พระธาตุพนม “พัง” เพราะศิลปะแบบชาตินิยมไทย (?)

ภาพวาด พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม Louis Delaporte
ภาพพระธาตุพนม จากบันทึกในช่วง พ.ศ. 2409-11 โดย Louis Delaporte

พระธาตุพนม “พัง” เพราะศิลปะแบบชาตินิยมไทย (?)

พระธาตุพนม เป็นพระธาตุโบราณในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ถือเป็นศาสนสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค เพราะเป็นที่ประดิษฐานของพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนอกของพระพุทธเจ้า

การก่อสร้าง พระธาตุพนม ปรากฏหลักฐานในตำนานอุรังคธาตุ ซึ่งอ้างว่าเป็นพระธาตุสร้างขึ้นตามพุทธทำนาย โดยหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระมหากัสสปะก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุมายังดินแดนนี้ และได้เจ้าเมืองทั้ง 5 ตามตำนานร่วมกันสร้างพระธาตุขึ้น

ขณะที่ ศ. ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ กล่าวว่า รูปแบบดั้งเดิมของพระธาตุพนมน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะจาม ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นในราวศตวรรษที่ 15 เมื่อถึงสมัยล้านช้างจึงมีการก่อเจดีย์ทรงระฆังเหลี่ยมทับเรือนธาตุที่มีมาแต่เดิม

พระธาตุพนมมีการบูรณะหลายครั้ง เช่นในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช รวมถึงสมัยเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก ซึ่ง ติ๊ก แสนบุญ นักเขียนผู้รอบรู้เรื่องลาว-อีสาน บอกว่า ท่านได้ใช้พระธาตุศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ในการหลอมรวมผู้คนเป็นฐานอำนาจทางการเมือง และการบูรณะในครั้งนั้นก็ยังอยู่ในกรอบของศิลปะแบบลาวอยู่

แต่เมื่อไทยกลายเป็นรัฐสมัยใหม่ การบูรณะพระธาตุพนมในยุคหลังจากนี้ได้ทำให้รูปลักษณ์ของพระธาตุพนมผิดแผกไปจากงานของช่างท้องถิ่นแต่เดิม ดังที่ ติ๊ก บรรยายว่า

“การบูรณะซ่อมองค์พระธาตุพนมในยุคนี้จึงไม่เคารพต่อรูปแบบงานช่างท้องถิ่นอีสานโดยในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ยุคปฏิรูปศิลปวัฒนธรรมความเป็นไทยฉบับแห่งชาติ) ภายใต้การอำนวยการของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมศิลปากรได้นำเข้ากลุ่มช่างและรูปแบบศิลปะโดยเฉพาะการตกแต่งด้วยลวดลายแบบเครื่องคอนกรีตสกุลช่างภาคกลาง โดยการต่อยอดให้สูงขึ้นไปอีกเพื่อสถาปนาความยิ่งใหญ่ให้มองเห็นได้แม้ในฝั่งสปป.ลาว”

พระธาตุพนม ในปี 2006
พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ในปี 2006 ซึ่งยังคงรูปแบบการบูรณะจากสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเอาไว้ (ภาพโดย Kittipong khunnen)

นอกจากนี้ ติ๊กยังกล่าวว่า การพังทลายของพระธาตุพนมใน พ.ศ. 2518 ก็น่าจะเป็นเหตุมาจากการบูรณะพระธาตุในครั้งสมัยรัฐบาลจอมพล ป. ด้วย เนื่องจากการต่อเติมในครั้งนั้น “ส่งผลต่อความมั่นคงทางโครงสร้างจนเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดการพังทลายในอีก 35 ปีต่อมาในปี พ.. 2518

สอดคล้องกับความเห็นของ โรม บุนนาค ที่กล่าวว่า การบูรณะบางครั้งมีการต่อยอดให้สูงขึ้น แต่ไม่มีการเสริมส่วนฐาน โดยเฉพาะ การบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2483-2484 ได้มีการทำรูระบายอากาศรอบด้านในส่วนยอด รูนี้ทำให้ฝนไหลเข้าได้ แต่ไม่มีทางระบายน้ำออก องค์พระธาตุจึงกลายสภาพเป็นที่เก็บน้ำที่ค่อย ๆ ซึมชุ่มอิฐภายในให้เปื่อยยุ่ย เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในเดือนมีนาคม 2518 ได้เกิดรอยร้าวขนาดใหญ่ขึ้นหลายจุด

ราว 5 เดือนต่อมา ถึงวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 พระธาตุพนมก็ได้พังทลายลงมา

และเป็นที่น่าเสียดายที่รัฐไทยยุคต่อมายังคงแนวคิดเดิมในการบูรณะองค์พระธาตุด้วยรูปแบบดังกล่าว” ติ๊ก กล่าวถึงการบูรณะในครั้งหลัง ที่ยังคงใช้รูปแบบองค์พระธาตุในสมัยจอมพล ป.

แต่ไม่ว่าองค์พระธาตุจะพังลงมาด้วยเหตุผลประการใด ความเปลี่ยนแปลงทางศิลปะที่เกิดขึ้นกับองค์พระธาตุก็แสดงถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ที่เกิดขึ้นเป็นลำดับ และด้วยเหตุที่ส่วนกลางในกรุงเทพฯ ยังเป็นหัวขบวนในการกำหนดทิศทางทางวัฒนธรรมของทั้งประเทศ คตินิยมทางศิลปะจากภาคกลางก็ย่อมมีเหนือพระธาตุที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของดินแดนอีสานต่อไป

ภาพพระธาตุพนม จากบันทึกในช่วง พ.ศ. 2409-11 โดย Louis Delaporte

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ติ๊ก แสนบุญ. “อุรังคธาตุ…พระธาตุพนม…สถูปสถานหุ้นส่วนแห่งศรัทธา เครือญาติ การเมือง สองฝั่งโขง”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2555.

“พระธาตุพนมล้ม”. เรื่องเก่าเล่าสนุก. โรม บุนนาค. All-Magazine. <http://www.all-magazine.com/ColumnDetail/allColumDetail/tabid/106/articleType/ArticleView/articleId/4709/-.aspx>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ธันวาคม 2559