เปิดห้องประชุมครั้งแรกของ “คณะราษฎร” 7 ผู้ก่อตั้งพูดคุยเรื่องอะไรกัน?

คณะราษฎร
(จากซ้าย) นายชม จารุรัตน์, นายแดง (วิเลียม) คุณะดิลก, นางสาวเล็ก คุณะดิลก หรือ คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ ภรรยานายควง อภัยวงศ์, นายควง อภัยวงศ์, ม.จ.ธานีเสิกสงัด ชุมพล, ม.จ.ลายฉลุทอง ทองใหญ่, นายปรีดี พนมยงค์, ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, นายประยูร ภมรมนตรี และนายแนบ พหลโยธิน ภาพถ่ายเมื่อวันชาติฝรั่งเศส 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 (ค.ศ. 1926) ที่ Place du Trocadéro ถ่ายครึ่งปีก่อนการประชุมของ 7 ผู้ริเริ่มคณะราษฎรที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ ‘Rue de Sommerard’

ราว พ.ศ. 2468 ณ กรุงปารีส ก่อนประวัติศาสตร์ไทยจะรู้จักชื่อ “คณะราษฎร” สองนักเรียนหนุ่มชื่อต้นขึ้นด้วยอักษร “ป. ปลา” จากสยาม ร่วมรับประทานอาหารในร้านเรสทัวรองต์ Des Ecoleav Henry-Martin บุรุษหนุ่มได้เกริ่นถามนักศึกษาทุนหลวงผู้มีวัยล่วงเข้าเบญจเพส ความว่า “เราได้พูดเรื่องการเมืองกันมามากแล้ว สมควรจะลงมือกันเสียที”

นักศึกษาหนุ่มบุตรชาวนากรุงเก่ารู้สึกตกตะลึงอยู่ครู่หนึ่ง แล้วลุกขึ้นจับสองมือบีบแน่นด้วยความยินดีว่า “เอาจริงหรือ?” “เอาจริงแน่ เอาเดี๋ยวนี้” บุรุษหนุ่มให้คำมั่น

การคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ได้เกิดขึ้น ณ บัดนั้น

“ประยูร ภมรมนตรี” คือบุรุษหนุ่มท่านแรก ได้เขียนบันทึกบอกเล่าเหตุการณ์ในช่วงก่อการวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ผ่านหนังสือ “อัตชีวประวัติ ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” ก่อนการรับปากรับคำในร้านอาหารนี้ได้เดินสนทนากันวันละหลาย ๆ ชั่วโมงเป็นเวลาเดือน ๆ กับบุคคลท่านหลังคือ “ปรีดี พนมยงค์”

ปรีดี พนมยงค์ เล่าเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นว่า “…ใน ค.ศ. 1925 ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 6… ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ที่เคยเป็นผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และเป็นมหาดเล็กเคยรับใช้ใกล้ชิดรัชกาลที่ 6 นั้น เมื่อมาถึงปารีสใน ค.ศ. 1925 และได้พบข้าพเจ้าก็ได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงความเสื่อมโทรมของระบอบสมบูรณาฯ และเสียงเรียกร้องของราษฎรในสยามที่ต้องการให้เปลี่ยนระบบนั้น

ฉะนั้นใน ค.ศ. 1925 นั้นเอง ภายหลังที่ข้าพเจ้าได้สนทนากับ ร.ท. ประยูรฯ หลายครั้งแล้ว จึงได้ชวนเขาไปเดินเล่นที่ถนน Henri-Martin ปรารภกันว่าได้ยินผู้ที่ต้องการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ มามากมายหลายคนแล้วแต่ยังไม่มีใครจะตัดสินใจเอาจริง ฉะนั้นเราจะไม่พูดแต่ปากคือจะต้องทำจริงจากน้อยไปสู่มากแล้ววางวิธีการชวนเพื่อนที่ไว้ใจได้ร่วมเป็นหน่วยแรกขึ้น…”

คณะราษฎร ที่ปารีส
ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 บางส่วน ที่ปารีส ปี 2470 คนที่ 4 จากซ้ายคือ นายปรีดี พนมยงค์, ขวาสุดคือ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ (ป. พิบูลสงคราม), ที่ 2 จากขวาคือ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี

ผู้ก่อตั้ง “คณะราษฎร” ทั้ง 7 คน รวมตัวกันได้อย่างไร?

