ผู้เขียน | โชติกา นุ่นชู |
---|---|
เผยแพร่ |
ในแถบอุษาคเนย์ทั้งไทย ลาว เขมร และพม่า ต่างมีคติความเชื่อเกี่ยวกับการบูชางู โดยเฉพาะงูใหญ่อย่าง “พญานาค” ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา ซึ่งรูปร่างพญานาคตามอุดมคติของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่อาจแตกต่างกัน ในดินแดนล้านนา พญานาคมีปากคล้ายจระเข้ บ้างมีเขี้ยวยาวโค้ง เรียกกันว่า “มกรคายนาค” (อ่านว่า มะ–กะ–ระ หรือ มะ–กอน) เป็นสัตว์จินตนาการในป่าหิมพานต์
มกรเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ ลักษณะภายนอกจะผสมระหว่างจระเข้กับพญานาค กล่าวคือ มีลำตัวยาวเหยียดคล้ายพญานาค แต่มีขายื่นออกมาจากลำตัว และส่วนหัวที่คายพญานาคออกมานั้นเป็นปากจระเข้ คนโบราณจึงมักนำมกรไปเฝ้าอยู่ตามเชิงบันไดวัด และที่สำคัญคือมีคนจำนวนไม่น้อยสับสนคิดว่า “ตัวมอม” เป็นสัตว์ชนิดเดียวกับตัว “มกร” หรือ “เหรา” ที่เฝ้าอยู่ตรงราวบันไดศาสนสถานในภาคเหนือ แต่หากพิจารณาลักษณะภายนอกของมกรแล้วจะพบว่ามีลักษณะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
“มกร” มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีมาแต่โบราณว่า “เหรา” (เห–รา) เหราในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแมงดาทะเล แต่เป็นสัตว์ในจินตนาการ มีหน้าที่เฝ้าศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อาทิ พระธาตุ โบสถ์ และวิหาร ที่สื่อว่าเป็นเขาพระสุเมรุ ตามคติจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ ดังนั้น จึงต้องมีสัตว์ในป่าหิมพานต์เฝ้าอยู่เชิงเขาพระสุเมรุไม่ให้คนขึ้นไปรบกวนทวยเทพ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนสวรรค์ ส่วนคำว่ามกรนั้น เข้าใจว่าคงได้รับอิทธิพลมาจากมังกรของจีน เพราะเราเคยเห็นแต่พญานาคที่ไม่มีขา พอเห็นตัวที่มีหัวเป็นพญานาคหรือสำรอกพญานาคและมีขาด้วยก็เลยเรียกตามจีนไป
ราม วัชรประดิษฐ์ วิเคราะห์ว่า “พญานาค” เปรียบเสมือนตัวแทนของกลุ่มเมือง หรือชนเผ่าทางตอนเหนือของประเทศไทย ที่เรียกสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันว่า “โยนก” ซึ่งเมืองโยนกเชียงแสนเดิมมีพระเจ้าสิงหนวัติกุมาร ต้นตระกูลของพระเจ้าพรหมมหาราชปกครองอยู่ ก็มีตำนานเกี่ยวพันกับ “พญานาค”
กล่าวกันว่ามีพญานาคมาสร้างเมืองชื่อโยนกนาคพันธ์สิงหนวัติ หรือโยนกนาคนคร และเมื่อเมืองนี้ล่มจมหายเพราะผู้คนพากันกินปลาไหลเผือก ซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวแทนของพญานาค ส่วนสัตว์น่ากลัวเช่น “จระเข้ เหรา” จะเป็นตัวแทนของพวก “พยู” หรือพุกาม อันได้แก่พม่า ดังนั้น การที่พบศิลปะแบบมกรคายนาคในแถบดินแดนภาคเหนือนั้นพอจะอนุมานได้ว่า เป็นการแสดงออกถึงการหลุดพ้นจากอิทธิพลของงานศิลปะและการเมืองของพุกามหรือพม่า ที่ครอบงำล้านนาอยู่เป็นเวลานานกว่าสองร้อยปี
ศิลปกรรมมกรคายนาคนั้นมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย สังเกตได้จากตัวพญานาค ในสมัยราชวงศ์มังราย พญานาคมีกระบังหน้าขนาดใหญ่ สวมกรองศอ ซึ่งสืบมาจากศิลปะบายนของเขมรอีกทอดหนึ่ง ครั้นพม่าเข้ามาปกครองดินแดนล้านนา มกรคายนาคก็มีลักษณะเป็นศิลปะแบบพม่า เป็นปูนปั้นทาสีขาว และพญานาคจะทรงเครื่องแบบพม่า
มกรคายนาคยังคงยึดถือเป็นศิลปกรรมเนื่องในพุทธศาสนามาจนปัจจุบัน มกรคายนาคปรากฏอยู่ทั่วในวัดหลายแห่งทางภาคเหนือหลายแห่ง อาทิ วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดบุพพาราม จังหวัดเชียงใหม่ วัดศรีคิรินทราราม จังหวัดแพร่ วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ราม วัชรประดิษฐ์. มกรคายนาค (พญานาค). คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง. ข่าวสด
วชรธร สิมกิ่ง. (2560). มกร นาค พญาลวง. เชียงใหม่ : ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กรกฎาคม 2562