนื้อหาเกี่ยวกับ “ทองหล่อ” ปรากฏในสายทหารเรือ นริศเขียนอธิบายไว้ในบทความ “อนุสรณ์งานศพสมาชิกคณะราษฎร” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน พ.ศ. 2560 ว่า อนุสรณ์งานศพสายทหารเรือมีเล่มเด่นที่ต้องอ่านคือ อนุสรณ์งานศพของหลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ) ในอนุสรณ์งานศพของท่านปรากฏเรื่องเล่าในช่วงชีวิตของท่าน ข้อมูลไปสิ้นสุดที่ความล้มเหลวในความพยายามก่อการ “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492” หรือเรียกกันอีกชื่อว่า “กบฏวังหลวง”
นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งอีกส่วนคือ คำไว้อาลัยของ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งแทบจะไม่พบในอนุสรณ์งานศพสมาชิกรุ่นๆ เดียวกันท่านอื่นๆ (ปีนั้นท่านดำรงชีวิตในฝรั่งเศส) ย่อหน้าหนึ่งของเนื้อหาในนั้น อาจารย์ปรีดี อธิบายหลักการการทำงานของคณะราษฎรดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบก.ออนไลน์)
“ข้าพเจ้ารู้จักอุดมคติเพื่อชาติของคุณหลวงสังวรก่อนที่รู้จักตัวท่านผู้นี้ในเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เพราะระเบียบและวินัยของคณะราษฎร์มีอยู่ว่า เฉพาะผู้รับผิดชอบในศูนย์กลางของคณะเท่านั้น จึงสามารถรู้ชื่อสมาชิกที่สำคัญของสายต่างๆ ได้
แม้กระนั้นเพื่อความปลอดภัยก็จะต้องไม่มีการพบปะกันตัวต่อตัว คงปล่อยให้เป็นหน้าที่หัวหน้าสายและหัวหน้าหน่วยที่จำแนกย่อยลงไปเป็นผู้ทำความรู้จักกันตัวต่อตัวโดยเฉพาะ งานของแต่ละหน่วยจึงไม่ก้าวก่ายกัน ไม่มีสมาชิกคนใดที่จะไปสอดรู้งานของหน่วยอื่น การประสานงานอยู่ที่ศูนย์กลางจำนวนน้อยเท่านั้น สายใหญ่มีสามสายคือ สายทหารบก สายทหารเรือ สายพลเรือน คุณหลวงสังวรฯ สังกัดสายทหารเรือ ซึ่งนาวาตรีหลวงสินธุ์สงครามชัยเป็นหัวหน้าสาย” [1]
เนื้อหาอีกส่วนหนึ่งยังบอกเล่าเหตุการณ์ในคืนวันที่ 23 มิถุนายน โดยแสดงถึงสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของหนึ่งในผู้ก่อการ เนื้อหาส่วนหนึ่งดังนี้
“…พอตอนค่ำ 2 ทุ่ม (พูดกับน้องชายให้ช่วยดูแลทหารและนำเขาไปรวมพวกที่เรือตอนเช้ามืดด้วยแล้ว) เราก็ไปกราบพระขอสวัสดีมีชัยในห้องบิดา และกราบบิดาด้วย บิดามอบพระกริ่งให้ เรากราบท่านแล้วรับใส่กระเป๋า เข้าไปในห้องเก็บศพมารดาก้มกราบท่านแล้วใจคอเบิกบาน ออกมาสั่งเมียและจูบลูก ลงเรือจ้างนั่งใจลอยคิดอะไรมาเรื่อย รู้สึกเป็นห่วงกิจการด้านคุณกุหลาบ ทองหล่อ ผ่านทุกวัดตรงโบสถ์เรายกมือไหว้ขอพรพระ ขึ้นท่าช้างวังหน้าขึ้นรถเจ๊กมาลงเรือที่บางลำภู ระหว่างทางผ่านพระแก้วมรกตยกมือนมัสการขอพรท่าน…” [2]
นริศเขียนไว้ในบทความอีกว่า เมื่อกล่าวถึงหลวงสังวรฯ อีกหนึ่งคณะราษฎรที่ทำงานเคียงข้างดุจเงาตามตัว ก็คือ “ทองหล่อ (ทหาร) ขำหิรัญ” ในบทไว้อาลัยเล่มของหลวงสังวรยุทธกิจ (หลวงสังวรฯ มีศักดิ์เป็นน้าชาย) ทหาร ขำหิรัญ เขียนบทไว้อาลัยกล่าวถึงเหตุที่เข้าร่วมก่อการไว้ว่า
“คุณหลวงไปพบที่สนามฝึกทหารด้านหลังกรมทหารเรือ ปรารภถึงสถานการณ์ของบ้านเมืองชวนให้ร่วมมือทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยมีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย พิจารณาคำชักชวนเห็นว่ามีเหตุผลข้าพเจ้าก็ปลงใจด้วย สรวงสวรรค์เป็นใจดลบันดาลให้การร้องขอรับพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีผลสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ไม่มีอุปสรรคให้เกิดความเสียหายอย่างใด” [3]
นริศอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ชีวิตนายทหารร่างเล็กผู้นี้ถือว่ามีสีสันและยืนหยัดอยู่บนหลักการประชาธิปไตย ในการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ท่านเป็นผู้ช่วยเหลือปรีดีในการหลบภัยรัฐประหาร ณ สัตหีบ จนภายหลังจากนั้นตัวท่านเองก็ประสบมรสุมการเมืองในข้อหา “กบฏ” ตลอดช่วงยุคสมัยที่ 2 ของ จอมพล ป. แม้ล่วงเข้ายุคของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะท่านดำรงสถานะผู้แทนราษฎรครั้งเยือนจีน ยังโดนยัดเยียดข้อหา “คอมมิวนิสต์” จนต้องสิ้นอิสรภาพทันทีที่กลับมาเหยียบดอนเมือง!