ประยูร ภมรมนตรี เล่าไว้ว่า “ข้าพเจ้าได้ศึกษาภาษาฝรั่งเศส ก็ได้พบกับ ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) เป็นเพื่อนที่รักใคร่สนิทสนมกันมากได้ร่วมชั้นในโรงเรียนนายร้อยมาตั้งแต่ปีที่ 2 ได้มาเรียนภาษาในโรงเรียนนี้พร้อมกับ ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี (พ.ต. หลวงทัศนัยนิยมศึก-เดินทางมาฝรั่งเศสพร้อม จอมพล ป. เมื่อ พ.ศ. 2467) ซึ่งเป็นญาติโยงสัมพันธ์กับสกุลภมรมนตรีทางสายอินทรกำแหง จึงได้ถือโอกาสให้มาอยู่รวมกันในบริเวณและชักชวนให้มาร่วมคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งท่านทั้งสองได้มีความสนใจอย่างจริงจัง

ส่วนคุณปรีดีได้ชักชวนนายจรูญ สิงหเสนี (หลวงสิริราชไมตรี) ซึ่งเป็นข้าราชการสถานทูตได้อีก 1 คน และข้าพเจ้าได้เดินทางไปชวน ดร. ตั้ว ลพานุกรม จากสวิทเซอร์แลนด์ กับนายแนบ พหลโยธิน ซึ่งศึกษาวิชากฎหมายอยู่ในกรุงปารีสเข้ามาอีกผู้หนึ่ง ครั้นเมื่อรวบรวมได้ 7 คน ก็ได้เริ่มเปิดการประชุมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น…”

ประยูร ภมรมนตรี เล่าเหตุที่ชักชวน “แปลก ขีตตะสังคะ” มาร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า เมื่อตอนที่ทั้งสองไปเที่ยวประเทศเยอรมนี ขณะเดินทางกลับเข้าฝรั่งเศสถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเหยียดหยาม กล่าวหาว่าเป็นพลเมืองในประเทศที่อยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศส เมื่ออธิบายจนเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าใจ กลับบอกว่าประเทศสยาม “เป็นเมืองเหาเมืองหมัดจะรู้จักได้อย่างไร” ทำให้ แปลก ขีตตะสังคะ ไม่พอใจอย่างมาก

จอมพล ป. พิบูลสงคราม
จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ดังนั้น ประยูร ภมรมนตรี “จึงได้ถือโอกาสชวนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ร่วมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อปราบฝรั่งเศสเอาดินแดนคืน ซึ่งท่านจอมพลกำลังขุ่นแค้นตกลงใจบอกเอาเลย จึงได้เพื่อนร่วมคิด คู่ชีวิตที่สำคัญที่สุดมาร่วมมือ ร่วมคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองกันต่อไป”

ในแง่คุณสมบัติผู้ร่วมก่อการ ปรีดี พนมยงค์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “…ก็ตั้งได้ 7 คนเท่านั้น แต่ทว่าพื้นฐานยังมีอยู่คือพวกที่เห็นแก่ความเป็นธรรม เห็นแก่ความเจริญ… กว่าจะคัดได้เอาละนะคนนี้ ก็ต้องใช้เวลาดูนิสัยไป อย่างเวลาที่ไปมิตติ้งดูว่าคนไหนใช้ได้ อย่างบางคนเห็นนะครับว่ากินเหล้าเมาแล้วเสียสติ ไอ้นี่ใช้ไม่ได้ มันเมาเหล้าแล้วมันขายหมด เราก็ดู แล้วแบ่งเป็น ดี 1 ดี 2 ดี 3…”

เมื่อได้เพื่อนร่วมคิดร่วมตายครบ 7 คน ก็ได้นัดประชุมกันเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 ผู้ก่อตั้งทั้ง 7 คน ประกอบไปด้วย ปรีดี พนมยงค์, แปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป. พิบูลสงคราม), แนบ พหลโยธิน, ประยูร ภมรมนตรี, ตั้ว ลพานุกรม, หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) และ ทัศนัย มิตรภักดี

ปรีดี พนมยงค์ เล่าไว้ว่า “การประชุมเป็นทางการครั้งแรกของคณะราษฎรมีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927 ที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ ‘Rue de Sommerard’ ซึ่งเราเช่าห้องใหญ่ไว้เฉพาะการประชุมนั้น… ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ข้าพเจ้าเป็นประธานและเป็นหัวหน้าคณะราษฎรจนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมเป็นหัวหน้าคณะราษฎรในกาลต่อไป การประชุมดำเนินไปเป็นเวลาประมาณ 5 วัน”

