ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2559 |
---|---|
ผู้เขียน | วรชาติ มีชูบท |
เผยแพร่ |
นอกจากกำแพงเมืองทั้งชั้นนอกและชั้นใน อันเป็นปราการสำคัญในการป้องกันเมืองนครเชียงใหม่แล้ว ในบริเวณกำแพงเมืองนั้น ยังมีประตูเมืองซึ่งเป็นช่องทางเชื่อมต่อภายในและภายนอกกำแพงเมืองทั้งชั้นในและชั้นนอก กระจายกันอยู่ตลอดแนวกำแพงเมืองทุกด้าน
รูปแบบของประตูเมืองนครเชียงใหม่จะเป็นเช่นไร ในปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยให้พบเห็นเลย แต่พบความตอนหนึ่งในโคลงนิราศหริภุญชัยที่กล่าวถึงประตูเมืองเชียงใหม่ไว้ว่า
“(ฉบับเชียงใหม่)
ลุถึงเชียงใหม่หม้า ทวารทอง
เอียงอาศประการสอง เขื่อนขั้ง
เหราเฟือดฟัดฟอง คือคร่าย งามเอ่
หอเลิศเลยต้ายตั้ง ข่ามข้าเสิกแสลง
(ฉบับหอสมุดฯ)
ลุถึงเชียงใหม่หม้า ทวารทอง
เวียงวาสปราการสอง เขื่อนขั้ง
เหราเฟือดฟัดฟอง คือค่าย งามเอย
หอเลิศเลยต้ายตั้ง ข่ามข้าศึกแสลง…”[1]
ความในโคลงนิราศหริภุญชัยที่ว่า “เวียงวาสปราการสอง เขื่อนขั้ง” นั้น เป็นหลักฐานเพียงชิ้นเดียวที่ยืนยันว่า ประตูเมืองเชียงใหม่เป็นประตู 2 ชั้น แต่ประตูเมือง 2 ชั้นที่ว่านั้นมีรูปลักษณะอย่างไร เป็นปัญหาที่นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ได้พยายามค้นคว้าหาคำตอบกันมานาน
ในชั้นแรกคงพบแต่หลักฐานในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับต่างๆ ว่า “…เมืองเชียงใหม่เมื่อแรกสร้างนั้นคงมีประตูอยู่เพียง 4 ประตู คือ ประตูหัวเวียง ประตูเชียงใหม่ ประตูเชียงเรือก และประตูสวนดอก ต่อมาได้มีการเจาะเพิ่มเติมอีกหลายประตู…”[2] คือ ประตูสวนแห และประตูศรีภูมิ ซึ่งไม่พบหลักฐานว่าประตูทั้งสองนี้อยู่ที่บริเวณใดของเมืองนครเชียงใหม่ ส่วนประตูเมืองชั้นในที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิละและคงปรากฏชื่อพร้อมที่ตั้งมาจนถึงปัจจุบันนี้ มีอยู่ 5 ประตู คือ
ประตูหัวเวียง หรือประตูช้างเผือก เป็นประตูเมืองด้านทิศเหนือ ถือกันมาแต่โบราณว่า เป็นประตูมงคล ในพิธีราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่จะเสด็จเข้าเมืองทางประตูนี้ ธรรมเนียมนี้ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงสมัยที่เจ้าแก้วนวรัฐฯ ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นเจ้านครเชียงใหม่องค์สุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2454
ประตูท่าแพชั้นใน หรือประตูเชียงเรือก เป็นประตูเมืองด้านทิศตะวันออก
ประตูเชียงใหม่ หรือประตูท้ายเวียง เป็นประตูเมืองด้านทิศใต้
ประตูสวนดอก เป็นประตูเมืองด้านทิศตะวันตก
