ประวัติพระธาตุพนม ฉบับภาษาลาว

ภาพวาด พระธาตุพนม องค์เดิม
ภาพวาดพระธาตุพนมองค์เดิม ในบันทึกของฟรานซิส การ์นิเยร์ นายทหารเรือชาวฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2411

พระธาตุพนม เป็นสถาปัตยกรรมโบราณแห่งหนึ่งของลาว แต่ในปัจจุบัน ประชาชนชาวลาวไม่มีสิทธิในการครอบครองเพราะเหตุการณ์บ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป ดินแดนลาว ที่เรียกว่าภาคอีสานในปัจจุบัน ได้อยู่ภายใต้การครอบครองของพระราชอาณาจักรไทย

ถึงอย่างไรก็ตาม ชาวลาวในพระราชอาณาจักรลาวปัจจุบันก็ยังมีส่วนไปร่วมงานบุญเฉลิมฉลององค์พระธาตุพนมทุกปีมิได้ขาด

พระธาตุพนมตั้งอยู่เมืองธาตุพนม แขวงนครพนม ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง (ปัจจุบันคือ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ผู้แปล) ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับปากเซบั้งไฟทางพระราชอาณาจักรลาว (ปัจจุบันคือ ปากน้ำเซบั้งไฟ แขวงคำม่วน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้แปล)

ในสมัยโบราณเมื่อครั้งที่ลาวยังเป็นเจ้าขององค์พระธาตุพนมอยู่นั้น สิทธิในการปรนนิบัติดูแลรักษาองค์พระธาตุพนมเป็นหน้าที่ของชาวเมืองปากเซบั้งไฟ แขวงคำม่วน แต่ในปัจจุบันชาวเมืองปากเซบั้งไฟ แห่งแขวงคำม่วน ได้สูญเสียสิทธิในการทำนุบำรุงดูแลรักษาพระธาตุพนมมาเกือบร้อยปีแล้ว

เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า เรื่องราวเกี่ยวกับพระธาตุเจดีย์ที่สำคัญๆ ในดินแดนล้านช้างโบราณล้วนมีต้นเค้ามาจากนิทานที่เกี่ยวข้องกับองค์พระธาตุพนม นิทานที่เกี่ยวข้องกับองค์พระธาตุพนมนั้นมีชื่อเรียกว่า “อุรังคนิทาน” หรือ นิทาน “อุรังคธาตุ”

ประวัติพระธาตุพนม ในทางโบราณคดี (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 6-18)

ในนิทาน “อุรังคธาตุ” ได้กล่าวว่า พระมหากัสสปะแห่งประเทศอินเดียได้นำพระบรมสารีริกธาตุขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้ามาประดิษฐานไว้ที่ภูกำพร้า (บริเวณที่ตั้งองค์พระธาตุพนมในปัจจุบัน ผู้แปล) ซึ่งในขณะนั้นพระมหากัสสปะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตที่เดินทางมาจากประเทศอินเดีย เพื่อมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ ท่านได้พาคณะเดินทางมาถึงอาณาจักรแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณที่เป็นแขวงคำม่วน-แขวงสุวรรณเขต แห่งพระราชอาณาจักรลาว และบริเวณที่เป็นแขวงนครพนม-แขวงสกลนคร แห่งพระราชอาณาจักรไทย ซึ่งบริเวณพื้นที่ดังกล่าวนั้น เดิมเรียกว่า อาณาจักรศรีโคตบูรณ์หรืออาณาจักรสีโคตบอง ตามสำนวนลาว

อาณาจักรสีโคตบองนี้อาจจะมีอายุอยู่ในสมัยเดียวกันกับอาณาจักรฟูนัน แห่งประเทศเขมร เพราะคำว่าฟูนันในสำเนียงภาษาจีน เรียกว่าพนมในภาษาเขมรโบราณ ซึ่งแปลว่าเมืองแห่งภูเขาและในบริเวณแขวงคำม่วนมีโบราณสถานสมัยก่อนเขมรโบราณอยู่หลายแห่ง ชื่อเมืองท่าแขกก็ดี ชื่อเมืองนครพนมก็ดี ล้วนแต่เป็นชื่อที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศอินเดียและอาณาจักรฟูนันทั้งนั้น

