รบพม่าที่ “ปากพิง” สมรภูมิศึกอะแซหวุ่นกี้ พระเจ้าตากทรงนำทัพหลวงรบข้าศึกที่พิษณุโลก

จิตรกรรม เหตุการณ์ สมรภูมิ ปากพิง ใน ศาล สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดปากพิงตะวันตก จังหวัดพิษณุโลก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทอดพระเนตร วางแผนการรบ ที่ สมรภูมิปากพิง
จิตรกรรมเขียนขึ้นใหม่ ภาพเหตุการณ์ "สมรภูมิปากพิง" แขวนอยู่ภายในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วัดปากพิงตะวันตก จังหวัดพิษณุโลก ภาพ : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทอดพระเนตรและวางแผนการรบที่สมรภูมิปากพิง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2556)

รบพม่าที่ “ปากพิง” สมรภูมิ ศึกอะแซหวุ่นกี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงนำทัพหลวงรบข้าศึกที่พิษณุโลก

บทนํา

“อันตัวพ่อชื่อว่าพระยาตาก   ทนทุกข์ยากกู้ชาติพระศาสนา

ถวายแผ่นดินให้เป็นพุทธบูชา   แด่พระศาสดาสมณะพระพุทธโคดม

ให้ยืนยงคงถ้วนห้าพันปี   สมณะพราหมณ์ปฏิบัติให้พอสม

เจริญสมถะวิปัสสนาพ่อชื่นชม   ถวายบังคมรอยพระบาทพระศาสดา

คิดถึงพ่อพ่ออยู่คู่กับเจ้า   ชาติของเราคงอยู่คู่พระศาสนา

พุทธศาสนาอยู่ยงคู่องค์กษัตรา   พระศาสดาฝากไว้ให้คู่กัน”

ข้อความนี้ได้รับการผลิตซ้ำในฐานะ “พระราชปณิธาน” ของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น เสียสละ กล้าหาญที่สามารถขับไล่พม่า และกอบกู้เอกราชของชาติไทยได้สำเร็จ หลังจากที่ไทยต้องเสียเอกราชในสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 รวมถึงปราบชุมนุมต่าง ๆ จนแผ่นดินไทยเป็นปึกแผ่นอีกครั้งในระยะเวลาเพียง 7 เดือน

ด้วยวีรกรรมเหล่านี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงได้รับยกย่องเป็นวีรกษัตริย์ที่สำคัญของชาติ สถานที่ต่าง ๆ รวมถึงเส้นทางเดินทัพในการทำศึกขับไล่พม่า และการปราบชุมนุมต่าง ๆ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญควบคู่กับวีรกรรมของพระองค์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของพระราชประวัติซึ่งส่วนใหญ่มักนึกถึงกรุงธนบุรี เมืองตาก เมืองจันทบุรี เมืองระยอง หรือเมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น

แต่ยังมีอีกเมืองหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับพระราชประวัติของพระองค์ไม่น้อยไปกว่าเมืองอื่น ๆ แต่มักถูกมองข้าม คือ “เมืองพิษณุโลก”…

พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีความเกี่ยวข้องกับเมืองพิษณุโลกอยู่ไม่น้อย นับแต่ด้านการศึก การปกครอง ตลอดจนด้านการพระศาสนา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังเสด็จมาเมืองพิษณุโลก ใน ศึกอะแซหวุ่นกี้ อันเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญในสมัยกรุงธนบุรี ณ เมืองพิษณุโลก คือ วีรกรรม “สมรภูมิรบปากพิง”

สมรภูมิปากพิง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จฯ นำ กองทัพเรือ มาถึง ปากพิง เมืองพิษณุโลก
จิตรกรรมเขียนขึ้นใหม่ ภาพเหตุการณ์ “สมรภูมิปากพิง” แขวนอยู่ภายในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วัดปากพิงตะวันตก จังหวัดพิษณุโลก ภาพ : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จฯ นำกองทัพเรือมาถึงบ้านปากพิง เมืองพิษณุโลก (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2556)

จุดยุทธศาสตร์ “ปากพิง” วีรกรรม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ราว พ.ศ. 2318 เมื่อครั้ง ศึกอะแซหวุ่นกี้ นำกองทัพเคลื่อนมาทางด่านแม่ละเมา เมืองตาก หวังตีเมืองพิษณุโลก แล้วขยายผลเข้าตีกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ยกทัพหลวงขึ้นไปช่วยเมืองพิษณุโลก และได้ตั้งทัพหลวงที่ปากพิง

