“กอลแบรต์” ผู้หาเงินเลี้ยงแวร์ซายส์ให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เริ่มงานตี 5 ครึ่ง-ดู 9 กระทรวง

ฌอง-แบบติสต์ กอลแบรต์
ภาพวาด ฌอง แบบติสต์ กอลแบรต์ เสนาบดีฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (วาดโดย Philippe de Champagne, 1655)

ผู้มากความสามารถเป็น “มือขวา” ใช้ทำงานสำคัญต่างๆ ตามประสงค์ และสำหรับ “พระเจ้าหลุยส์ที่ 14” ซึ่งสร้างพระราชวังแวร์ซายส์ ที่ใช้งบประมาณมหาศาลและแสดงถึงความหรูหราของผู้ปกครองก็เสนาบดีคนสำคัญอย่าง ฌอง-แบบติสต์ กอลแบรต์ (Jean-Baptiste Colbert) เป็นกำลังสำคัญ

นับตั้งแต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงมีพระราชประสงค์จะปกครองประเทศด้วยพระองค์เองหลังจากคาร์ดินาล มาซาแรง (Jules Raymond Mazarin) อัครมหาเสนาบดีชาวอิตาเลียนจากเนเปิลส์ เสียชีวิตลงเมื่อปี ค.ศ. 1661 ก่อนมาซาแรง จะอำลาโลกไป เขาคือผู้แนะนำกอลแบรต์ จนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และด้วยทัศนคติทุ่มเททำงานอย่างหนักของกอลแบรต์ ทำให้เขาสร้างความมั่งคั่งให้กับทั้งตัวเองและพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

ระหว่างช่วงเวลา 55 ปีของการปกครองด้วยพระองค์เองในรัชกาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จาก ค.ศ. 1661-1715 การงานที่กอลแบรต์ ปฏิบัตินั้นในระยะหนึ่งของช่วงเวลานั้นเป็นอีกหนึ่งส่วนที่บอกเล่าเรื่องราวในรัชสมัยของพระองค์ได้อย่างดี แม้แต่พระราชวังแวร์ซายส์ ที่พระองค์ทรงเลือกให้เป็นสถานที่สร้างพระราชวังใหม่ และเมืองใหม่สำหรับบริหารราชการแผ่นดินก็ทรงโปรดให้กอลแบรต์ เป็นผู้ระดมศิลปินแถวหน้ามาช่วยกันสร้างสรรค์

ต้นกำเนิดและการขึ้นสู่อำนาจ

กอลแบรต์ เกิดในครอบครัวของพ่อค้าจากเมืองไรม์ส (Reims) ข้อมูลจากบางแหล่งระบุว่า เขาอ้างว่าบรรพบุรุษของเขาเป็นชาวสกอตแลนด์ การทำงานช่วงเริ่มต้นของกอลแบรต์ ค่อนข้างหลากหลาย ในปี ค.ศ. 1649 กอลแบรต์ได้เป็นหนึ่งในสมาชิกสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน วิทยานิพนธ์เรื่อง “การสร้างระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี” ของสมเกียรติ วันทะนะ ตั้งข้อสังเกตว่า การเข้ามาในตำแหน่งครั้งนี้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเงิน 40,000 คราวน์ที่เขาได้มาในปี ค.ศ. 1648 โดยไม่ระบุแหล่งที่มา ขณะที่ในช่วงปี 1651-1653 ซึ่งมาซาแรง มีเหตุอันต้องลี้ภัยกบฏฟรงด์ ไปอยู่นอกปารีส กอลแบรต์ ก็คือผู้ดูแลผลประโยชน์รวมถึงทรัพย์สินของมาซาแรง

เมื่อคาร์ดินาล มาซาแรง กลับมามีอำนาจ เขามอบหมายกอลแบรต์ ให้เสมือนเป็นผู้ช่วยส่วนตัว ซึ่งนั่นทำให้กอลแบรต์ และครอบครัวเริ่มมั่งคั่ง กระทั่งปี 1661 ที่มาซาแรง เสียชีวิต เขาก็เป็นผู้แนะนำกอลแบรต์ จนมีโอกาสได้เข้าเฝ้าตามที่เกริ่นข้างต้น หลังจากมีโอกาสได้เข้าเฝ้าแล้วก็เริ่มเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

กอลแบรต์ ยังดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีคลังระหว่างปี 1665-1683 ซึ่งบทบาทที่ทำให้กอลแบรต์ เป็นที่รับรู้คือการปฏิรูปเศรษฐกิจ และการคลัง หน้าที่ของกอลแบรต์ คือให้พระราชวังแวร์ซายส์ ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ประทับเป็นศูนย์กลาง ในแง่นานาชาติก็ต้องทำให้ฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางของยุโรปไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม

