กรมหลวงพิษณุโลกฯ ทรงทักท้วงการขอยกเว้น “เกณฑ์ทหาร” ของข้าราชพลเรือน

เจ้าฟ้าจักรพงษ์ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ รัชกาลที่ 6
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และ รัชกาลที่ 6 (ภาพต้นฉบับจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เกิดอะไรขึ้น? สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงมีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง ทักท้วงเรื่องการขอยกเว้น “เกณฑ์ทหาร” ของข้าราชพลเรือน…

ในหนังสือ “การเมืองในการทหารไทย สมัยรัชกาลที่ 6” (สนพ.มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2 มิถุนายน 2559) ของ เทพ บุญตานนท์ มีบทความหนึ่งกล่าวถึง “การยกเว้นข้าราชการจากการเกณฑ์ทหาร” สืบเนื่องจากสมัยรัชกาลที่ 6 มีการแก้ไขพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหาร พ.ศ. 2449 เรื่อง “ว่าด้วยการยกเว้นราชการทหาร” มาตราที่ 13 ได้เพิ่มกลุ่มบุคคลที่ได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์ทหาร ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพ ทนาย แพทย์ และครูเชลยศักดิ์ ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้กำหนดคุณสมบัติและจำนวนผู้ได้รับการยกเว้นไว้อย่างชัดเจน

Advertisement

นอกจากนี้มีการแก้ไขข้อกำหนด “การยกเว้นราชการทหาร” ของข้าราชการพลเรือน จากเดิมข้าราชการทุกคนที่รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินเดือนได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร แต่ข้อกําหนดใหม่กำหนดว่า การยกเว้นการเกณฑ์ทหาร เฉพาะข้าราชการที่รับเงินเดือนเบี้ยหวัดเดือนละ 20 บาทขึ้นไป

ข้อกําหนดดังกล่าวส่งผลต่อข้าราชการจํานวนมากที่แต่เดิมได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์ทหาร จําเป็นต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ในเวลาต่อมาจึงมีการขอยกเว้นการเกณฑ์ทหารเป็นกรณีพิเศษทั้งจากทางกระทรวงต้นสังกัดและจากตัวข้าราชการเอง ทั้งยังมีการหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารในลักษณะต่างๆ เป็นจํานวนมาก

จากการรวบรวมข้อมูลของผู้เขียน (เทพ บุญตานนท์) ระบุว่า

“กระทรวงวังเป็นกระทรวงที่มีการขอยกเว้นการเกณฑ์ทหารให้แก่ข้าราชการในสังกัดเป็นจํานวนมาก ใน พ.ศ. 2455 เพียงปีเดียว มีข้าราชการในสังกัดกระทรวงวังขอยกเว้นจากการเกณฑ์ทหารถึง 1,191 คน โดยแบ่งเป็นกรมมหาดเล็ก 745คน กรมพระตํารวจ 47 คน และกรมวัง 399 คน”

เป็นสาเหตุให้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ทรงมีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง ทักท้วงเรื่องการให้สิทธิแก่คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นพิเศษเพื่อหลีกเลี่ยง การเป็นทหาร

“…วิธีการเกณฑ์ทหารนั้นเรียกว่าดีต่อเมื่อเกณฑ์ ทั่วถึงจริง ไม่ใช่ให้ทางให้คนบางจําพวกหลีกเลี่ยงได้ ความสิ้นคิดจึงด้วยเปนทหาร ทั้งมีประสงค์ลบล้างการเสียประ โยชน์ของแผ่นดินต่างๆ เนื่องในการขอเว้นข้าราชการนั้น

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานยืนยันว่าความเรื่องนี้สําคัญมากสําหรับความทางราชการต่อไป ไม่ใช่เป็นส่วนของทหารโดยเฉพาะ แลถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนไปตามความเห็นของข้าพระพุทธเจ้าซึ่งกราบบังคมทูลมานี้แล้วจะมีพระเกียรติคุณว่าทรงพระมหากรุณาแก่ข้าแผ่นดินทั่วไปเสมอกัน ไม่มีความลําเอียง ข้อนี้สําคัญมาก

ในสมัยซึ่งคนกําลังจะฟรีขึ้นทุกที่นี้ ถ้ารัฐบาลแสดงได้ว่า รัฐบาลให้ความเสมอหน้ากันจริงเป็นยุติธรรมจริงอยู่เสมอ ได้ตราบใด ไม่ต้องเกรงการที่บุคลทุจริตชักจูงให้ราษฎรเดินไปหาทางที่มิชอบ ถ้ารัฐบาลให้ท่าให้บุคลทุจริตพูดได้ ว่าความเสมอหน้าไม่มี นั้นเป็นการน่ากลัวอันตรายยิ่ง

ในประเทศที่พระมหากระษัตริย์ทรงราชอํานาจเต็มที่ต้อง ให้มีแต่พระมหากระษัตริย์กับพลเมือง 2 ชั้นเท่านั้น คือ นอกจากองค์พระมหากระษัติย์แล้วความอื่นเสมอหน้ากันหมด การจึงจะทรงอยู่ได้ด้วยดี ถ้าลงปล่อยให้เกิดมีชั้นต่างๆ ขึ้นในหมู่พลเมืองแลต่างอิจฉาริศยาแย่งชิงเอาเปรียบ เสียเปรียบกันแล้ว การก็ต้องแปรผันไปทันที ดังที่ปรากฏมาแล้วในประเทศอื่นทุกประเทศ ตลอดจนประเทศเปอร์เซีย ประเทศจีน การจลาจลเกิดจากพลเมืองพวก 1 ต้องการ กดศรีษะอีกพวก 1 เท่านั้นเอง”

ทว่า ดูเหมือนว่าคํากราบบังคมทูลทักท้วงของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถจะไม่ได้รับการใส่ใจแต่อย่างใดจากกระทรวงวัง เพราะการขอยกเว้นการเกณฑ์ทหารของบรรดาข้าราชการในสังกัดไม่ได้ลดลง เพียงแต่เพิ่มมีคําอธิบายว่าคนเหล่านี้มีความสําคัญในหน้าที่ราชการที่รับผิดชอบอยู่

ตัวอย่างกรณีของพนักงานตั้งเครื่อง 4 คน ได้แก่ นายเจิม โชศิวิท, นายโป๊ะ สุวรรณจินดา, นายก๊าด วัชโรทัย และ นายตรึก ทําเรื่องขอยกเว้นจากการเกณฑ์ทหาร โดยทางกระทรวงวังแจ้งเหตุผลว่า ข้าราชการทั้ง 4 คน เป็นผู้ทํางานรับใช้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความชํานาญในหน้าที่ยากที่จะหาผู้ใดมาแทนได้ หากต้องเกณฑ์ทหารแล้วจะส่งผลกระทบต่อราชการของกระทรวงวังได้ ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชา เสนาบดีกระทรวงกลาโหมยินยอมยกเว้นตามคําขอ

นอกจากนี้การเว้นการเกณฑ์ทหารตามพระราชประสงค์ รัชกาลที่ 6 สำหรับนักเรียนโรงเรียนราชวิทยาลัย และโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในสังกัดของกระทรวงวัง ด้วยเหตุว่าทั้ง 2 โรงเรียนมีกฎระเบียบ เคร่งครัดกว่าโรงเรียนสามัญทั่วไป อีกทั้งยังมีการฝึกทหารในขั้นเบื้องต้นอยู่แล้ว นักเรียนของโรงเรียนดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนทหารที่เข้ารับราชการในปีแรก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มิถุนายน 2564