“ปากพิง” หรือ “ปากพึ่ง” คือชัยภูมิการตั้งทัพหลวงของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในการเข้าเมืองพิษณุโลก เป็นจุดเชื่อมต่อคลองพิงกับแม่น้ำน่านทางทิศใต้ของเมืองพิษณุโลก

“คลองพิง” เป็นเส้นทางน้ำสายโบราณเชื่อมระหว่างแม่น้ำน่านและแม่น้ำยม มีระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร ปากน้ำคลองพิงด้านทิศตะวันตกเชื่อมกับแม่น้ำยมบริเวณวัดกรับพวง ตำบลวังอิทก อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ชาวบ้านบริเวณลุ่มแม่น้ำยมเรียกว่า “ปากน้ำกรับพวง, ปากคลองกระพวง” ปากน้ำคลองพิงด้านทิศตะวันออกเชื่อมกับแม่น้ำน่าน ชาวบ้านบริเวณแม่น้ำน่าน เรียกว่า “ปากพิง” คลองพิงไหลผ่านบ้านกรับพวง ตำบลวังอิทก อำเภอบางระกำ และบ้านบึงขุนนนท์ บ้านปากพิงตะวันตก ตำบลงิ้วงาม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก [5]

เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะเป็นเส้นทางสัญจรเชื่อมระหว่างเมืองสำคัญในลุ่มแม่น้ำทั้ง 2 สาย คือ กลุ่มเมืองในลุ่มแม่น้ำน่าน ได้แก่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และพิจิตร และกลุ่มเมืองในลุ่มแม่น้ำยม ได้แก่ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย นอกจากเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเป็นฝ่ายรุกแล้ว ยังเป็นฐานทัพที่ใช้ในการตั้งรับที่สำคัญ เพราะเป็นการสกัดเส้นทางเพื่อตัดกำลังพล หรือกำลังเสบียงที่จะถูกส่งไปมาระหว่างพื้นที่ในลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำยม และถึงที่สุดหากเสียทีก็สามารถถอยทัพได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

ดังนั้น หากฝ่ายใดสามารถยึดครอง “คลองพิง” ไว้ได้นั้นย่อมหมายถึงการควบคุมเส้นทางสัญจรทางน้ำได้ทั้งหมด เพราะจากปากพิงหากเดินทางไปทิศเหนือตามลำน้ำน่านจะสามารถเข้าสู่เมืองพิษณุโลกได้โดยตรง แต่หากล่องกลับมาทางทิศใต้ก็สามารถไปยังพิจิตรสู่นครสวรรค์ออกแม่น้ำเจ้าพระยา แต่หากต้องการไปเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย ก็สามารถเดินทางได้โดยลัดเข้าคลองพิงออกสู่แม่น้ำยม แล้วทวนกระแสน้ำขึ้นทิศเหนือก็สามารถเดินทางไปยังเมืองในลุ่มแม่น้ำยมได้

แผนที่ คลองพิง
แผนที่คลองพิงในปัจจุบัน (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2556)

ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ยกทัพหลวงจากกรุงธนบุรีขึ้นไปช่วยเมืองพิษณุโลก จึงได้ตั้งทัพหลวงที่ปากพิง ดังปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ ดังนี้

ณ วัน 7 ฯ 7 3 ค่ำ (วันเสาร์ เดือน 3 ขึ้น 7 ค่ำ) ถึงพระตำหนักค่ายปากน้ำพึ่ง [6] ฟากตะวันออก ให้พญาราชสุภาวดียกขึ้นไปตั้งค่าย ณ บ้านบางซายรายตามริมน้ำขึ้นไป ให้เจ้าพญาอินทอะไภยขึ้นไปตั้งค่ายบ้านท้าวโรง พญาราชภักดีตั้งค่ายบ้านกระดาษ จมื่นเสมอใจราชตั้ง ณ วัดจุลามุนี ตระเวนบรรจบกัน พญาณครสวรรค์ตั้งค่ายรายชักปีกกากันแต่วัดจันโอบค่ายพม่าขึ้นไปถึงเมืองพิศนุโลกย์ แล้วให้พระศรีไกรลาดคุมไพร่ 500 ทำทางหลวงแต่พระตำหนักค่ายปากน้ำพึ่งขึ้นไปถึงเมืองพิศนุโลกย์ [7] (พระราชพงศาวดารกรุงสยามฯ)

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพมาถึง ได้ตั้งทัพหลวงอยู่ที่ปากพิงลำน้ำน่านใต้เมืองพิษณุโลก แล้วตรัสสั่งให้จัดกำลังพลอยู่ทั้งสองฟากลำน้ำน่านขึ้นไปทางทิศเหนือเป็นระยะ ๆ จนถึงเขตเมืองพิษณุโลก

