เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) แห่งก๊กพิษณุโลก ถึงแก่พิราลัยหลังเป็นกษัตริย์ได้ 7 วันจริงหรือ?

บริเวณ วัดราชบูรณะ และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (พิษณุโลก) (ภาพจากเฟซบุ๊ก : ภาพเก่าเล่าเรื่อง พิษณุโลกพิทยาคม)

เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เจ้าเมืองพิษณุโลก ถือว่าเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจและความสามารถมากคนหนึ่ง “คงเป็นเพราะเป็นผู้มีชื่อเสียงเกียรติยศดังกล่าวมานี้ จึงมีผู้นิยมนับถือมาก แม้ข้าราชการเก่าในกรุงศรีอยุธยาก็ไปเข้ากับเจ้าพระยาพิษณุโลกมากด้วยกัน” [23]

เมื่อศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาล่มสลายก็พยายามสร้างเมืองพิษณุโลกขึ้นมาเป็นศูนย์กลางอำนาจในการปกครองไพร่พลที่กำลังระส่ำระสาย พร้อมกับตั้งตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และจัดระบบการปกครองภายในรัฐตามแบบอย่างระบบศักดินา “ตั้งขุนนางขึ้นเต็มตามตำแหน่งเหมือนในกรุง” [24] แล้วบังคับบัญชาบรรดาขุนนางที่ตนตั้งขึ้น “ให้เรียกคำบัญชาสั่งของตัวว่าพระราชโองการทุกตำแหน่งไป” [25]

ในอภินิหารบรรพบุรุษกล่าวว่า “ครั้งนั้นพระเจ้าแผ่นดินเมืองพระพิศณุโลกย์ มีพระราชโองการดำรัสสั่งให้ตั้งสมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดี ซึ่งเป็นพระชนกนารถของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ สมุหนายกถือศักดินา 10000 ไร่ พระราชทานเครื่องยศเหมือนเสนาบดีในกรุง ด้วยแต่ก่อนท่านคุ้นเคยกัน เพราะเมืองพระพิศณุโลกย์เป็นหัวเมืองขึ้นในกรมมหาดไทย ท่านได้ว่ากล่าวบังคับบัญชามาแต่ก่อน ท่านได้รับตำแหน่งที่จักรีในเมืองพระพิศณุโลกย์ไม่ช้านัก ก็ทรงพระประชวร ทิวงคตในเมืองพระพิศณุโลกย์ ครั้งนั้นพระเจ้าแผ่นดินพระพิศณุโลกย์ ก็กระทำการฌาปนกิจเผาศพตามตำแหน่งยศเสนาบดี” [26]

ข้อความในอภินิหารบรรพบุรุษได้สะท้อนหลายประการ ประการแรก ในเมืองพิษณุโลกมีขุนนางจากกรุงศรีอยุธยาและไพร่พลจำนวนมากหนีสงครามขึ้นมาอยู่เมืองพิษณุโลก ประการที่ 2 เจ้าเมืองพิษณุโลกได้สร้างความสัมพันธ์และมีความสัมพันธ์อันดีกับขุนนางชั้นสูงในกรุงศรีอยุธยา

ประการที่ 3 มีการตั้งขุนนาง พระราชทานศักดินา เครื่องยศ และประกอบพิธีศพขุนนางให้สมเกียรติแบบอย่างธรรมเนียมเดิมที่กระทำในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นว่าเจ้าเมืองพิษณุโลก (เรือง) มีความพยายามสร้างอำนาจของตนและการจัดการระบบธรรมเนียมปกครองให้เท่าเทียมกับพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา

นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า การตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่ของเจ้าพระยาพิษณุโลกไม่สามารถที่จะใช้ความเป็นเจ้าเมืองพระยามหานครดำเนินการทางการเมืองได้ เพราะสถานะนี้ไม่มีความหมายนอกเขตเมืองพิษณุโลก ในขณะที่เจ้าพระยาพิษณุโลกต้องการจะมีอำนาจเหนือหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานะของตนเป็นพระมหากษัตริย์ โดยอาศัยตำแหน่งนี้เท่านั้นที่เจ้าพระยาพิษณุโลกจะมีความหมายต่อผู้นำท้องถิ่นสุโขทัย สวรรคโลก กำแพงเพชร ตาก ฯลฯ ได้ [27]

ขอบเขตอำนาจของรัฐพิษณุโลกในเบื้องต้นทางด้านตะวันออกคงต่อแดนกับล้านช้างและเมืองเพชรบูรณ์ ทางด้านใต้ถึงเมืองพิจิตร และเขตเมืองนครสวรรค์ ทางด้านตะวันตกถึงเขตเมืองสุโขทัย และทางด้านเหนือถึงเขตเมืองพิชัย

ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า หลังจากที่เจ้าพระยาพิษณุโลกประกาศตนเป็นพระมหากษัตริย์ได้ 7 วันก็บังเกิดวัณโรคขึ้นในคอถึงแก่พิราลัย [28] ส่วนสาเหตุนั้นในปฐมวงศ์กล่าวว่าเป็นเพราะไม่ได้ทำพิธีราชาภิเษกให้พราหมณ์ครอบก่อน [29] ซึ่งถือว่าเป็นการผิดธรรมเนียม และปฐมวงศ์จะพยายามอธิบายว่าเจ้าพระยาพิษณุโลกมีบุญไม่ถึงการเป็นพระมหากษัตริย์ แต่ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับภาษามคธ (ฉบับสมเด็จพระพนรัตน) กล่าวว่า “พระยาพิษณุโลกอยู่ในราชสมบัติ 6 เดือน พระชนมายุได้ 49 ปี ก็เสด็จสวรรคตไปตามยถากรรม” [30]

ผู้เขียนสันนิษฐานว่าเจ้าพระยาพิษณุโลกไม่ได้ถึงแก่พิราลัยหลังจากประกาศตนเป็นพระมหากษัตริย์ได้ 7 วันอย่างแน่นอน ความในส่วนนี้พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์น่าจะมีความน่าเชื่อถือกว่า

เนื่องจากในจดหมายเหตุจีนได้บันทึกไว้ว่า หูซื่อลู่ (พิษณุโลก) ได้มีพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้ากรุงจีน เพื่อขอให้พระองค์ยอมรับตนเป็นพระมหากษัตริย์ที่ถูกต้องของกรุงศรีอยุธยา สืบต่อจากพระมหากษัตริย์พระองค์เดิมที่สิ้นพระชนม์ในระหว่างสงคราม และได้ต่อต้านรัฐที่สถาปนาโดยเจิ้นเจ้า (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) จนเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่พระจักรพรรดิจีนไม่ยอมรับสถานะของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ของกรุงศรีอยุธยา เพราะพระองค์ยังไม่สามารถปราบปรามรัฐอิสระเล็ก ๆ ได้ [31] ซึ่งแสดงว่าเจ้าพระยาพิษณุโลกยังมีชีวิตอยู่อีกหลายเดือนหลังจากที่ประกาศตนเป็นพระมหากษัตริย์ อาจจะเป็น 6 เดือน หรือมากกว่านั้นก็ได้ และมีความพยายามที่จะติดต่อกับจีนเพื่อให้พระจักรพรรดิจีนยอมรับในสถานะของตนเองด้วย

ภายหลังที่ศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาล่มสลายแล้ว ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็มีพระยาตากรวบรวมกำลังพลขับไล่กองทัพกรุงอังวะที่เหลืออยู่บางส่วนออกไปได้ แล้วสถาปนาศูนย์อำนาจรัฐขึ้นมาใหม่ที่เมืองธนบุรี และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้มีความพยายามที่จะขยายอำนาจเพื่อรวบรวมดินแดนของกรุงศรีอยุธยาเดิมให้กลับมาอยู่ใต้ศูนย์อำนาจรัฐของพระองค์ ได้ทรงนำกำลังออกปราบปรามหัวเมืองต่าง ๆ ที่ตั้งตนเป็นอิสระตามภูมิภาคต่าง ๆ ภายหลังการล่มสลายของศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยา โดยเลือกที่จะปราบเมืองพิษณุโลกเป็นแห่งแรกในปี พ.ศ. 2311 ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่าเมืองพิษณุโลกและหัวเมืองฝ่ายเหนือมีกำลังพลอยู่มาก หากปราบปรามได้ก็จะสามารถใช้เป็นกำลังหลักในการทำสงครามขยายอำนาจของศูนย์อำนาจรัฐกรุงธนบุรีได้ [32]

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า “เสด็จยกพลนิกรดำเนินทัพ สรรพด้วยโยธาทหารใหญ่น้อยขึ้นไปปราบเมืองพิสณุโลกยถึงตำบลเกยไชย พญาพิศณุโลกยรู้ประพฤติเหตุ แต่งพลทหารให้หลวงโกษา (ยัง) ยกออกมาตั้งรับ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จนำพลทั้งปวงเข้ารณรงค์ด้วยข้าศึกครั้งนั้น ฝ่ายข้าศึกยิงปืนมาดังห่าฝน ต้องพระชงฆ์เบื้องซ้าย เลียบตัดผิวพระมังสะไป จึงให้ลาดทัพกลับยังกรุงธนบุรีย์” [33]

ความในพระราชพงศาวดารได้แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยอำนาจของเมืองพิษณุโลกก็ขยายลงไปถึงบริเวณตำบลเกยไชย ซึ่งปัจจุบันอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน เขตอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เหนือเมืองนครสวรรค์ขึ้นมาเล็กน้อย และแสดงให้เห็นถึงจำนวนกำลังพลและอาวุธของเมืองพิษณุโลกว่ามีประสิทธิภาพไม่น้อย จนทำให้กองทัพกรุงธนบุรีต้องถอยทัพกลับไป

อ่านเพิ่มเติม :


เชิงอรรถ :


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “รัฐพิษณุโลก (?) : สถานะของเมืองพิษณุโลก หลังการล่มสลายของศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2309-13)” เขียนโดย ธีระวัฒน์ แสนคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2557

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กันยายน 2564