
ผู้เขียน | ชุติพงศ์ ปะทาเส |
---|---|
เผยแพร่ |
ทำไมพระเจ้าตากฯ ต้องไปตีก๊กพิษณุโลก ก๊กที่เข้มแข็งที่สุดในเวลานั้นเป็นก๊กแรก สถานการณ์หลังเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างไร
พุทธศักราช 2310 พระเจ้าตากฯ ทรงนำไพร่พล 3,000 คน เข้าขับไล่กองทัพพม่า ที่ตั้งอยู่ ณ ค่ายโพธิ์สามต้นได้สำเร็จ พร้อมกับปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี
สภาพบ้านเมืองในขณะนั้นบอบช้ำจากสงคราม เหล่าบรรดาหัวเมืองทั้งเจ็ดที่เป็นอาณาเขตของพระองค์ ล้วนได้รับความเสียหายจากพิษภัยการรุกรานของพม่า ไร้ซึ่งผู้คนที่เคยอยู่อาศัย เศษซากของสิ่งที่บ่งบอกความเป็นเมืองถูกลบล้างด้วยไฟที่แผดเผาเป็นเถ้าถ่าน เหลือเพียงแค่เมืองจันทบุรีที่ยังคงเป็นปกติ

พระเจ้าตากฯทรงใช้พระราชทรัพย์ฟื้นฟูความเป็นอยู่ของราษฎรที่ประสบกับสภาวะอดอยากในเมืองจันทบุรี อีกทั้งเพื่อให้ชาวต่างเมืองรู้ว่าข้าวของจากกรุงธนบุรีถูก ดึงดูดให้ผู้คนต่างเมืองนำของเข้ามาค้าขาย และเป็นการประกาศว่าพระองค์กำลังก่อร่างสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ด้วยพระเมตตาสำหรับชาวเมืองที่ไร้ถิ่นพักพิง พร้อมทั้งจัดกำลังทหารไปประจำหัวเมืองทั้ง 11 เมืองที่ยังพอมีผู้คนหลงเหลืออยู่ อันประกอบไปด้วย หัวเมืองทางทิศเหนือ มีกรุงเก่า เมืองลพบุรี เมืองอ่างทอง หัวเมืองทางทิศตะวันออก มีเมืองฉะเชิงเทรา เมืองชลบุรี เมืองระยอง เมืองจันทบุรี เมืองตราด หัวเมืองตะวันตก มีเมืองนครชัยศรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี
แต่กระนั้นแผ่นดินก็ยังคงมีการแบ่งแยกออกเป็นก๊กต่างๆ นั่นจึงเป็นเหตุให้พระองค์ต้องการที่จะรวบรวมแผ่นดินให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียว โดยการทำศึกกับก๊กต่างๆ ซึ่งหนึ่งในก๊กที่สำคัญและมีบทบาทในประวัติศาสตร์การทำสงครามรวมแผ่นดิน คือก๊กเจ้าพระยาพิษณุโลกแห่งเมืองพิษณุโลก
การมีอิทธิพลของก๊กเจ้าพระยาพิษณุโลกในสมัยธนบุรีช่วงที่บ้านเมืองเกิดความแตกแยกนั้น ปฐมพงษ์ สุขเล็ก อาจารย์ประจำสาขาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ได้ค้นคว้าศึกษาประวัติศาสตร์เมืองพิษณุโลกในสมัยของพระเจ้าตากฯ จากเอกสารขั้นต้นงานวิชาการต่างๆ ข้อมูลในการนำเสนอเป็นบทความชื่อ “เหตุใด ‘พระเจ้าตากฯ ทรงเลือกปราบเมืองพิษณุโลกเป็นก๊กแรก’ และเสด็จฯ มาพิษณุโลกกี่ครั้ง…มาทำอะไร?” ลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ เดือนธันวาคม 2561
ความน่าสนใจในตัวบทความ คือการที่คุณปฐมพงษ์ตั้งประเด็นคำถามหลักๆ กับประวัติศาสตร์ของพระเจ้าตากฯ โดยสืบเนื่องมาจากช่วงที่แผ่นดินจลาจล มีการแบ่งแยกออกมาเป็นก๊กต่างๆ ซึ่งในขณะนั้นปรากฏเป็น 5 ก๊กใหญ่ (รวมกรุงธนบุรีของพระองค์ด้วย) อันได้แก่