นอกจากนั้นยังมีประตูเมืองทางด้านทิศใต้อีกประตูหนึ่งชื่อ ประตูแสงปุง หรือประตูสวนปรุง อยู่ถัดจากประตูเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตก จัดเป็น “ประตูผี” ของเมืองนครเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิม “…เมื่อมีคนตายภายในตัวเมืองจะนำศพออกทางประตูสวนปรุง เพื่อนำไปประกอบพิธีกรรมนอกเมือง…” [3] แม้ในปัจจุบันนี้ก็ยังถือปฏิบัติกันอยู่
ประตูเมืองนครเชียงใหม่ชั้นในทั้ง 5 ประตูนี้ นอกจากจะมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในโคลงนิราศหริภุญชัยว่า มีลักษณะเป็น “ปราการสองเขื่อนขั้ง” แล้ว ยังพบภาพถ่ายประตูเมืองนครเชียงใหม่อีกภาพหนึ่ง คือ ประตูท่าแพชั้นนอกซึ่งมีข้อมูลระบุไว้ที่หลังภาพว่า ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2442 เป็นพยานยืนยันว่า ประตูเมืองนครเชียงใหม่นั้นมี 2 ชั้นจริง แต่แนวประตู 2 ชั้นนั้นจะยื่นเข้ามาหรือยื่นออกไปจากแนวกำแพงเมืองนั้นเป็นปริศนาที่นักโบราณคดีพยายามสืบค้นกันมานานและยังหาข้อยุติมิได้
ในการสืบค้นเพื่อหาหลักฐานเรื่องกำแพงและประตูเมืองนครเชียงใหม่เพิ่มเติมนั้น นอกจากจะได้พบภาพถ่ายประตูเมือง 2 ชั้นแล้ว ยังพบความในพระนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพม่า” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้คราวเสด็จประพาสประเทศพม่า พ.ศ. 2478 ว่า
“…เมืองมัณฑเลนั้นแผนผังเอาอย่างเมืองอมรบุระมาสร้าง ตัวพระนครเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส วางแนวกำแพงให้ตรงตามทิศทั้ง 4 ยาวด้านละ 600 ตะ (ตะหนึ่งหย่อน 8 ศอกไทยสักนิ้วหนึ่ง) รวมทั้ง 4 ด้านยาว 2,400 ตะ เท่าจำนวนพุทธศักราชเมื่อสร้างเมือง… มีประตูเมืองด้านละ 3 ประตู ประตูเมืองก่ออิฐถือปูนเป็นป้อมมีหลังคาทำด้วยไม้ทาดินแดงเป็นทรงปราสาท 7 ชั้นมีมุข 2 ข้าง
หอรบก็มีหลังคาทรงปราสาททุกหอ ตรงประตูเมืองข้างนอกก่ออิฐเป็นลับแลสูงเท่ากำแพงเมือง สำหรับบังทางปืนมิให้ยิงกรอกช่องประตู ทางเข้าออกต้องเลี้ยวหลีกลับแลนั้น มีถนนรอบกำแพงข้างด้านนอก พ้นถนนถึงคูเมืองมีน้ำขัง กว้าง 26 วา ลึก 10 ศอก ตลอดแนวกำแพงทุกด้าน มีสะพานทางข้ามคูเมือง 5 แห่งเข้าพระนครทางประตูกลางทุกด้าน มีสะพานทางข้ามคูเมือง 5 แห่งเข้าพระนครทางประตูกลางทุกด้าน
แต่ด้านตะวันตกมีสะพานข้ามเข้าประตูใต้อีกสะพานหนึ่ง เป็นสะพาน ‘ประตูผี’ (นครธมเมืองเขมรก็มี) ทุกสะพานกว้างราวสัก 4 วา ก่ออิฐถมดินออกไปในคูเมืองข้างละสักส่วนหนึ่ง ปักเสา ปูพื้นกระดานตรงกลางคูสักส่วนหนึ่งสำหรับรื้อเปิดเป็นทางเรือเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จเลียบพระนคร…” [4]