ช่วงแรกหลังจากที่มาซาแรง ถึงแก่กรรม ภารกิจในช่วงต้นของกอลแบรต์ คือต้องรื้อนโยบายการคลังอันเป็นผลมาจากการบริหารงานยุคนิโคลัส ฟูเกต์ (Nicolas Fouquet) เสนาบดีการคลังช่วงปี 1653-1661 ฟูเกต์ ไม่เพียงเป็นเสนาบดีที่มีอำนาจรองลงมาจากมาซาแรง ยังมีความมั่งคั่งร่ำรวย ฟูเกต์ สร้างปราสาทที่โวเลอวิกอม (Vaux-le-Vicomte) ซึ่งถือว่าเป็นปราสาทที่สวยงาม อลังการและหรูหราอีกแห่ง

กอลแบรต์ เปิดเผยความไม่ชอบมาพากลทางการเงินของฟูเกต์ ต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ฟูเกต์ มาจนตรอกเมื่อฟูเกต์ ตั้งใจจะถวายปราสาทแห่งนี้แก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และข้าราชบริพารต่างมีความเห็นว่าฟูเกต์ ฉ้อราษฎร์บังหลวง มั่งคั่งเกินหน้าเกินตากษัตริย์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีรับสั่งให้ควบคุมตัวฟูเกต์ และดำเนินคดี

วิคเตอร์ ลูเชียน ทาปี (Victor-Lucien Tapié) นักวิชาการทางประวัติศาสตร์เล่าว่า กอลแบรต์ เข้ามาแทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดีทั้งที่ไม่ได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับคดีโดยตรงเพียงเพราะต้องการตำแหน่งเสนาบดีการคลังของฟูเกต์ สุดท้ายฟูเกต์ ถูกจำคุก 15 ปี และเสียชีวิตเมื่อ ค.ศ. 1680 ส่วนทรัพย์สมบัติก็ถูกยึด ศิลปินเอกทั้ง 3 ที่สร้างสรรค์ปราสาทโวเลอวิกอมก็ถูกใช้งานร่างแผนสร้างพระราชวังแวร์ซายส์

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14
พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส (ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Louis_XIV_of_France.jpg)

บทบาท

ในฐานะเสนาบดีการคลังและสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ทำให้กอลแบรต์ ได้เปรียบในแง่อิทธิพลต่อนโยบายการคลัง การเมือง รวมไปถึงการค้าหลังจากที่เขาควบตำแหน่งอื่นๆ เพิ่มขึ้นตลอดในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไม่ว่าจะเป็นผู้ตรวจการอาคารหลวง (ค.ศ. 1664), เสนาบดีประจำสำนักพระราชวัง และราชนาวี (ค.ศ. 1669), เสนาบดีกิจการเหมืองแร่ และอุตสาหกรรม (ค.ศ. 1670), เสนาบดีด้านการเดินเรือ (ค.ศ. 1672), ด้านการค้าขาย (ค.ศ. 1673) (Collins, 2009; 112; ชนาธิป เกสะวัฒนะ, 2543; 79)

เจเอ็ม ทอมป์สัน ผู้เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์ยุโรป ค.ศ. 1494-1789” มองว่า กว่าทศวรรษที่กอลแบรต์ ปฏิบัติหน้าที่ กอลแบรต์ดูแลรับผิดชอบราชการเทียบเท่างานในกระทรวงสมัยใหม่ถึง 9 กระทรวง คือ กระทรวงการคลัง, มหาดไทย, พาณิชย์, เกษตร, แรงงาน, ทหารเรือ, อาณานิคม, ยุติธรรม และศึกษาธิการ

ไม่เพียงเท่านี้ กอลแบรต์ ยังมีน้องชายคือ กอลแบรต์ เดอ ครัวซี (Colbert De Croissy) เป็นเสนาบดีการต่างประเทศอีกด้วย

ลักษณะการทำงานและอิทธิพลทางความคิด

เมื่อเห็นตำแหน่งมากมายขนาดนี้น่าจะสอดคล้องกับข้อมูลที่หลายแห่งระบุว่า กอลแบรต์ เป็นผู้ทำงานหนัก ว่ากันว่าเขาตื่นมาทำงานตั้งแต่ตี 5 ครึ่ง โดยทอมป์สัน มองว่า เสนาบดีผู้นี้ถือเป็นผู้ที่นำแรงงานมาเป็นกำลังทหาร สรรหาทรัพยากรสำหรับกองทัพเรือ และหาเงินมาเลี้ยงแวร์ซายส์ ที่นักประวัติศาสตร์คาดว่า ค่าตอบแทนสำหรับบุคลากรในพระราชวังก็กินงบประมาณแผ่นดินไป 1 ใน 10 แล้ว

