“โอเลี้ยง” กาแฟขวัญใจคนไทย มีที่มาจากไหน แตกต่างอย่างไรจาก “โอยั๊วะ-โกปี๊”?

คนชง โอเลี้ยง กาแฟดำ

“โอเลี้ยง” ถือเป็นเครื่องดื่มสีดำผสมคาเฟอีนที่ทำให้ผู้ลิ้มลองต้องตาตื่นทุกครั้งเมื่อยกดื่ม ด้วยรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ทั้งยังอยู่คู่คนไทยมายาวนาน จึงทำให้โอเลี้ยงเป็นที่นิยมและแพร่หลายในไทยอย่างมาก

ว่าแต่ที่มาของคำว่าโอเลี้ยงมาจากไหน แล้วเกี่ยวข้องอะไรกับคำที่ใช้เรียกกาแฟอย่าง “โอยั๊วะ” และ “โกปี๊”?

โอเลี้ยง โอยั๊วะ โกปี๊

คำว่า “โอเลี้ยง” มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว คำว่า “โอ” แปลว่า ดำ หรือสีดำ มีรากฐานจากภาษาจีนกลางอีกทีหนึ่ง นั่นคือ “อูเหลียง” หรือ “วูเหลียง” 

ส่วนคำว่า “เลี้ยง” แปลว่า อุณหภูมิต่ำ หรือเย็น ทั้งยังสามารถใช้แทนความรู้สึกท้อแท้ใจได้อีกด้วย

เมื่อนำคำว่าโอและเลี้ยงมารวมกันจึงกลายมาเป็นโอเลี้ยง หรือกาแฟสีดำเข้ม มีรสชาติขมปร่า เติมน้ำตาลหน่อยก็จะหวานกลมกล่อม ดูดทีก็เย็นชื่นใจจากน้ำแข็งที่เป็นส่วนประกอบหลักอีกอย่างหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีหลายคนสงสัยว่า “โอเลี้ยง-โอยั๊วะ-โกปี๊” ต่างกันอย่างไร ต้องบอกตรงนี้เลยว่า โอเลี้ยงนั้นคือกาแฟเย็น ตามความหมายที่ปรากฏไว้ในข้างต้น แต่โอยั๊วะ แม้มีวิธีการทำ รวมถึงลักษณะกายภาพที่คล้ายคลึงกันก็จริง แต่จะเป็นเครื่องดื่มในรูปแบบร้อน  

ส่วน “โกปี๊” ก็คือกาแฟเหมือนกัน แต่ไม่ได้มีรากศัพท์จากภาษาจีน เพราะมาจากคำว่า “คอฟฟี่” ในภาษาอังกฤษ และถูกปรับให้เป็นเสียงภาษาจีนตามที่คนใต้หรือมลายูทางภาคใต้ใช้นั่นเอง โกปี๊มีวิธีการทำที่แตกต่างจากโอเลี้ยงหรือโอยั๊วะ ที่ทั้ง 2 อย่างนี้เน้นใช้ผงกาแฟและน้ำตาลเพื่อเพิ่มความหวาน ไม่ใส่นมข้นหรือนมข้นผสมน้ำตาล ส่วนโกปี๊นั้นสามารถชงแบบไหนก็ได้ 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วรศักดิ์ มหัทธโนบล. “คำจีนสยาม : โอเลี้ยง.” มติชนสุดสัปดาห์ 25, ฉ. 1,302 (สิงหาคม
2548): 39.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 สิงหาคม 2566