ผู้เขียน | อัศวัตถามา |
---|---|
เผยแพร่ |
พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กษัตริย์ผู้ปกครอง ฝรั่งเศส ระหว่าง ค.ศ. 1643-1715 หรือสุริยกษัตริย์ (the Sun King) ผู้ใช้พระราชอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันแข็งแกร่งและเป็นเอกภาพ จนเป็นต้นแบบแก่บรรดากษัตริย์ยุโรปให้ยึดถือปฏิบัติตาม พระองค์ยังมีชื่อเสียงโดดเด่นเรื่องการมีสตรีคนรักจำนวนมาก เพราะนอกจากมเหสีเอกอย่าง พระราชินีมาเรีย เทเรซา (Maria Theresa) แล้ว ยังทรงมีภรรยารองที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงสนม (ลับ) อีกหลายคนตลอดอายุขัยอันยาวนานของพระองค์
พระราชนิยมเรื่องความรักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 นั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าทรงมีภรรยาน้อย (Mistresses) ที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น มาดาม เดอ มงเตสปอง และดัชเชท แห่ง ลาร์ วาลลิแยร์ ซึ่งทั้งคู่ต่างให้กำเนิดทายาทที่ชอบด้วยกฎหมายแก่พระองค์หลายคนด้วยกัน
หลังจากครองราชย์ตั้งแต่อายุเพียง 5 ขวบ การบริหารราชการแผ่นดินตกเป็นของพระนางแอนน์แห่งออสเตรีย (Anne of Austria) พระราชมารดาและเหล่าเสนาบดี เมื่อเจริญวัยขึ้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ขณะอายุ 15 ปี ได้เป็นชายเต็มตัวโดยการจัดแจงของพระราชมารดา ทรงคัดเลือกนางสนองพระโอษฐ์ของพระนางเองซึ่งอายุราว 39-40 ปี ชื่อว่า แคทเธอรีน เบลเลียร์ (Catherine Bellier) หรือที่รู้จักกันในาม “เคท ตาเดียว” (One-eyed Kate) เป็นผู้มอบประสบการณ์ทางเพศครั้งแรกให้กษัตริย์หนุ่ม
ต่อมาพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงตกหลุมรักแรกสตรีแรกแย้มนางหนึ่ง นั่นคือ มาเรีย มันชินี (Marie Mancini) หลานสาวของมหาเสนาบดี คาร์ดินัล มาซาแรง (Cardinal Mazarin) กษัตริย์หนุ่มให้ความสนพระทัยในตัวนางอย่างจริงจัง แต่ทั้งมาซาแรงและพระราชมารดาไม่เห็นดีด้วยกับการดองญาตินี้ เพราะพระนางแอนน์ปรารถนาให้บุตรชายได้สมรสกับสตรีระดับเจ้าหญิงหรือเชื้อพระวงศ์สูงศักดิ์ของยุโรป การพบกันช่วงสั้น ๆ ระหว่างพระเจ้าหลุยส์ฯ กับมาเรีย มันชินี ในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1659 จึงเป็นการพบกันครั้งสุดท้าย ก่อนนางจะถูกเนรเทศไปจากราชสำนักฝรั่งเศส
จากนั้น ด้วยหลาย ๆ ปัจจัย และเหตุผลทางการเมือง ท้ายที่สุดพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมาเรีย เทเรซา พระราชธิดาของกษัตริย์ฟิลิปที่ 4 แห่งสเปน พิธีสมรสจัดขึ้นวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1660 ด้วยการสนับสนุนของพระราชมารดาและสนธิสัญญาพีเรนีส (Treaty of the Pyrenees) ที่ลงนามกันหลังสงครามฝรั่งเศส-สเปน เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างสองราชอาณาจักรและฟื้นฟูความสัมพันธ์หลังสงคราม โดยเฉพาะเมื่อพระนางแอนน์แห่งออสเตรียเป็นราชนิกูลในราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg) ราชวงศ์เดียวกับที่ปกครองราชบัลลังก์สเปนอยู่ในขณะนั้น
