เกณฑ์ทหาร-ทหารเกณฑ์ ในอดีตเกณฑ์ใคร? เกณฑ์อย่างไร? เกณฑ์ทำไม?

จิตรกรรม พระเจ้าตาก และ ไพร่พล ทหาร ตีค่ายพม่า ที่ โพธิ์สามต้น
ภาพประกอบเนื้อหา - "พระเจ้าตากทรงรวบรวมไพร่พลจากหัวเมืองตะวันออก เข้าตีกองทหารพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น" จิตรกรรมฝาผนังภายในท้องพระโรงกรุงธนบุรี เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ

“เกณฑ์ทหาร-ทหารเกณฑ์” คำ 2 คำนี้มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง เพราะมีการ “เกณฑ์ทหาร” จึงมี “ทหารเกณฑ์” แล้วประเทศเราเกณฑ์ทหารกันมาอย่างไร จนถึงวันนี้การเกณฑ์ทหารมีวิวัฒนาการอย่างไร คงต้องย้อนกลับไปดูว่าการเกณฑ์ทหารในอดีตทำกันเช่นไร เรื่องนี้ “ตำนานการเกณฑ์ทหาร” พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพอธิบายไว้ ซึ่งขอคัดมานำเสนอเพียงบางส่วน

พระนิพนธ์ตอนที่คัดชื่อ “ว่าด้วยลักษณะเกณฑ์ทหารอย่างโบราณ” พิมพ์อยู่ในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.อ. เปรม รัชนิวัติ ณ ฌาปนกิจสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499  (โดยมีการจัดวรรคย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำเพื่อสะดวกในการอ่าน)


ว่าด้วยลักษณะเกณฑ์ทหารอย่างโบราณ

ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ข้างต้นในหนังสือนี้ ว่าไม่มีหนังสือเก่าเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่จะได้แสดงวิธีเกณฑ์ทหารไทยอย่างโบราณไว้ชัดเจน การที่เรียบเรียงหนังสือเรื่องนี้ ข้าพเจ้าตรวจเห็นเค้าเงื่อนอันมีอยู่ในหนังสือต่างๆ คือ พงศาวดาร กฎหมาย และทำเนียบเก่าเป็นต้น คิดเรียบเรียงขึ้นตามอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นอาจจะวิปลาสพลาดพลั้งได้ ขอบอกซ้ำสำหรับที่จะอธิบายวิธีเกณฑ์ทหารต่อไปนี้อีกครั้ง 1 อีกประการ 1 วิธีการทหารไทย ได้จัดการแก้ไข เปลี่ยนแปลงมาจามเหตุการณ์ หลายครั้งหลายคราว การอย่างใดจะได้จัดในคราวไหนเพียงใด ทราบแน่ไปกว่าในเรื่องพงศาวดารที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นไม่ได้ จำต้องรวมแสดงแต่พอแลเห็นรูปลักษณะการดังกล่าวต่อไปนี้

1) ว่าด้วยบุคคลที่ต้องเป็นทหาร

การเกณฑ์ทหารแต่โบราณกำหนดบุคคลเป็น 4 พวก คือ ไทยพวก 1 นักบวชพวก 1 คนต่างชาติพวก 1 ทาสพวก 1

บรรดาชายไทย ไม่ว่ายศศักดิ์หรือสกุลอย่างใด ต้องเป็นทหารทั้งนั้น เชื้อสายคนชาติอื่นอันเกิดในประเทศนี้นับว่าเป็นไทย แต่คนชาติไทยที่ตกเป็นทาสไม่นับว่าเป็นไทยในวิธีเกณฑ์ทหาร

นักบวชนั้น ไม่ว่าจะบวชในพระพุทธศาสนาหรือไสยศาสตร์ ยกเว้นไม่เกณฑ์ทหาร ความข้อนี้มีเรื่องกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ให้สึกพระภิกษุสามเณรออกมารับราชการ (ทหาร) แต่มีจดหมายเหตุฝรั่งแต่งไว้ในครั้งนั้นว่า

