เปิดประวัติวัดธาตุทอง หนึ่งในท่อนเพลงสุดฮิตอย่าง “ธาตุทองซาวด์”

วัดธาตุทอง ผู้คน กำลังทำ พิธีกรรมทางศาสนา
บริเวณวัดธาตุทอง (รูปจาก : เพจ วัดธาตุทอง พระอารามหลวง)

“Yo นี่คือเสียงจากเด็กวัด!” วินาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเพลง “ธาตุทองซาวด์” เพลงฮิตติดกระแสจากแรปเปอร์มีชื่ออย่าง “YOUNGOHM” ที่กวาดยอดวิวไปมากกว่า 50 ล้าน (ณ วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2566) ไม่เพียงแค่นั้นยังมีศิลปินมากหน้าหลายตาไม่ว่าจะไทยหรือเทศร่วมแจมกับความมัน(ส์)ของเพลง เช่น มิลลิ ดนุภา, มุกดา นรินทร์รักษ์, NCT DREAM (เอ็นซีที ดรีม) เป็นต้น หลายคนน่าจะรู้ว่า “ธาตุทอง” ที่ว่ามาจากชื่อวัด ว่าแต่ “วัดธาตุทอง” ในเพลงอยู่ที่ไหน มีประวัติอย่างไร?

คงต้องย้อนไปช่วงก่อน พ.ศ. 2480 บริเวณพื้นที่เดิมของท่าเรือคลองเตย ตั้งแต่ปลายถนนสุนทรโกษาจนมาถึงปากคลองพระโขนง (คลองหัวลำโพง-แนวถนนพระรามที่ 4) แต่เดิมมีวัดที่ใครหลายคนอาจไม่คุ้นหูนักอยู่ 4 วัด ได้แก่ วัดหน้าพระธาตุ วัดเงิน วัดทอง และวัดไก่เตี้ย โดยวัดที่เราต้องพูดถึงพิเศษและเป็นจุดกำเนิดของวัดธาตุทอง นั่นก็คือ “วัดหน้าพระธาตุ” และ “วัดทอง”

วัดหน้าพระธาตุ ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นวัดเก่าที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วน วัดทอง ก่อตั้งช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีตำนานเล่าขานกันมาว่า สถานที่ตั้งของวัดดังกล่าวเดิมเป็นสวนผลไม้ที่ “นายทอง” ได้รับมรดกมาจากบรรพบุรุษ ก่อนที่นายทองจะเห็นว่ากลางสวนมีต้นโพธิ์ตั้งอยู่ ด้วยความกังวลที่มีต้นไม้ที่ควรอยู่ในวัดมาเติบโตบริเวณบ้าน จึงตัดสินใจบริจาคพื้นที่ส่วนนั้นสร้างเป็นวัดเล็ก ๆ ที่ไม่สมบูรณ์นัก

วันเวลาผ่านไป สมภารชาวรามัญรูปหนึ่งนามว่า “กะทอ” ซึ่งแปลว่าปลาตะเพียนทอง (กะ แปลว่า ปลาตะเพียน ทอ แปลว่า ทองในภาษารามัญ) หรือ “สมภารทอง” ได้ชักชวนชาวบ้านให้มาทำนุบำรุง สร้างอุโบสถ รวมถึงเสนาสนะขึ้น ก่อนจะตั้งชื่อวัดว่า “วัดโพธิ์สุวรรณาราม” หรือวัดโพธิ์ทอง เนื่องจากเจ้าของที่ดินและสมภารนั้นชื่อ ทอง เหมือนกัน และที่แห่งนี้เคยมีต้นโพธิ์ 

ทว่าภายหลังชาวบ้านกลับเรียกวัดนี้ว่า “วัดทอง” แทนชื่อเดิม หรือบางคนก็เรียกว่า “วัดทองล่าง” เนื่องจากวัดทองมีหลายแห่ง ทั้งด้านบนและล่างแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่วัดทองดังกล่าวอยู่ในตอนล่างจึงเรียกชื่อนั้นมาเพื่อกันความสับสน

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองวัดนี้ก็เรียกได้ว่าอยู่คู่ชุมชนบริเวณนั้นมาอย่างยาวนาน

จน พ.ศ. 2480 รัฐบาลต้องการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างท่าเรือใหม่ในกรุงเทพฯ ทำให้วัดหน้าพระธาตุ และวัดทองต้องโยกย้ายออกไป โดยได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล เพื่อไปสร้างวัดใหม่หรือยุบรวมกับวัดอื่น ๆ 

ต่อมาท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (ผิน สุวจเถร) ซึ่งขณะนั้นยังคงเป็นเทพมุนีที่วัดบวรนิเวศวิหาร จึงให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการสงฆ์ โดยมีพระคุณพระมหารัชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสสกเถร) ครั้นยังดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์ที่พระรัชมงคลมุนี วัดสัมพันธวงศ์ เป็นประธาน ว่าควรสร้างวัดใหม่ โดยจัดซื้อที่ดินจำนวนกว่า 54 ไร่ ริมถนนสุขุมวิท (ปัจจุบันติดกับ BTS เอกมัย) ซึ่งตอนนั้นยังมีราคาเพียงไร่ละ 500 บาทเท่านั้น

เมื่อได้พื้นที่อันน่าพอใจแล้ว คณะกรรมการจึงได้ทำการย้ายเสนาสนะวัตถุของวัดหน้าพระธาตุและวัดทองมาปลูกสร้างมายังที่ใหม่ ก่อนสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ จะเป็นองค์อุปถัมภ์ และทรงนำนามวัดหน้าพระธาตุและวัดทองมารวมกัน ประทานเป็นวัดที่เรารู้จักกันในปัจจุบันอย่าง “วัดธาตุทอง”

ปัจจุบัน “วัดธาตุทอง” ถือได้ว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญต่อชุมชนอย่างมาก เพราะไม่เพียงเป็นแหล่งรวมใจของศาสนิกชน แต่ยังเป็นที่มาของชื่อ โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง โรงเรียนสหศึกษาขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ใกล้กับวัด และปรากฏบนท่อนเนื้อร้องสุดฮิตในเพลง “ธาตุทองซาวด์” ที่ติดหูผู้ฟังทุกคนจนต้องไปค้นหากันให้ควั่กอีกด้วย

รับชม MV เพลง ธาตุทองซาวด์ ได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บัณฑิต จุลาสัย และรัชดา โชติพานิช. เขตคลองมองเมือง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2565.

วัดธาตุทอง พระอารามหลวง. “เกี่ยวกับ.” สืบค้นเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566. https://www.facebook.com/watthatthong/?locale=th_TH.

เสมียนอารีย์. “กำเนิด “ท่าเรือคลองเตย” บนพื้นที่เมืองพระประแดงเก่าสมัยอยุธยา และวัดโบราณทั้งสี่.” สืบค้นเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566. https://www.silpa-mag.com/history/article_55527#


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 เมษายน 2566