ความหมายของ “ตัวมอม” สัตว์ในจินตนาการ สู่ตำนานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งล้านนา

ตัวมอม มอม สัตว์หิมพานต์ ประติมากรรม ศิลปะ ล้านนา
"มอม" ภาพจากบทความ “สิงห์มอม” ไม่เคยปรากฏในวัฒนธรรมล้านนาโบราณ แล้วมาจากไหน? โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ (https://www.matichonweekly.com/culture/article_19988), มติชนสุดสัปดาห์

ตัวมอม สัตว์หิมพานต์ ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะโดดเด่น มักปรากฏคู่กับวัดและวิถีชีวิต “ล้านนา” ตัวมอมเป็นสัตว์ในจินตนาการที่ช่างหรือสล่าล้านนาใช้เรียกสัตว์ในอุดมคติที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง ปรากฏอยู่เฉพาะในคติความเชื่อของชาวบ้านและงานศิลปกรรมล้านนา กล่าวคือ มักปรากฏอยู่ในลักษณะของงานประติมากรรมประดับตามวัดทางภาคเหนือตอนบนเท่านั้น โดยเฉพาะวัดในจังหวัดเชียงใหม่ที่อดีตเป็นศูนย์กลางความรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนา

ตัวมอมมีลักษณะคล้ายคลึงกับสัตว์หลายชนิดผสมกัน ทั้ง สุนัข แมว ตุ๊กแก กิ้งก่า ลิง เสือ ฯลฯ มีแขนยาว ลำตัวยาวยืดคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน มีใบหู และสีตัวจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับฝีมือของช่าง ในงานประติมากรรมของชาวล้านนาจะปรากฏประติมากรรมรูปตัวมอมประดับอยู่บริเวณราวบันได ตามหน้าแหนบ รอยต่อคอสอง บนเครื่องหลังคา หน้าบัน ซุ้มประตูโขง ซุ้มวิหาร ซุ้มประตูทางเข้า บานประตูท้องไม้ โก่งคิ้ว ต้นเสา และบริเวณภายในของวิหาร อุโบสถ เจดีย์ อาคารอื่นภายในวัด

นอกจากนี้ ตัวมอมยังปรากฏในลักษณะของลายสักยันต์ตัวมอม บนร่างกายของผู้สูงอายุบางคนในแถบภาคเหนือ และอีสาน กล่าวคือ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยใหญ่ ไทยลื้อ ไทยเขิน นอกจากจะนิยมการสักเป็นอักขระคาถา รูปยันต์ รูปสัตว์ชนิดต่าง แล้วยังนิยมสักเป็นรูปตัวมอม ตามความเชื่อลัทธิพราหมณ์ถือว่าตัวมอมเป็นสัตว์ที่มีอิทธิฤทธิ์มาก แข็งแรง อวตารลงมาเพื่อปราบยุคเข็ญ หรือในกลุ่มไทยพวน ที่มักจะสักลายม้ามที่มีลักษณะคล้ายตัวมอม แต่ตัวจะใหญ่กว่า โดยที่ต้นขาบนสุดจะสักลายม้ามโดยรอบ จากนั้นต่ำลงมาจะเป็นสักลายนก ถัดลงมาก็จะสักรอบขา โดยแบ่งออกเป็น 6 แนว จะสักลายตัวมอม

สันนิษฐานว่า สัตว์หิมพานต์ อย่าง ตัวมอม ตามความเชื่อของกลุ่มชนเป็นชื่อเรียกสัตว์ในอุดมคติของกลุ่มชนที่นิยมการสัก โดยเชื่อว่า ตัวมอมเป็นสัตว์ของเทพชั้นสูง มีอำนาจ อิทธิฤทธิ์ อวตารลงมาเพื่อช่วยเหลือมนุษย์

มอม ตัวมอม
“มอม” ภาพจากบทความ “สิงห์มอม” ไม่เคยปรากฏในวัฒนธรรมล้านนาโบราณ แล้วมาจากไหน? โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ (https://www.matichonweekly.com/culture/article_19988), มติชนสุดสัปดาห์