ครั้นนำภาพถ่ายประตูเมืองนครเชียงใหม่ (ประตูท่าแพชั้นนอก) ซึ่งระบุเวลาการถ่ายภาพไว้เมื่อ พ.ศ. 2442 กับรูปประตูเมืองทั้งชั้นนอกและชั้นในที่ปรากฏในแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 มาพิจารณาประกอบกับข้อมูลเรื่องกำแพงและประตูเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิจารณ์ไว้ว่า
“…ถ้าจะเปรียบเมืองมัณฑเลกับเมืองอื่นที่ฉันได้เคยเห็นมา ดูคล้ายกับเมืองเชียงใหม่ยิ่งกว่าเมืองอื่น เป็นแต่เมืองเชียงใหม่เล็กกว่าและมิได้รักษาเหมือนอย่างมัณฑเล แม้ดินฟ้าอากาศก็คล้ายกัน…” [5] แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า กำแพงและประตูเมืองนครเชียงใหม่นั้นมีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับกำแพงและประตูเมืองมัณฑะเลย์ซึ่งถ่ายแบบมาจากเมืองอมรปุระเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนกำหนดเปิดปิดประตูเมืองนครเชียงใหม่นั้น จะมีกำหนดเวลาปิดตั้งแต่ “…เวลา 21 นาฬิกา ไปจนรุ่งสางทุกวัน…” [6] และปิดเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ คือ “…ก) เวลาเสด็จออกมหาสมาคม ข) ไฟไหม้ ค) เกิดจลาจลในพระนคร หรือใกล้พระนคร ฆ) เวลาเมื่อสำเร็จโทษเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่…” [7]
เช่นเดียวกับการเปิดปิดประตูเมืองมัณฑะเลย์ หรือจะปิดและเปิด “…ตามกำหนดเวลา คือ ปิดเวลา 22.00 น. และเปิดในเวลา 05.00 น.” [8] ดังเช่นที่นครน่านหรือไม่ ในชั้นนี้ยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัด คงพบแค่รูปลักษณะประตูเมืองในแนวกำแพงเมืองชั้นใน ทั้งประตูหัวเวียง ประตูเชียงเรือก (ประตูท่าแพชั้นใน) และประตูสวนดอก ที่ไม่มีกำแพงเมืองชั้นนอกโอบล้อมไว้
แต่ในแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 แสดงให้เห็นว่า ประตูเมืองทั้งสามนั้นนอกจากจะมีประตูเมืองที่แนวกำแพงเมืองริมคูเวียงชั้นในแล้ว ที่ริมคูเวียงฝั่งตรงข้ามกันนั้นยังมีประตูเมืองพร้อมกำแพงอิฐก่อสูงเทียมกำแพงเมืองด้านในคูเวียงกั้นขวางไว้อีกชั้นหนึ่ง แต่ประตูเมืองที่ด้านนอกและด้านในคูเวียงนั้นวางเหลื่อมกันเป็นลับแล โดยมีหอรบอยู่ที่ด้านซ้ายของประตูเมืองฝั่งคูเวียงชั้นนอก
อนึ่ง เมื่อนำรูปลักษณะของประตูเมืองเชียงใหม่ที่ทำเป็นลับแล 2 ชั้นไปพิจารณาเปรียบเทียบลักษณะประตูเมืองสุโขทัยเก่า ดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน “เที่ยวเมืองพระร่วง” ว่า
“ตรวจดูในคำจารึกหลักศิลาของพระเจ้ารามคำแหงได้ความว่า… ประตูเมืองซึ่งกล่าวไว้ในหลักศิลาว่ามีสี่ช่องนั้น ก็ค้นพบทั้งสี่ช่อง แต่หน้าประตูออกไปที่แนวกำแพงชั้นกลาง มีป้อมบังประตูอยู่ทั้งสี่ด้าน ซึ่งทำให้เข้าใจว่า… น่าจะได้ทำขึ้นเมื่อครั้งตั้งใจรับศึกคราวใดคราวหนึ่ง แล้วเห็นว่าเป็นการมั่นคงดีจึงเลยทิ้งไว้เช่นนั้น ถ้ามิฉะนั้นคงจะไม่ทำป้อมบังประตู ซึ่งไม่ทำให้เมืองงามขึ้นเลย แต่จะทำให้มั่นขึ้นนั้นเป็นแน่ ถึงแม้ว่าในสมัยนี้ถ้าจะต้องตีเมืองเช่นนี้ก็จะไม่ใช่ตีได้ง่ายนัก” [9]
