ปากพิง-คลองพิง คลองสำคัญบนเส้นทางสัญจร-การค้า-สงคราม ในปวศ.ไทย

ปากพิง คือส่วนหนึ่งของ “คลองพิง” เป็นคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำสำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำน่านกับแม่น้ำยม บริเวณปากคลองที่เชื่อมกับแม่น้ำน่านเรียกว่าปากพิง และบริเวณเชื่อมกับแม่น้ำยมเรียกว่าปากน้ำกรับพวง (หรือกระพวง) เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่สำคัญ ปรากฏชื่อปากพิงในเอกสารทางประวัติศาสตร์อย่างน้อยในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งสมเด็จพระมหินทราธิราชต้องการตีเมืองพิษณุโลก และยังมีบทบาทสืบต่อมาในการตั้งทัพรับศึกอะแซหวุ่นกี้สมัยกรุงธนบุรี และสงครามเก้าทัพสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

บริเวณคลองพิงจึงเป็นชัยภูมิที่สำคัญในการตั้งทัพเมื่อยามศึก อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญควบคู่กันคือการเป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญทั้งระหว่างเมืองในเขตลุ่มแม่น้ำน่าน และแม่น้ำยม รวมถึงเป็นเส้นทางสัญจรระหว่างเมืองใต้ (อาณาจักรบริเวณภาคกลาง) และเมืองเหนือ (ตั้งแต่ปากน้ำโพขึ้นไป) [1] …

Advertisement

“คลองพิง” เส้นทางสัญจรสำคัญในอดีต

คลองพิงเป็นคลองที่เชื่อมแม่น้ำสายสำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำน่านช่วงใต้เมืองพิษณุโลก ปัจจุบันคือบริเวณบ้านปากพิงตะวันตก ตำบลงิ้วงาม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เรียกบริเวณที่ลำน้ำเชื่อมต่อกันว่าปากพิง และแม่น้ำยมบริเวณวัดกรับพวง ตำบลวังอิทก อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เรียกบริเวณลำน้ำที่เชื่อมต่อกันว่าปากน้ำกรับพวง หรือปากคลองกระพวง เป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญในสมัยโบราณ มีระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร เพราะเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างเมืองสำคัญในลุ่มแม่น้ำทั้ง 2 สาย คือ กลุ่มเมืองในลุ่มแม่น้ำน่าน ได้แก่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และพิจิตร และกลุ่มเมืองในลุ่มแม่น้ำยม ได้แก่ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย

ในสมัยสุโขทัย แม้ว่าเอกสารทางประวัติศาสตร์เพิ่งกล่าวถึงการสัญจรบริเวณคลองพิงในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา แต่ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของคลองพิงซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คลองพิงเป็นเส้นทางสัญจรสำคัญ สันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มเป็นเส้นทางสัญจรอย่างน้อยตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพราะเป็นเส้นทางหนึ่งในการสัญจรระหว่างเมืองอุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย และศรีสัชนาลัย อีกทั้งหลักฐานทางโบราณคดีได้พบชิ้นส่วนเครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัยบริเวณริมคลองพิง [2]

นอกจากนี้การศึกษาของ ธีระวัฒน์ แสนคำ ในเรื่องแหล่งทำเกลือโบราณเมืองพิษณุโลก ได้กล่าวถึงคลองพิงว่าเป็นเส้นทางค้าเกลือโบราณที่ขนส่งมาตามแม่น้ำแควน้อยทั้งสายเก่าและสายใหม่เข้าสู่แม่น้ำน่านเพื่อที่จะส่งต่อไปยังเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งจะต้องใช้เส้นทางนี้โดยเข้าสู่คลองพิง แล้วออกทางแม่น้ำยมมุ่งตรงไปยังเมืองสุโขทัย [3]

แผนที่คลองพิงในปัจจุบัน (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2556)

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงปากพิงเมื่อครั้งสมเด็จพระมหินทราธิราชลวงพระมหาธรรมราชาเพื่อต้องการตีเมืองพิษณุโลก ด้วยการยกทัพจากกรุงศรีอยุธยามาทางแม่น้ำน่านแล้วตั้งทัพหลวงที่ปากพิง พระยารามและพระยาจักรีเป็นกองหน้าขึ้นไปตั้งค่ายที่วัดจุฬามณี ส่วนทัพเรือจอดตั้งแต่วัดจุฬามณีทั้งสองฟากแม่น้ำน่านแน่นตลอดลงไปถึงทัพหลวง และคาดว่าบริเวณนี้ยังเป็นเส้นทางสัญจร รวมถึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกต่อมา เพราะในสมัยกรุงธนบุรีเมื่อครั้งศึกอะแซหวุ่นกี้ตีเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จยกทัพหลวงไปช่วย และได้ตั้งทัพหลวงที่ปากพิงเช่นกัน [4]