ในเมื่ออาณาจักรฟูนั้นมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 6 ถึง 12 อาณาจักรสีโคตบองก็คงจะมีอายุอยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้นด้วย ทั้งนี้ได้มีการค้นพบศิลปะรูปเคารพ โดยเฉพาะพระพุทธรูปที่มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 11 ถึง 12 อยู่หลายองค์ในบริเวณสองฟากฝั่งแม่น้ำโขง เมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้พบพระพุทธรูปสกุลช่างศิลปะสมัยสีโคตบองที่ท่าลาด และที่บริเวณปากแม่น้ำเหือง ซึ่งอยู่ภายในพระราชอาณาจักรลาว

ดังนั้น จึงพอที่จะกล่าวได้ว่า เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อครั้งพระมหากัสสปะเถระชาวอินเดีย (ไม่ใช่พระมหากัสสปะครั้งสมัยพุทธกาล) ได้เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาในอาณาจักรสีโคตบองระหว่างพุทธศตวรรษที่ 6-7 ท่านได้นำพระพุทธสารีริกธาตุขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้ามาด้วย และได้ชักชวนเจ้าผู้ครองนครต่างๆ ให้ร่วมกันก่อสร้างพระเจดีย์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระพุทธเจ้าไว้บริเวณที่ดังกล่าว โดยสร้างเป็นพระเจดีย์สูงเพียงชั้นเดียวก่อนเท่านั้น

ในนิทานอุรังคธาตุได้กล่าวไว้ว่า มีพระยาจากเมืองทั้ง 5 ได้พาไพร่พลมาร่วมกันก่อสร้างพระธาตุพนม เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนที่เป็นกระดูกหน้าอก (กระดูกหน้าอกในที่นี้ คือส่วนที่เรียกว่า “อุรังคธาตุ” ผู้แปล) ของพระพุทธเจ้าพระยาทั้ง 5 นั้น คือ

1. พระยานันทะเสน เจ้าผู้ครองเมืองสีโคตบอง (อยู่ห่างจากปากเซบั้งไฟไปประมาณ 15 กิโลเมตร)

2. พระยาสุวรรณภิงคาร เจ้าผู้ครองเมืองหนองหานหลวง (สกลนคร)

3. พระยาคำแดง เจ้าผู้ครองเมืองหนองหานน้อย (กุมภวาปี) (ปัจจุบันกุมภวาปีเป็นอำเภอหนึ่งอยู่ในเขตจังหวัดอุดรธานี ผู้แปล)

4. พระยาอินทปัฐ เจ้าผู้ครองเมืองอินทปัฐถะ (กัมพูชา)

5. พระยาจุลณีพรหมทัต เจ้าผู้ครองเมืองปะกัน (เมืองเชียงขวาง หรือสิบสองจุไท)

ครั้นถึงรัชกาลของ พระเจ้าสุมินทะราชราชาธิราช แห่งอาณาจักรสีโคตบอง (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11) พระองค์ได้รับคำแนะนำจากพระเถระที่เดินทางมาจากอินเดีย และพระเถระในประเทศของพระองค์เอง พระองค์จึงได้สร้างต่อเติมพระธาตุพนมขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง

เทคนิคในการก่อสร้างได้ถ่ายแบบมาจากศิลปกรรมอันธะระยุคหลังของอินเดียใต้ คือใช้แผ่นอิฐดินเผาขนาดใหญ่เรียงซ้อนกันไม่ได้เรียงให้เหลื่อมเข้าหากันอย่างที่ทำในสมัยล้านช้าง ประสานหรือเชื่อมต่อด้วยน้ำยาแบบโบราณ ซึ่งทำจากน้ำอ้อย ยางไม้ หนังสัตว์ และดินเหนียว เมื่ออิฐประสานติดกันดีแล้วจึงฝนให้เกลี้ยงเกลาและเรียบเสมอกัน

