หมุดหาย คณะราษฎรโผล่ : บทสำรวจงานเขียนเกี่ยวกับ “ปฏิวัติ 2475”

การปฎิวัติสยามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยภายใต้การบริหารของกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งการปฏิวัติครั้งนี้หาใช่เป็นการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นไม่แต่กลับเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างผู้ที่นิยมระบอบใหม่อย่างประชาธิปไตยกับผู้นิยมระบอบเก่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (หรือน้อยๆ ก็คือกลุ่มที่ต้องการคงอำนาจไว้ที่พระมหากษัตริย์และชนชั้นนำในไว้ให้มากที่สุดระบอบใหม่)

เพราะฉะนั้นความรับรู้ของการปฏิวัติ 2475 จึงแบ่งออกเป็นสองฝ่ายอาจจะกล่าวอย่างกว้างๆ ว่ากลุ่มที่มองว่าการปฏิวัติ 2475 เป็น “การชิงสุกก่อนห่าม” กับกลุ่มที่มองว่าการปฏิวัติครั้งนี้เหมาะสมแล้ว “กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้” แต่ก่อนที่หมุดคณะราษฎรที่ฝังอยู่ในบริเวณพระบรมรูปทรงม้าจะหายเราพบว่าภาพของสังคมโดยรวมมองว่าคณะราษฎรนั้นเป็นพวกชิงสุกก่อนห่าม รวมไปถึงการรับรู้เกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 ผ่านหนังสือเรียนก็เป็นการกล่าวอย่างคร่าวๆ ทั้งๆ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของประเทศ

ก่อนหมุดหายคณะราษฎรหาย คณะราษฎรเคยถูกปลุกมาในการต่อสู้ทางการเมือง ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ชุมนุม 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เพื่อขับไล่เผด็จการทหารและเรียกร้องรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย แต่การปลุกคณะราษฎรครั้งนี้กลับกลายเป็นว่าผู้ที่นำการเปลี่ยนแปลงสยามมาเป็นประชาธิปไตยอย่างคณะราษฎรกลับกลายเป็นผู้ร้าย

กล่าวคือ บทบาทความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการรื้อฟื้นอีกครั้งท่ามกลางการก่อตัวของการต่อต้านเผด็จการทหารของกลุ่มจอมพลถนอม กิติขจร โดยเชื่อมต่อกับการต่อสู้ในอดีตช่วง 2475 ซึ่งงานของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้เสนอถึงการก่อตัวของวาทกรรมในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา นั่นคือวาทกรรมกษัตริย์ประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ที่ยอมสละราชสมบัติและเป็นผู้มอบรัฐธรรมนูญแก่คณะราษฎร ดังปรากฏพระราชหัตเลขาสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 บนจุลสารกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ดังความว่า

พี่น้องประชาชนที่รัก นับตั้งแต่ครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชปณิธานอย่างแน่ชัดว่า

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

นอกจากนี้ยังมีการรื้อฟื้นงานเขียนที่มีบทบาทส่งเสริมการสร้างวาทกรรมกษัตริย์ประชาธิปไตยของรัชกาลที่ 7 คืองานเขียนประเภทบันทึกความส่งจำ อาทิ ตัวตายชื่อยังอยู่ ของ จงกล ไกรฤกษ์ (2508) ฝันจริงของข้าพเจ้า ฝันร้ายของข้าพเจ้า และ10,000 ไมล์ของข้าพเจ้า ของเลื่อน ศราภัยวานิช (2512) เป็นต้น

ซึ่งความทรงจำกลุ่มนี้ให้เห็นภาพถึงชีวิตข้าราชการผู้จงรักภักดีอย่างลึกซึ้งต่อรัชกาลที่ 7 แต่ตกเป็นเหยื่อของเผด็จการคณะราษฎรที่จับให้ติดคุก ลี้ภัยไปต่างแดนหลังการผ่ายแพ้ของการก่อกบฏบวรเดช งานเหล่านี้จะเล่าถึงภาพระหว่างความเป็นประชาธิปไตยของรัชกาลที่ 7 กับความเป็นเผด็จการของคณะราษฎร