มีคนหลีกเลี่ยงราชการทหารออกบวชเป็นพระภิกษุสามเณรมากนัก สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้หลวงสรศักดิ์เป็นแม่กองพิจารณาเลือกสึกเสียเป็นอันมากดังนี้ น่าจะจริงอย่างฝรั่งว่า เพราะวิชเยนทร์เป็นคริสตัง สมเด็จพระนารายณ์เห็นจะไม่โปรดให้มีอำนาจเหนือพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา

คนต่างประเทศแต่โบราณกำหนดเป็น 3 จำพวก คือ (1) จำพวกที่ไปมาค้าขายชั่วคราว เป็นแต่เรียกใช้หรือเรียกเงินแทนแรงเป็นคราวไม่เกณฑ์เป็นทหาร (2) จำพวกที่มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ประจำในพระนคร ถ้าใครสมัครก็ยอมรับเป็นทหารอาสา (3) จำพวกลูกหลานเชื้อสายของชาวต่างประเทศอันเกิดในเมืองไทย (เช่น พวกเชื้อสายโปรตุเกศที่อยู่กุฎีจีน) เกณฑ์เหมือนกับไทย

คนที่เป็นทาสเป็นเชลยนั้น จะเป็นไทยหรือคนชาติอื่นก็ตามถือว่าเป็นคนชั้นเลวคล้ายกับปศุสัตว์ สำหรับแต่จะเป็นบ่าวไพร่จึงเป็นแต่เกณฑ์ใช้แรง ไม่ให้มีศักดิ์เป็นทหาร

2) กำหนดเวลารับราชการ

การเกณฑ์ทหาร นับว่าคนอายุ 18 ปี ถึงกำหนดจะต้องเป็นทหาร ต้องรับราชการอยู่จนอายุ 60 ปีจึงปลดปล่อย แต่ถ้ามีลูกชายเข้ารับราชการ 3 คน ก่อนพ่ออายุ 60 ปีก็ปลดปล่อยดุจกัน กำหนดเช่นกล่าวนี้ อนุโลมถึงบุคคลจำพวกซึ่งมีหน้าที่รับราชการอย่างอื่น เช่นเสียเงินแทนแรงเป็นต้น อันมิต้องเป็นทหารด้วย

การที่เข้าทะเบียนเกณฑ์นั้น เมื่ออายุยังอยู่ในระหว่าง 18 ปีไปหา 20 ปี เรียกว่าไพร่สม ให้มูลนายฝึกหัดไปก่อนยังมีต้องรับราชการ เมื่ออายุพ้น 20 ปีแล้วจึงยกขึ้นเป็นตัวทหาร เรียกว่าไพรหลวง

ไพร่หลวง มีหน้าที่ต้องมาอยู่ประจำราชการ ปีละ 6 เดือน เป็นนิจ กำหนดนี้ภายหลังลดลงมาปีละ 4 เดือน (มาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ลดลงคง แต่ปีละ 3 เดือน)

เมื่อเกิดวิธียอมให้ไพร่เสียเงินจ้างคนรับราชการแทนตัวได้ ในเวลาปรกติไพรหลวงต้องเสียค่าจ้างเดือนละ 6 บาท ทาสเพียงปีละ 6 สลึง (คือ 1 บาท กับ 50 สตางค์) เงินค่าจ้างคนแทนเช่นนี้ ชั้นแรกเห็นจะให้มูลนายจัดจ้างคนแทนจริงๆ แต่ชั้นหลังมารัฐบาลยอมรับเงินนั้นในเวลาบ้านเมืองเป็นปรกติ จึงเลยเรียกว่าค่าราชการ มีเงินอีกประเภท 1 เรียกว่าส่วย เกิดแต่รัฐบาลยอมให้ไพร่พลอันอยู่ห่างไกลแต่อยู่ในที่เกิด ส่ง [ต้นฉบับใช้ สิ่ง] ของซึ่งต้องใช้ในราชการ ยกตัวอย่างเช่นดินประสิวอันต้องการใช้ทำดินปืนเป็นต้น จึงยอมให้ไพร่พลซึ่งตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามหมู่เขาหาดินประสิวตามถ้ำมาส่งเป็นส่วยแทนตัวมารับราชการได้