ระยะที่ 1 ตั้งอยู่ที่บางทราย พระยาราชสุภาวดีเป็นนายทัพ ระยะที่ 2 ตั้งที่ท่าโรง พระยาอินทรอภัยเป็นนายทัพ ระยะที่ 3 ตั้งที่บ้านกระดาษ พระยาราชภักดีเป็นนายทัพ ระยะที่ 4 ตั้งที่วัดจุฬามณี จมื่นเสมอใจราชเป็นนายทัพ ระยะที่ 5 ตั้งที่วัดจันทร์ พระยานครสวรรค์เป็นนายทัพ เพื่อส่งเสบียง และเตรียมเข้าสมทบช่วยเหลือเหล่าทหารภายในเมืองพิษณุโลกซึ่งขณะนั้นถูกทหารพม่าล้อมเมืองไว้ ดังปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ ดังนี้

ณ วัน 4 ฯ 3 4 ค่ำ เสด็จดำเนินด้วยพระบาทขึ้นไปทางฟากตะวันออก แต่ทาวโรงถึงค่ายเจ้าพญาณครสวรรค์ ซึ่งตั้งอยู่ ณ บ้านแขกนั้น เสด็จอยู่พระที่นั่งเก้าอี้กลางหาดทราย เจ้าพญาณครสวรรค์ พระธรรมาว่ายน้ำเข้ามาเฝ้ากราบทูลว่า พม่าตั้งค่ายประชิดลง 4 ค่าย แล้วปักกรุยโอบลงมา

จึงตรัสว่ามันทำลวงอย่ากลัวมัน ตั้งรับอย่าตั้งตรงเข้าไป ให้ตั้งเรียงรายออกไป ถ้ามันตั้งตามไปให้ตั้งรายแผ่กันออกไปจงมากให้คนรักษาค่ายละ 50 คน แล้วอย่าคิดกลัวแตกกลัวเสีย มันจะตีค่ายไหนให้มันตีเข้า อันทหารแล้วองอาจอย่ากลัวตาย ตั้งใจอาสาพระรัตนตรัยและพระมหากษัตริย์ เดชะผลกตัญญนั้นจะช่วยอภิบาลรักษาก็จะหาอันตรายมิได้ ถ้าใครย่อหย่อนให้ประหารชีวิตเสีย สงครามจึงจะแก่กล้าขึ้นได้ชัยชนะ [8] (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม))

แต่เนื่องด้วยทหารพม่ามีจำนวนมากกว่า ทหารพม่าได้ตั้งค่ายประชิดจมื่นเสมอใจราชที่วัดจุฬามณี แล้วให้ทหารอีกกองหนึ่งโจมตีค่ายพระยาราชภักดี จนถึงค่ายพระยาราชสุภาวดีที่บางทราย อีกทั้งทหารพม่าได้ยกทัพใหญ่ลงมาตั้งค่ายโอบหลังค่ายทัพหลวงที่ปากน้ำพิงด้านตะวันออกอีกหลายค่าย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงถอยมาตั้งที่บางข้าวตอก เมืองพิจิตร

เหตุการณ์ในเมืองพิษณุโลกนั้น เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์พิเคราะห์เห็นทัพพม่ามีมากเกินกว่าที่จะต้านทานได้ จึงยกทัพหักด่านออกจากเมืองพิษณุโลก ไปตั้งหลักยังเมืองเพชรบูรณ์ ดังปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ ดังนี้

ณ วัน 6 ฯ 12 4 ค่ำ เจ้าพญาณะครสวรรค์บอกกราบทูลว่า พม่าตั้งโอบลงมาถึงริมน้ำแล้วข้ามไปตีค่ายวัดพริกแตก เห็นพม่าจะวกหลัง จะขอลาดทัพมาตั้งรับอยู่ฟากตะวันออก จึงดำรัสให้กองพญากลางเมือง พระโหราธิบดี พระวิชิตณรงค์ พระญาเทพ เข้ากองพญายมราช ยกไปตีพม่าซึ่งตั้ง ณ วัดพริกฟากตะวันออกนั้น ให้หลวงรักษ์มนเทียนอยู่รักษาค่ายประชิดพญากลางเมือง ณ ปากน้ำพิงฟากตะวันตก

