พระยาลิไทไปอยู่ “สองแคว” อยู่ดีๆ ทำไมต้องไป?

อนุสาวรีย์ พระมหาธรรมราชาลิไท พระยาลิไท กำแพงเพชร
อนุสาวรีย์พระยาลิไท วัดพระบรมธาตุ ต.นครชุม อ. เมืองกำแพงเพชร จ. กำแพงเพชร (ภาพจาก กองบรรณาธิการข่าวสด)

“พระยาลิไท” ไปอยู่ “เมืองสองแคว” อยู่ดีๆ ทำไมต้องไป?

มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สุโขทัยในวารสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2532 อยู่เรื่องหนึ่ง คือเรื่องใครปลอมศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 โดย พ.ณ. ประมวญมารค (เชียงใหม่)

ที่ผู้เขียนสนใจ มิใช่ที่ว่าใครปลอมหรือไม่ปลอมจารึกหลักนี้ เพราะผู้เขียนยังมีความเห็นว่า จารึกหลักนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญชิ้นหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใครทำ พ่อขุนรามคำแหง หรือ พระยาลิไท หรือ พระจอมเกล้าฯ ตัวจารึกเองก็ยังคงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ มิใช่ของปลอมที่จะเขี่ยลงใต้ถุนไป (แต่ก็แน่นอนที่ผู้เขียนยังคงยืนยันที่จะไม่ยอมรับจารึกหลักนี้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้ใดจะแตะต้องวิพากษ์วิจารณ์มิได้ เหมือนดังคัมภีร์ไบเบิ้ลในยุโรปสมัยกลาง)

ประเด็นที่ผู้เขียนสนใจอยู่ในข้อความหน้า 73 ของวารสารเล่มดังกล่าวที่กล่าวว่า “พระมหาธรรมราชาลิไทยเสวยราชย์ใน พ.ศ. 1890 จากปีนั้นไป 12 ปี ถึง พ.ศ. 1902 พระยาลิไทยได้เสด็จไปประทับที่พิษณุโลก 7 ปี อย่างไปๆ มาๆ เพราะท่านได้เสด็จกำแพงเพชร (จารึกนครชุม) ศรีสัชนาลัย (จารึกวัดป่าแดง) และหล่อพระองค์ใหญ่ที่ภายหลังได้นามว่า ศรีศากยมุนีที่สุโขทัย หลังจากนั้นจึงได้เสด็จขึ้นไปไหว้พระบาทบนเขาพระบาทใหญ่ใน พ.ศ. 1902”

ที่ผู้เขียนสนใจข้อความที่ยกมากล่าวข้างต้น เป็นเพราะได้กล่าวถึงพระมหาธรรมราชาลิไทว่า ได้ไปอยู่ที่ สองแคว (พิษณุโลก) 7 ปี แล้วจึงนำพลกลับมาที่เมืองสุโขทัยมาไหว้พระบาทบนเขาสุมนกูฏ ตามที่มีข้อความจารึกไว้ในศิลาจารึกเขามสุมนกูฏของสุโขทัย

ทำไม พระยาลิไท ไปอยู่ “เมืองสองแคว” ถึง 7 ปี?

ทำไม? ต้องไปๆ มาๆ

เรื่องการไปอยู่เมืองสองแคว 7 ปีของพระมหาธรรมราชาลิไท มีความน่าสนใจอยู่ตรงที่ความต้องการคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ว่า

พระองค์ไปอยู่ เมืองสองแคว ทำไมถึง 7 ปี ในเมื่อพระองค์ก็มีเมืองสุโขทัย ซึ่งในจารึกหลักอื่นๆ ของพระองค์ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า พระองค์ได้มาด้วยกำลัง ต้องใช้ขวานประหารศัตรูขึ้นครองราชย์ รวมทั้งอ้างสิทธิความชอบธรรมของพระองค์เหนือบัลลังก์สุโขทัย เป็นทำนองว่า “เมืองนี้เป็นเมืองที่พ่อกูเคยอยู่ ปู่กูเคยครอง” ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในจารึกของพระองค์หลายหลัก พระองค์จะขึ้นครองเมืองนี้เพื่อความสุขสมบูรณ์ของอาณาประชาราษฎร์ เหมือนเช่นปู่ของพระองค์ คือพ่อขุนรามคำแหงได้เคยทำมาแล้ว