มีส่วยต่างๆ ซึ่งตั้งขึ้นในครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมากมายหลายอย่าง ครั้นนานมา ก็ยอมให้ส่งเป็นเงินแทนดินประสิวได้อย่างเดียวกับค่าราชการ แต่อัตราต่ำกว่า อยู่ราวปีละ 6 บาท แต่การที่ยอมให้เสียค่าราชการและส่วย แทนรับราชการดังกล่าวมานี้ ยอมเฉพาะแต่เวลาที่บ้านเมืองเป็นปรกติ ถ้ามีการทัพจับศึกก็เกณฑ์เรียกตัวมารับราชการ

3) การควบคุมรี้พล

ลักษณะการควบคุมทหารไทยแต่โบราณ กำหนดเอาครัวเรือนเป็นชั้นต่ำเบื้องต้นของการควบคุม เป็นประเพณีมาเก่าแต่ดั้งเดิมคู่กับข้อที่เกณฑ์ไทยทุกคนให้ต้องเป็นทหาร เพราฉะนั้นจึงถือเป็นหลักว่าบิดาสังกัดอยู่กรมไหนบุตรหลายต้องอยู่กรมนั้นตามกัน การควบคุมต่อขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่ากอง หรือหลายครัวเรือนรวมกัน หลายกองรวมกันกำหนดว่าเป็นกรม

บรรดากรมนั้นมีชื่อเรียกต่างๆ กันโดยพระราชบัญญัติ เช่นเรียกว่ากรมตำรวจ และกรมฝีพายเป็นต้น เพราะกรมเป็นหลักของการทำทะเบียนหมายหมู่ผู้คน กรมจึงต้องมีเฉพาะที่ลงชื่อไว้ในทำเนียบ ถ้าและมิได้มีพระราชบัญญัติจะรวบรวมคนตั้งกรมขึ้นใหม่ไม่ได้ ความข้อนี้ยังมีอุทาหรณ์เห็นได้ในการตั้งกรมเจ้านาย ที่แท้นั้นคือประกาศพระราชบัญญัติให้ตั้งกรมทหารขึ้นใหม่ เรียกนามว่า “กรมโยธาทิพ” หรือ “กรมเทพามาตย์” เป็นต้น และโปรดให้ขึ้นอยู่ในเจ้านายพระองค์นั้นๆ

นามกรมเป็นแต่นามสำหรับเรียกกรมทหารอย่างเดียวกับเช่นเรียกว่ากรมทหารราบที่ 4 ที่ 5 ทุกวันนี้ มิใช่พระนามของเจ้านาย เพราะฉะนั้นแต่โบราณเมื่อขานนามเจ้านายต่างกรม จึงใช้คำว่า “เจ้า” นำหน้านามกรม เช่นว่า “เจ้ากรมหมื่นสุรินทรรักษ์” ดังนี้เป็นต้น หมายความว่าเป็นเจ้าของทหารกรมสุรินทรรักษ์นั้น

บรรดากรมทั้งปวง กรม 1 มีเจ้ากรมเป็นผู้บังคับการคน 1 ปลัดกรมเป็นผู้ช่วยคน 1 และสมุห์บาญชีเป็นผู้ทำบาญชีพลคน 1 และมีนายกองรองลงมา (เรียกว่าขุนหมื่น) สำหรับดูแลควบคุมไพร่พลในกรมนั้นมากบ้างน้อยบ้าง พวกขุนหมื่นมักอยู่ตามท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของไพร่พล เพราะวิธีการควบคุมคนแต่โบราณไม่ได้ใช้กำหนดท้องที่เป็นหลัก จึงไม่อาศัยกำนันผู้ใหญ่บ้านพนักงานปกครองท้องที่ ถึงไพร่พลจะไปอยู่ที่ไหนๆ ก็ต้องอยู่ในปกครองนายกองตน