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ภูมิศาสตร์คลองพิงยังคงเป็นเส้นทางสัญจรและจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในเหตุการณ์สงครามเก้าทัพ ปรากฏในวรรณคดีเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน และเส้นทางการเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

คลองพิงกับสงครามเก้าทัพ ในปี พ.ศ. 2328 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่าได้เกณฑ์พลทั้งในเมืองหลวง หัวเมืองขึ้นตลอดจนเมืองประเทศราชรวมจำนวนกว่า 144,000 คน จัดกระบวนทัพเป็น 9 ทัพ เพื่อหมายจะตีไทยให้เป็นข้าขอบขัณฑสีมาอีกครั้ง

กองทัพที่ 1 เข้าตีภาคใต้ตั้งแต่ชุมพรไปจนถึงสงขลา ส่วนทัพเรือนั้นได้ตีหัวเมืองชายทะเลตะวันตกตั้งแต่เมืองตะกั่วป่าจนถึงเมืองถลาง

กองทัพที่ 2 เข้าตีทางตะวันตกของไทยตั้งแต่ราชบุรี เพชรบุรี และบรรจบกับทัพที่ 1 ที่เมืองชุมพร

กองทัพที่ 3 หวุ่นคยีสะโดะศรีมหาอุจจะนา เจ้าเมืองตองอูเป็นแม่ทัพถือพล 30,000 คน เคลื่อนกำลังเข้าไทยทางเชียงแสน และหัวเมืองริมแม่น้ำน่านตั้งแต่เมืองสวรรคโลก สุโขทัย พิษณุโลก อีกส่วนหนึ่งแยกเข้าเมืองเชียงใหม่ ลำปาง แล้วเดินทัพมาบรรจบกันที่นครสวรรค์

กองทัพที่ 4 เข้าตีกรุงเทพฯ โดยผ่านด่านเจดีย์สามองค์

กองทัพที่ 5 เป็นกองหนุนของทัพที่ 4

กองทัพที่ 6 และ 7 รวมพลที่เมืองเมาะตะมะ

กองทัพที่ 8 เป็นทัพหลวง พระเจ้าปดุงเป็นแม่ทัพ รวมพลที่เมืองเมาะตะมะ

และกองทัพที่ 9 เข้าตีเมืองตากและกำแพงเพชร แล้วหวังบรรจบกองทัพหลวงที่กรุงเทพฯ การยกทัพมาครั้งนี้พระเจ้าปดุงหวังตีไทยให้สำเร็จเพื่อเป็นเกียรติยศดังเช่นพระเจ้าบุเรงนองแต่ครั้งก่อน ด้วยเห็นว่าสถานการณ์ทางไทยนั้นเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มสร้างพระนคร และไพร่พลยังไม่เข้มแข็งนัก

จิตรกรรมเขียนขึ้นใหม่ ภาพเหตุการณ์ “สมรภูมิปากพิง” แขวนอยู่ภายในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วัดปากพิงตะวันตก จังหวัดพิษณุโลก ภาพ : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จฯ นำกองทัพเรือมาถึงบ้านปากพิง เมืองพิษณุโลก (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2556)

กองทัพพม่าที่มีความสัมพันธ์กับบริเวณคลองพิง คือทัพที่แยกออกมาจากกองทัพที่ 3 เนมะโยสีหะปติเป็นแม่ทัพ มีกำลัง 5,000 คน ยกเข้ามาทางแจ้ห่ม เมื่อตีเมืองสวรรคโลกได้แล้ว หวังจะเดินทัพลงมาทางทิศใต้ แต่พบทหารไทยสกัดอยู่ในเส้นทางเดินทัพจึงได้นำกำลังมาตั้งค่ายอยู่ที่ปากพิงเพื่อรอทัพของพระเจ้าตองอูที่กำลังล้อมเมืองลำปาง ดังปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ ดังนี้

