งานรื่นเริงและวิถีราชสำนักแวร์ซาย เครื่องมอมเมาขุนนางของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 รับคณะทูต ณ พระราชวังแวร์ซาย (ภาพจาก Wikimedia Commons)

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louis XIV) แห่งราชวงศ์บูบง (house of Bourbon) ทรงเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสที่ครองราชย์ 72 ปี (ค.ศ. 1643-1715) ยาวนานที่สุดในบรรดากษัตริย์ยุโรปทุกพระองค์ก่อนหน้านั้น ในสมัยของพระองค์ถือเป็น “ยุคทอง” ของฝรั่งเศสในหลายด้าน ทั้งศิลปกรรม วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ภาษาฝรั่งเศสกลายเป็นภาษาทางการทูต ธรรมเนียมและมารยาทราชสำนักฝรั่งเศสกลายเป็นรูปแบบปฏิบัติที่ราชสำนักอื่น ๆ ทั่วยุโรปลอกเลียนไปใช้รวมถึงการเป็นผู้นำแฟชั่นแห่งยุคสมัยด้วย

สุริยกษัตริย์

เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พระชนมายุ 18 พรรษา ราชสำนักฝรั่งเศสจัดงานรื่นเริงแต่งกายแฟนซีสวมหน้ากาก เรียกว่า “Masque” เป็นงานเต้นรำ การแสดง และงานดนตรี กษัตริย์หนุ่มเลือกฉลองพระองค์เป็นดวงอาทิตย์ สร้างความประทับใจและได้รับการชื่มชมจากผู้ร่วมงานอย่างคับคั่ง เป็นที่พอพระทัยของพระองค์อย่างมาก ขณะนั้นความรู้เกี่ยวกับระบบสุริยจักรวาลที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางได้แพร่หลายในสังคมชาวยุโรปแล้ว ฉลองพระองค์ดวงอาทิตย์จึงเปรียบเหมือนการประกาศความยิ่งใหญ่และการเป็นจุดศูนย์กลางของสรรพสิ่ง

แนวคิดประมุขแห่งของฝรั่งเศสและศูนย์กลางอำนาจของยุโรปถูกเชื่อมโยงกับดวงอาทิตย์อย่างหนักแน่นขึ้นเรื่อย ๆ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงใช้ดวงอาทิตย์เป็นตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ และได้รับสมญานามว่า “สุริยกษัตริย์” (Sun King)

ภาพวาด พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louis XIV)

ค.ศ. 1683 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงย้ายพระราชวังหลวงจากลูฟร์ (Louve) ในกรุงปารีสไปยัง แวร์ซาย (Versailles) ซึ่งห่างออกไปนอกเมืองราว 24 กิโลเมตร แวร์ซายถูกสร้างให้เป็นพระราชวังหรูหราใหญ่โต กินพื้นที่กว่า 2,000 เอเคอร์ มีสวนขนาดใหญ่ ท้องพระโรงและห้องหับต่าง ๆ รวมกว่า 700 ห้อง แน่นอนว่าต้องประดับประดาด้วยรูปดวงอาทิตย์ สัญลักษณ์ของพระองค์ แวร์ซายยังประดับภาพจิตรกรรม งานประติมากรรม งานลายเส้น งานแกะสลัก รวมกว่าหมื่นผลงาน

งบประมาณแผ่นดินกว่า 1 ใน 5 ของฝรั่งเศสถูกนำมารังสรรค์ความอลังการของพระราชวังแวร์ซาย ยังไม่รวมค่าบำรุงและรายจ่ายสำหรับผู้รับใช้อีก 2,000-3,000 คน

เหตุผลหนึ่งของการย้ายมามาประทับที่แวร์ซายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพราะมีความกังวลถึงสวัสดิภาพของพระองค์เองตั้งแต่เหตุการณ์กบฏฟรองด์ (Froude) ช่วง ค.ศ. 1648-1653 ขณะทรงพระเยาว์แล้ว ทรงไม่วางพระทัยบรรดาขุนนางและพยายามจะลดทอนอำนาจชนชั้นสูงเหล่านี้จนไม่สามารถคุกคามพระองค์ได้อีก นโยบายแรก ๆ คือการเพิ่มตำแหน่งขุนนางให้มีจำนวนมากขึ้นแต่ลดทอนศักดิ์ศรีและอิทธิพลของพวกเขาลง

ทรงแต่งตั้งขุนนางกลุ่มใหม่จากชนชั้นกลางมาช่วยดูแลงานราชการ เรียกว่า Noble of the Robe ส่วนขุนนางเก่าแก่หรือกลุ่ม Noble of the Sword ที่สืบเชื้อสายผู้ครองแคว้นน้อยใหญ่ในฝรั่งเศสถูกเรียกตัวมารับใช้ใกล้ชิดที่พระราชวังแวร์ซายเพื่อสะดวกในการสอดส่องและควบคุมพฤติกรรมที่อาจจนำไปสู่การต่อต้านพระราชอำนาจของพระองค์นั่นเอง

แฟชั่น ความฟุ่มเฟือย และเกมการเมืองในแวร์ซาย

เมื่อขุนนางระดับสูงต้องย้ายนิวาศสถานมาอยู่ในพระราชวังแวร์ซาย พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงจัดให้มีงานรื่นเริงตลอด จุดประสงค์คือเบนความสนใจทางการเมืองให้กลายเป็นการแข่งขันเพื่อใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยของขุนนางแทน แฟชั่นและการแต่งกายถูกให้ความสำคัญสูงมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ยุโรป เพราะไม่มีขุนนางคนใดอย่างดูด้อยหรือโดดเด่นน้อยไปกว่ากันในงานเลี้ยงของพระเจ้าแผ่นดิน

