ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เมืองพิษณุโลก ในทางประวัติศาสตร์มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีกสองชื่อ คือ เมืองสองแคว กับ เมืองชัยนาท
“สองแคว” เป็นชื่อที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปว่าเป็นชื่อดั้งเดิมของเมืองพิษณุโลก เพราะมีแม่น้ำสองสายไหลผ่านเมือง คือ แม่น้ำน่านกับแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำน่าน ที่ไหลผ่านตัวเมืองนั้นเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน แม่น้ำแควน้อย นั้นไหลจากเทือกเขาทางทิศตะวันออกลงแม่น้ำน่านเหนือตัวเมืองขึ้นไปประมาณ 20 กิโลเมตร
แต่ในอดีตแม่น้ำแควน้อยก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำน่านนั้น ได้ไหลวกลงใต้ขนานกับแม่น้ำน่านโดยผ่านเมืองสองแคว มีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุหรือวัดพระพุทธชินราชเป็นศูนย์กลางเมือง ตั้งอยู่ระหว่างกลางขนาบโดยแม่น้ำทั้งสองสาย แม่น้ำแควน้อยไหลลงแม่น้ำน่าน ใต้ลงไปท่าฬอ จังหวัดพิจิตร เมืองจึงได้รับการขนานนามว่า ‘สองแคว’ เพราะมีแม่น้ำสองสายไหลผ่านเมือง
ชื่อ สองแคว เป็นชื่อเก่าที่ปรากฏในศิลาจารึกของสุโขทัย ที่เล่าเรื่องราวตั้งแต่สมัยสุโขทัยยุคต้นๆ ประมาณ พ.ศ. 1800 เป็นอย่างต่ำ
ดังนั้น ชื่อ สองแคว จึงเป็นชื่อที่เก่าที่สุดตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบ้านเมืองขึ้นในแคว้นสุโขทัย และเป็นที่รู้จักโดยคนต่างถิ่นทั้งเหนือและใต้ เป็นชื่อที่ใช้เรียกกันสืบต่อมา แม้จะมีชื่ออื่นตั้งให้ใหม่แล้วก็ตามศิลาจารึกของสุโขทัยบางหลัก เรียกชื่อเต็มของเมืองว่า “สรลวงสองแคว” ก็มี
ชัยนาท เป็นชื่อที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักว่าเคยถูกนำมาเรียกชื่อเมืองนี้ หนังสือ ชินกาลมาลีปกรณ์ แต่งโดยพระรัตนปัญญาเถระแห่งล้านนา เมื่อ พ.ศ. 2060 ตอนหนึ่งกล่าวว่า ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทยแห่งกรุงสุโขทัย ได้เสีย เมืองชัยนาท ให้แก่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) แต่ต่อมาขอเมืองคืนได้ พระมหาธรรมราชาลิไทยต้องเสด็จไปประทับอยู่ที่ เมืองชัยนาท
หนังสืออีกเล่มหนึ่งคือ ลิลิตยวนพ่าย แต่งขึ้น พ.ศ. 2031 ตอนหนึ่งกล่าวถึงพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาว่า ได้ยกทัพลงมาเอาเมืองชัยนาท
ชื่อเมือง ชัยนาท ที่ระบุในหนังสือโบราณทั้งสองฉบับนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ได้แสดงหลักฐานชี้ให้เห็นจนเป็นที่ยอมรับกันในวงการประวัติศาตร์โดยทั่วไป ว่าเป็นอีกชื่อหนึ่งของเมืองสองแคว หาใช่เมืองชัยนาทที่จังหวัดชัยนาท
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาทุกฉบับ กล่าวถึงสมเด็จพระนครินทราชาธิราช ผู้เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ. 1952-1967 ว่า ได้ตั้งโอรส 3 พระองค์ คือ เจ้าอ้ายพระยา ให้ครองเมืองสุพรรณบุรี, เจ้ายี่พระยา ครองเมืองสรรค์ และเจ้าสามพระยา ให้ครองเมืองชัยนาท
ต่อมา เมื่อพระองค์ได้สวรรคตลง เจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยาได้แย่งราชสมบัติต่อสู้กัน จนถึงกับสิ้นพระชนม์ลงทั้งคู่ ราชสมบัติจึงตกแก่เจ้าสามพระยาขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2
ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ได้ค้นคว้าไว้เห็นว่า เมืองชัยนาทที่เจ้าสามพระยาทรงได้รับมองหมายให้มาครองนั้น อยู่ที่เมืองสองแคว ที่ต่อมาภายหลังได้ชื่อว่าเมืองพิษณุโลกนั่นเอง
