ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ไต้ฝุ่น คำนี้มาจากหลาย “ภาษา” ทั่วโลก?
ไต้ฝุ่นจากความหมายที่ราชบัณฑิตยภาบัญญัติไว้ หมายถึง ชื่อพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดในบริเวณเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันตกและอ่าวไทย มีความเร็วลมใกล้จุดศูนย์กลางพายุตั้งแต่ 119 กิโลเมตร ต่อชั่วโมงขึ้นไป
ไต้ฝุ่นเป็นคำที่ใช้แพร่หลายอย่างมาก จะเห็นว่าหลายชาติออกเสียงถึงเจ้าลมพายุนี้ในสำเนียงที่คล้าย ๆ กัน ว่าแต่ไต้ฝุ่นมีที่มาจาก ภาษา อะไร?
คาดกันว่าไต้ฝุ่นน่าจะมีที่มาจาก 4 ภาษา เสียงแรกที่นักวิชาการคิดว่าเป็นต้นตอของคำนี้คือ “ภาษาจีนกลาง” อย่างคำว่า “ไถเฟิง” (台风) โดยคำว่าไถ (台) ที่ว่า ใช้อักษรตัวเดียวกับไถจากคำว่า “ไต้หวัน” (台湾) ส่วนคำว่าเฟิง (风) แปลว่า ลม รวมกันออกมาก็หมายความว่า ลมไถ ลมใต้ หรือลมที่ชื่อว่าไถหรือใต้
ส่วนภาษาที่ 2 คือ “ภาษาจีนกวางตุ้ง” เนื่องจากหากลองเทียบกับภาษาอังกฤษที่เขียนว่า “typhoon” จะคล้ายกับคำว่า “ไถ่ฟุง” ที่คนจีนแถบกวางตุ้งและกวางสีเรียกกันเพื่อหมายถึงลมพายุดังกล่าว
นอกจากนี้ หากเทียบบริบทสมัยนั้น พื้นที่แรก ๆ ที่ต่างชาติสามารถเข้ามาทำการค้าขายในจีนได้คือ กวางตุ้ง และยังคงเป็นเช่นนั้นนานนับ 100 ปี กว่ารัฐบาลจีนจะเปิดแหล่งการค้าใหม่ในประเทศตนเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้มีหลายคนคาดว่า “ไต้ฝุ่น” น่าจะมาจาก “ภาษาจีนกวางตุ้ง”
ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้คนไม่น้อยที่ตั้งข้อสงสัยว่าไต้ฝุ่นอาจจะไม่ได้มีต้นกำเนิดทั้งในภาษาจีนกลางและจีนกวางตุ้ง แต่มาจากคำว่า “typhon” (ไท-ฟอน) ที่แปลว่า ลมหมุนหรือลมพายุในภาษากรีก หรือมาจากคำว่า “tu-fan” (ตู-ฟาน) ซึ่งแปลว่าควันในภาษาอาหรับ
อ่านเพิ่มเติม :
- “เสี่ย” คำเรียกแทนชายฐานะดีมีระดับที่มีประวัติยาวนานก่อนคริสต์ศักราช!
- “โอเลี้ยง” กาแฟขวัญใจคนไทย มีที่มาจากไหน แตกต่างอย่างไรจาก “โอยั๊วะ-โกปี๊”?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
วรศักดิ์ มหัทธโนบล. “คำจีนสยาม : ไต้ฝุ่น.” มติชนสุดสัปดาห์ 25, ฉ. 1,303 (กันยายน
2548): 39.
http://legacy.orst.go.th/?knowledges=ไต้ฝุ่น-๓๑-กรกฎาคม-๒๕๕๑
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายน 2566