ปีถัดมาหลังงานอภิเษกสมรส หลุยส์ เดอ ลา วาลริแยร์ (Louise de La Valliere) หรือ ดัชเชสแห่ง ลาร์ วาลลิแยร์ ได้กลายเป็นภรรยาน้อยคนแรกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 นางได้อาศัยอยู่ในพระตำหนักตั้งแต่ ค.ศ. 1661-1674 และมอบทายาท 4 คนให้กษัตริย์แห่งฝรั่งเศส แต่รอดชีวิต 2 คน โดยเป็นทายาทที่ชอบด้วยกฎหมาย (ใช้นามสกุล “บูร์บง”) ได้แก่ มาเรีย-แอนน์ เดอ บูร์บง (Marie-Anne de Bourbon) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Mademoiselle de Blois และ หลุยส์ เคานท์แห่งแวร์มองดัว (Louis, Count of Vermandois)
ภรรยาน้อยคนต่อมาคือ มาดาม เดอ มงเตสปอง (Madam de Montespan) ผู้มีบทบาทอย่างสูงในราชสำนัก นางเป็นที่ต้องพระทัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อราว ค.ศ. 1667 ในช่วงสงครามแห่งสิทธิพระราชมรดก (War of Devolution) ระหว่างฝรั่งเศสกับราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ปีต่อมาเกิดงานบันเทิงหลวงอันยิ่งใหญ่ (the Great Royal Entertainment) ได้ถูกจัดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการที่พระราชวังแวร์ซายส์เพื่อเฉลิมฉลองแก่นาง
แม้มาดาม เดอ มงเตสปอง จะมีคู่สมรสอยู่แล้วก่อนมาเป็นภรรยาน้อยของกษัตริย์แห่งฝรั่งเศส แต่ไม่นานหลังจากนั้น สถานะของนางในราชสำนักได้พุ่งทะยานอย่างน่าเหลือเชื่อ ทั้งได้ย้ายไปอยู่ในห้องนอน (อะพาร์ตเมนต์ในพระราชวังแวร์ซายส์) ระดับทรงเกียรติที่สุด และเป็นห้องที่เชื่อมกับห้องบรรทมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยตรง โดยเป็นห้องที่ประดับตกแต่งอย่างหรูหราปราณีตด้วยฝีมือของฟรองซัว ดอเบย์ (Francois d’Orbay) สถาปนิกมือฉมังของ ฝรั่งเศส ห้องนี้ยังมีพื้นที่ใช้สอยกว้างขวางกว่าห้องของพระราชินีอีกด้วย
พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มอบวัง Clagny ให้มาดาม เดอ มงเตสปอง วังแห่งนี้จึงกลายเป็นนิวาสสถานที่นางให้กำเนิดลูก ๆ ของพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส และเป็นทายาทโดยชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด 6 คน แต่น่าประหลาดทีเดียวที่ต่อมาเธอกลับถูกขับไล่ โดยมีตัวตั้งตัวตีเป็นภรรยาน้อยอีกคนชื่อ เดอ ฟงตองส์ (de Fontanges) สาวงามวัย 20 ปี ที่มีความสัมพันธ์กับพระเจ้าหลุยส์ฯ เพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น
หลังการจากไปของมาดาม เดอ มงเตสปอง แม่นมผู้ดูแลลูก ๆ ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กับภรรยาน้อยคนอื่น ๆ ชื่อว่า ฟรองซัวส์ ดอมีเน (Francoise d’Aubigne) หรือ มาดาม เดอ แมงเตอนง (Madame de Maintenon) แม่หม้ายที่สามีเสียชีวิต ได้กลายเป็นภรรยาน้อยคนต่อมาอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1675 หลังจากสามารถพิชิตหัวใจพระเจ้าหลุยส์ฯ ด้วยความอ่อนหวานและเสน่ห์ของนางเอง
ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากการสิ้นพระชนม์ของราชินีมาเรีย เทเรซา ใน ค.ศ. 1683 มาดาม เดอ แมงเตอนงยังเข้าพิธีสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ระหว่างวันที่ 9-10 ตุลาคม ของปีเดียวกันนั้น โดยมีประจักษ์พยานคือลูวัวร์ (Louvois) และ เดอ บงตองส์ (de Bontemps) ขุนนางผู้ใกล้ชิด เนื่องจากสถานะอันต่ำต้อยของนาง เชื่อว่าพิธีดังกล่าวถูกจัดขึ้นอย่างลับ ๆ หรืออย่างน้อยก็ไม่เคยมีการประกาศอย่างเป็นทางการจากราชสำนักฝรั่งเศสเลยในเรื่องนี้