แต่เนื่องจากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ ที่เขียนเก่าที่สุด คือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐฯ ก็เขียนในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ห่างจากเหตุการณ์จริงประมาณกว่า 200 ปีกว่า เมื่อรวบรวมเอกสารเก่าๆ ที่บันทึกชื่อเมืองที่ พิษณุโลก ว่า ชัยนาท ก็ลอกลงมาโดยไม่ได้ทำความเข้าใจ และเปลี่ยนชื่อใหม่ตามที่รู้จักกันในสมัยที่เขียนพงศาวดารให้เป็น เมืองพิษณุโลก เสีย
พอมาถึงปัจจุบันเมื่อมีเมืองชัยนาทขึ้นมาใหม่ที่จังหวัดชัยนาท และเมืองชัยนาทแต่ดั้งเดิมที่จังหวัดพิษณุโลกไม่มีใครรู้จักกันแล้ว จึงเข้าใจกันไปว่าเจ้าสามพระยาไปครองเมืองชัยนาทที่จังหวัดชัยนาทจริงๆ
มีหลักฐานเพิ่มขึ้นคือ ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ สุโขทัย กล่าวว่า เจ้าสามพระยานั้นมีพระมารดาเป็นเชื้อพระวงศ์ของสุโขทัยสมัยที่พระองค์ยังทรงเยาว์วัยอยู่ เคยเสด็จมาทำบุญที่เมืองสุโขทัยพร้อมกับพระมารดาและน้า เวลาที่เสด็จมาทำบุญที่สุโขทัยนั้นเป็นเวลาที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธากล่าวว่าทรงครองอยู่ที่เมืองชัยนาทในฐานะลูกหลวง
การที่เจ้าสามพระยาทรงมีเชื้อสายทางราชวงศ์สุโขทัยด้วย จึงสมเหตุผลว่า ทรงได้ครองเมืองชัยนาท ซึ่งคือเมืองที่พิษณุโลกหรือสองแควเดิมนั่นเอง
แต่ชื่อเมือง ชัยนาท คงเป็นที่ถูกนำมาเรียกเมืองนี้ในระยะสั้นๆ คือ เริ่มเรียกเมื่อเจ้าสามพระยาได้มาครองในฐานะเมืองลูกหลวงเป็นต้นมาเท่านั้น พอถึงสมัยรัชกาลต่อมาคือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ก็มีชื่อใหม่มาให้เรียกอีก ชื่อเมืองชัยนาทจึงไม่ค่อยมีใครรู้จักว่าเคยใช้เป็นชื่อเรียกเมืองนี้
พิษณุโลก พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริญฯ ใช้ชื่อ เมืองพิษณุโลก ครั้งแรกเล่าเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ. 1981 เมื่อครั้งที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นไปครองในฐานะพระมหาอุปราช ซึ่งขณะนั้นน่าจะยังคงใช้ชื่อว่า เมืองชัยนาทอยู่ เพราะเป็นเหตุการณ์สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยา และไม่มีสาเหตุอะไรที่บ่งบอกว่าควรมีการเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่
เอกสารเก่าที่สุดที่ปรากฏชื่อเมืองพิษณุโลกคือหนังสือลิลิตยวนพ่าย แต่งขึ้นหลัง พ.ศ. 2031 เป็นปีสวรรคตของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ชื่อพิษณุโลกที่ปรากฏในลิลิตยวนพ่ายนั้นเป็นชื่อที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกับการเริ่มตั้งชื่อนี้จริงๆ มากที่สุด ดังตัวอย่างตอนที่มีการเอ่ยชื่อพิษณุโลกที่ปรากฏในคำโคลงบทที่ว่า
ปางสร้างอาวาสแล้ว ฤาแสดง
คือพุทไธสวรรยหมาย ชื่อชี้
ปางถลกกำแพงพระ พิศณุโลกย แล้วแฮ
อยู่ช่างพระเจ้าฟี้ เฟื่องบร ฯ
ชื่อเมือง พิษณุโลก ที่ปรากฏอยู่ในโคลงบทนี้นั้น อยู่ในตอนที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงโปรดให้สร้างกำแพงเมือง แต่กำแพงเมืองจะสร้างขึ้นเมื่อปีใดไม่มีเอการกล่าวถึง แม้พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิตจะเป็นเอกสารฉบับเดียวที่มีการกล่าวเรื่องสร้างกำแพงเมือง แต่ก็กล่าวเพียงว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นผู้ให้สร้างขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ระบุปีที่สร้างแน่นอน