ทั้งนี้ ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวถึงบทบาทของ แปลก ขีตตะสังคะ ในเวลานั้นไว้ว่า “ร.ท. แปลก (จอมพล พิบูลฯ) บอกว่า ‘อาจารย์เอาอย่างไร ผมเอาอย่างนั้น ขอให้ได้เปลี่ยนการปกครองเท่านั้น เสร็จแล้วตั้งโต๊ะให้อาจารย์เขียนเอาตามชอบใจ’ ก็แปลว่ายอมตามผม เปลี่ยนการปกครองแล้วก็เกิดมีการยุแหย่ให้แตกกันขึ้น”

ปรีดี พนมยงค์ และ โดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภาพวาดปรีดี พนมยงค์ และโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, สิงหาคม 2526)

ผู้ก่อตั้งทั้ง 7 คน ได้ปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ สรุปสาระสำคัญดังที่ ปรีดี พนมยงค์ บันทึกไว้ ดังนี้

“ก. วัตถุประสงค์ของคณะราษฎร คือ เปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีศัพท์สมัยใหม่ว่า “ปฏิวัติ” หรือ “อภิวัฒน์” เพื่อถ่ายทอดคำฝรั่งเศส อังกฤษ REVOLUTION ดังนั้นเราจึงใช้ศัพท์ธรรมดาว่า “เปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย” และการดำเนินเพื่อให้สยามบรรลุหลัก 6 ประการ คือ

(1) รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง, ในทางศาล, ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

(2) รักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก

(3) บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

(4) ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน

(5) ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้ว

(6) ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ข. โดยคำนึงถึงสภาพของสยามที่ถูกแวดล้อมโดยอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งชาติทั้งสองนี้มีข้อตกลงกันถือเอาสยามเป็นประเทศกันชน แต่เขาอาจพร้อมกันยกกำลังทหารเข้ามายึดครองแล้วแบ่งดินแดนสยามไปเป็นเมืองขึ้น หรืออยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของประเทศทั้งสอง ดังนั้นเราจึงเห็นว่าวิธีเปลี่ยนการปกครองดังกล่าวจะต้องกระทำโดยวิธี COUP D’ ÉTAT ซึ่งเราเรียกกันด้วยคำไทยธรรมดาว่า การยึดอำนาจโดยฉับพลัน… ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแทรกแซงของมหาอำนาจเพราะเมื่อคณะราษฎรได้อำนาจโดยฉับพลันแล้ว มหาอำนาจก็จะต้องเผชิญต่อสถานการณ์ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า FAIT ACCOMPLI คือพฤติการณ์ที่สำเร็จรูปแล้ว

ค. ผู้ที่เข้าร่วมประชุมครั้งแรกเป็นกรรมการกลางของคณะราษฎรไปพลางก่อน กรรมการแต่ละคนเป็นหัวหน้าแต่ละสายที่จะต้องเลือกเฟ้นผู้ที่ไว้วางใจได้ตามระเบียบพิจารณาตัวบุคคลแล้วนำมาเสนอกรรมการกลางของคณะราษฎร ซึ่งจะรับเข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎรได้โดยมติเป็นเอกฉันท์เท่านั้น ในชั้นแรกให้หัวหน้าสายหาสมาชิกเพิ่มเติมเพียงสายละ 2 คนก่อน แล้วก็แยกเป็นหัวหน้าสายย่อยใหญ่น้อยแตกกิ่งก้านสาขาออกไป

ง. การเลือกเฟ้นสมาชิกคณะราษฎรเพิ่มเติมนั้น ต้องคำนึงถึงความเสียสละเพื่อชาติอย่างแท้จริง, ความกล้าหาญ, ความสามารถในการรักษาความลับ ดังนั้นจึงได้แบ่งบุคคลที่ต้องการเปลี่ยนระบบการปกครองดังกล่าวออกเป็น 3 ประเภท คือ

ดี 1. ได้แก่บุคคลที่สมควรได้รับคำชักชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎรก่อนวันลงมือยึดอำนาจรัฐ แต่บุคคลประเภทนี้ก็ต้องแยกแยะออกไปอีกว่าผู้ใดควรได้รับคำชักชวนไว้แต่เนิ่น ๆ หรือชวนต่อเมื่อใกล้เวลาที่จะลงมือทำการยึดอำนาจ มิถือเพียงแต่ว่าบุคคลใดเป็นเพื่อนเที่ยวกัน กินด้วยกัน แล้วจะชวนเข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎรได้ทุกคนในทันทีทันใด

