ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2557 |
---|---|
ผู้เขียน | ธีระวัฒน์ แสนคำ |
เผยแพร่ |
เมือง “พิษณุโลก” ซึ่งเป็นหัวเมืองใหญ่และเป็นแหล่งของป่าที่สำคัญ ได้เป็นปัจจัยที่ดึงดูดไพร่จาก “กรุงศรีอยุธยา” ขึ้นมาหาของป่า เพื่อค้าขายสร้างความมั่งมีให้กับตนมากยิ่งขึ้น
ในขณะเดียวกันกองทัพจากศูนย์อำนาจรัฐกรุงอังวะ ซึ่งรุ่งเรืองขึ้นแทนที่ศูนย์อำนาจรัฐกรุงหงสาวดี ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยา ก็ได้อาศัยความอ่อนแอของอำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยายกทัพมาโจมตี ในที่สุด ศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาก็ล่มสลาย แต่เมืองพิษณุโลกยังรักษาเสถียรภาพของเมืองเอาไว้ได้
การแสวงหาอำนาจจากศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยา ของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)
ช่วงเวลาก่อนหน้าที่กองทัพจากศูนย์อำนาจรัฐกรุงอังวะจะยกมา เราไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับบทบาทเจ้าเมืองพิษณุโลกเลย พบแต่เพียงว่าใน พ.ศ. 2248 สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (สมเด็จพระเจ้าเสือ) [5] และ พ.ศ. 2283 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้เสด็จมาเมืองพิษณุโลก เพื่อนมัสการพระพุทธชินราช [6]
การเสด็จมาดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นอยู่ 2 ประการ คือ ประการแรก คือเห็นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าเมืองพิษณุโลกกับศูนย์อำนาจรัฐที่น่าจะเป็นไปในทางที่ดี ส่วนประการที่ 2 สะท้อนว่า ศูนย์อำนาจรัฐพยายามใช้พระราชศรัทธาในพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการเสด็จตรวจสอบการทำราชการ เพราะก่อนหน้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจะครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระองค์ได้ทำสงครามแย่งชิงราชสมบัติกับเจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
ในฝ่ายเจ้าฟ้าอภัยปรากฏชื่อ พระไชยบูรณ์ ซึ่งเป็นตำแหน่งปลัดเมืองพิษณุโลกว่าเป็นผู้คุมกำลังกว่าร้อยคนอ้อมไปที่ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อยังทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่วังหน้า [7] การเสด็จมาเมืองพิษณุโลกดังกล่าว จึงถือเป็นการแสดงอำนาจที่ศูนย์อำนาจรัฐมีเหนือเมืองพิษณุโลก และควบคุมการแสวงหาอำนาจของเจ้าเมืองพิษณุโลกด้วย
การที่พระไชยบูรณ์ปลัดเมืองพิษณุโลกเข้าร่วมกับฝ่ายเจ้าฟ้าอภัย ก็มีความเป็นไปได้ว่าเจ้าเมืองพิษณุโลกอาจจะรู้เห็นกับการกระทำดังกล่าวของพระไชยบูรณ์ เพียงแต่ไม่ลงมาทำการด้วยตนเองเท่านั้น อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นว่าเจ้าเมืองพิษณุโลกมีความพยายามในการแสวงหาอำนาจ โดยการสร้างความสัมพันธ์กับเจ้านายบางพระองค์ในศูนย์อำนาจรัฐด้วย
การปฏิเสธศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยา และการแสวงหาอำนาจของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)
ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า เจ้าเมืองพิษณุโลกส่วนใหญ่มีความพยายามในการสร้างอำนาจ โดยอาศัยลักษณะ เฉพาะความเป็นหัวเมืองใหญ่ของ “พิษณุโลก” มาโดยตลอด เช่น ในสมัยที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชมาปกครองเมืองพิษณุโลก เป็นต้น