ครั้นมาพบกองทัพไทยตั้งสกัดอยู่ เนมะโยสีหะปติที่ยกมาทางเมืองสวรรคโลกจึงตั้งทัพอยู่ที่ปากพิงใต้เมืองพิษณุโลกด้วยเป็นที่สำคัญ ทางน้ำร่วมไปมาถึงกันในระหว่างลำน้ำยมกับแม่น้ำแควใหญ่ [5] (พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า)

จากข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นว่าฝ่ายพม่าได้รับรู้ถึงภูมิศาสตร์บริเวณปากพิงเช่นกันว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในด้านการสัญจรระหว่างแม่น้ำสำคัญทั้ง 2 สาย ในการเดินทางไปยังเมืองสำคัญต่าง ๆ เหมาะแก่การเป็นฝ่ายรุกมายังกรุงเทพฯ หรือเป็นฝ่ายตั้งรับเพื่อถอยกลับพม่า โดยผ่านทางสุโขทัยและตาก ด้วยความสำคัญของพื้นที่ยุทธศาสตร์เช่นนี้ กองทัพฝ่ายไทยนำโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงมีคำสั่งให้เร่งตีพม่าที่ปากพิงให้สำเร็จโดยเร็ว ดังปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ ดังนี้

…ให้เรือตำรวจขึ้นไปเร่งกองทัพกรมพระราชวังหลัง และเจ้าพระยามหาเสนาให้ยกทัพเข้าตีพม่า ณ ปากน้ำพึงให้แตกแต่ในวันเดียว แม้นเนิ่นช้าไปจะเอาโทษถึงชีวิต และกรมพระราชวังหลังกับเจ้าพระยามหาเสนาได้แจ้งในข้อรับสั่งดั่งนั้นก็ตรวจเตรียมพลทหารทุกทัพทุกกองพร้อมเสร็จ

ครั้นถึง ณ วันอาทิตย์ เดือน 4 แรม 4 ค่ำ เพลาเช้า ก็ยกพลทหารทั้งปวงเข้าโจมตีค่ายพม่าทุก ๆ ค่าย พม่าต่อรบเป็นสามารถ ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบกันทั้งสองฝ่ายรบกันตั้งแต่เช้าจนค่ำ ด้วยเดชะพระบรมโพธิสมภารบันดาลให้พวกพม่าสยบสยอนย่อท้อเกรงกลัวพระราชกฤษฎาเดชานุภาพเป็นกำลัง มิอาจต่อต้านได้

พอเพลาประมาณยามหนึ่งทัพพม่าก็แตกฉานพ่ายหนีออกจากค่ายทุก ๆ ค่าย ลงข้ามแม่น้ำหนีไปฟากตะวันตกทั้งสิ้น แต่จมน้ำตายทั้งคนทั้งม้าประมาณแปดร้อยเศษ ศพลอยเต็มแม่น้ำจนน้ำกินมิได้ พลทัพไทยไล่ติดตามจับได้เป็นอันมาก กรมพระราชวังหลัง และเจ้าพระยามหาเสนาจึงให้ม้าใช้รีบลงไปกราบทูลพระกรุณา ณ ค่ายหลวงบางข้าวตอกว่าตีทัพพม่าแตกไปแล้ว [6]

จิตรกรรมเขียนขึ้นใหม่ ภาพเหตุการณ์ “สมรภูมิปากพิง” แขวนอยู่ภายในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วัดปากพิงตะวันตก จังหวัดพิษณุโลก ภาพ : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชดำรัสสั่งให้นำปืนใหญ่รางเกวียน 8 กระบอก ไปเพิ่มเติมรักษาค่ายปากพิงตะวันตก (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2556)

การตีทัพพม่าที่ปากพิงข้างต้น ฝ่ายไทยสามารถตีค่ายพม่าได้หมดทุกค่าย และสังหารทหารพม่าล้มตายเป็นจำนวนมากดังที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ข้างต้น เมื่อทัพพระยามหาเสนาตีพม่าค่ายปากพิงได้สำเร็จแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการให้เคลื่อนทัพจากปากพิงไปขับไล่โจมตีทัพพม่าที่ลำปาง และโปรดเกล้าฯ ให้ทัพของเจ้าฟ้ากรมหลวงเจษฎายกขึ้นไปด้วย ผนวกกับทหารของพระยากาวิละ (เมืองลำปาง) ตีกระหนาบออกมาทำให้ทัพพม่าของพระเจ้าตองอูแตกพ่ายบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ที่เหลือก็ถอยทัพกลับไปทางเชียงแสน