หากว่าด้วยชีวประวัติตั้งแต่แรกเกิดของ มาดาม เดอ แมงเตอนง ถือว่านางมีเส้นทางชีวิตที่ไม่ธรรมดา เพราะว่ากันว่านางเกิดในคุกก่อนได้กลายเป็น Mistresses และภรรยาอันดับหนึ่งอีกคนของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ความพอพระทัยของกษัตริย์ฝรั่งเศสต่อแม่หม้ายผู้นี้อ้างอิงได้จากข้อความของ เจ้าหญิงพาลาไทน์ (Princess Palatine) ภรรยาคนที่สองของฟิลิปที่ 1 ดยุคแห่งออร์เลอง (Philippe I, Duke of Orleans) พระอนุชาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 นางกล่าวว่า
“ไม่ว่าครั้งใด ชัดเจนว่ากษัตริย์ไม่เคยหลงใหลผู้หญิงคนไหนมากเหมือนที่มีต่อนาง (เดอ แมงเตอนง) ค่อนข้างแปลกทีเดียวที่จะได้เห็นพวกเขาอยู่ด้วยกัน”
นอกจากภรรยาน้อยอย่างเป็นทางการที่ปรากฏชื่อ เป็นไปได้ว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ยังมีความสัมพันธ์กับสตรีคนอื่น ๆ อีก หนึ่งในข่าวลือที่อื้อฉาวทั่วพระราชวังแวร์ซายส์คือความสัมพันธ์ฉันชู้สาวของพระเจ้าหลุยส์ฯ กับน้องสะใภ้ของพระองค์เอง นั่นคือ อองเรียต แอนน์ (Henriette Anne) บุตรสาวคนเล็กของกษัตริย์ชาร์ลที่ 1 แห่งอังกฤษ และภรรยาของดยุคฟิลิปที่ 1
อาจกล่าวได้ว่าพระราชนิยมการมีภรรยาน้อย (จำนวนมาก) ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในยุคนั้นถือเป็นเรื่องปกติ แม้จะไม่เหมาะสมในหลักทางศาสนา จนทำให้พระองค์มีปัญหากับศาสนจักรในบางโอกาส แต่ข้อจำกัดต่าง ๆ ถูกลบล้างด้วยพระราชอำนาจของกษัตริย์แห่ง ฝรั่งเศส และรสนิยมของชาวฝรั่งเศสเองที่ดูเหมือนจะนิยมชมชอบนิสัยเจ้าชู้ รวมถึงความคาดหวังให้กษัตริย์เป็น “นักรัก” เพื่อแสดงถึงความเป็นชายและเชิดชูความยิ่งใหญ่ของบุรุษเพศ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของรัชสมัยหรือหลังการสมรสกับมาดาม เดอ แมงเตอนง เป็นต้นมา ด้วยความเป็นคาทอลิกผู้เคร่งครัดของนางเอง กับพระชนมายุที่มากขึ้นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 รวมถึงพระประสงค์ในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับคริสตจักรคาทอลิกพระองค์ กษัตริย์ฝรั่งเศสพระองค์นี้จึงหยุดพฤติกรรมการมีภรรยาน้อยหรือความสัมพันธ์กับเหล่า Mistresses ในช่วงบั้นปลายพระชนมายุ
อ่านเพิ่มเติม :
- พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 “สรงน้ำ 3 ครั้งทั้งชีวิต” ใช้วิธี “อาบแห้ง” แทน ?
- งานรื่นเริงและวิถีราชสำนักแวร์ซาย เครื่องมอมเมาขุนนางของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
- “กอลแบรต์” ผู้หาเงินเลี้ยงแวร์ซายส์ให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เริ่มงานตี 5 ครึ่ง-ดู 9 กระทรวง
อ้างอิง :
จักรทอง อุบลสูตรวานิช, PYMK EP44 (14 ก.ค. 2022) : หลุยส์ที่ 14 เกมหลังวังแวร์ซาย จุดเริ่มต้นของจุดจบราชวงศ์บูร์บง. (ออนไลน์)
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. (2554). ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ. 1492-1815. กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์.
Château de Versailles (Retrieved Dec 23, 2022) : Louis XIV and His women. (Online)
Philippe Erlanger, Britannica (Retrieved Dec 23, 2022) : Louis XIV king of France. (Online)
Samantha Flaum, The Vintage News (Retrieved Dec 26, 2022) : The Women in the Life of the Sun King Louis XIV. (Online)
Stew Ross, STEW ROSS (July 23, 2016) : One-Eyed Kate. (Online)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ธันวาคม 2565