นายกองเป็นผู้เรียกหาไพร่พลในเวลาต้องการตัวเข้ามารับราชการ การควบคุมคนในกรม และเกลี้ยกล่อมหาคนที่หลบเลี่ยงลอยตัวอยู่มาขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมอย่าให้จำนวนคนในกรมของตนลดน้อยถอยลงได้ แต่จำนวนที่จะกำหนดเป็นอัตราว่า กรม 1 และกอง 1 จะต้องมีคนมากน้อยเท่าใดนั้นหาปรากฏไม่

กรมทหารแต่โบราณนั้นดูเหมือนจำกำหนดเป็น 4 ชั้น คือ กรมพระ เช่นกรมตำรวจในซ้ายขวา เจ้ากรมเป็นพระมหาเทพพระมหามนตรีนี้เป็นต้น เป็นกรมชั้นที่ 1 กรมหลวง เช่นกรมตำรวจนอกขวาซ้าย เจ้ากรมเป็นหลวงราชนรินทร หลวงอินทรเดชะนี้เป็นต้น เป็นกรมชั้นที่ 2 กรมขุน เช่นกรมทนายเลือกขวาซ้าย เจ้ากรมเป็นขุนภักดีอาสา ขุนโยธาภักดีเป็นต้น เป็นกรมชั้นที่ 3 กรมหมื่น เช่นกรมหมื่นแตรขวาซ้าย เจ้ากรมเป็นหมื่นเสน่ห์ราชา หมื่นจินดาราชนี้เป็นต้น เป็นกรมชั้นที่ 4

ลักษณะที่จัดกรมชื่อเดียวกันเป็นกรมขวาและกรมซ้าย ดูเป็นทํานองเดียวกับจัดกรม 1 เป็น 2 กองพัน เพราะฉะนั้นที่เป็นกรมชั้นสูงเช่นกรมคชบาลและกรมตำรวจเป็นต้น จึงมีตำแหน่งจางวางเป็นนายพลบังคับรวมกันอีกชั้น แต่กรมชั้นต่ำนั้นไม่มีตำแหน่งจางวางทำเนียบ เห็นจะเป็นเพราะจำนวนพลน้อย หรือแต่เดิมมีแล้วเลิกเสียเพราะเหตุนั้นก็เป็นได้

ในเวลามีการทัพศึกลักษณะกะเกณฑ์รี้พลเกณฑ์เรียกเป็นกรมๆ เกณฑ์ไปหมดทั้งกรมหรือแบ่งเกณฑ์แต่ส่วนหนึ่ง ตามควรแก่เหตุการณ์ไปจัดเข้าเป็นกองทัพอีกชั้น 1 ระเบียบการควบคุมทหารอย่างโบราณ เข้าใจว่าเป็นอย่างกล่าวมานี้

4) ลักษณะจัดประเภททหาร

ทหารไทยแต่โบราณมีแต่ทหารบก ทหารเรือหามีไม่ เรือรบที่สร้างขึ้นอย่างเรือพาย ก็ใช้ทหารบกเป็นทั้งพลพายและพลรบด้วยในตัว ถ้ายกกองทัพไปทางทะเลใหญ่ก็เอาทหารบกบรรทุกเรือไปรบพุ่ง พวกเดินเรือเป็นพลเรือนไม่นับในทหาร ประเพณีในยุโรป แม้ประเทศอังกฤษ แต่เดิมที่เดียวก็มีแต่ทหารบกทำนองเดียวกัน ทหารเรือเป็นของเกิดขึ้นต่อชั้นหลัง

