รู้จัก หัมยนต์ (หำยนต์) งานศิลปะชื่อแปลกของล้านนา

หัมยนต์ หรือ หำยนต์ ที่ ประตูวิหาร วัดพันเตา เชียงใหม่
หัมยนต์ เหนือประตูวิหารวัดพันเตา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะลายดอกพุดตานใบเทศ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, กรกฎาคม 2538)

เมื่อพูดถึงบ้านเรือนของล้านนา งานศิลปะอย่างหนึ่งที่แสดงถึงวัฒนธรรมของล้านนา ที่คนทั่วไปส่วนใหญ่รู้จักก็คือ “กาแล” เครื่องประดับไม้ที่อยู่บนยอดจั่วของอาคาร หากในวัฒนธรรมล้านนา ยังมีงานศิลปะประเภทเครื่องไม้อื่นที่น่าสนใจและสวยงามอีก เพียงแต่ไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวางเท่ากับกาแลเท่านั้นเอง งานไม้ที่ว่าคือ “หัมยนต์” (บ้างเรียก “หำยนต์”)

หัมยนต์คืออะไร?

หัมยนต์ เป็นแผ่นไม้ติดอยู่เหนือประตูห้องนอน มี 2 ลักษณะด้วยกันคือ 1. แบบทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2. แบบด้านบนเรียบ ด้านล่างโค้งเว้า ตั้งแต่ 2 โค้ง ทำให้ขอบล่างตรงกลางยื่นแหลม (ที่มีหลายโค้งก็มี) นอกจากนี้ยังมีการใช้หัมยนต์ในศาสนสถานอีกด้วย โดยจะติดใต้ขื่อเหนือทางเข้าวิหาร หรืออุโบสถ มักเป็นหัมยนต์ที่ชายด้านล่างโค้งเว้า ลักษณะคล้ายโก่งคิ้ว หรือรวงผึ้ง

หัมยนต์รูปสี่เหลี่ยม เหนือประตูห้องนอน (ภาพจาก “เรือนกาแล” สำนักพิมพ์เมืองโบราณ)

ส่วนที่มาของคำว่าหัมยนต์ และจุดมุ่งหมายของการสร้างหัมยนต์ไว้ สรุปได้ 2 แนวคิด คือ

หนึ่งนั้นหัมยนต์เป็นคําที่สันนิษฐานว่ามาจาก หมมิย+อนุต แปลว่า ส่วนยอดของ ปราสาทโล้น แต่ทั่วไปเชื่อว่าประกอบด้วยหำและยนต์ บางคนเรียก หำโยน หำ เป็นศัพท์ไทยวน (โยนก, คํามือง) แปลว่า อัณฑะ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งรวมพลังแห่งบุรุษ ยนต์ มาจากรากศัพท์สันสกฤตว่า ยันตร์ มีความหมายว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์สําหรับปกป้อง ป้องกันรักษา

หัมยนต์ตามทัศนคติของล้านนา จึงมีไว้เพื่อทําหน้าที่เป็นยันต์อันศักดิ์สิทธิ์ที่ป้องกันและขับไล่ภยันตรายต่างๆ จากภายนอก มิให้ผ่านประตูเข้าไปในตัวเรือนหรือห้องนอน เป็นการป้องกันอันตรายให้แก่ผู้ที่หลับนอนในห้องนั้น

อีกแนวคิดหนึ่งอธิบายว่า “หำยนต์” นี้ ทําเพื่อเป็นการข่มตามพิธีไสยศาสตร์ ตามคติของพุทธ ศาสนาพวกตันตระมหายาน กล่าวว่า ยันต์นี้เป็นลักษณะยันต์ 8 ทิศของ ชาวจีน เรียกกันว่า “อรหัมยันตระ” คือยันต์วิเศษหรือยันต์พระอรหันต์ ต่อมาภาษาพูดกร่อนไป จึงเรียกอย่างชาวบ้านล้านนาไทยว่า “หำยนต์” ดังจะเห็นตามพุทธสถาปัตยกรรมของชาวล้านนาไทยได้แก่ อุโบสถ วิหาร

เมื่อหัมยนต์ตามคติล้านนาทำหน้าที่เสมือนยันต์อันศักดิ์สิทธิ์ในการสร้างบ้านใหม่ จึงมีการทำหัมยนต์พร้อมกับการสร้างบ้านใหม่ ความยาวหัมยนต์หรือความกว้างของประตู ถูกกำหนดโดยวัดจากความยาวของเท้าเจ้าของบ้าน เช่น ยาวเป็น 3 หรือ 4 เท่า (บ้างก็กำหนดความยาวของหัมยนต์ตามฐานะของเจ้าบ้านก็มี)

เมื่อได้แผ่นไม้ที่ต้องการแล้ว จะนํามาทําพิธีสะเดาะเคราะห์เสียก่อน โดยการรดน้ำมนต์ลงบนไม้ ผู้กระทําคืออาจารย์ผู้มีวิชาหรือพระเถระผู้เฒ่า จากนั้นจึงนํามาผูกติดกับเสาเอกเพื่อทําพิธี “ถอน” เมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงเป็นหน้าที่ของช่าง ผู้ที่จะประดิษฐ์ลวดลายตามความต้องการของผู้เป็นเจ้าของบ้าน

พอบ้านสร้างเสร็จก็นำหัมยนต์ที่แกะสลักเสร็จเรียบร้อยไปติดเหนือประตูห้องนอนดังกล่าว ก่อนจะนําไปติดจะต้องทําพิธี “ยกขันตั้งหลวง” ซึ่งตามพิธีจะต้องมีดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู ผ้าขาว ผ้าแดง และสุราอาหาร ให้ครบถ้วนตามข้อกําหนด โดยมีปู่อาจารย์เป็นผู้ประกอบพิธีอัญเชิญเทวดาอารักษ์ให้มาปกป้องบ้านเรือน และผู้ที่อาศัยในบ้านหลังนั้น

อนึ่ง คติความเชื่อเกี่ยวกับหัมยนต์ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ป้องกันอันตราย ดังนั้น เมื่อมีการรื้อถอน หรือขายเรือนเหล่านี้ ก่อนย้ายเข้ามาหรือรื้อถอนเรือน เจ้าของบ้านใหม่จะต้องตีหัมยนต์แรงๆ (ภาษาล้านนาเรียก “บุบ” แปลว่า ทุบตี) เพื่อทำลายความขลัง

การทุบตีหัมยนต์เปรียบเสมือนการตีลูกอัณฑะวัวควายในการทำหมันในสมัยก่อน ซึ่งเป็นการทำให้หมดสมรรถภาพ การหมดความศักดิ์สิทธิ์ของหัมยนต์ก็เช่นเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สามารถ จันทร์แจ่ม. “หำยนต์ ศิลปะแปลกชื่อ”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2538.

เฉลียว ปิยะชน. เรือนกาแล. สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ตุลาคม 2552.

สารนุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เล่มที่ 14 โดยมูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กันยายน 2562