มอง “ลาว” ผ่านแบบเรียนกระทรวงศึกษาธิการ ที่นำไปสู่แนวคิด “บ้านพี่เมืองน้อง”

พรมแดนจังหวัด หนองคายประเทศไทย กับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (THAILAND-MYANMAR-CRIME-DRUGS / AFP )

“ชาตินิยม” คือความรู้สึกของผู้คนในประเทศนั้นๆ ที่รู้สึกว่าตนเองคือเจ้าของประเทศและมีพันธกิจรวมกันคือปกป้องรักษาเกียรติภูมิของประเทศ โดยกระบวนการสำคัญในการสร้างความรู้สึกชาตินิยมคือการผลิตประวัติศาสตร์เพื่อที่จะหล่อหลอมคนในประเทศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

กระบวนการสร้างความรู้สึกชาตินิยมสามารถกระทำได้หลายวิธี โดยวิธีที่สำคัญคือปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็กผ่านทางแบบเรียน ให้มีความรู้สึกรักชาติ ภูมิใจในชาติ โดยแสดงออกมาในรูปแบบของวิชาประวัติศาสตร์สงครามที่ทำให้ไทยมีเอกราชมาได้จนถึงทุกวันนี้ โดยบทความ ลาวในแบบเรียนของไทย ของ กรกิต ชุ่มกรานต์ ในหนังสือชาตินิยมในแบบเรียนไทย ของสุเนตร ชุตินธรานนท์ และคณะ ได้อธิบายไว้ดังนี้


 

รู้จักลาวโดยเฉพาะในหลักสูตรประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น พ.ศ. 2521 และมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. 2524

แบบเรียนที่เด่นชัดที่สุดในการทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านที่เป็นวิชาบังคับ ได้แก่ แบบเรียนเรื่องเพื่อนบ้านของเราในระดับชั้น ม.2 ซึ่งน่าสังเกตว่าผู้กำหนดหลักสูตรเร่งให้เรียนรู้เรื่องเพื่อนบ้านเร็วขึ้นกว่าในหลักสูตร พ.ศ. 2503 ที่ให้เรียนเรื่องเพื่อนบ้านของเราในมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้าใจว่าทางกระทรวงศึกษาธิการคงเล็งเห็นความสำคัญของเพื่อนบ้านในสถานการณ์ของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป…

เพื่อนบ้านในแบบเรียนเล่มนี้ถูกแบ่งออกเป็นสามประเภท คือ เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ชิดกันมากที่สุด เพื่อนบ้านที่อยู่ห่างไปเล็กน้อย และเพื่อนบ้านที่อยู่นอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่นั่นก็ยังหนีไม่พ้นที่จะนำเอาตัวของเรามาเป็นศูนย์กลางและยังสอดแทรกทัศนคติของความเหนือกว่าในการกำหนดและศึกษาเพื่อนบ้าน เนื้อหาภายในที่บรรจุเป็นตัวชี้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้

ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ในอดีตส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยในฐานะมิตรมากกว่าศัตรูหรือคู่แข่งขัน เพราะประเทศเหล่านี้มีกำลังอำนาจด้อยกว่า จึงพยายามรักษาสัมพันธไมตรีกับไทยไว้ การทำสงครามที่เกิดขึ้นไม่ค่อยบ่อยครั้งนัก ส่วนมากเป็นการยกกองทัพจากไทยไปปราบปรามเมื่อมีการแข็งอำนาจขึ้นมากกว่าที่จะเป็นการทำสงครามในฐานะประเทศที่มีกำลังทัดเทียมกันอาทิในกรณีไทยกับพม่า

เมื่อกล่าวถึงตรงนี้พบว่าผู้เขียนใช้กลวิธีให้ความเท่าเทียมกันในฐานะผู้มีอำนาจในประวัติศาสตร์กับพม่าเมื่อจะกล่าวว่าพม่าเป็นศัตรูของไทย ทำให้น้ำเสียงของการให้เกียรติมีมากขึ้น

