ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
เหตุการณ์ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ กันอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญ และจะต้องเสี่ยงในดำเนินการอย่างยิ่ง จึงเป็นที่สนใจของผู้นำเสนอ และผู้อ่านเรื่อยมา
ที่ผ่านมานิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ก็นำเสนอเรื่องราววันที่ 24 มิถุนายน 2475 มาเป็นระยะๆ เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มเติม สำหรับศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2563 ได้นำเสนอการค้นคว้าจากเอกสารชั้นต้น ชั้นรองจากที่ต่างๆ กว่า 80 รายการ ของ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ เรียบเรียงเป็นบทความชื่อ “3+1 มุสลิมีนคณะราษฎร ผู้ก่อการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475”
มุสลิมีน (“มุสลิม” ในรูปพหูพจน์) ทั้ง 4 คน ได้แก่ นายบรรจง ศรีจรูญ, นายประเสริฐ ศรีจรูญ, นายการุณ ศรีจรูญ และ นายแช่ม พรหมยงค์
นายบรรจง, นายประเสริฐ และนายการุณ (บ้างเรียก การิม) เป็นญาติพี่น้องที่มาจากครอบครัวศรีจรูญ ทางบ้านมีกิจการค้าปืนอยู่ที่แยกอุณากรรณ์ ส่วนนายแช่มเป็นเพื่อนสนิทของนายบรรจง ภายหลังนายบรรจง, นายประเสริฐ และนายแช่มได้เดินทางไปศึกษาที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เมื่อเรียนจบต่างก็เตรียมตัวเดินทางกลับเมืองไทย มีเพียงนายบรรจงที่ไม่ยอมกลับ เขาต้องการเดินทางท่องเที่ยวก่อนกลับบ้าน โดยเป้าหมายคือ ปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ที่ปารีส นายบรรจงได้พบกับสมาชิกคณะราษฎรบางคน เมื่อมีอุดมการณ์เดียวกัน นายบรรจงจึงได้ร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎร และได้ชักชวนน้องชาย 2 คน คือ นายประเสริฐ และนายการุณ รวมทั้งนายแช่มผู้เป็นเพื่อนสนิทมาร่วมงานกับคณะราษฎร
เช้าวันที่ 24 มิถุนายน เวลา 04.00 น. นอกจากการยึดอำนาจของฝ่ายทหารแล้ว การตัดการติดต่อสื่อสารก็เป็นเรื่องสำคัญ จำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร็วไปพร้อมกัน และนั่นคือภารกิจที่พวกเขาได้รับมอบหมาย
พลโทประยูร ภมรมนตรี หนึ่งในผู้เข้าร่วมปฏิบัติการในเช้าวันนั้นบันทึกว่า
“นอกจากกิจการยึดอำนาจฝ่ายทหาร งานสำคัญชิ้นแรกคือการยึดสถานีโทรศัพท์ที่วัดเลียบตอน 04.00 น. เพื่อทำลายการติดต่อสั่งการ…ข้าพเจ้ากับนายควง อภัยวงศ์ (หลวงโกวิทอภัยวงศ์) ซึ่งเป็นข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการมี ดร. ประจวบ บุนนาค, ม.ล. อุดม สนิทวงศ์, นายวิลาศ โอสถานนท์ กับ นายประเสริฐ, นายบรรจง, นายการิม. สามพี่น้องศรีจรูญเจ้าของร้านปืน…” (ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า, ประยูร ภมรมนตรี)
โดยนายบรรจง, นายแช่ม ม.ล. อุดม สนิทวงศ์ และหลวงเดชา ได้รับมอบหน้าที่ให้ไปตัดสายโทรเลขที่ตลิ่งชัน จึงนัดแนะกันว่าให้มาพบกันที่สะพานพุทธก่อน
ผู้เขียน (นริศ จรัสจรรยาวงศ์) เรียบเรียงให้เห็นสถานการณ์ในขณะนั้นว่า