มีผู้วิเคราะห์ถึงยุทธวิธีที่ผิดพลาดของฝ่ายพม่าค่ายปากพิงว่าเป็นเพราะการตั้งค่ายฝั่งตะวันออกของปากพิง หรือทางทิศตะวันออกของแม่น้ำน่าน ด้วยเหตุนี้เมื่อฝ่ายไทยเข้ารุกไล่แล้วทหารพม่าจึงถอยหนีกลับพม่า แต่ต้องข้ามลำน้ำน่านเพื่อหนีต่อไปยังสุโขทัย ตาก และเข้าพม่าที่ลำน้ำเมย การถอยหนีข้ามลำน้ำน่านนี่เองเป็นจุดอ่อนที่ฝ่ายไทยรุกไล่ติดตามอย่างกระชั้นชิด [7]

การศึกกับพม่าในสงครามเก้าทัพครั้งนี้ฝ่ายไทยสามารถขับไล่กองทัพพม่าทั้งหมดได้สำเร็จด้วยกำลังพล เพียง 70,000 คน…

จิตรกรรมเขียนขึ้นใหม่ ภาพเหตุการณ์ “สมรภูมิปากพิง” แขวนอยู่ภายในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วัดปากพิงตะวันตก จังหวัดพิษณุโลก ภาพ : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทอดพระเนตรและวางแผนการรบที่สมรภูมิปากพิง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2556)

คลองพิงกับการเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ การสัญจรทางคลองพิงครั้งสำคัญที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ในสมัยต่อมาคือการเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือเมื่อปี พ.ศ. 2444 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทางแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท และนครสวรรค์ แล้วแยกเข้าแม่น้ำน่านผ่านพิจิตร และเมื่อออกจากเมืองพิจิตรได้เสด็จฯ ประทับพลับพลาที่ปากพิงก่อนที่จะเข้าสู่ตัวเมืองพิษณุโลก ในวันรุ่งขึ้น ขณะที่ประทับที่ปากพิงนั้นพระองค์ได้เสด็จฯ ล่องเรือเพื่อสำรวจคลองพิงได้กล่าวถึงสภาพคลองพิง และพื้นที่บริเวณนั้น ปรากฏในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 11 ดังนี้

จดหมายฉบับที่ 11 ปากน้ำพิง วันที่ 15 ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก 120 ถึงกรมหลวงเทวะวงษวโรปการ

อนุสนธิรายงานวันนี้ เวลาเช้าโมงหนึ่งออกเรือจากเมืองพิจิตรมาถึงตำบลปากพิงเวลาบ่าย 4 โมง…

เมื่อมาถึงที่พลับพลาแล้วได้ลงเรือเล็กเข้าไปในแม่น้ำพิง ที่จริงตัวลำน้ำนั้นก็ยังกว้าง แต่แขมเลางอกปรกลงมาในน้ำห่างจากสองข้างตลิ่งเป็นอันมาก จึงแลเห็นเป็นคลองเล็ก น้ำก็ยังลึก เขาว่าต่อเมื่อเข้าไปถึงกลาง ๆ จึงตื้นบ้าง แต่ดังนั้นหน้าน้ำเรือใหญ่ ๆ ก็ยังเดินอยู่เสมอ พระยารณไชยชาญยุทธแจ้งว่าเมื่อยังหนุ่ม ๆ อยู่แพไม้ล่องทางน้ำพิงและลำน้ำพิจิตรเก่าทั้งนั้น คลองกระพวงและคลองเรียงยังเป็นคลองเล็ก เข้าไปในลำน้ำพิงประมาณสัก 15 เส้น ขึ้นบกเดินขึ้นไปอีกไม่มากมีที่ตั้งค่ายคู และสนามเพลาะยังปรากฏอยู่ ชาวบ้านที่ทำนาในที่นั้นว่าขุดพบกระสุนปืนบ่อย ๆ ตรวจดูเห็นว่าจะเป็นค่ายพม่าทัพฝ่ายเหนือ เมื่อจุลศักราช 1147 ซึ่งกรมพระราชวังหลังขึ้นมาต่อสู้ และเสด็จพระราชดำเนินหนุนขึ้นมาถึงเมืองนครสวรรค์ก็พบพม่าแตกไปนั้น… [10]