เรื่องราวของลาวได้ถูกถ่ายทอดเป็นด้านๆ ล้อไปตามหัวข้อที่ถูกแบ่งในแบบเรียน โดยจะสอดแทรกเรื่องราวปัจจุบันและทัศนคติของความเป็นมิตร ความเหนือกว่าเข้าไปด้วย อาทิ ด้านเศรษฐกิจ ก็มีการชี้ให้เห็นว่าการส่งออกไม้จากลาวอาศัยไทยเป็นสำคัญ ในระยะที่เหตุการณ์ชายแดนเป็นปกติจะมีการขนไม้ซุงจากประเทศลาวข้ามแม่น้ำโขงมาจำหน่ายทางฝั่งไทยเป็นจำนวนมาก

ด้านประวัติศาสตร์ก็พยายามจะไล่เรียงพัฒนาการของลาวในทางประวัติศาสตร์ไปจนถึงลาวตกไปเป็นของฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย มีความพยายามของผู้เขียนแบบเรียนที่จะเชิดชู้เจ้าอนุเวียงจันทน์ให้เป็นวีรบุรุษฝ่ายลาวเพื่อความนุ่มนวลต่อความรู้สึกรักชาติของผู้เรียนจึงให้อรรถาธิบายว่าเจ้าอนุเป็นเพียงเจ้าองค์หนึ่งที่ปกครองหนึ่งในสามอาณาจักรที่แตกออกมาจากอาณาจักรล้านช้างเท่านั้น

ทางด้านความสัมพันธ์กับไทยเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะว่าเป็นครั้งแรกที่แบบเรียนไทยกล่าวถึงหลักฐานสำคัญว่าไทยกับลาวเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันในประวัติศาสตร์มากกว่าจะกล่าวแบบผิวเผินเหมือนแบบเรียนสมัยที่ผ่านมา ด้วยการหยิบยกเอาพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเจ้าที่ปกครองอาณาจักรล้านช้าง (ลาว) และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ไทย) ร่วมมือกันต่อต้านการขยายอำนาจของพระเจ้าบุเรงนอง

โดยการสร้างเจดีย์ศรีสองรักที่จังหวัดเลยเพื่อเป็นประจักษ์พยานในฐานะมิตร และก็จะกล่าวซ้ำๆ เหมือนในแบบเรียนยุคก่อน และแบบเรียนเล่มอื่นๆ ของระดับชั้นต่างๆ ว่าเพราะมีเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีคล้ายคลึงกัน

แบบเรียนของกรมวิชาการยังสอดแทรกข้อความเร้าความรู้สึกอีกว่า “แม้จะมีเหตุการณ์ที่ทำให้อาณาจักรล้านช้างต้องแยกออกมาจากอาณาจักรไทย และอิทธิพลตะวันตกขยายเข้ามา แต่ความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมระหว่างอาณาจักรล้านช้างและไทยไม่เคยสูญสิ้น”

เรื่องราวเกี่ยวกับลาวค่อยๆ ลดปริมาณลงเมื่อกล่าวถึงการขยายอำนาจของตะวันตก และปัญหาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะผู้เขียนใช้การเขียนแบบพิจารณาเอเชียตะวันออกฉียงใต้เป็นหน่วยเดียวมิได้แยกออกมาเฉพาะ หากจะกล่าวก็เป็นไปอย่างเสียมิได้ ในกรณีของลาวก็กล่าวเพียงว่า ปัจจุบันมีการปกครองแบบสังคมนิยมมาร์กซิสม์ ในบางครั้งก็จะพบการขยายความในบางประเด็น อาทิ ขบวนการกู้ชาติลาวที่พบในแบบเรียนของอักษรเจริญทัศน์

จะพบว่าโครงความรู้เกี่ยวกับลาวของหลักสูตรการศึกษา พ.ศ. 2521 ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น และปี พ.ศ. 2524 ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ยังคงได้รับการผลิตซ้ำและขยายในบางประเด็นเพื่อให้ชัดเจนและยืนยันสถานะของมิตรที่ดีของลาว

และสถานะความเหนือกว่าของประเทศไทยที่มีต่อเพื่อนบ้านตลอดจนเพื่อนบ้านที่เริ่มเป็นตัวปัญหาอย่างชัดเจน นอกจากนี้พบความพยายามของแบบเรียนทุกฉบับที่จะนำเอาเหตุการณ์ปัจจุบันมาเพิ่มเติมเนื้อหาให้สอดรับกับจุดมุ่งหมายของวิชาที่เรียนอีกด้วย

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มิถุนายน 2565