จากนั้นจึงให้ช่างแกะสลักลวดลายต่างๆ แกะสลักเป็นรูปคนรูปสัตว์ลงไป เช่น รูปควาย หมู ช้าง ละมั่งและกวาง ทั้งสองด้านของมุมพระธาตุมีภาพคนขี่ช้างและม้าสลับกันไป ทั้งด้านบนและด้านล่างกล่าวกันว่า เป็นภาพขบวนแห่พระยาสีโคตบอง ลวดลายทางด้านหลังของรูปคนนั้นสลักเป็นลายก้านขด ลายก้อนเมฆ ส่วนลายบนขอบประตูนั้นเลือนหายไป บนขอบประตูทางด้านทิศใต้ สลักเป็นรูปการเสด็จออกทรงผนวชของพระพุทธองค์ มีสิงห์ประดับอยู่สองข้างมีรูปพระพุทธเจ้าประทานบาตรแก่พระยาสีโคตบอง (น่าจะเป็นรูปพระพุทธเจ้ากำลังรับบาตรจากพระยาสีโคตบอง ผู้แปล) มีรูปเทวดาอยู่ภายในวงกลมประกอบอยู่ทั้งสองข้าง และยังมีรูปสิงห์อยู่ที่ภายนอกอีก ภาพประติมากรรมเหล่านี้ล้วนแต่มีความหมายเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ซึ่งคงจะเป็นของเดิมที่สร้างขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าสุมินทะราช

แต่ถ้าหากมาพิจารณาดูที่ขอบประตูทางด้านเหนือ จะเห็นรูปพระวิษณุทรงครุฑแวดล้อมด้วยหมู่เทวดา ซึ่งเป็นภาพประติมากรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดู เข้าใจว่าน่าจะทำขึ้นในภายหลังในสมัยที่เขมรโบราณเข้ามามีอำนาจครอบครองพระราชอาณาจักรลาวระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14 ถึง 18 พวกเขมรโบราณได้ดัดแปลงปูชนียสถานแห่งนี้ให้เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู

ประวัติพระธาตุพนม ในทางประวัติศาสตร์ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-24)

เมื่อชนชาติลาวมีอำนาจเข้าครอบครองดินแดนส่วนนี้แล้ว ในสมัยต้นๆ ยังไม่ปรากฏว่าพระธาตุพนมองค์นี้จะมีความสำคัญแต่อย่างไร จนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ 19 เจ้าผู้ครองอาณาจักรกระบองได้เอาใจใส่ทำนุบำรุงองค์พระธาตุพนม

หลักฐานที่ปรากฏชัดเจนว่า เจ้าเมืองกระบองมาทำการซ่อมปรับปรุงองค์พระธาตุพนมแห่งนี้ก็คือ ศิลาจารึกที่พบในบริเวณที่แห่งนั้น ระบุว่าเจ้าเมืองกระบองมาทำการซ่อมแซมปรับปรุงพระธาตุในปี พ.ศ. 1976 ในสมัยนั้นพระธาตุพนมยังไม่ปรากฏชื่อลือชานัก พระเจ้าแผ่นดินแห่งอาณาจักรล้านช้างจึงไม่ได้ให้ความสนใจ

จนกระทั่งถึงรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าโพธิสารราช (ราว พ.ศ. 2063-2090 ผู้แปล) หลังจากที่พระองค์ทรงประกาศให้ยกเลิกการบูชาผีฟ้าผีแถน และประกาศรับพระพุทธศาสนามาเป็นศาสนาประจำราชสำนักแทน พระองค์จึงหันมาดำเนินการส่งเสริมพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่

เจ้าหญิงเขมรซึ่งเป็นพระชายาของพระองค์ได้นำเอาเรื่องราวเกี่ยวกับพระธาตุพนมขึ้นทูลถวาย พระองค์จึงได้เสด็จลงไปเมืองกระบอง (เมืองท่าแขกเก่า) (ปัจจุบันคือบริเวณแขวงคำม่วน อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับจังหวัดนครพนม ผู้แปล) มีพระราชบัญชาให้พระยากระบองเป็นหัวหน้าคณะซ่อมแซมตกแต่งพระธาตุพนมขึ้น ส่วนพระองค์เองได้ทรงสละทรัพย์เพื่อสร้างวิหารหลังหนึ่ง ซึ่งมีหลังคาประดับด้วยแก้วทั้งมวล และได้แต่งตั้งข้าใช้ของพระองค์ผู้หนึ่งซึ่งเป็นน้องชายของข้าสะเองให้ดำรงตำแหน่งพันเฮือนหิน (พันเรือนหิน ผู้แปล) มีหน้าที่คอยบำรุงรักษาดูแลและจัดดอกไม้ธูปเทียนบูชาองค์พระธาตุพนมเป็นประจำ พร้อมด้วยบริวารอีก 3,000 คน และได้ทรงสร้างวิหารอีกหลังหนึ่งทางด้านทิศเหนือให้ชื่อว่า “วัดสอนสั่ง”

