สิงห์หน้าวัด-นาคราวบันได เอกลักษณ์งานประติมากรรมในพุทธสถานล้านนา

วัดพระสิงห์ เชียงราย สิงห์หน้าวัด-นาคราวบันได
วัดพระสิงห์ เชียงราย

สิงห์หน้าวัด-นาคราวบันได เอกลักษณ์งานประติมากรรมในพุทธสถานล้านนา

เอกลักษณ์ที่เด่นชัดของวัดทางล้านนาไทย คือหน้าประตูวัดจะนิยมปั้น “รูปสิงห์” หรือราชสีห์ ส่วนที่ราวบันไดขึ้นวิหาร โบสถ์ หรือสถานที่สำคัญอันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ จะปั้นเป็นรูปนาคเลื้อยทอดตัวลงมา ซึ่งสัตว์ทั้งสองชนิดนี้เป็นสัตว์ที่มีในเทพปกรณัม

สิงห์หน้าวัด ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะพุกาม ครั้งที่พม่าได้เข้ามาครอบครองดินแดนล้านนาไทย เป็นระยะเวลาที่ยาวนานจึงได้นำเอาความคิดตามคตินิยมของฝ่ายตนเข้ามาเผยแพร่ด้วย จากหนังสือเที่ยว เมืองพม่า พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความตอนหนึ่งว่า

Advertisement
สิงห์หน้าวัดล้านนาไทย อิทธิพลศิลปะพุกาม
สิงห์หน้าวัดล้านนาไทย อิทธิพลศิลปะพุกาม

“เค้ามูลของรูปสิงห์ซึ่งตั้งฟากทางขึ้นบันไดนั้น เดิมราชสีห์ตัวหนึ่งลักราชธิดาของพระยามหากษัตริย์ อัน มีลูกยังเป็นทารกติดไปด้วย 2 คน เอาไปเลี้ยงไว้ ครั้นลูกชายเติบใหญ่ พาแม่กับน้องหญิงหนีกลับมาอยู่ใน เมืองมนุษย์ ฝ่ายราชสีห์เที่ยวตามหา… จึงให้สร้างรูปราชสีห์ขึ้นฝากไว้กับเจดีย์สถานที่บูชา เลยเป็นประเพณีสืบมา (เป็นเค้าเดียวกับเรื่องสีหพาหุ ในหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกา)”

สิงห์หน้าวัด เป็นสิงห์ตัวผู้ (สังเกตจากขนสร้อยคอ) ช่างจะปั้นให้อยู่ในท่านั่งด้วยสองเท้าหลัง งอหางขึ้นพาดไว้กลางหลัง สองเท้าหน้าตั้งยันพื้น อ้าปากแผดสิงหนาท ขนหัวตั้งชัน บางแห่งสิงห์จะคาบสตรีไว้ในปาก เรียกว่า “สิงห์คายนาง” ซึ่งเป็นศิลปะแบบดั้งเดิมของพม่า ต่อมาก็ได้คลี่คลายมาเป็นแบบลักษณะ ของศิลปะล้านนาไทย คือมีขนาดพอเหมาะได้สัดส่วนสวยงาม ไม่สูงใหญ่เทอะทะแบบศิลปะพม่า

สิงห์คายนาง
สิงห์คายนาง

นาคราวบันไดวิหาร โบสถ์ ของล้านนาไทย จะมีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือจะมี “ตัวมังกร” หรือ “ตัวอม” เศียรนาคจะโผล่ออกจากปาก “ตัวมังกร” หรือ “ตัวอม” อีกทีหนึ่ง

ข้อนี้เป็นการแสดงปริศนาธรรมของช่างล้านนาไทยยุคโบราณได้อย่างฉลาดแยบคาย ว่ามนุษย์เราหากไม่ปล่อยปละละวาง คิดแต่ตัวกูของกูอยู่ตลอดเวลา ก็จะต้องประสบกับความทุกข์ยากลำบาก เช่นเดียวกับ “ตัวมังกร” หรือ “ตัวอม” ที่คาบเศียรนาคไว้ จะกลืนก็ไม่ได้ จะคายก็ไม่ออก ยิ่งคาบหลายเศียรก็ยิ่งลําบากมากขึ้นไปอีก

นาคราวบันได
นาคราวบันได

เหตุที่นิยมปั้นนาคเป็นราวบันได คงจะเป็นเพราะนาคมีลำตัวยาว เวลาทอดเลื้อยตัวก็ดูงดงาม ไม่ว่าบันไดนั้นจะยาวสักเพียงใด เช่น บันไดทางขึ้นสู่สถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาสูง จะปั้นรูปสัตว์ในเทพปกรณัมชนิดใดเป็นราวบันไดได้เหมาะสมและสวยงามเท่ากับนาค คงจะไม่มีแล้ว

นาคราวบันไดยุคแรกนั้น ก่อปั้นด้วยอิฐถือปู ทาสีปูนขาว ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็น ก่อ ปั้น ด้วยอิฐถือปูนแล้วปิดทอง ส่วนเกล็ดนาคทำด้วยดินเผาแล้วเคลือบ นำมาติดเรียงกันไปตลอดลำตัว ดูสวยงามมาก นาคราวบันไดมีการปั้นที่ช่างได้พลิกแพลงไปหลายแบบ เช่น ทำเป็นนาคสามเศียร, เจ็ดเศียร, นาคขด ลำตัวเป็นวงก่อนที่จะชูเศียรขึ้น

จะเห็นได้ว่า สิงห์หน้าวัด และนาคราวบันได เป็นเอกลักษณ์ของงานประติมากรรมในพุทธสถานล้านนาไทย ที่ให้ทั้งความสวยงามและคติธรรม

วัดพระสิงห์ เชียงราย สิงห์หน้าวัด-นาคราวบันได
วัดพระสิงห์ เชียงราย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563