ด้วยเหตุนี้ เมืองสุโขทัย หรือราชบัลลังก์ที่สุโขทัย จึงเป็นศักดิ์ศรีของพระมหาธรรมราชาลิไท เป็นตำแหน่งของเจ้าผู้ครองแว่นแคว้นสุโขทัยทั้งมวลที่จะต้องมานั่งอยู่เหมือนดังเช่นที่เคยเป็นมาในสมัยพ่อขุนรามคำแหง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เขียนจึงต้องถามซ้ำอีกว่า เมื่อได้มาแล้ว มีความปรารถนาที่จะเป็นเหมือนเช่นพ่อขุนรามคำแหงแล้ว ทำไมจึงลุกออกจากเก้าอี้ตัวนี้ไปอยู่ที่อื่นถึง 7 ปีล่ะ? คำถามนี้ควรมีคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ที่ดีกว่าความจำเป็นที่จะต้องลุกจากเก้าอี้ตัวโปรดเพื่อไปเข้าส้วม

ความสำคัญของราชบัลลังก์ที่เมืองสุโขทัยอันมีความหมายนี้ น่าจะได้รับการตระหนักจากผู้ทรงนิพนธ์ คือ พ. ณ ประมวญมารค จึงได้ทรงกล่าวว่าพระมหาธรรมราชาลิไทที่ไปอยู่เมืองสองแคว 7 ปีนั้น มิได้ไปอยู่เลย แต่หากว่า “ทรงไปๆ มาๆ”

ไม่มีหลักฐานจากศิลาจารึก

ก่อนที่จะดำเนินเรื่องต่อไป ผู้เขียนใคร่ขอค้านสำหรับตอนนี้เป็นปฐม โดยค้านตามเงื่อนไขที่ (พ. ณ ประมวญมารค นามปากกาของหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี-กอง บก.) ทรงตั้งขึ้นว่า “ใครจะมาเถียงต้องใช้หลักฐานทางศิลาจารึกอย่างเดียว ถ้าไม่ใช่จารึกสุโขทัยจะเป็นจารึกอื่นก็ได้ แต่ต้องเป็นจารึก หลักฐานอย่างอื่นไม่รับ…”

ศิลาจารึกเรื่องพระมหาธรรมราชาลิไทไปอยู่สองแคว 7 ปีนั้น อยู่ในศิลาจารึกภูเขาสุมนกูฏ สุโขทัย จัดลำดับการพิมพ์เผยแพร่เป็นหลักที่ 8 พิมพ์ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 ฉบับพิมพ์ของคณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี 2521 สาระสำคัญมีว่า

ด้านที่ 1-2 พระมหาธรรมราชาลิไทโปรดให้จำลองรอยพระพุทธบาทจากลังกา นำขึ้นประดิษฐานบนยอดเขาลูกนี้ เมื่อ พ.ศ. 1902 เขานี้จึงชื่อเขาสุมนกูฏเหมือนอย่างในลังกา

ด้านที่ 3 จารึกชำรุดบ้างในตอนต้น พอได้ความว่าเกี่ยวกับพระพุทธบาทแล้วมีศักราชที่ชำรุดอ่านไม่ได้ว่า พ.ศ. อะไร กล่าวถึงพระมหาธรรมราชาลิไทยกพลไปปราบถึงลุ่มน้ำป่าสักได้แล้ว จึงไปอยู่สองแคว ปิดทองพระธาตุ ปลูกต้นโพธิ์ทำพนังกั้นน้ำจากสองแควถึงสุโขทัย ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และกล่าวถึงเขตแคว้นสุโขทัยทั้ง 4 ทิศ

ด้านที่ 4 ต่อจากด้านที่ 3 ว่า พระองค์เป็นผู้ชักจูงให้ผู้คนทำบุญทำทานไม่มีเว้น

เริ่มความใหม่ว่า ทรงอยู่ในสองแควได้ 7 ปี “…อยู่ในสองแควได้เจ็ดข้าว จึงนำพลมา มีทั้งสระหลวงสองแคว ปากยม…เป็นบริพาร จึงขึ้นมานบพระบาทลักษณอันตนหากประดิษฐาน แต่ก่อนเหนือจอมเขาสุมนกฎนี จึงจารจารึกอันนี้ไว้อีกโสด”