ฉะนั้น การดึงอำนาจของรัชกาลที่ 7 ให้เป็นตัวแทนเจตนารมณ์ของกษัตริย์ประชาธิปไตยก็เท่ากับการผลักให้คณะราษฎรเป็นคู่ตรงกันข้ามนั่นคือตัวแทนของเผด็จการทหาร

ตัดสลับมาหลังหมุดคณะราษฎรหายไปได้เริ่มมีคนตั้งคำถามว่าใครเป็นคนลักขโมยหมุดไป ? ทำไมต้องเอาไป ? ทำไมต้องกลายเป็นหมุดไพร่ฟ้าหน้าใสมาแทน ? หมุดคณะราษฎรถือว่าเป็นโบราณวัตถุของประเทศหรือไม่ ? ถ้าไม่เป็นเพราะไม่เข้าเกณฑ์ของกรมศิลปกร แต่ถือว่าเป็นวัตถุสำคัญของประวัติศาสตร์หรือไม่ ? เหตุใดกรมศิลปกรถึงไม่มีปฏิกิริยาทวงหาทวงหมุดคณะราษฎรคืนอย่างจริงจัง ?

แต่ที่น่าสนใจมากว่านั้นคือความใคร่รู้เกี่ยวกับคณะราษฎรกลับไม่ได้หายไปพร้อมหมุด แต่กลับกลายเป็นว่าคนเริ่มหันมาสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับคณะราษฎรเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นพร้อมกับการเติบโตของ Social Media คนเริ่มตั้งคำถามกับความเป็นผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรจนไปถึงการดึงเอาคณะราษฎรมากล่าวถึงในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในช่วงปี 2563 – ปัจจุบัน (2565) อย่างเข้มข้นและให้ความหมายใหม่แก่คณะราษฎรที่แตกต่างไปจากการชุมนุมไล่เผด็จการทหารในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนบทความหมุดหาย อะไรโผล่ โดยอาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์สรุปไว้ว่าเมื่อเอาหมุดนั้นออกไป ก็ไม่ทำให้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ฟื้นคืนชีพขึ้นได้ ซึ่งผู้เขียนคิดว่านอกจากหมุดหายสิ่งที่โผล่ออกจากหมุดประการหนึ่งคือความสนใจเกี่ยวกับคณะราษฎรกลับมาอีกครั้ง

ทีนี้ผู้เขียนลองสำรวจงานที่เกี่ยวข้องกับการปฎิวัติ 2475 และคณะราษฎร เมื่อสำรวจแล้วพบว่ามีงานวิชาการที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากสามารถหาอ่านได้ฟรีตามฐานวิทยานิพนธ์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือบทความวารสารต่างๆ เป็นจำนวนมาก ฉะนั้น ในบทความนี้จึงจะขอยกตัวอย่างงานที่เป็นหนังสือที่ยังพอหาอ่านหรือสะสมได้หรือบางชิ้นที่อยากให้ตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งในโลกหนังสือภาษาไทย 24 เล่ม ดังนี้

หนังสือเกี่ยวกับสาเหตุการปฏิวัติ 2475

เป็นกลุ่มหนังสือที่อธิบายเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นการอธิบายด้วยหลายเหตุปัจจัยไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการเปลี่ยนแปลงความคิดของประชาชน การไม่ตอบสนองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยภายในประเทศและปัจจัยภายนอกประเทศต่างๆ มากมาย ซึ่งก่อนเกิดเหตุการณ์ล้วนมีความสลับซับซ้อนมิใช่การเกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน

1. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดย นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

2. ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดย นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

3. บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม สำนักพิมพ์มติชน โดยยาสุกิจิ ยาตาเบ (ผู้แปล เออิจิ มูราชิมา, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์)

4. เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475 สำนักพิมพ์มิ่งมิตร โดย​ กุหลาบ​ สายประดิษฐ์

5. อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม สำนักพิมพ์มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดย Benjamin A. Batson (เบนจามิน เอ. บัทสัน)

