การล่มสลายของก๊กเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) สู่ฐานกำลังสำคัญของกรุงธนบุรี

การล่มสลายของกลุ่มอำนาจท้องถิ่นพิษณุโลก น่าจะเป็นผลมาจากสภาพสังคมที่ยังอยู่ในภาวะจลาจลจากสงครามระหว่างศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยากับศูนย์อำนาจรัฐกรุงอังวะ จนทำให้ศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย แม้จะมีการพยายามสร้างเมืองพิษณุโลกขึ้นมาให้เป็นอิสระก็จริง แต่อำนาจในการบริหารจัดการไพร่พลนั้นก็คงเป็นไปอย่างลำบาก

นิธิ เอียวศรีวงศ์ สันนิษฐานว่าเนื่องจากยังมีกลุ่มคนที่รวมตัวกันปล้นสะดมเพื่อยังชีวิตให้รอดโดยปราศจากจุดมุ่งหมายทางการเมือง ความพยายามของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) จึงมีเป้าหมายเพียงแค่รักษาความเป็นใหญ่ในท้องถิ่นที่ตนครองอำนาจอยู่เป็นหลัก [34]

เหตุผลสำคัญอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) สามารถรวบรวมกำลังไพร่พลส่วนหนึ่งได้ก็คือ ความเป็นผู้นำและความสามารถในฐานะที่เป็นเจ้าเมืองและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ซึ่งถือว่าเป็นความสามารถพิเศษ ทำให้ได้รับความเชื่อถือจากขุนนางจากศูนย์อำนาจบางส่วนและไพร่พลในเมืองพิษณุโลก รวมทั้งเมืองใกล้เคียง แต่ความเป็นผู้นำเป็นสิ่งที่ติดตัวผู้นำมาตามธรรมชาติและถ่ายทอดไปยังผู้อื่นไม่ได้ง่าย ๆ เพราะยังมิได้ทำความสามารถพิเศษนั้นกลายเป็นสถาบัน ๆ [35]

ด้วยเหตุนี้ หลังจากเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ถึงแก่พิราลัยประมาณ พ.ศ. 2311 ไพร่พลเมืองพิษณุโลกจึงขาดความเชื่อถือพระอินทร์อากร น้องชายเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ที่ขึ้นเป็นเจ้าเมืองหรือผู้ปกครองเมืองพิษณุโลกคนใหม่ จึงส่งผลให้อำนาจเมืองพิษณุโลกอ่อนแอลงและล่มสลายในที่สุด

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุริมแม่น้ำน่านช่วงกลางเมืองพิษณุโลก ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ดังจะเห็นได้ว่า เมืองพิษณุโลกจะสามารถต่อต้านการโจมตีของกองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ แต่ก็ยังมีกองกำลังฝ่ายเจ้าพระฝางซึ่งมีเจ้าพระฝางหรือพระพากุลเถร (เรือน) พระสังฆราชาเมืองฝางเป็นผู้นำ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองฝางหรือเมืองสวางคบุรีซึ่งเป็นเมืองบริวารเมืองหนึ่งของเมืองพิชัยเหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไป มีการแต่งตั้งบรรดาญาติโยมและศิษย์เป็นเจ้าเมืองและกรมการประจำเมือง บรรดาไพร่พลในหัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไปก็เกรงกลัวนับถืออยู่ในอำนาจทั้งสิ้น [36] และพยายามแข่งขันอำนาจกับเจ้าพระยาพิษณุโลกด้วย ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ระบุว่าเจ้าพระยาพิษณุโลกได้กรีธาพลใหญ่ไปรบกับกองกำลังฝ่ายเจ้าพระฝางถึง 3 ครั้ง แต่ไม่แพ้ไม่ชนะกัน [37]

หลังจากตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์ได้ 6 เดือน เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ก็ถึงแก่พิราลัย พระอินทร์อากรซึ่งเป็นน้องชายเจ้าพระยาพิษณุโลกก็ขึ้นครองเมืองแทน แต่พระอินทร์อากรไม่ได้มีบุคลิกเป็นผู้นำทำให้ไพร่พลไม่นับถือ กองกำลังเมืองพิษณุโลกก็เริ่มอ่อนแอลง กองกำลังฝ่ายเจ้าพระฝางก็ยกทัพลงมาตีเมืองพิษณุโลก ตั้งล้อมเมืองอยู่ 2 เดือน จนทำให้ชาวเมืองอดอยากก็เกิดเป็นไส้ศึกเปิดประตูเมืองรับกองกำลังฝ่ายเจ้าพระฝางเข้าไปในเมือง จับพระอินทร์อากรเจ้าเมืองพิษณุโลกประหารชีวิต แล้วให้เก็บริบรวบรวมทรัพย์สมบัติ อาวุธ และกวาดต้อนไพร่พลในเมืองพิษณุโลกขึ้นไปเมืองฝาง บางส่วนก็หลบหนีลงไปลงกรุงธนบุรี [38]

เมื่อพระอินทร์อากรถูกประหารชีวิต ก็ถือว่ากลุ่มอำนาจท้องถิ่นเดิมของเมืองพิษณุโลกก็ล่มสลายลง พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวไว้ว่า “ขณะนั้นบรรดาหัวเมืองเหนือทั้งปวงนั้น ก็เป็นสิทธิ์แก่เจ้าพระฝางทั้งสิ้น” [39]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2313 กองทัพศูนย์อำนาจรัฐกรุงธนบุรีสามารถปรับปรุงกองทัพ จัดหาอาวุธและกำลังพลให้เข้มแข็ง จึงได้ยกกองทัพทั้งทางบกและทางเรือขึ้นมาปราบกองกำลังเจ้าพระฝางและสามารถปราบปรามสำเร็จ แต่ตัวเจ้าพระฝางสามารถหลบหนีไปได้ [40] จากนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็มอบหมายให้ขุนนางคนสำคัญเป็นเจ้าเมืองในหัวเมืองฝ่ายเหนือ รวบรวมไพร่พลและจัดการบูรณะบ้านเมืองให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์

ภายหลังปราบปรามกองกำลังเจ้าพระฝางสำเร็จแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดให้สำรวจจำนวนไพร่พลในหัวเมืองฝ่ายเหนือ พบว่า เมืองพิษณุโลกมีพลเมือง 15,000 คน เมืองสวรรคโลกมี 7,000 คน เมืองพิชัย (รวมทั้งเมืองสวางคบุรี) มี 4,000 คน เมืองสุโขทัยมี 5,000 คน เมืองกำแพงเพชรกับเมืองนครสวรรค์มีเมืองละ 3,000 คนเศษ [41]

จากนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ “ข้าหลวงซึ่งมีความชอบในการสงคราม ให้รั้งเมืองครองเมืองตามฐานานุกรมลำดับ เจ้าพระยาพิไชยราชาเป็นเจ้าพระยาสวรรคโลกย์ พระยายมราชเป็นเจ้าพญาสุรศรีรั้งเมืองพิศณุโลกย์ พระษรีราชเดโชรั้งเมืองพิไชย พระท้ายน้ำรั้งเมืองศุกโขทัย เจ้าพญาอนุรักพูธรรั้งเมืองณครสวรรค์ พระยาอไภยรณฤทธิไปเป็นพญายมราช ให้ว่าที่สมุหนายกด้วย แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับมายังกรุงธนบุรีย์” [42]

พิธีอัญเชิญพระพุทธชินราชจำลองเข้าประดิษฐานภายในพระ
อุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนา
ราม ภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ ๕ (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

การตั้งเจ้าเมืองประจำหัวเมืองฝ่ายเหนือครั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้วสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดให้ขุนนางที่มีความสามารถในการรบและไว้วางพระทัยมาปกครอง ทั้งนี้คงเพราะต้องการใช้หัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นฐานกำลัง และเป็นเมืองหน้าด่านสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของศูนย์อำนาจรัฐกรุงอังวะที่จะรุกรานหัวเมืองฝ่ายเหนือ [43]

สำหรับเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นหัวเมืองใหญ่และมีจำนวนพลเมืองมากที่สุด พระองค์ได้โปรดให้พระยายมราชซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดมาตั้งแต่ก่อนสถาปนาศูนย์อำนาจรัฐกรุงธนบุรีมาเป็นเจ้าเมือง

“จึงโปรดเกล้าฯ เลื่อนเจ้าพระยายมราชผู้น้อง เปนเจ้าพระยาสุระสีห์พิศณุวาธิราช ถือศักดินา 10000 ไร่ พระราชทานเครื่องยศเติมอีก คือ ประคำทองเสื้อ หมวกทรงประภาษสำรับหนึ่ง สัปทนแพรแดงคันหนึ่ง กับสิ่งของอื่นอีกเป็นอันมาก แล้วโปรดให้เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพระพิศณุโลกยหัวเมืองเอกอุ ได้ตำแหน่งยศเมื่อจุลศักราช 1132 ปีขาลโทศก ขณะนั้นพระชนม์ได้ 27 พรรษา” [44]

การส่งขุนนางที่ไว้วางพระทัยมาปกครองถือเป็นความพยายามของศูนย์อำนาจรัฐที่จะลดทอนอำนาจของกลุ่มอำนาจเดิมในท้องถิ่นลง เพื่อป้องกันการสร้างและสะสมอำนาจขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐในภายหลัง นอกจากนี้ยังมีการ “อาราธนารับพระสงฆ์ราชาคณะแลอันดับ 50 รูป ณ กรุงธนบุรีย์ ขึ้นไปบวชพระสงฆ์ไว้ทุกหัวเมือง แล้วพระราชทานราชาคณะไว้ให้อยู่สั่งสอนพระสงฆ์ฝ่ายเหนือ พระพิมลธรรมอยู่เมืองฝาง พระธรรมเจดีย์อยู่ทุ่งยั้ง พระธรรมราชา พระเทพกระวีอยู่เมืองสวรรคโลกย์ พระธรรมอุดมอยู่เมืองพิไชย พระโพทิวงษอยู่เมืองพิศณุโลกย์” [45]

การอาราธนาพระสงฆ์จากศูนย์อำนาจรัฐมาอยู่หัวเมืองฝ่ายเหนือก็น่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่ออบรมสั่งสอนชาวหัวเมืองฝ่ายเหนือให้ปฏิบัติตามแนวนโยบายของศูนย์อำนาจรัฐและสร้างสิทธิธรรมให้แก่ศูนย์อำนาจรัฐ รวมทั้งน่าจะมีการนำความรู้และศิลปวิทยาการต่าง ๆ แบบศูนย์อำนาจรัฐขึ้นมาเผยแพร่ด้วย

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2318 ศูนย์อำนาจรัฐกรุงอังวะก็ได้ส่งกองทัพเข้ามาโจมตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ โดยมีอะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพ สงครามครั้งนี้ได้ส่งผลต่อเสถียรภาพของเมืองพิษณุโลกเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าเจ้าพระยาสุรสีห์ เจ้าเมืองพิษณุโลกจะพยายามรักษาเสถียรภาพเอาไว้ โดยขอความช่วยเหลือจากศูนย์อำนาจรัฐกรุงธนบุรี แต่ที่สุดแล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้เกิดการทิ้งเมืองพิษณุโลก และเมืองพิษณุโลกก็ถูกกองทัพกรุงอังวะเผาทำลายบ้านเรือนและวัดวาอาราม

เหลือเพียงวิหารพระพุทธชินราชเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ไม่ถูกเผาทำลาย [46]

อ่านเพิ่มเติม :


เชิงอรรถ :


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “รัฐพิษณุโลก (?) : สถานะของเมืองพิษณุโลก หลังการล่มสลายของศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2309-13)” เขียนโดย ธีระวัฒน์ แสนคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กันยายน 2564