ข้อความในจารึกหลักนี้ ชัดเจนอยู่ว่า พระมหาธรรมราชาลิไทได้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏ เมื่อ พ.ศ. 1902 มิได้ระบุว่า ปีใดทรงเสด็จไปอยู่สองแคว

แต่ความตอนท้ายของจารึกที่ผู้เขียนยกขึ้นมาอ้างคำต่อคำในเครื่องหมายคำพูดนั้น มีความชัดเจนว่า ปีที่เสด็จกลับจากสองแควหลังจากไปอยู่ได้ 7 ปีนั้น รอยพระพุทธบาทได้มีประดิษฐานอยู่บนเขาสุมนกูฏแล้ว นั่นคือหลัง พ.ศ. 1902 แล้ว เมื่อพระองค์นำพลมาไหว้รอยพระพุทธบาทที่พระองค์เป็นผู้ประดิษฐานไว้นั้น จึงทรงทำข้อความเป็นจารึกเพิ่มเติมเข้าไปอีก ซึ่งความที่เพิ่มเติมในภายหลังนี้ก็ควรจะเป็นความที่ผู้เขียนยกขึ้นมาในเครื่องหมายคำพูดนั่นเอง

ดังนั้น จึงไม่มีหลักฐานที่เป็นศิลาจารึกหลักใดที่กล่าวว่า พระมหาธรรมราชาลิไทเสด็จไปอยู่เมืองสองแคว 7 ปี ในช่วง พ.ศ. 1890-1902 และเช่นเดียวกันคือ ไม่มีจารึกหลักใดที่เป็นหลักฐานว่า พระองค์ไปอยู่สองแคว 7 ปีแบบ “ไปๆ มาๆ”

จริงๆ แล้ว พระองค์ควรจะไปอยู่เมืองสองแควหลัง พ.ศ. 1902 เสียด้วยซ้ำ ดังความตอนท้ายของจารึกเขาสุมนกูฏที่ผู้เขียนยกขึ้นมาอ้างอิง ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอจบคำค้านด้วยหลักฐานที่เป็นศิลาจารึก (ซึ่งก็คือจารึกชิ้นเดียวอันเดียวกับที่ พ. ณ ประมวญมารค ทรงยกมาเป็นหลักฐาน)

ได้ความรู้จากสองนักปราชญ์

ทุกครั้งที่ผู้เขียนศึกษาเรื่องสุโขทัยไม่ว่าเรื่องหนึ่งเรื่องใด จะเกิดความคำนึงย้อนหลังไปในอดีตเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว (นับจาก พ.ศ. 2532-กอง บก.) เมื่อผู้เขียนเดินทางไปจังหวัดสุโขทัย พักที่เรือนรับรองของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ในบริเวณเมืองสุโขทัยเก่า

ครั้งนั้น ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญในการอ่านศิลาจารึก ได้ไปที่สุโขทัยและพักอยู่ที่เรือนหลังนั้น และเป็นการประจวบเหมาะอย่างที่สุดที่คราวนั้น ม.จ.จันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี หรือท่านจันทร์ เสด็จลงมาจากเชียงใหม่ และมาประทับที่เรือนหลังเดียวกัน

ในช่วงเวลาสั้นๆ ช่วงนั้นที่ผู้เขียนได้เห็นความพอใจของผู้อาวุโสทั้งสอง ที่ต่างคนต่างถกเถียงแสดงความเห็นที่แตกต่างกัน และที่อาจไปด้วยกันได้ ท่านทั้งสองต่างยกหลักฐานและเหตุผลขึ้นมาอ้างอิงอย่างมากมาย

ผู้เขียนโชคดีที่สุดในโลกเวลานั้น เพราะเป็นผู้ฟังอยู่คนเดียว และมีโอกาสไต่ถามได้ตลอดเวลา ซึ่งทั้งสองท่านต่างก็ “เปิด” หนังสือศิลาจารึกขึ้นมาชี้และอธิบายให้ผู้เขียนฟังโดยไม่ปิดบัง