ต่อมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 ศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาก็เกิดปัญหาแตกแยกภายใน รวมทั้งศูนย์อำนาจรัฐกรุงอังวะก็พยายามขยายอำนาจเข้ามา จึงเป็นโอกาสสำคัญที่เจ้าเมืองจะใช้ลักษณะเฉพาะของเมืองพิษณุโลกแสวงหาอำนาจ โดยไม่เกรงกลัวกฎหมายและบทลงโทษจากพระไอยการกระบดศึก ที่ตราขึ้นโดยศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ
ใน พ.ศ. 2307 พระเจ้ามังระ แห่งศูนย์อำนาจรัฐกรุงอังวะ ได้ยกกองทัพมาหลายทาง เพื่อโจมตีศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยา ทัพหลวงที่ยกมาทางเมืองกาญจนบุรีได้เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาก่อน ฝ่ายศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาได้เกณฑ์กำลังจากหัวเมืองให้ลงมารับศึก กองทัพเมืองพิษณุโลกถูกเกณฑ์ให้มาตั้งทัพอยู่ที่วัดภูเขาทอง [8]
ส่วนกองทัพกรุงอังวะทางเหนือมีเนเมียวสีหบดี (โปชุปผลา) เป็นแม่ทัพยกลงมาจากเมืองเชียงใหม่ ตีเข้าทางด่านเมืองสวรรคโลก แล้วมาตั้งค่ายที่เมืองสุโขทัย เพื่อปิดสกัดไม่ให้กองทัพหัวเมืองยกลงมาช่วยศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาที่กำลังจะถูกปิดล้อม [9]
เมื่อเจ้าเมืองพิษณุโลกทราบ ก็ห่วงบ้านเมืองของตนมากกว่ากรุงศรีอยุธยา ได้ให้พระยาพลเทพกราบทูลลากลับขึ้นไปเมืองพิษณุโลก โดยอ้างเหตุผลว่าจะต้องไปปลงศพมารดา ปล่อยให้หลวงโกษา พระมหาดไทย และหลวงเทพเสนา ซึ่งเป็นกรมการเมืองคุมกองทัพอยู่ที่วัดภูเขาทองแทน [10]
เจ้าเมืองพิษณุโลกผู้นี้ทราบชื่อในภายหลังว่ามีชื่อเดิมว่า “เรือง” [11] การกลับขึ้นไปเมืองพิษณุโลกของเจ้าเมืองพิษณุโลกโดยอ้างว่าไปปลงศพมารดานั้น น่าจะเป็นเหตุผลที่ดูสุดวิสัยเกินกว่าศูนย์อำนาจรัฐจะห้ามปรามได้ ซึ่งส่อให้เห็นอำนาจที่แท้จริงของศูนย์อำนาจรัฐว่าไม่มีเหนือกองทัพเมืองพิษณุโลกนัก และแท้ที่จริงแล้วการปลงศพมารดาก็เป็นเพียงข้ออ้างของเจ้าเมืองพิษณุโลก ที่จะทิ้งศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยานั่นเอง ทั้งเพื่อความปลอดภัยของเมืองตนเอง และอาจจะเพื่ออนาคตทางการเมืองที่เป็นอิสระจากศูนย์อำนาจรัฐด้วย [12]
ในเวลาต่อมา หลวงโกษาซึ่งเป็นผู้คุมกองทัพเมืองพิษณุโลกที่วัดภูเขาทองแทนเจ้าเมืองพิษณุโลก ก็คิดอ่านช่วยเจ้าฟ้าจีดซึ่งต้องโทษติดเวรจำอยู่ในพระราชวัง แล้วพากันเลิกทัพหนีกลับขึ้นไปยังเมืองพิษณุโลก ฝ่ายศูนย์อำนาจรัฐได้แต่งข้าหลวงไปตามหลายนายแต่ไม่ทัน [13] ซึ่งแสดงว่าเจ้าเมืองพิษณุโลกได้วางแผนล่วงหน้าไว้แล้ว ที่จะให้หลวงโกษายกกองทัพเมืองพิษณุโลกหนีออกจากกรุงศรีอยุธยากลับเมืองพิษณุโลก
ด้วยเจ้าเมืองพิษณุโลกคงคาดการณ์ออกว่า ถึงอย่างไรเสียกองทัพกรุงศรีอยุธยาก็ไม่อาจต้านทานกองทัพกรุงอังวะได้ ส่วนการช่วยเหลือเจ้าฟ้าจีดให้หนีไปด้วยนั้น เป็นไปได้ว่าเดิมทีนั้นเจ้าเมืองพิษณุโลกกับเจ้าฟ้าจีดน่าจะมีความสัมพันธ์กันอยู่บ้าง [14] หรือกรมการเมืองพิษณุโลกอาจใช้เจ้าฟ้าจีดเป็นเครื่องมือในการแย่งชิงอำนาจจากเจ้าเมืองพิษณุโลกก็เป็นได้ [15]
แต่พอเจ้าฟ้าจีดขึ้นไปถึงเมืองพิษณุโลกก็เข้าเก็บริบเอาทรัพย์สินเงินทองของเจ้าเมืองพิษณุโลก ภรรยาเจ้าเมืองพิษณุโลกได้หนีลงเรือเล็กล่องลงมา ฝ่ายเจ้าเมืองพิษณุโลกซึ่งยกทัพไปช่วยเมืองสุโขทัยทราบเรื่อง ก็เลิกทัพมาซุ่มอยู่หลังเมืองพิจิตร ซ่องสุมผู้คนได้มากแล้วก็ยกขึ้นไปตั้งค่ายท้ายเมืองพิษณุโลก รบกับพรรคพวกเจ้าฟ้าจีดหลายวัน
เจ้าฟ้าจีดจึงแตกหนีออกจากเมือง เจ้าเมืองพิษณุโลกให้คนตามจับได้แล้วใส่กรงส่งมาถึงท้ายทุ่งสากเหล็ก [16] ฝ่ายผู้คุมรู้ว่าพม่าตั้งอยู่บ้านกูบ ก็พาเจ้าฟ้าจีดกลับขึ้นไป ณ เมืองพิจิตร เจ้าเมืองพิษณุโลกจึงให้คนลงมานำเจ้าฟ้าจีดขึ้นไปถ่วงน้ำที่เมืองพิษณุโลก [17]