ก๊กสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกรุงธนบุรี ของพระเจ้าตากฯ มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่กรุงธนบุรีลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
ก๊กเจ้าพระยาพิษณุโลกที่เมืองพิษณุโลก ของพระยาพิษณุโลกมีศูนย์กลางอำนาจอยู่เมืองพิษณุโลกมีอาณาเขตเมืองนครสวรรค์ไปถึงเมืองพิชัย
ก๊กเจ้าพระฝางที่เมืองสวางคบุรี ของพระพากุลเถระ (เรือน) มีศูนย์กลางอยู่เมืองสวางคบุรีมีอาณาเขตเหนือเมืองพิชัยขึ้นไปเมืองแพร่และเมืองน่าน
ก๊กเจ้านครศรีธรรมราชที่เมืองนครศรีธรรมราช ของเจ้านครศรีธรรมราช มีศูนย์กลางอยู่เมืองนครศรีธรรมราช มีอาณาเขตเมืองชุมพรจนถึงเขตแดนมลายู
ก๊กเจ้าพิมายที่เมืองพิมาย ของกรมหมื่นเทพพิพิธ มีศูนย์กลางอำนาจอยู่เมืองพิมาย มีอาณาเขตแขวงหัวเมืองตะวันตกฝ่ายดอนไปถึงแดนกรุงศรีสัตนาคนหุต ฝ่ายใต้ลงมาถึงเมืองสระบุรี

โดยเฉพาะก๊กของเจ้าพระยาพิษณุโลกที่เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ขึ้นชื่อในเรื่องกำลังพลและเชี่ยวชาญในยุทธวิธีสงคราม จากวีรกรรมการยกพลไปต้านทัพพม่าที่สุโขทัยเมื่อครั้งก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก ทั้งยังเป็นเมืองที่ทัพพม่าหลีกเลี่ยงที่จะผ่านเข้าไปตีกรุงศรีฯ ซึ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงทราบเป็นอย่างดี เมื่อครั้งที่พระองค์ยังทรงเป็นขุนนาง
ในขณะนั้นมีก๊กที่ดูอ่อนแอกว่าก๊กเป้าหมายที่พระองค์ทรงเลือก อย่างเช่นก๊กเจ้าพิมายที่กำลังอยู่ในช่วงตั้งตัวของพระองค์เจ้าแขก หรือกรมหมื่นเทพพิพิธ อดีตเชื้อพระวงศ์แห่งบ้านพลูหลวง และก๊กเจ้าพระฝางที่เป็นเพียงแค่หัวเมืองเล็กๆ มีผู้นำคือพระพากุลเถระ (เรือน) ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่มีสถานะเป็นพระสังฆราชาแห่งวัดพระฝาง แต่ทำไมทรงเลือกตีก๊กเจ้าพระยาพิษณุโลก?
ก๊กพระยาพิษณุโลกมีความแข็งแกร่งมากเมื่อพระเจ้าตากฯ ยกไปตีครั้งแรกต้องพ่ายแพ้กลับมาเพราะพระองค์ทรงต้องพระแสงปืนที่บริเวณพระชงฆ์ (แข้ง) ด้านซ้าย พระองค์จึงจำต้องถอนทัพกลับ ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาพิษณุโลกถึงแก่พิราลัย พระอินทรอากรผู้เป็นน้องชายขึ้นครองก๊กแทน แต่ด้วยความที่ไม่ชำนาญในการรบ จึงทำให้กองทัพของก๊กเจ้าพระฝางสามารถเข้าตีและยึดครองได้สำเร็จ หากก็ถูกพระเจ้าตากฯ ทรงปราบทั้งหมด
ภายหลังจากการปราบก๊กเจ้าพระยาพิษณุโลกและก๊กเจ้าพระฝาง พระองค์ทรงวางพระราชอำนาจโดยให้พระยายมราชและพระยาสุรสีห์เป็นผู้ปกครองเมืองพิษณุโลก พร้อมทั้งอุปสมบทเหล่าพระภิกษุของก๊กเจ้าพระฝางใหม่
ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อเมืองพิษณุโลก ภายใต้พระราชอำนาจของพระเจ้าตากฯ อันนำไปสู่ในการเสด็จฯ เยือนในครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 ต่อไป ซึ่งการเสด็จฯ มาในแต่ละครั้งล้วนมีความสำคัญต่อเมืองพิษณุโลก
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ธันวาคม 2561