ในชั้นนี้จึงอาจจะกล่าวได้ว่า ประตูเมืองนครเชียงใหม่ในแนวกำแพงเมืองชั้นในทั้ง 4 ประตู เว้นเฉพาะประตูแสงปุงนั้น คงจะเป็นประตูเมืองที่สร้างขึ้นพร้อมการสร้างกำแพงเมืองนครเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้ามังราย โดยได้รับแบบอย่างมาจากกำแพงและประตูเมืองสุโขทัยเก่า มากกว่าที่จะได้แบบอย่างจากเมืองอมรปุระเป็นแน่
ส่วนประตูในแนวกำแพงเมืองชั้นนอกนั้นคงจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก ได้แก่ ประตูในแนวกำแพงดิน อันประกอบด้วย ประตูหายยา หรือประตูไร่ยา ในแนวกำแพงดินด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประตูหัวกอมทางทิศใต้ และประตูละแกง หรือประตูหล่ายแกง ที่มุมกำแพงดินด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 นอกจากจะแสดงให้เห็นเส้นทางสัญจรระหว่างประตูเชียงใหม่และประตูแสงปุงในแนวกำแพงเมืองชั้นในตรงไปยังประตูหัวกอมและประตูหายยา ซึ่งเป็นประตูเมืองชั้นนอกในแนวกำแพงดินแล้ว
ที่นอกประตูเมืองชั้นนอกยังแสดงให้เห็นว่า มีการทำสะพานข้ามลำคูไหวเชื่อมต่อกับเส้นทางคมนาคมที่ตัดผ่านท้องทุ่งนอกกำแพงดินด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรไปเมืองนครลำพูน ส่วนที่ประตูเมืองชั้นนอกทั้งสามนี้ ปรากฏรูปลักษณะในแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 ว่า มีการก่อกำแพงอิฐเป็นแนวโค้งออกไปจากแนวกำแพงดิน กับมีประตูเมืองชั้นเดียวอยู่ที่กึ่งกลางแนวกำแพงอิฐโค้งนั้น และที่พิเศษกว่าประตูอื่นคือ ที่ประตูละแกงนั้นดูเหมือนจะมีป้อมอยู่เหนือประตูเมืองด้วย
ส่วนที่ 2 คือ ประตูท่าแพชั้นนอก ซึ่งคงจะสร้างขึ้นพร้อมกับการก่อกำแพงเมืองชั้นนอกเป็นกำแพงอิฐต่อออกไปจากแนวกำแพงดินไปทางทิศเหนือผ่านวัดแสนฝางไปสิ้นสุดที่วัดชัยศรีภูมิ ประตูท่าแพชั้นนอกนี้มีลักษณะเป็นประตู 2 ชั้นเช่นเดียวกับประตูในแนวกำแพงเมืองชั้นใน แต่วางตำแหน่งประตูเมืองทั้งชั้นนอกและชั้นในไว้ในตำแหน่งที่เกือบจะตรงกัน
นอกจากประตูเมืองทั้งชั้นนอกและชั้นในดังได้กล่าวแล้ว ยังพบความในเอกสารประวัติศาสตร์นครเชียงใหม่อีกหลายฉบับที่กล่าวถึง “ประตูช้างม่อย” ซึ่งไม่ปรากฏในแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 แต่ในแผนที่ฉบับดังกล่าวกลับแสดงที่ตั้ง “กู่ช้างม่อย” ที่ริมคลองแม่ข่าฝั่งตะวันตกระหว่างวัดปันตาเกิ๋นหรือวัดชัยศรีภูมิกับวัดแสนฝาง ทั้งยังแสดงให้เห็นว่ามีการเจาะกำแพงเมืองชั้นนอกซึ่งเป็นกำแพงอิฐให้เป็นช่องทางออกสู่กู่ช้างม่อย โดยไม่มีประตูเมืองและไม่มีการระบุชื่อช่องทางนี้ไว้ในแผนที่ฉบับนั้นด้วย