เมื่อพ้นช่วงวิบาก ท่านได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาหลายสมัย จวบกระทั่งเข้าสู่ปัจฉิมวัย พลเรือตรี ทหารสมาทานตนเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัด “…นอกจากวันธรรมสวนะ ท่านยังเจียดเวลาไปเรียนธรรมที่วัดมหาธาตุฯ อย่างสม่ำเสมอ ท่านชอบศึกษาธรรมของท่านพุทธทาส…”
และท้ายสุดได้อุทิศร่างกายเป็น “อาจารย์ใหญ่” ให้กับโรงพยาบาลศิริราช จบชีวิตในวัย 81 ปี อนุสรณ์งานศพถูกจัดพิมพ์ร่วมกับผู้บริจาคร่างท่านอื่นๆ ตามธรรมเนียมของโรงพยาบาล
นามเดิมของผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธินคนแรกนี้ “…ได้กลายมาเป็นชื่อ ‘ซอยทองหล่อ’ ถนนสุขุมวิท หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบ เพราะย่านนี้ในสมัยสงครามเคยมีบาร์ญี่ปุ่นตั้งอยู่ในเส้นทางสายตะวันออก เขตรับผิดชอบของทหารเรือ” [4]
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อมูลอีกด้านซึ่งกล่าวถึงที่มาของชื่อ “ซอยทองหล่อ” อันเป็นข้อมูลที่เล่าแตกต่างจากข้อมูลข้างต้น โดยนริศเล่าไว้ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ The People ว่า หนังสืออนุสรณ์งานศพคุณทองหล่อ ทองบุญรอด เขียนไว้ว่า ชื่อซอยทองหล่อมาจากชื่อ “คุณทองหล่อ ทองบุญรอด” ซึ่งเกิดเมื่อพ.ศ. 2439 เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2515 มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับทหาร ขำหิรัญ (ทองหล่อ ขำหิรัญ) ข้อมูลส่วนนี้ปรากฏในอนุสรณ์งานศพว่า ท่านมาจัดสรรที่ดิน ทำอสังหาริมทรัพย์ จนใช้ชื่อผู้จัดสรรเรียกถนนชื่อ “ซอยทองหล่อ”
อ่านเพิ่มเติม :
- กำเนิด “ถนนข้าวสาร” จากคลองสู่ถนนชื่ออาหารหลักคนไทยได้อย่างไร
- ไขข้อข้องใจ ชื่อถนน “เพชรบุรีตัดใหม่” แล้วตัดเก่าอยู่ที่ไหน?
- 4 มุสลิมีน คณะราษฎร ในภารกิจ 24 มิถุนายน 2475
เชิงอรรถ :
[1] ปรีดี พนมยงค์ ระลึกถึงคุณหลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ) 20 กุมภาพันธ์ 2516. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันพฤหัสบดี 27 ธันวาคม 2516. น.(7).
[2] ดู อนุสรณ์งานศพหลวงสังวรยุทธกิจ, น. 55.
[3] อ้างแล้ว, น. (25).
[4] ชีวประวัติอย่างละเอียดของคณะราษฎรท่านนี้ โปรดดู เฉลิมวงษ์ มากนวล/ผศ. เฉลิม มากนวล. ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี พลเรือตรี ทหาร (ทองหล่อ) ขำหิรัญ. พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2559, (อมรินทร์พริ้นติ้ง).
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 เมษายน 2564