“เกณฑ์ทหาร” แบบสมัยใหม่ เกิดขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อไหร่ แล้ว “ไทย” เริ่มเกณฑ์ทหารแบบนี้ตอนไหน

เกณฑ์ทหารแบบสมัยใหม่ เกณฑ์ทหาร ใบดำ ใบแดง กองทัพไทย
พระสงฆ์ลุ้นจับใบดำ-ใบแดง ในการเกณฑ์ทหารประจำ พ.ศ. 2567 (ภาพ : มติชน https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1434661)

“เกณฑ์ทหาร” เป็นประเด็นร้อนในหลายสังคมทั่วโลก ที่หยิบยกขึ้นมาพูดถึงเมื่อไหร่ก็ก่อให้เกิดข้อถกเถียงได้แทบทุกครั้ง แล้ว “เกณฑ์ทหารแบบสมัยใหม่” เกิดขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อไหร่ ประเทศไทยเริ่มเกณฑ์ทหารแบบนี้ตอนไหน

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง บอกไว้ตอนหนึ่งในหนังสือ “Transform or Die : ปฏิรูปกองทัพไทย” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า

เกณฑ์ทหาร เป็นประเด็นสำคัญในยุทธศาสตร์ทหาร ซึ่งจุดเริ่มต้นของระบบ เกณฑ์ทหารแบบสมัยใหม่ เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1793 (พ.ศ. 2336 สมัยรัชกาลที่ 1) ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองของการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1789

ผู้นำการปฏิวัติฝรั่งเศสเชื่อว่า ความมั่นคงของการปฏิวัติจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อจะต้องขยายการปฏิวัติเช่นนี้ออกไปให้ทั่วยุโรป ซึ่งการกระทำเช่นนี้คือการประกาศสงครามกับราชสำนักต่างๆ ของยุโรปนั่นเอง

แนวคิดนี้ทำให้รัฐปฏิวัติของฝรั่งเศสกระโจนเข้าสู่สงครามใหญ่กับบรรดากษัตริย์ในยุโรป หรือที่เรียกว่า “สงครามของสัมพันธมิตรครั้งแรก” (War of the First Coalition ค.ศ. 1792-1797) ซึ่งระหว่างนั้นใน ค.ศ. 1792 ก็เป็นช่วงที่เกิด “การปฏิวัติครั้งที่ 2” ขึ้น ทำให้รัฐสภาปฏิวัติฝรั่งเศสต้องสร้างความมั่นคง จึงจำเป็นต้องเรียกระดมพล นำสู่การออก “กฤษฎีกาเกณฑ์กำลังพล” ในเวลาต่อมา

อาจารย์สุรชาติ บอกว่า ลักษณะการเรียกระดมพลเช่นนี้เป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะมีความเบ็ดเสร็จ ทำให้เกิดสภาพการระดมพลอย่างสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชายที่อายุ 18-25 ปี จะมีพันธะที่จะถูกรัฐเรียกเข้ารับราชการทหารอย่างไม่จำแนก ต่างจากระบบเก่าในยุคศักดินา

เมื่อเริ่มใช้การเรียกระดมพลดังกล่าว ก็ทำให้กองทัพของรัฐปฏิวัติฝรั่งเศสขยายกำลังพลได้มากถึง 500,000 นาย ในช่วงปลาย ค.ศ. 1793

“การเกณฑ์ทหารซึ่งมีจำนวนกำลังมากเช่นนี้ได้เป็นเพราะบุคคลยอมรับถึงความผูกพันต่อรัฐในฐานะของการเป็นพลเมือง โดยยอมรับว่าพลเมืองมีหน้าที่ต้องเข้ารับราชการทหาร สถานะใหม่ในทางการเมืองจึงเป็นเรื่องของ ‘ความเป็นพลเมือง’ (citizenship) ไม่ใช่ไพร่ที่อยู่ภายใต้รัฐศักดินาแบบเก่า” อาจารย์สุรชาติ ระบุในหนังสือ

ประเทศไทย “เกณฑ์ทหารแบบสมัยใหม่” เมื่อไหร่?

เรื่องนี้ ธนัย เกตวงกต นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ให้ข้อมูลไว้ในรายงานการศึกษา “ประวัติศาสตร์การเกณฑ์ทหารในสังคมไทย” ว่า

รัฐไทยในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องเผชิญความไม่สงบหลายครั้ง อาทิ การปราบฮ่อ กบฏผีบุญ ผู้ร้ายที่ก่อการจลาจลในมณฑลพายัพ ซึ่งการปราบปรามความไม่สงบจำเป็นต้องใช้ทหารที่มีการฝึกฝนและใช้อาวุธสมัยใหม่ ขณะเดียวกัน ก็ต้องเผชิญกับลัทธิล่าอาณานิคม โดยเฉพาะอังกฤษที่หลังจากได้อินเดียแล้วก็บุกเข้าพม่า รวมทั้งฝรั่งเศสที่รุกมาทางตะวันออกของไทย

ประกอบกับยุคนั้นมีการส่งเจ้านายชั้นสูง เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ไปศึกษาต่อยังประเทศในยุโรป เมื่อเสด็จกลับมาก็ทรงมีบทบาทในการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย เช่น เรื่องทหาร มีการออก ข้อบังคับลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 122 (เทียบแล้วคือ พ.ศ. 2446)

ธนัย บอกว่า ข้อบังคับลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 122 ถือเป็นครั้งแรกที่พยายามใช้วิธีการเกณฑ์ทหารรูปแบบใหม่ในสังคมไทย แต่ไม่ได้ใช้ทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมทั้งหมด เพราะทดลองใช้ที่มณฑลนครราชสีมาเป็นที่แรก เมื่อทดลองใช้แล้วสำเร็จ ต่อมาจึงประกาศใช้ที่มณฑลนครสวรรค์ มณฑลพิษณุโลก และมณฑลราชบุรี

จากข้อบังคับดังกล่าว ในที่สุดก็นำสู่การประกาศใช้ พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) โดยมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นจเรทหารบก และทรงเป็นที่ปรึกษาของกรมหลวงนครไชยศรีฯ เป็นผู้เรียบเรียงขึ้น

ประเทศไทยจึงมีการ “เกณฑ์ทหาร” แบบสมัยใหม่นับแต่นั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุรชาติ บำรุงสุข. Transform or Die : ปฏิรูปกองทัพไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2566.

ธนัย เกตวงกต. “ประวัติศาสตร์การเกณฑ์ทหารในสังคมไทย”. มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท, 2560. https://library.fes.de/pdf-files/bueros/thailand/14043.pdf


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 เมษายน 2567