ในเอกสารโบราณของ “ล้านนา” ที่เกี่ยวกับโบราณวัตถุแเละประเพณีบูชา มีการกล่าวถึงตัวมอม ในนิทานที่ว่าด้วยกำเนิดเสาอินทขีล หรือเสาหลักเมืองเชียงใหม่ (กล่าวถึงเรื่องราวก่อนที่พญามังรายจะมาตั้งเมืองเชียงใหม่ มีชาวลัวะอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งการตั้งเสาหลักเมืองอาจจะไม่ได้ปฏิบัติกันจริง เพียงแต่เป็นการสร้างวรรณกรรมหรือเรื่องราวสนับสนุนที่จะให้ชาวเมือง ชุมชน เกิดความศรัทธาเลื่อมใสต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการสร้างนิทานเกี่ยวกับเสาอินทขีลขึ้นมา) และ ตัวมอมปรากฏอยู่ในวรรณกรรมพื้นบ้านมุขปาฐะมหากาพย์ ท้าวฮุ่งท้าวเจือง ด้วยว่า

“…แต่นั้นท้าวคาดผ้า   ผืนดาย ดอกเครือ

ของแพรงมวลแม่เมือง   ประสงค์ให้

ลายเจือเกี้ยวสิงห์ มอม   เมียงม่าน

ทรงอยู่เค้าดูเข้ม   ทบเหลียว…”

ตัวมอมนั้นเป็นสัตว์ในจินตนาการที่มีลักษณะมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันตามแต่ทักษะ ประสบการณ์ และจินตนาการของช่างที่ต้องการจะสื่อสะท้อนให้เห็นถึงคติ ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ลักษณะทั่วไปของตัวมอมในศิลปกรรมล้านนามักอยู่ในท่าทางเคลื่อนไหวต่างกัน มีทั้งตั้งสง่าดั่งราชสีห์ หมอบกระโจน วิ่งวนเป็นวงกลม หยอกเล่นเป็นคู่ หรือเหาะเหิน

นอกจากนี้ยังพบประติมากรรมตัวมอม นิยมประดับอยู่ตามวัด ทั้งแบบประติมากรรมลอยตัว นูนสูง และนูนต่ำ มีการปรากฏให้เห็นในรูปของส่วนประกอบในลวดลายประดับ รูปแบบศิลปกรรมบางแห่งปรากฏรูปเทวดายืนบนหลังมอม หรือยืนเอาเท้าข้างหนึ่งเหยียบลงบนศีรษะ หรือหลังของตัวมอม ซึ่งอาจจะหมายถึงเทวดาปัชชุนนะซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งฝนตามความเชื่อในสมัยก่อน เมื่อในหมู่บ้านเกิดฝนแล้ง ชาวบ้านจะนำเอาตัวมอมที่แกะจากไม้ทาสีมารวมกัน แล้วแห่ไปรอบหมู่บ้าน โดยเชื่อว่าตัวมอมจะบันดาลให้ฝนตกได้

ประติมากรรมรูปตัวมอม เป็นพุทธศิลป์ที่มีเอกลักษณ์บอกเล่าถึงความเคารพศรัทธา คติ ความเชื่อ ที่บรรพบุรุษชาวล้านนามีต่อพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันรูปตัวมอมโบราณเกือบสูญหายหมดสิ้นแล้ว เนื่องจากการบูรณะมักมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบลักษณะของตัวประติมากรรม ประกอบกับการถูกทำลายโดยธรรมชาติและมนุษย์ ผลให้อนาคตอาจไม่เหลือรูปแบบ ลักษณะดั้งเดิมของประติมากรรมตัวมอม ปรากฏให้คนรุ่นหลังได้เห็น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารอ้างอิง :

เพ็ญสุภา สุขตะ. (มกราคม, 2560). สิงห์มอมไม่เคยปรากฏในวัฒนธรรมล้านนาโบราณ แล้วมาจากไหน?. มติชนสุดสัปดาห์, https://www.matichonweekly.com/culture/article_19988

ณัฐกาญ ธีรบวรกุล. (กันยายนธันวาคม, 2556). อิทธิพลของคติชาวบ้านล้านนาที่ปรากฏผ่านประติมากรรมรูปตัวมอมในภาคเหนือของประเทศไทย. วารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. 10(3) : 84-86.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กรกฎาคม 2562