ถ้าเพื่อนคนนั้นชอบพูดตลกเกินไป ก็ย่อมเอาเรื่องที่จริงบ้างไม่จริงบ้างมาพูดเพียงแต่จะให้ผู้ฟังขบขันเป็นการตลกและอาจเอาเรื่องลับของคณะไปแย้มพรายเพื่อการตลก เพื่อนบางคนมีลักษณะดีหลายอย่างแต่เวลากินเหล้าเข้าไปแล้วกุมสติไว้ไม่อยู่แล้วพูดเลอะเทอะ ก็อาจพลั้งพลาดเอาเรื่องของคณะไปพูดในเวลาเมา จึงมิได้ชวนให้เข้าร่วมในคณะราษฎรก่อนลงมือยึดอำนาจ…

ดี 2. ได้แก่บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติในการยึดอำนาจแล้ว ซึ่งเขาย่อมมีบทบาทเป็นกำลังให้คณะราษฎรได้

ดี 3. ได้แก่บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนในวันลงมือปฏิบัติการยึดอำนาจนั้นเอง แต่ภายหลังที่การยึดอำนาจได้มีท่าทีแสดงว่าจะเป็นผลสำเร็จมากกว่าความไม่สำเร็จ

คณะราษฎร ตัดสายโทรศัพท์
8 คณะราษฎร ตัดสายโทรศัพท์ที่กรมไปรษณีย์โทรเลขใกล้วัดเลียบ นับจากคนที่ 2 ซ้ายไปขวา ประเสริฐ ศรีจรูญ วิลาศ โอสถานนท์ ประยูร ภมรมนตรี หลวงนิเทศกลกิจ ประจวบ บุนนาค ควง อภัยวงศ์ การุณ ศรีจรูญ จิบ ศิริไพบูลย์

จ. นโยบายที่จะดำเนินภายหลังที่คณะราษฎรได้อำนาจรัฐแล้ว ที่ประชุมได้มอบให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ชี้แจง และเห็นชอบตามหลัก 6 ประการ ซึ่งข้าพเจ้าเป็นผู้เสนอรวมทั้งหลักการทั่วไปในเค้าโครงเศรษฐกิจ และได้มอบให้ข้าพเจ้าเตรียมร่างเค้าโครงเศรษฐกิจในโอกาสต่อไป

ฉ. ที่ประชุมได้พิจารณาเผื่อไว้ว่าถ้าการกระทำของคณะราษฎร ต้องถูกปราบปรามหรือพ่ายแพ้ก็ให้มีเพื่อนหัวหน้าสายคนหนึ่งที่เรากันไว้มิให้แสดงออกนอกหน้าว่าเป็นสมาชิกคณะราษฎร โดยไม่ต้องมาประชุมคณะกรรมการหัวหน้าสายบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะในฝรั่งเศสหรือเมื่อกลับสยามแล้วโดยบำเพ็ญตนประดุจเป็นคนอยู่ในบ้านอย่างสงบเงียบ ผู้นี้มีหน้าที่ดำเนินกิจการของคณะราษฎรที่อาจถูกปราบปรามหรือพ่ายแพ้นั้นต่อไปให้สำเร็จ พร้อมทั้งให้มีหน้าที่ดูแลช่วยเหลือครอบครัวของเพื่อนที่ถูกติดคุกหรือถึงแก่ความตาย ที่ประชุมเห็นพ้องกันมอบหน้าที่นี้ให้แก่นายแนบ พหลโยธิน ซึ่งเป็นผู้มีทรัพย์สินมากโดยได้รับมรดกจากบิดา”

สาระสำคัญของการประชุมพูดคุยในครั้งนั้นได้กลายเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงานเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของ “คณะราษฎร” จนเป็นผลสำเร็จในการปฏิวัติ พ.ศ. 2475

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ปรีดี พนมยงค์. (2515). บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย, (เขียนลงวันที่ 24 มิถุนายน 2515) จัดพิมพ์โดย นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร เนื่องในโอกาส 24 มิถุนายน 2515. กรุงเทพ : นีติเวชช์.

ประยูร ภมรมนตรี. (2525). ชีวิต 5 แผ่นดิน ของข้าพเจ้า, พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโทประยูร ภมรมนตรี ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2525. กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์.

นริศ จรัสจรรยาวงศ์. (มีนาคม, 2563). 3+1 มุสลิมีนคณะราษฎร ผู้ก่อการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 41 : ฉบับที่ 5.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2564