ทหารบกตามตำราพราหมณ์ กำหนดเป็น 4 เหล่า คือพลช้างเหล่า 1 พลม้าเหล่า 1 พลรถเหล่า 1 พลราบเหล่า 1 เรียกรวมกัน ว่าจตุรงค์เสนา ทหารไทยแต่โบราณก็จัดประเภทต่างกันเป็น 4 เหล่า คือ ทหารช้างเหล่า 1 ทหารม้าเหล่า 1 ทหารราบเหล่า 1 ทหารช่างเหล่า 1 ไม่มีทหารรถ เห็นจะเป็นเพราะมิใคร่มีที่ใช้ในการรบ และทหารปืนใหญ่นั้นรวมอยู่ในทหารราบ หาได้แยกออกเป็นเหล่าหนึ่งต่างหากไม่

กรมทหารทั้งปวงแบ่งสังกัดเป็นฝ่ายทหารพวก 1 เป็นฝ่ายพลเรือนพวก 1 กรมพวกฝ่ายทหารขึ้นอยู่ในกลาโหม รับราชการทหารซึ่งมีประจำอยู่เป็นนิจ กรมพวกฝ่ายพลเรือนขึ้นอยู่ในมหาดไทย รับราชการต่างๆ อันเป็นการพลเรือน ซึ่งมีประจำอยู่เป็นนิจ ถ้าเวลามีการศึกสงครามก็สมทบกันทั้งกรมฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน

อนึ่งกรมทหารทั้งปวงนั้น จัดเป็นทหารสำหรับรักษาพระองค์ พวก 1 คือ กรมช้างต้น กรมม้าต้น กรมตำรวจ และกรมช่างทหารใน เป็นต้น อีกพวก 1 เป็นทหารสำหรับราชการสามัญ เช่น กรมคชบาล กรมอัศวราช กรมอาสหกเหล่า และกรมช่างสิบหมู่ เป็นต้น

พนักงานบัญชาการทหารทั้งปวง (ทำนองหน้าที่เสนาธิการในบัดนี้) นั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเป็นประธาน รองลงมาก็อัครมหาเสนาบดีที่สมุหนายก กับอัครมหาเสนาบดีที่สมุหกลาโหม ในกรมมหาดไทยและกลาโหม มีเจ้าพนักงานสำหรับการต่างๆ ในกระบวนทัพเป็นหลายแผนก คือ แผนกพล มีทั้ง 2 กรม แผนกช่าง แผนกม้า แผนกทาง 3 แผนกนี้อยู่ในมหาดไทย แผนกเรือ แผนกตำหนัก (ที่สำนัก) แผนกเครื่องสรรพยุทธ 3 แผนกนี้อยู่ในกลาโหม กรมพระสุรัสวดีเป็นพนักงานทำทะเบียนบาญชีพลทั้งในกรุงและหัวเมือง

ส่วนหัวเมืองนั้นเจ้าเมืองมักเป็นนายทหารทั้งนั้น แต่ทหารเมืองชั้นในรวมการปกครองอยู่ในกองทัพราชธานี ส่วนหัวเมืองเอก โท ตรี จัดกระบวนพลเป็นกองทัพเฉพาะเมืองนั้น เจ้าเมืองเป็นนายพลผู้บัญชาการกองทัพเมืองนั้นๆ ด้วย ระเบียบกระบวนทัพในราชธานีกำหนดเป็น 3 ทัพ คือพระมหาอุปราชเป็นทัพหน้า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเป็นทัพหลวง กรมพระราชวังหลังเป็นทัพหลัง

กองทัพหัวเมือง เอก โท ตรี เป็นกองอิสระ แล้วแต่ในราชธานีจะสั่งให้ยกไปแต่โดยลำพัง หรือให้มาสมทบกองทัพราชธานี ลักษณะการทหารแต่โบราณปรากฏเค้าเงื่อนว่าจัดโดยแบบแผนดังได้แสดงมา เรียบเรียงเรื่องตำนานการเกณฑ์ทหารไทยแต่โบราณยุติความเพียงเท่านี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2562