ตั้งแต่นั้นมาพระธาตุพนมก็เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ให้ปรากฏว่าเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ควรแก่การเคารพสักการบูชาของประชาชนโดยทั่วไป

จนกระทั่งถึงรัชกาลของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชที่ 1 (ราวพ.ศ. 2093-2115) ภายหลังจากที่ได้สถาปนาเวียงจันท์ขึ้นเป็นเมืองหลวงและได้สร้างพระธาตุหลวงเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์ได้เสด็จลงไปนมัสการพระธาตุต่างๆ ที่เมืองกระบอง และพระองค์ได้เสด็จไปนมัสการพระธาตุพนมด้วย กับได้มีพระบัญชาให้เสริมสร้างต่อเติมพระธาตุพนมให้สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งนับเป็นชั้นที่ 3 แล้วพระราชทานอาณาเขตที่ดินพร้อมทั้งหมู่บ้านถวายแด่องค์พระธาตุพนมอีกด้วย

ภายหลังจากที่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชที่ 1 เสด็จสวรรคตแล้ว พระธาตุพนมก็ได้รับการอุปถัมภ์ทำนุบำรุงจากเจ้าผู้ครองนครกระบองทุกๆ พระองค์ ข้อความในศิลาจารึกหลักหนึ่งได้กล่าวว่า ได้มีการซ่อมแซมต่อพระธาตุให้สูงขึ้นไปอีก เมื่อ พ.ศ. 2157 (จุลศักราช 976) ซึ่งตรงกับรัชกาลของพระเจ้าวรวงศาธรรมิกราช ซึ่งในขณะนั้นเจ้าผู้ครองนครกระบองมีนามว่าพระบัณฑิตโพธิสาร หรือ เจ้ามหานาม ซึ่งในตำนานพระธาตุโพ่นเรียกว่า พระยาแสนนคร แต่ในตำนานพระธาตุพนมเรียกว่า พระเจ้านครหลวงพิชิตธิสาราชธานีสีโคตบูรณ์หลวง เจ้านครองค์นี้ได้เปลี่ยนชื่อเมืองท่าแขก ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า “มรุกขนคร” กลับคืนเป็นชื่อเมือง “สีโคตบอง” หรือ “สีโคตบูรณ์” ดังแต่เก่า พระองค์ได้เสด็จไปซ่อมแซมพระธาตุพนม โดยก่อกำแพงล้อมรอบ ทำประตูโขลงชั้นกลางและหอไหว้พระทั้ง 4 ด้าน ตามที่ปรากฏข้อความในศิลาจารึกว่า

“ศักราชได้ 976 ปีกาบยี่ มื้อฮวง ได้ฤกษ์ 3 ตัว” ตรงกับแผ่นดินของสมเด็จพระวรวงศาธรรมิกราชเจ้าล้านช้าง

ในระหว่างรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (ราว พ.ศ. 2176-2233) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่มีความสงบสุข ตลอดระยะเวลา 57 ปี นั้นบ้านเมืองมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง พระธาตุพนมก็ได้รับการทำนุบำรุงดูแลรักษาเป็นอย่างดีดังแต่เก่า โดยมีเจ้าผู้ครองนครสีโคตบองได้ทำหน้าที่ดูแลรักษาต่างพระเนตรพระกรรณ