อิทธิพลของกอลแบรต์ ในฝรั่งเศสทำให้นักวิชาการเรียกนโยบายหรือหลักการของกอลแบรต์ ว่า “ลัทธิกอลแบรต์”

ทอมป์สัน อธิบายนิยามของลัทธิกอลแบรต์ว่าเป็นลัทธิพาณิชยนิยม (Mercantillism) แนวคิดสำคัญคือการให้น้ำหนักกับการค้าขายโดยเชื่อว่าถือเป็นหัวใจของความมั่งคั่งของประเทศ และเชื่อว่าความร่ำรวยไม่ใช่สิ่งที่เพิ่มเติมได้ แต่เป็นสิ่งที่เปลี่ยนมือจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศ การสร้างความร่ำรวยเสมือนการทำสงคราม แต่เป็นสงครามการเงิน

แนวคิดสงครามการเงินนี้เปรียบบริษัทการค้าเป็นกองทัพ กำแพงภาษีเป็นอาวุธ มียุทธศาสตร์ชักจูงให้ประเทศตัวเองเป็นผู้กำหนดทิศทางการค้าในมือ ผ่านแนวคิด 2 ข้อ คือ พัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และส่งออกสินค้าให้มากที่สุด

กอลแบรต์ แปรยุทธศาสตร์มาเป็นแนวทางการปฏิบัติด้วยการตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์และพรมประดับฝาผนัง (ใช้สำหรับพระราชวังแวร์ซายส์ที่กำลังก่อสร้าง) ชื่อ โกเบอแลงส์ (Gobelins) เป็นโรงงานอุตสาหกรรมของรัฐในปารีส จุดประสงค์เพื่อผลิตใช้ในประเทศโดยไม่ต้องนำเข้า ขณะเดียวกันยังมีโรงงานเชิงหัตถอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐเป็นผู้สนับสนุนจากที่มอบเงินสนับสนุนเพิ่มให้จากเดิม 112,500 ลีฟร์ เป็น 500,000 ลีฟร์ ในช่วงปี 1667-1680

การส่งเสริมการค้าและอุตสาหกรรมของกอลแบรต์ ทำให้เกิดการขุดคลองทางตอนใต้เชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และมหาสมุทรแอตแลนติก กับเมืองบอร์กโดซ์ และตูลูส สร้างเสร็จในปี 1681

ในแง่การเดินเรือและราชนาวี รัฐสนับสนุนให้ต่อเรือสินค้าขนาดใหญ่จาก 200 ลำ เป็น 500 ลำ ในช่วง 1680-1688 กองทัพเรือของฝรั่งเศสมีเรือรบขนาดใหญ่กว่า 300 ลำ ถือเป็นยุทโธปกรณ์สำคัญซึ่งทำให้ฝรั่งเศสขยายอาณานิคมได้กว้างขวาง แม้ว่าในระยะยาวจะไม่สามารถพัฒนากองทัพเรือให้ยิ่งใหญ่ได้เหมือนอังกฤษ หรือฮอลแลนด์ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงผลงานในช่วงที่กอลแบรต์ มีอิทธิพลในหลายหน่วยงาน

แม้นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจ และการคลังของกอลแบรต์ ทำให้ฝรั่งเศสมั่งคั่ง นักวิชาการหลายรายถึงกับมองว่า กอลแบรต์ มีแนวโน้มเป็นเสนาบดีคนแรก และอาจเป็นคนเดียวในช่วงศตวรรษที่ 16-18 ที่สร้างสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่ายในตัวเลขงบประมาณแผ่นดินได้

อย่างไรก็ตาม ค.ศ. 1683 ปีสุดท้ายในชีวิตของกอลแบรต์ ก็เหมือนกับพบจุดเริ่มต้นของความตกต่ำทางเศรษฐกิจ เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมากในราชการสงครามหลากหลายแห่ง หลังจากกอลแบรต์ถึงแก่กรรม สถานะทางการเงินของฝรั่งเศสเปลี่ยนแปลงในเชิงลบมากยิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ทอมป์สัน, เจเอ็ม. ประวัติศาสตร์ยุโรป ค.ศ. 1494-1789. แปลโดย นันทา โชติกะพุกกะณะ และนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา. กรุงเทพฯ : โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2512

สมเกียรติ วันทะนะ. การสร้างระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี. กรุงเทพฯ : สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560

Collin, James B. The State in Early Modern France. Ninth Edition. London : Armchair Traveller at the book Haus, 2009

Tapié, Victor-Luncie. “Jean-Baptiste Colbert FRENCH STATESMAN”. Britannica. <https://www.britannica.com/biography/Jean-Baptiste-Colbert>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ธันวาคม 2561