ผู้เขียนได้แนวคิดบางอย่างเกี่ยวกับลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์สุโขทัยกับกรุงศรีอยุธยา จากท่านจันทร์

และสำหรับประเด็นที่ผู้เขียนนำเสนอในครั้งนี้ ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่มีการพูดคุยและโต้เถียงกันอย่างสนุกสนานของทั้งสองท่าน ว่าพระมหาธรรมราชาลิไท ควรเสด็จไปประทับที่สองแคว 7 ปีเมื่อใดกันแน่

หลักฐานที่ผู้เขียนยกขึ้นมาชี้นำในตอนต้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้อธิบาย และชี้แนะนำแก่ผู้เขียนในครั้งนั้น

เพราะมีปัญหา จึงต้องไป

ในการศึกษาหลักฐานที่เป็นจารึกของสุโขทัย ไม่ว่าจะเป็นจารึกที่พระมหาธรรมราชาลิไททรงโปรดฯ ให้จัดทำขึ้น หรือจารึกที่ผู้อื่นทำขึ้น โดยมีเนื้อความเกี่ยวข้องกับพระมหาธรรมราชาลิไทนั้น มีอยู่หลายหลักมากกว่ากษัตริย์องค์อื่นๆ ของสุโขทัยทั้งหมด

ในบรรดาจารึกทั้งหลายเหล่านี้ มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า จะกล่าวถึงบทบาทของพระมหาธรรมราชาลิไทตั้งแต่ พ.ศ. 1883 ซึ่งเป็นปีขึ้นครองเมืองศรีสัชนาลัย พ.ศ. 1890 ขึ้นครองเมืองสุโขทัย พ.ศ. 1900 ไปสร้างมหาธาตุที่กำแพงเพชร พ.ศ. 1902 บทบาทในการทำสงครามออกนอกดินแดนแคว้นสุโขทัยไปทางเหนือและตะวันออก พ.ศ. 1905 ทรงผนวช เหตุการณ์หลังจากนี้ ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพระองค์ ไม่รู้แม้ว่าเสด็จสวรรคตเมื่อไร

จากข้อสังเกตข้างต้น รวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับคุณค่าความสำคัญของราชบัลลังก์กรุงสุโขทัยดังกล่าวแล้ว ภาพการเสด็จไปอยู่สองแควถึง 7 ปี ของพระมหาธรรมราชาลิไทตามสายตาของผู้เขียน มิใช่เป็นการเสด็จไปดี หรือไปอย่างปกติธรรมดาแบบไปอยู่อย่างไปๆ มาๆ ดังที่เข้าใจกัน การเสด็จไปอยู่สองแควหลัง พ.ศ. 1902 ตามหลักฐานจารึกเขาสุมนกูฏ ควรเสด็จไปอยู่ในช่วงหลัง พ.ศ. 1905 ซึ่งเป็นปีที่ทรงผนวช ในช่วงระยะเวลาที่ขาดหายไปของจารึกที่เกี่ยวกับพระมหาธรรมราชาลิไท

เมื่อเป็นเช่นนี้ จะทำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นถึงสาเหตุของการเสด็จไปอยู่สองแคว 7 ปีของพระมหาธรรมราชาลิไท

ถ้าเปรียบเทียบกับคนคนหนึ่ง ที่เป็นคนช่างพูดช่างเจรจาอยู่จ๋อยๆ อยู่มาวันหนึ่ง เขาก็กลายเป็นคนสงบปากสงบคำเงียบเฉยเป็นเวลายาวนาน ย่อมแสดงให้เห็นว่า คนคนนั้นจะต้องมีปัญหาหรือพบกับปัญหาอะไรบางอย่าง