หลังจากสิ้นรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแล้ว บ้านเมืองก็เกิดความวุ่นวาย มีการแย่งชิงราชสมบัติกัน จนเป็นเหตุให้อาณาจักรล้านช้างที่แสนจะกว้างใหญ่ต้องแตกแยกกัน ในระหว่างนั้น ท่านพระครูยอดแก้วโพนเสม็ก (ยาคูขี้หอม)-(ท่านพระครูยอดแก้วโพนเสม็ก เป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงโด่งดังนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พระเถระพระองค์นี้นอกจากจะมีบุญญานุภาพเป็นที่น่าอัศจรรย์ในทางพุทธศาสนาแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการทำนุบำรุงประเทศชาติบ้านเมืองลาวอีกด้วย ผู้แปล) ได้พาญาติโยมอพยพออกจากเวียงจันท์เพื่อแสวงหาที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ที่พระธาตุพนมนี้เป็นเวลา 3 ปี ท่านได้พาญาติโยมทายกทายิกาทำนุบำรุปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนมด้วย

อยู่ต่อมาไม่นานท่านก็คิดว่าที่อยู่อาศัยแห่งนี้ไม่มีความปลอดภัย จึงได้พากันอพยพล่องลงไปอาศัยอยู่ที่เมืองพนมเปญประเทศเขมร ดังที่มีปรากฏเรื่องราวในพงศาวดารเมืองนครจำปาศักดิ์

ในปี พ.ศ. 2351 สมเด็จพระเจ้าอนุไชยเชษฐาธิราช ได้เสด็จลงไปบูรณะปฏิสังขรณ์สร้างต่อเติมพระธาตุพนม พร้อมทั้งยังได้จัดงานบุญเฉลิมฉลอง และได้อุทิศข้าทาสให้ทำหน้าที่บำรุงรักษาดูแลองค์พระธาตุพนม ให้เป็นไปตามประเพณีที่พระมหากษัตริย์เคยปฏิบัติกันมาแต่ก่อน พระธาตุพนมในสมัยนั้นจึงมีความสูงรวม 43 เมตร

พอถึงสมัยที่ดินแดนฟากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง (ฝั่งประเทศไทยปัจจุบัน ผู้แปล) ตกเป็นสิทธิของพระราชอาณาจักรไทยเมื่อปี พ.ศ. 2436 ตามสัญญาฝรั่งเศสกับสยาม พระธาตุพนมก็ตกเป็นสมบัติของไทยโดยสมบูรณ์

ทางราชการไทยได้ลงมือดัดแปลงพระธาตุพนมใหม่ในปี พ.ศ. 2482

ไทยนั้นรังเกียจฝีมือช่างลาว โดยเฉพาะฝีมือช่างของสมเด็จพระเจ้าอนุฯ จึงได้รื้อยอดพระธาตุพนมออกทั้งหมด และสร้างขึ้นใหม่อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้

ยอดพระธาตุพนมจึงสูงกว่าเดิม 14 เมตร ดังนั้น ความสูงของพระธาตุพนมทั้งหมดจึงรวมได้ 57 เมตร

ลักษณะพระธาตุพนม

พระธาตุพนมมีลักษณะเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุม ก่อด้วยอิฐ เชื่อมต่อด้วยน้ำยา มี 3 ชั้น ตกแต่งด้วยลวดลาย วัดโดยรอบได้ 74 เมตร สูง 57 เมตร มีลักษณะเป็นเจดีย์กึ่งวิหาร

ยอดพระธาตุเดิมเป็นแบบดวงปลี (ปลียอดเจดีย์ ผู้แปล) ตามแบบของศิลปะลาวแท้

ต่อมาช่างไทยได้ทำขึ้นใหม่ รูปร่างจึงเปลี่ยนไปเล็กน้อย และทำลวดลายเป็นลายเครือดอกไม้ก้านแย่ง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความเรื่อง “ประวัติพระธาตุพนม” ที่ สมชาติ มณีโชติ นำมาแปลเป็นภาษาไทยนี้ต้นฉบับเดิมเป็นภาษาลาว ตีพิมพ์รวมเล่มอยู่ในหนังสือชื่อ “ประวัติพระธาตุเจดีย์-สำคัญ และพระครูยอดแก้วโพนเสม็ก” ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2517 โดยกระทรวงธรรมการแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ตุลาคม 2565