“เมื่อไปถึงตลิ่งชัน นายบรรจงเป็นคนปีนเสาโทรเลขขึ้นไปตัดสาย คนอื่นๆ คอยเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ทั่วไป เมื่อทำการเสร็จแล้วจึงได้กลับมาที่สะพานพุทธ โดยยังไม่รู้ว่าทางอื่นๆ ทำการกันไปได้ผลอย่างไร ต่างคนต่างใจไม่ดีว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร พวกที่มาด้วยกันต่างไม่มีอาวุธทั้งๆ ที่นายประยูร ภมรมนตรี สัญญาว่าจะแจกปืนให้ทุกคน แต่พอถึงเวลาอาวุธปืนมีไม่พอ มีแต่ซอง”
นายบรรจงรอดูสถานการณ์อยู่ที่ใต้สะพานพุทธ หากเห็นท่าไม่ดี ดูจะไม่สำเร็จจะแอบหนีลงเรือไป ระหว่างที่นั่งอยู่ใต้สะพานพุทธว่าเรือรบไม่มาแน่แล้ว นายบรรจงและพวกจึงไปที่องค์การโทรศัพท์ จากนั้นจึงได้พากันไปพบ ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ที่สนามหลวง และพบพวกผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองประมาณร้อยกว่าคนที่นั่นด้วย
นอกจากนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ยังจัดให้นายแช่มและนายบรรจงเป็นคนเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่ทูลเชิญมาเป็นองค์ประกันประทับที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เพราะพวกทหารออกจะแหยงที่จะเป็นคนอยู่ยามเฝ้าพระองค์
หลังจากนั้นทุกอย่างสำเร็จเรียบร้อยโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อใดๆ
หากการสร้างความเข้าใจกับประชาชนต่างๆ เป็นเรื่องที่ยังต้องดำเนินการต่อ ขณะที่เครื่องมือสำคัญมีเพียงวิทยุกระจายเสียง แต่ชาวบ้านทั่วไปไม่มีเครื่องรับวิทยุ จึงต้องใช้วิธีพิมพ์ใบปลิวแจกจ่าย คล้ายๆ กับการโฆษณาภาพยนตร์ในเวลานั้น นายแช่มก็เป็นผู้หนึ่งที่ไปช่วยแจกใบปลิวจนมีผู้พบเห็นและนำความไปแจ้งกับบิดาของนายแช่ม จึงโกรธมากและตำหนิว่า “อุตส่าห์ส่งไปเรียนถึงไคโร เพื่อหวังว่าจะกลับมาเป็นโต๊ะครู แต่ที่ไหนได้ กลับไปเดินแจกใบปลิวเสี่ยนี่” (โดยไม่ทราบว่าใบปลิวดังกล่าวเป็นเรื่องการเมือง) และประกาศไม่ให้เข้าบ้าน
พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร จึงมีจดหมายชี้แจงไปให้กับบิดาของนายแช่ม โดยมอบให้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ กับหลวงอดุลเดชจรัส เป็นผู้ถือไป รวมทั้งแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองที่นายแช่มเดินแจกวันก่อนเพื่อให้บิดานายแช่ม และไปอ่านให้ชาวบ้านฟังเพื่อสร้างความเข้าใจ เรื่องนี้ยุติลงด้วยความเข้าใจและภูมิใจของผู้เป็นบิดาว่า
“ลูกชายได้เข้าร่วมปฏิบัติภาระหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์อย่างกล้าหาญ ยอมสละชีพเพื่อแผ่นดินเกิดสมกับที่เป็นมุสลิม ร่วมกับคณะราษฎร เพราะถ้าหากภาระหน้าที่ไม่ประสบความสำเร็จ หัวก็จะหลุดจากบ่าอย่างแน่นอน”
บทบาทของ 4 มุสลิมีนคณะราษฎรยังไม่ได้จบเพียงเท่านี้ หลังการปฏิวัติ 2475 พวกเขายังมีบทบาททางการเมืองต่อจากนั้นอีก ไม่ว่าจะในฐานะของสภาชิกสภาผู้แทนราษฎร, จุฬาราชมนตรี (ซึ่งในขณะนั้นไม่ใช่แค่ที่ปรึกษากรมการศาสนา) และการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคณะราษฎรกับสังคมมุสลิมในระยะแรกมีประชาธิปไตย สามารถอ่านเพิ่มได้จาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมีนาคม 2563
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2563