พระยาลิไท จำต้องสละสุโขทัย

คำอธิบายเรื่องการหายไปจากจารึกของพระมหาธรรมราชาลิไทหลัง พ.ศ. 1905 ย่อมหาไม่ได้จากหลักฐานที่เป็นจารึก แต่หลักฐานอื่น คือ หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ของพระรัตนปัญญาเถระแห่งล้านนา ซึ่งได้ประพันธ์ขึ้นเมื่อตอนกลางของพุทธศตวรรษที่ 21 หลังสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไทประมาณ 100 ปีเศษนั้น มีเรื่องอยู่ตอนหนึ่งที่น่าจะนำมาเป็นหลักฐานใช้อธิบายเรื่องนี้ได้ คือ

หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ตอนหนึ่งกล่าวว่า  ครั้งหนึ่ง พระมหาธรรมราชาลิไทตั้งอยู่ในความประมาท สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) จึงเข้ายึดเมืองสองแคว แล้วให้ขุนหลวงพ่องั่วพี่มเหสีจากเมืองสุพรรณบุรีมาครอง พระมหาธรรมราชาลิไทต้องถวายบรรณาการเป็นอันมาก และทรงขอเมืองสองแควคืน ซึ่งในที่สุดสมเด็จพระรามาธิบดีก็ประทานคืน ขุนหลวงพ่องั่วเสด็จกลับสุพรรณบุรี

เมื่อได้เมืองคืนแล้ว พระมหาธรรมราชาลิไทเสด็จไปประทับที่เมืองสองแคว ส่วนที่เมืองสุโขทัย ได้ให้มหาเทวีซึ่งเป็นน้องหญิงครองแทน

การไปประทับที่สองแควในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ก็ควรจะตรงกับจารึกสุโขทัยกล่าวถึงว่า เสด็จไปอยู่ถึง 7 ปี

ที่หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวว่า ที่เมืองสุโขทัยนั้น พระองค์ให้น้องหญิงของพระองค์ขึ้นครองแทน แสดงว่าพระองค์ไม่ได้เสด็จไปๆมาๆ ครองสองเมือง

ราชบัลลังก์สุโขทัยอันศักดิ์สิทธิ์ ในที่สุดต้องให้ผู้หญิงขึ้นครอง ราชบัลลังก์สุโขทัยไม่มีความศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป

พระมหาธรรมราชาลิไทต้องสละราชบัลลังก์สุโขทัย ซึ่งเป็นของพ่อของท่าน และปู่ของท่านคือพ่อขุนรามคำแหง และพระองค์ต้องช่วงชิงมานั้น ย่อมมิได้เป็นความเต็มใจของท่านอย่างแน่นอน

พระยาลิไท ศาสนาและการเมือง

มาถึงตอนนี้ คงพอที่จะมองออกว่า ทำไมพระมหาธรรมราชาลิไทต้องเสด็จไปครองเมืองสองแควถึง 7 ปี ซึ่งผู้เขียนขอสร้างเรื่องขึ้นจากหลักฐานที่เป็นจารึกและหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ดังต่อไปนี้

ในการขยายอำนาจของพระมหาธรรมราชาลิไทเมื่อ พ.ศ. 1902 โดยเฉพาะการรุกเข้าไปถึงบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำป่าสัก ย่อมกระทบกระเทือนถึงกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพันธมิตรอยู่กับบ้านเมืองเหล่านั้น สมเด็จพระรามาธิบดี จึงต้องเสด็จขึ้นมายึดเมืองสองแคว (พิษณุโลก) ซึ่งเป็นหัวหาดของพระมหาธรรมราชาลิไท ในการรุกรานบ้านเมืองทางทิศตะวันออกแถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก และเป็นการสร้างอำนาจของกรุงศรีอยุธยาเข้าประชิดเมืองสุโขทัย

ดังนั้น ในการดำเนินวิธีการทางการทูตของพระมหาธรรมราชาลิไท ในการขอเมืองสองแควคืนจากสมเด็จพระรามาธิบดี ผู้เป็นพุทธศาสนิกชนด้วยกันนั้น คือการขอคืนในขณะครองเพศบรรพชิต เมื่อพระองค์ทรงผนวชใน พ.ศ. 1905

เหมือนกับที่ภายหลังพระองค์ได้ส่งพระสุมนะเถระขึ้นไปเผยแพร่พุทธศาสนาที่เมืองเชียงใหม่ และได้บิณฑบาตเมืองตากคืนจากพระเจ้ากือนา