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงมอบราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาให้โอรส คือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 แล้วเสด็จไปครองเมืองพิษณุโลก (อาจยังไม่ใช้ชื่อนี้) เมื่อ พ.ศ. 2006 เพื่อรับศึกพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา การศึกษาช่วงแรกนี้กรุงศรีอยุธยาเพลี่ยงพล้ำต้องเสียเมืองศรีสัชนาลัย พ.ศ. 2008 พระองค์จึงทรงออกผนวชที่วัดจุฬามณี เมืองพิษณุโลกเพื่อเจรจาสงบศึกโดยขอเมืองศรีสัชนาลัยคืน แต่ไม่สำเร็จจึงทรงลงผนวชในปีเดียวกันนั้นกลับสู่ราชบัลลังก์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง
การที่พระองค์ทรงออกผนวชนั้น เท่ากับว่าได้สละทางโลกไปแล้วดังนั้นเมื่อทรงลาผนวช จึงเท่ากับว่าเป็นพระชนม์ชีพใหม่ของพระองค์ควรจะดีกว่าเก่า จึงเป็นช่วงที่เหมาะที่คิดว่าชื่อเมืองพิษณุโลกจะได้รับขนานนามให้แก่เมืองแห่งชีวิตใหม่ของพระองค์ ที่มีความยิ่งใหญ่ประดุจเมืองของพระพิษณุ
การสร้างกำแพงเมือง จึงอยู่ในขั้นตอนต่อจากการเถลิงถวัลราชสมบัติเมืองพิษณุโลกของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หลังจากที่ทรงลงผนวชแล้วนั่นเอง
กล่าวโดยสรุปคือ ชื่อ สองแคว เป็นชื่อแรกที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยยุคต้น ต่อมาประมาณ พ.ศ. 1952 เมื่ออำนาจกรุงศรีอยุธยาโดยกษัตริย์ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ได้เข้ามาครอบงำแคว้นสุโขทัย โดยผ่านสายสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างราชวงศ์ทั้งสอง สมเด็จพระนครินทราชาธิราชได้ส่งโอรสองค์ที่สามที่มีเชื้อสายทางมารดาเป็นสุโขทัยมาครองที่เมืองสองแควในชื่อใหม่ว่า เมืองชัยนาท ก่อนที่เสด็จไปเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ที่กรุงศรีอยุธยาในเวลาต่อมาเมื่อ พ.ศ. 1967
รัชสมัยต่อมาคือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โอรสของสมเด็จเจ้าสามพระยา ได้ราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1991 ได้เกิดสงครามกับแคว้นล้านนาในการแย่งชิงดินแดนที่เคยเป็นแคว้นสุโขทัยเดิม สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถถึงกับต้องเสด็จมาครอง เมืองชัยนาท (ยังไม่เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองพิษณุโลก) โดยมอบราชสมบัติที่กรุงศรีอยุธยาให้แก่โอรสเมื่อ พ.ศ. 2006 การสงครามในช่วงแรกไม่อาจป้องกันเมืองศรีสัชนาลัยไว้ได้ จึงทรงออกผนวชเมื่อ พ.ศ. 2008 และเจรจาขอสงบศึก แต่ไม่สำเร็จ จึงทรงลาผนวชขึ้นเสวยราชสมบัติใหม่ เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น พิษณุโลก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ราชบัลลังก์ใหม่ที่ควรจะดียิ่งกว่าเดิม
อ่านเพิ่มเติม :
- แหล่งทำเกลือโบราณที่พิษณุโลก
- ทำไมพระเจ้าตากฯ มาตี เมืองพิษณุโลก เป็นก๊กแรก?
- บทบาท “พิษณุโลก” ก่อนเสียกรุง ฤๅเจ้าเมืองรีบชิ่งหนีอยุธยา เพราะรู้ว่า สู้อังวะไม่ได้!?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พระราชวังจันทร์ “วังพระนเศวร” เมืองพิษณุโลก ที่ประสูติ ที่ประทับ ของสมเด็จพระนเรศวรฯ. โดยพิเศษ เจียจันทร์พงษ์. มติชน. 2546
ปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งล่าสุดเมื่อ 17 พฤษภาคม 2562