ขณะนั้นกองทัพพม่าวกไปตั้งโอบหลังทัพหลวง แล้วแบ่งกันเข้าแหกค่ายพญายมราชได้ ในทันใดนั้น พระญายมราชขับทหารเข้าตีคืนชิงเอาค่ายได้ อยู่ประมาณ 11-12 วัน พม่าทำการติดพิษณุโลกกวดขันขึ้น ฝ่ายข้างในเมืองขาดเสบียง ทแกล้วทหารอิดโรยลงเรรวนนัก ข้างทัพหลวงนั้นก็เสียทีลาดถอยมาตั้ง ณ บางข้าวตอก ครั้นเดือน 5 ข้างขึ้น เจ้าพระญาจักรี เจ้าพระญาสุรษรี เห็นเหลือกำลังก็พาทหารฝ่ากองทัพพม่าหนีออกจากเมืองพิษณุโลก ฝ่ายกองทัพทั้งปวงก็แตกกันเป็นอลหม่าน [9] (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม))

แผนที่ การตั้งค่าย และ กองกำลัง ของ ฝ่ายไทย และ พม่า ใน สมรภูมิปากพิง
แผนที่สังเขปการตั้งค่ายและกองกำลังของฝ่ายไทยและพม่า ในสมรภูมิปากพิง (ภาพจาก หนังสือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ของพลตรีจรรยา ประชิตโรมรัน, อ้างใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2556)

จุดยุทธศาสตร์ “ปากพิง” ไม่ได้ปรากฏครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่ปรากฏว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งสมเด็จพระมหินทราธิราชลวงพระมหาธรรมราชาซึ่งปกครองเมืองพิษณุโลกในเวลานั้นว่าจะยกทัพมาช่วยทำศึกกับกรุงศรีสัตนาคนหุต แต่แท้จริงแล้วต้องการสมทบกับกรุงศรีสัตนาคนหุตเพื่อตีเมืองพิษณุโลก

ดังนั้น จึงเป็นการยืนยันได้ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชน่าจะรู้จักจุดยุทธศาสตร์ “ปากพิง” อยู่ก่อนแล้ว และพระองค์ “ตั้งใจ” ตั้งทัพหลวง รวมถึงตั้งทัพเป็นระยะ ๆ จนถึงเขตเมืองพิษณุโลก โดยที่พระองค์ “มั่นใจ” ว่าจะสามารถเอาชนะทัพพม่าและรักษาเมืองพิษณุโลกไว้ได้ เพราะอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบ แต่ด้วยจำนวนทหารพม่ามีจำนวนมากกว่า การได้เปรียบในด้านชัยภูมิจึงไม่เป็นผล

อย่างไรก็ตาม การศึกครั้งนี้ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้ก็ไม่สามารถตีเมืองพิษณุโลกได้โดยง่าย โดยต้องวางกำลังล้อมอยู่นานถึง 4 เดือน [11] จึงสามารถยึดเมืองพิษณุโลกได้ อีกทั้งยังต้องเสียไพร่พลเป็นอย่างมาก อีกสิ่งหนึ่งที่น่าจะพอเป็นการยืนยันว่าพระองค์มั่นใจในการศึกครั้งนี้ คือท้ายที่สุด เมื่อต้องเสียเมืองพิษณุโลก พระองค์เกิดความเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถรักษาเมืองพิษณุโลกไว้ได้

ดังที่บันทึกไว้ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่า “ขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระโทมนัสน้อยพระทัยแก่ข้าศึกนัก” [12] (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม))

จุดยุทธศาสตร์ปากพิงไม่ใช่เพียงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นที่รู้จักในสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือกรุงธนบุรีเท่านั้น แต่จุดยุทธศาสตร์ปากพิงยังเป็นเส้นทางสำคัญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คือเมื่อครั้งสงครามเก้าทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระบรมราชโองการให้ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ และเจ้าพระยามหาเสนายกทัพเข้าตีกองทัพพม่าที่บริเวณปากพิงให้ได้

ซึ่งผลการรบครั้งนั้นฝ่ายไทยได้รับชัยชนะ หรือในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ พระองค์ได้ตั้งพลับพลาทางชลมารคที่บ้านปากพิงก่อนจะเสด็จฯ ถึงเมืองพิษณุโลก

ด้วยพื้นที่ปากพิงเป็นเส้นทางคมนาคม และเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการรบที่สำคัญในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเหตุการณ์สมรภูมิรบปากพิงในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งเป็นวีรกรรมสำคัญของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในเมืองพิษณุโลก ชุมชนปากพิงจึงพยายามพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราช ณ วัดปากพิงตะวันตก เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง “พื้นที่” และ “พระราชประวัติของพระองค์” ในเมืองพิษณุโลก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “‘สมรภูมิปากพิง’ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับเมืองพิษณุโลก” เขียนโดย ปฐมพงษ์ สุขเล็ก ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ธันวาคม 2564