แต่ในแผนที่แสดงทรัพย์สินของมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียนเมืองนครเชียงใหม่ ฉบับ ค.ศ. 1923 (พ.ศ. 2466) ได้แสดงที่ตั้ง “ประตูช้างม่อย” ไว้ในแนวกำแพงเมืองชั้นในด้านทิศตะวันออก ทางตอนเหนือของประตูท่าแพชั้นใน ซึ่งประตูนี้คงจะเกิดจากการเจาะกำแพงเมืองเพื่อต่อเชื่อมถนนจ่าแสน (ปัจจุบันคือถนนราชวิถี) ซึ่งเป็นถนนภายในกำแพงเมืองตัดตรงมาจากหน้าเวียงแก้ว ผ่านกลางระหว่างคุ้มหลวงกลางเวียงของพระเจ้าอินทวิชยานนท์และที่ว่าการเค้าสนามหลวง ตรงไปบรรจบกับถนนช้างม่อยตัดใหม่ ที่กำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก เหนือประตูท่าแพ ตรงหน้ากาด (ตลาด) สมเพชรในปัจจุบัน
อนึ่ง การที่ประตูเมืองนครเชียงใหม่มีการวางรูปแบบเป็น 2 ชั้น และวางตำแหน่งประตูเมืองด้านนอกและด้านในเป็นลับแลดังกล่าวนี้เอง จึงทำให้สามารถอธิบายได้ว่า เพราะแนวถนนทั้งในและนอกกำแพงเมืองต่างก็พุ่งตรงเข้าหาประตูเมือง แต่เมื่อประตูเมืองถูกกำหนดให้วางเหลื่อมกัน แนวถนนภายในกำแพงเมืองและด้านนอกกำแพงเมืองจึงพลอยเหลื่อมกันไปตามแนวประตูเมือง และเมื่อมีการรื้อประตูเมืองเพื่อต่อเชื่อมถนนภายในเมืองกับถนนด้านนอกกำแพงเมืองด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เห็นแนวถนนที่เหลื่อมกันนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น ดังเช่นที่แนวถนนพระปกเกล้าเป็นเจ้าต่อเชื่อมกับถนนช้างเผือกที่ประตูช้างเผือก ซึ่งยังคงปรากฏแนวถนนที่เหลื่อมกันอยู่จนถึงทุกวันนี้สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เชิงอรรถ :
[1] ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร. นิราศหริภุญชัย ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร สอบทานกับต้นฉบับเชียงใหม่. น. 25.
[2] สุรพล ดำริห์กุล. ข่วงเมืองและวัดหัวข่วง. น. 37.
[3] พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “ประตูผี และหน้าที่ของพระแก้วมรกต,” ใน พระแก้วมรกต ตำนานพระแก้วมรกต. น. 346.
[4] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เที่ยวเมืองพม่า. น. 152-153.
[5] เรื่องเดียวกัน, น. 160.
[6] เที่ยวเมืองพม่า, น. 530.
[7] ที่เดียวกัน.
[8] สำนักงานจังหวัดน่าน. ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดน่าน. น. 34.
[9] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. น. 36.
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ประตูเมืองนครเชียงใหม่” เขียนโดย วรชาติ มีชูบท ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2559
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มกราคม 2563