ภายหลังที่เจ้าเมืองพิษณุโลกต้องถอยทัพกลับด้วยกรณีเจ้าฟ้าจีด กองทัพของเนเมียวสีหบดีจึงยกเลยลงมาถึงเมืองนครสวรรค์ทางเมืองกำแพงเพชร ไม่ได้ยกตามไปตีเอาเมืองพิษณุโลก เมืองพิษณุโลกจึงมิได้เสียแก่กองทัพกรุงอังวะในครั้งนี้ [18] แต่ในหลักฐานพงศาวดารพม่าระบุว่ากองทัพของเนเมียวสีหบดีสามารถตีเมืองพิษณุโลกได้ [19]
เมื่อเปรียบเทียบและตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ กับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในภายหลังแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่ากองทัพของเนเมียวสีหบดีไม่สามารถเข้าตีเมืองพิษณุโลกได้ ถ้าหากกองทัพเนเมียวสีหบดีตีเมืองพิษณุโลกได้จริงแล้ว เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) จะสามารถฟื้นฟูเมืองพิษณุโลกและรวบรวมผู้คนจำนวนมากได้อย่างไร?
นอกจากนี้ ในพงศาวดารพม่ายังกล่าวว่ามีกองทัพจากเมืองพิษณุโลกและหัวเมืองฝ่ายเหนือ ช้างรบ 200 เชือก ม้า 2,000 ตัว กำลังพล 20,000 คน ยกลงไปช่วยกรุงศรีอยุธยา
แต่ถูกกองทัพกรุงอังวะตีจนแตกพ่ายไป [20] ซึ่งถ้าหากกองทัพเนเมียวสีหบดีตีหัวเมืองฝ่ายเหนือได้ทั้งหมดจริง แล้วกองทัพจำนวนมากเช่นนี้จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร? แสดงว่าความในพงศาวดารพม่าตอนนี้ก็มีความขัดแย้งกันเอง ดังนั้น เมืองพิษณุโลกจึงไม่น่าจะถูกทำลายจากกองทัพของเนเมียวสีหบดี
การที่เจ้าเมืองพิษณุโลกทิ้งหน้าที่ในการรักษากรุงศรีอยุธยากลับขึ้นมาเมืองพิษณุโลกและจับเจ้าฟ้าจีดถ่วงน้ำ แสดงว่าเจ้าเมืองพิษณุโลกไม่ได้เกรงกลัวต่ออำนาจศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาแล้วถึงกล้าที่จะกระทำการดังกล่าว ทั้งที่ในพระไอยการกระบดศึก มาตรา 14 ได้ห้ามมิให้ขุนนางและทหารหนีราชการสงคราม
หากหลบหนีมีโทษฐานเป็นกบฏและให้ประหารชีวิตทั้งโคตร [21] ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่เมืองพิษณุโลกได้แยกออกเป็นอิสระจากการปกครองของศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นภายหลังจากที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 อย่างที่เคยเข้าใจกันแต่อย่างใด
เมื่อกองทัพกรุงอังวะล้อมกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ ทำให้มีขุนนางจากศูนย์อำนาจรัฐพยายามที่จะหลบหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา พบว่ามีขุนนางและไพร่จำนวนหนึ่งหลบหนีขึ้นมาอยู่ที่เมืองพิษณุโลก [22]
เมื่อศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาล่มสลายลงใน พ.ศ. 2310 ไร้ศูนย์อำนาจที่จะควบคุมไพร่พลทั้งปวง ทำให้เจ้าเมือง “พิษณุโลก” จะได้ประกาศตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เพื่อรวบรวมไพร่พลรักษาเสถียรภาพของเมืองเอาไว้ และถือเป็นการปกป้องบ้านเมืองของตนจากภาวะสงครามที่ผู้คนกำลังระส่ำระสายไปทั่วทุกหัวระแหง
อ่านเพิ่มเติม :
- เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) แห่งก๊กพิษณุโลก ถึงแก่พิราลัยหลังเป็นกษัตริย์ได้ 7 วันจริงหรือ?
- การล่มสลายของก๊กเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) สู่ฐานกำลังสำคัญของกรุงธนบุรี
เชิงอรรถ :
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “รัฐพิษณุโลก (?) : สถานะของเมืองพิษณุโลก หลังการล่มสลายของศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2309-13)” เขียนโดย ธีระวัฒน์ แสนคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2557
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤษภาคม 2564