จากพระราชหัตถเลขาข้างต้นเป็นหลักฐานสำคัญที่บันทึกสภาพของคลองพิงเมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา คลองพิงได้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่สำคัญซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในการเดินทางไปมาระหว่างภาคเหนือ และภาคกลาง อีกทั้งยังใช้เป็นเส้นทางล่องแพไม้ (น่าจะหมายถึงท่อนซุง จากเมืองแถบลุ่มแม่น้ำยม เช่น เมืองแพร่ มาสู่เมืองแถบลุ่มแม่น้ำน่าน หรือล่องลงมาภาคกลาง) อีกด้วย

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับพักที่ปากพิงแล้วได้เสด็จฯ ต่อไปยังเมืองพิษณุโลก ดังที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาฉบับต่อมา ดังนี้

จดหมายฉบับที่ 12 วันที่ 17 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 120 ถึงกรมหลวงเทวะวงษวโรปการ

อนุสนธิรายงานเมื่อวานนี้ เวลาเช้า 2 โมงออกจากปากพิงขึ้นมาถึงเมืองพิษณุโลกเวลาบ่าย 2 โมงเศษ ระยะทางที่มามีบ้านเรือนและวัดถี่ ที่ข้างในเข้าไปเป็นนาตลอดไปทั้งนั้น… [11]

คลองพิงในปัจจุบัน (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2556)

พระราชหัตถเลขาการเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือทั้ง 2 ฉบับข้างต้น ได้กล่าวถึงสภาพคลองพิงและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง หลังจากที่พระองค์ประทับพักที่ปากพิง 1 คืน วันรุ่งขึ้นจึงออกจากปากพิงแล้วมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือตามแม่น้ำน่านเพื่อเข้าสู่เมืองพิษณุโลก และพรหมพิรามตามลำดับต่อไป

จากความสำคัญของพื้นที่คลองพิงดังที่ได้กล่าวมานั้นล้วนแล้วแต่เป็นเหตุการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทยทั้งเป็นจุดชัยภูมิในการศึก เส้นทางสัญจร ค้าขาย เส้นทางเดินทัพ แม้กระทั่งเป็นเส้นทางเสด็จฯ

ผู้เขียนได้มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจเส้นทางคลองพิงพบว่ามีชาวบ้านได้พบใบหอก ลูกกระสุนปืนใหญ่ ลูกกระสุนปืนเล็ก เสาไม้โบราณ ชิ้นส่วนกระดูก และชิ้นส่วนภาชนะดินเผาจำนวนมาก ได้เก็บรวบรวมไว้ที่วัดปากพิงตะวันตก ซึ่งทางวัดกำลังดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุเหล่านี้ต่อไป ชาวบ้านบริเวณปากพิงยังเล่าให้ฟังอีกว่า “สมัยก่อนเวลาขุดดินจะพบลูกเหล็ก (ลูกกระสุนปืน) จำนวนมาก แต่ก็ไม่ทราบว่าเป็นลูกอะไร” ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อความที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 11 ที่กล่าวถึงชาวบ้านที่ทำนาบริเวณคลองพิงไปขุดพบกระสุนปืนบ่อย ๆ …

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ประยุทธ สิทธิพันธ์. (2552). ประวัติศาสตร์ประพาสต้นของพระพุทธเจ้าหลวง เล่ม 1. น.7.

[2] ธีระวัฒน์ แสนคำ และคณะ. (2553). คลองพิง : เส้นทางน้ำสายประวัติศาสตร์. น. 28.

[3] เรื่องเดียวกัน. น. 28.

[4] โปรดดูรายละเอียดใน “’สมรภูมิรบปากพิง’ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับเมืองพิษณุโลก,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 34 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2556).

[5] “ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 11, (2551). น. 361.

[6] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, (2535). น. 253.

[7] รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์?. สงครามเก้าทัพ. (2543?) น.2.

[10] ประยุทธ สิทธิพันธ์. ประวัติศาสตร์ประพาสต้น ของพระพุทธเจ้าหลวง เล่ม 1. น. 43-44.

[11] เรื่องเดียวกัน. น. 45.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ภูมิศาสตร์ ‘คลองพิง’ ชัยภูมิ (ใน) ประวัติศาสตร์ จากวันนั้น…ถึงวันนี้เป็นอย่างไร?” เขียนโดย ปฐมพงษ์ สุขเล็ก ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ธันวาคม 2564