ความขัดแย้งหลังการปฏิวัติ2475

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยภายใต้คณะราษฎรนั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมืองอย่างซับซ้อน ทั้งความขัดแย้งกับกลุ่มนิยมระบอบเก่าหรืออาจเรียกว่ากลุ่มกษัตริย์นิยม และความขัดแย้งในกลุ่มคณะราษฎรด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการจัดวางสถานะพระมหากษัตริย์
การจัดการทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ การสานประโยชน์กับต่างประเทศที่มีความคิดแตกต่างกันของกลุ่มคณะราษฎร โดยที่หนังสือที่ยกตัวอย่างมาบางเล่มผู้เขียนหนังสือมีทัศนะคติที่แตกต่างกันออกไปในเรื่องเดียวกัน

6. 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ สำนักพิมพ์มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดย
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

7. ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475-2500 สำนักพิมพ์มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

8. ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดย ณัฐพล ใจจริง

9. เลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ สำนักพิมพ์มติชน โดย ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์

10. กบฏบวรเดช : “เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475 สำนักพิมพ์มติชน โดย ณัฐพล ใจจริง

11. ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดย ณัฐพล ใจจริง

12. แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ.2491-2500) สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

13. ราษฎรสามัญ หลังวันปฏิวัติ 2475 สำนักพิมพ์มติชน โดย ศราวุฒิ วิสาพรม

14. ศึกชิงพระคลังข้างที่ 2475 สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ โดยปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

15. พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ เศรษฐกิจการเมืองว่าด้วยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลัง 2475 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดยปราการ กลิ่นฟุ้ง, พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล, พอพันธ์ อุยยานนท์, ภารุต เพ็ญพายัพ, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

16. ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร สำนักพิมพ์มติชน
โดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์

17. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต สำนักพิมพ์แสงดาว โดย สุพจน์ ด่านตระกูล

18. หลังบ้านคณะราษฎร : ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง สำนักพิมพ์มติชน โดย ชานันท์ ยอดหงษ์

ผลงานคณะราษฏร

เป็นการการถึงผลงานของคณะราษฎรที่ได้สร้างสรรค์และพัฒนาปรับปรุงประเทศเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นด้านสถาปัตยกรรม ด้านการแพทย์ การจัดการระบบราชการ เป็นต้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นคุณณูปการหนึ่งของคณะราษฎรในการพัฒนาประเทศ

19. ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สำนักพิมพ์มติชน โดย ชาตรี ประกิตนนทการ

20. สยามมหกรรมการเมืองวัฒนธรรมกับการช่วงชิงความเป็นสาธารณะ สำนักพิมพ์มติชน โดยปรีดี หงษ์สตัน

21. ตามรอยอาทิตย์อุทัย : แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร สำนักพิมพ์มติชน โดยณัฐพล ใจจริง

22. เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม : ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย สำนักพิมพ์ ILLUMINATIONS โดย ทวีศักดิ์ เผือกสม

23. กองทัพคณะราษฎร ล้อมรั้วประชาธิปไตยในยุคปฏิวัติสยาม สำนักพิมพ์มติชน โดย ปรัชญากรณ์ ละครพล

24. ปฏิวัติที่ปลายลิ้น ปรับรสแต่งชาติอาหารการกินในสังคมไทยหลัง 2475 สำนักพิมพ์มติชน โดยชาติชาย มุกสง

อาจจะกล่าวได้ว่าการที่หมุดคณะราษฎรหายไปครั้งนี้และไม่มีวี่แววจะได้คืนอาจทำให้เราข้ามพ้นความคิดเกี่ยวกับการปฎิวัติ 2475 ที่ว่าด้วย “ชิงสุกก่อนห่าม” “กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้” หรอ “ใครเป็นพระเอก” “ใครเป็นผู้ร้าย” ก็เป็นได้และต้องรอต่อไปอีกว่าจะมีอะไรโผล่มาอีกหลังจากหมุดหาย

 


อ้างอิง :

ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2556). และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน. 428-429.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2560) .หมุดหาย อะไรโผล่. เข้าถึงได้จาก https://prachatai.com/journal/2017/05/71291.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มิถุนายน 2565