เราจะทำตามสัญญา พระยาพหลฯ นายกฯ จากรัฐประหาร ลาออกตามสัญญาที่เคยบอกจะอยู่ 15 วัน

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)

หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 สยามมีนายกรัฐมนตรีคือพระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจาก “คณะเจ้า” และ “คณะราษฎร์” ให้บริหารประเทศ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรก ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 แล้วนั้น พระยามโนปกรณนิติธาดาได้มอบหมายให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้ร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น ซึ่งหลวงประดิษฐ์ฯ จัดพิมพ์เอกสารดังกล่าว เรียกว่า “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือ “สมุดปกเหลือง”

Advertisement

หลังจากการเผยแพร่เอกสารนั้นก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และเกิดความแตกแยกระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภา จนกระทั่งมีการปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ซึ่งพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ในภายหลังว่าเป็นเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งความเสื่อมทรามในความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญ”

พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันที่ 10 ธันวาคม 2475

รัฐประหาร 2476

พระยาพหลฯ ยึดอำนาจ กระทำการรัฐประหารในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 วันถัดมาก็มีหนังสือกราบบังคมทูลถวายรัชกาลที่ 7 รายงานเรื่องที่เกิดขึ้น ดังนั้นรัชกาลที่ 7 จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2476

ในการประชุมวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาร่วมประชุม 50 คน พระยาพหลฯ ขออนุญาตต่อสภาฯ ให้นายทหารเข้ามาอยู่ด้วย โดยให้เหตุผลว่าวันนี้เป็นวันแรกของการเปิดประชุม แต่ในคราวต่อไปก็จะไม่นำทหารเข้ามาเช่นนี้อีก ซึ่งที่ประชุมก็ไม่ได้คัดค้านแต่ประการใด

พระยาพหลฯ กล่าวต่อที่ประชุมสภาฯ ว่า

“ก่อนอื่นต้องขออภัยท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่นักพูด ข้าพเจ้าเป็นนักรบ เพราะฉะนั้นถ้อยคำที่จะกล่าวต่อไปนี้อาจไม่เพราะเสนาะโสตของท่านทั้งหลายก็ได้ แต่ขอให้ถือเอาเนื้อความนี้เป็นสำคัญมากกว่า”

จากนั้น พระยาพหลฯ กล่าวว่าท่านไม่ “สันทัต” ในการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้รู้สึกท้อถอยที่จะกล้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนได้ขอร้อง และด้วยความแนะนำของประธานสภาผู้แทนราษฎรคือเจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) กอปรกับรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พระยาพหลฯ จึงจำเป็นต้องรับสนองพระเดชพระคุณเพื่อประโยชน์แห่งประเทศชาติ

แต่พระยาพหลกล่าวว่าจะดำรงตำแหน่งเพียงแค่ 10 วัน 15 วัน เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม พระยาประมวลวิชาพูล กล่าวต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่าพระยาพหลฯ ไม่ควรจะอยู่ในตำแหน่งแค่ไม่กี่วันอย่างที่พูด โดยให้เหตุผลว่าพระยาพหลฯ เป็นผู้เหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนมากต่างก็สนับสนุน และควรอยู่ดำรงตำแหน่งไปจนหมดวาระ

นอกจากนั้นพระยาประมวลวิชาพูลยังกล่าวว่า “เจ้าคุณพหลฯ ได้เป็นหัวหน้าคณะราษฎรกระทำการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน ศกก่อน และถ้าได้เป็น[นายก]เสียแต่ครั้งกระโน้นก็คงไม่มีเรื่องอะไร”

จากนั้นจึงได้ลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกทั้งหมดลงคะแนนเสียงเห็นชอบให้พระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี

ลาออกตามสัญญา

เมื่อใกล้ถึงวันครบกำหนดตามสัญญา พระยาพหลฯ มีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึงรัชกาลที่ 7 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2476

ในหนังสือ พระยาพหลฯ ให้เหตุผลว่า

“เมื่อมาระลึกว่าข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้บัญชาการทหารบกด้วย และเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยดังนี้ ดูยิ่งไม่เป็นการบังควร เป็นที่น่าครหาและเป็นที่น่าสงสัยทั้งไทยและต่างประเทศ การจะกลายเป็นว่าสยามดำเนินการปกครองโดยใช้อำนาจทหาร มีรัฐธรรมนูญไว้บังหน้า พลอยเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยอีกสถานหนึ่ง”

พระยาพหลฯ จะขอลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 เพื่อให้ระหว่างนี้ได้มีการสรรหาบุคคลที่สมควรจะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากท่าน

นับตั้งแต่วันที่รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาพหลฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (21 มิถุนายน) ถึงวันกำหนดตามหนังสือที่พระยาพหลฯ ต้องการลาออก (5 กรกฎาคม) รวมเวลาทั้งสิ้น 15 วันพอดี

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ประทับรถลาก) ทอดพระเนตรร้านในงานฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2476 (ภาพจาก The Illustrated London News)

รัชกาลที่ 7 ทรงตอบหนังสือกลับถึงพระยาพหลฯ ว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่มีความจำเป็นใดที่ท่านจะต้องลาออก จึงมีความเสียใจที่จะอนุญาตไม่ได้” รัชกาลที่ 7 ทรงให้เหตุผลว่า พระยาพหลฯ เป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชน เป็นผู้ประสานความสามัคคีเพื่อประโยชน์ความเรียบร้อยแก่ประเทศ

ภายหลังจากนั้นรัชกาลที่ 7 ทรงมีลายพระราชหัตถเลขาแจ้งพระราชดำริไปยังเจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าทรงไม่เห็นชอบที่จะให้พระยาพหลฯ ลาออก และมีพระราชประสงค์ที่จะให้เจ้าพระยาพิชัยญาติเห็นพ้องด้วยกับพระองค์

ดังนั้น ในเวลาต่อมาเมื่อมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 ที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ความไว้วางใจพระยาพหลฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เป็นอันว่าท่านไม่มีทางหลีกเลี่ยง แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องหนักใจสำหรับท่าน เพราะตามปกติท่านก็เป็นคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมอยู่แล้ว

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (ออนไลน์). รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2476 วันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2476, จาก ระบบฐานข้อมูลรายงานและบันทึกการประชุม

สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (ออนไลน์). รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4/2476 วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2476, จาก ระบบฐานข้อมูลรายงานและบันทึกการประชุม

ส. พลายน้อย. (2555). พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีผู้ซื่อสัตย์. กรุงเทพฯ: มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มิถุนายน 2562