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ยังมีพระราชนิยมแฟชั่นที่หรูหรา ทรงมีพระประสงค์ให้ขุนนางทั้งหลายแสดงความ “โก้หร่าน” (Spruce) ให้สมกับที่เป็นข้าแผ่นดินของพระองค์ ยิ่งมีคณะทูตจากต่างประเทศมาเข้าเฝ้า ระดับความหรูหราทางแฟชั่นการแต่งกายยิ่งถูกชูให้โอ่อ่าที่สุดเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศส จนเกิดธรรมเนียม “ชุด” สำหรับงานและโอกาสที่ต่างกันขึ้นมาในหมู่ชนชั้นสูง

ธรรมเนียมดังกล่าวนำไปสู่การประชันทางแฟชั่นการแต่งกายของขุนนาง ผู้ใดที่แต่งกายโดดเด่นและเหมาะสมถึงขั้นรับคำชมเชยจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้นั้นจะกลายเป็นที่ชื่มชมในหมู่ชนชั้นสูงด้วย แต่หากบกพร่องก็จะกลายเป็นที่ครหาในสังคมชนชั้นสูงได้เช่นกัน

เพื่อแลกกับการเป็นที่สนพระทัยของกษัตริย์ ขุนนางจำนวนไม่น้อยยอมจ่ายเงินจำนวนมากจนเป็นหนี้สินเพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องแต่งกายสูงค่า และดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อขุนนางเป็นหนี้ ต้นทุนใด ๆ ที่จะสร้างภัยคุกคามต่อพระราชอำนาจของพระองค์ย่อมมลายหายไปด้วย

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ในฉลองพระองค์อันหรูหรา (ภาพจาก Wikimedia Commons)

นอกจากการมอมเมาด้วยงานเลี้ยงและแฟชั่นแล้ว ราชสำนักแวร์ซายยังเป็นเวทีประชันปฏิภาณไหวพริบของเหล่าขุนนาง ซึ่งล้วนเป็นเรื่อเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น สิทธิ์ในการสนทนากับกษัตริย์ ต้องให้พระองค์ตรัสด้วยก่อน ผู้นั้นจึงพูดโต้ตอบได้ ขุนนางจึงต้องเสนอ (หน้า) ตัวทุกวิถีทางให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สังเกตเห็นและจดจำได้เพื่อโอกาสในการได้สนทนากับพระองค์

มีธรรมเนียมการเข้าเฝ้ายามใกล้ตื่นบรรทมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และการช่วยหยิบพระภูษา (เครื่องแต่งกาย) สำหรับฉลองพระองค์ เหล่านี้เป็นหน้าที่ของของมหาดเล็ก แต่กิจกรรมดังกล่าวกลับกลายเป็นเกมการเมืองช่วงชิงความพอพระทัยจากกษัตริย์ ขุนนางบางส่วนต้องจ่ายทรัพย์จำนวนหนึ่งเพื่อสิทธิ์ในการเข้าเฝ้ายามตื่นบรรทมด้วย สภาวการณ์เหล่านี้ทำให้ขุนนางฝรั่งเศสมัววุ่นวายอยู่กับการไขว่ขว้าโอกาสรับใช้สุริยกษัตริย์อย่างใกล้ชิดเพื่อเป็นเกียรติยศต่อวงศ์ตระกูลของพวกเขา

ขณะที่พระราชวังแวร์ซายทำหน้าทั้งเป็นที่ประทับของกษัตริย์และขุนนางชนชั้นสูง พระราชวังนี้ยังเป็นเสมือนภาพแทนความหรูหราของศิลปะแบบบาโรก (Baroque) สมบัติและวัฒนธรรมความเป็นฝรั่งเศส ความอลังการของตัวอาคารเป็นแม่สำหรับการสร้างพระราชวังและคฤหาสน์ของบรรดาสมาชิกราชวงศ์ต่าง ๆ และขุนนางทั้งในและนอกฝรั่งเศส สวน น้ำพุ ป่าไม้และลำธารภายในเขตพระราชวังล้วนส่งเสริมให้แวร์ซายเป็นเมืองสวรรค์ของผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยี่ยมเยือน

แต่การที่ราชสำนักฝรั่งเศสลงทุนกับความฟุมเฟือยสูงมาก งานเลี้ยงที่จัดขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อนทำให้ผู้คนในแวร์ซายตัดขาดจากโลกภายนอก กล่าวได้ว่า แม้แวร์ซายจะบรรลุพระประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อควบคุมพฤติกรรมขุนนางให้เป็น “สัตว์เลี้ยงในบ้าน” (Domesticated) ของพระองค์ ขณะเดียวกันมันคือกำแพงปิดกั้นชนชั้นสูงออกจากประชาชนชาวฝรั่งเศส ตัดขาดการรับรู้และตระหนักถึงความแร้นแค้นของประชาชน ก่อนกลายเป็นระเบิดเวลาที่รุนแรงในเหตุการณ์ปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์บูร์บงในเวลาต่อมา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

จักรทอง อุบลสูตรวานิช, PYMK EP44 : ‘หลุยส์ที่ 14 เกมหลังวังแวร์ซาย จุดเริ่มต้นของจุดจบราชวงศ์บูร์บง’

Kimberly Chrisman-Campbell, The Atlantic : The King of Couture How Louis XIV invented fashion as we know it

Philippe Erlanger, Britannica : Louis XIV king of France


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ตุลาคม 2565