เหมือนกับที่ภายหลังสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเอาอย่างบ้าง โดยการส่งคณะสงฆ์ไปขอเมืองเชลียง หรือเชียงชื่น หรือเมืองศรีสัชนาลัยคืนจากพระเจ้าติโลกราช

ซึ่งพระมหาธรรมราชาลิไทก็ได้เมืองสองแควคืน แต่เป็นการคืนโดยมีเงื่อนไข

เงื่อนไขก็คือ การที่พระองค์จะต้องสละราชบัลลังก์ที่สุโขทัย ไปอยู่ที่เมืองสองแควแทน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับพระองค์ได้ถูกทำลายบุคลิกภาพของการเป็นผู้นำแคว้นสุโขทัย ซึ่งพระองค์พยายามสร้างเสริมขึ้นมาแข่งขันกับกรุงศรีอยุธยาโดยสิ้นเชิง

และเมื่อเป็นเช่นนี้อีกเช่นกัน ที่สามารถอธิบายได้ว่า เหตุใดเรื่องราวของพระมหาธรรมราชาลิไทจึงได้หายไปจากจารึกของสุโขทัย หลังจากปีที่ทรงผนวชเมื่อ พ.ศ. 1905 เพราะย่อมไม่อยากพูดถึงสถานภาพของผู้พ่ายแพ้ของพระองค์เอง

ศึกสองพระนคร สุโขทัย-อยุธยา

การกำหนดเวลาให้พระมหาธรรมราชาลิไทไปอยู่สองแควใน พ.ศ. 1905 ด้วยเหตุผลของการพ่ายแพ้ต่อกรุงศรีอยุธยา จะได้เวลาการกลับมาสุโขทัยของพระองค์ประมาณ พ.ศ. 1912 ซึ่งจะสอดคล้องกับเหตุการณ์อื่นๆ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือ

สมเด็จพระรามาธิบดีสวรรคต พ.ศ. 1912 และสมเด็จพระราเมศวรได้ขึ้นครองราชย์แทนในปีเดียวกันนั้น ดังนั้น การกลับมาสุโขทัยของพระองค์ จึงเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมในการปลดพระองค์ออกจากเงื่อนไขสัญญาที่มีกับสมเด็จพระรามาธิบดี

การประกาศรายชื่อเมืองต่างๆ ที่พระองค์พามานมัสการพระบาท คือการแสดงแสนยานุภาพของพระองค์ที่ได้รวบรวมขึ้นมาใหม่ ที่จะไม่ยอมอยู่ภายใต้อิทธิพลของกรุงศรีอยุธยาในราชวงศ์ของสมเด็จพระรามาธิบดีอีกต่อไป

พ.ศ. 1912 คือปีที่พระสุมนะเถระขึ้นไปเผยแพร่พุทธศาสนายังเมืองเชียงใหม่ อันเป็นการเริ่มบทบาทของพระองค์ทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ในการรวบรวมพันธมิตรต่างแดน หลังจากที่ต้องตั้งอยู่ในความสงบที่เมืองสองแควถึง 7 ปี

การเคลื่อนไหวทางการเมืองในแคว้นสุโขทัยอีกครั้งหนึ่งของพระมหาธรรมราชาลิไท อันเป็นการปลีกตัวออกจากอำนาจของกรุงศรีอยุธยานั้น ส่งผลอันเป็นประโยชน์แก่ขุนหลวงพ่องั่ว พระญาติสนิทของพระมหาธรรมราชาลิไท ทำให้สมเด็จพระราเมศวรต้องยอมถวายอำนาจเหนือกรุงศรีอยุธยาให้โดยดี โดยขุนหลวงพ่องั่วได้เสด็จขึ้นครองราชย์กรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 1913

แนวคิดที่กล่าวมาทั้งหมดและรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์สุโขทัยกับสุพรรณบุรี ผู้เขียนได้ศึกษาและเคยนำเสนอเป็นบทความเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สุโขทัย ในนิตยสารศิลปากร วารสารเมืองโบราณ และศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เรื่อยมา และรวบรวมพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ “ศาสนาและการเมืองกรุงสุโขทัย, 2528”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2565