“นักบุญฟรังซิส เซเวียร์” ผู้นำศาสนาคริสต์เข้าสู่ญี่ปุ่นเป็นคนแรก

นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ เผยแผ่ ศาสนาคริสต์ ใน ญี่ปุ่น
นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ (ภาพ : https://catholicoutlook.org/st-francis-xavier/)

ย้อนกลับไปเมื่อ 500 ปีก่อน หรือในศตวรรษที่ 16 “ศาสนาคริสต์” ยังไม่เป็นที่รู้จักในญี่ปุ่น จวบจน นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ นักบวชนิกายคาทอลิก ได้นำศาสนาคริสต์เข้าไปเผยแผ่เป็นคนแรก กระทั่งมีชาวญี่ปุ่นที่ศรัทธาในพระเจ้าเข้ารีตนับพันคน

นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ (Saint Francis Xavier, ค.ศ. 1506-1552) เกิดที่นาวาร์ (ปัจจุบันอยู่ทางตอนเหนือของสเปน) ปี 1540 นักบุญฟรังซิสเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะเยซูอิต และตอนนั้น พระเจ้าจอห์นที่ 3 แห่งโปรตุเกส ทรงต้องการให้คณะเยซูอิตเผยแผ่คริสต์ศาสนาในดินแดนที่โปรตุเกสเข้าไปปักหลักทำการค้า โดยเฉพาะในซีกโลกตะวันออก (ศตวรรษที่ 16 เป็นช่วงลัทธิล่าอาณานิคมแล้ว)

นักบุญฟรังซิส ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ได้รับมอบหมายภารกิจ จึงเริ่มต้นออกเดินทาง

หลังจากอยู่บนเรือเป็นเวลานาน วันที่ 6 พฤษภาคม ปี 1542 นักบุญฟรังซิสก็ขึ้นฝั่งที่กัว รัฐชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ศูนย์กลางของโปรตุเกสในโลกตะวันออก และเริ่มการเผยแผ่ศาสนา

แน่นอนว่าด้วยวัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่างกันสุดขั้ว ภารกิจของนักบุญฟรังซิสจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงอย่างนั้นท่านก็พยายามอย่างหนัก มีการแปลคู่มือสอนศาสนาในรูปแบบปุจฉา-วิสัชนา เป็นภาษาทมิฬที่ชาวพื้นเมืองใช้สื่อสาร ท่านเดินทางจากหมู่บ้านหนึ่งไปหมู่บ้านหนึ่งเพื่อเผยแผ่ศาสนา จนช่วงเดือนท้ายๆ ของปี 1544 มีชาวพื้นเมืองเข้าพิธีศีลล้างบาปนับหมื่นคน

นักบุญฟรังซิสยังมีบทบาทด้านศาสนาในหมู่เกาะมาเลย์ เช่นที่หมู่เกาะโมลุกกะ (หมู่เกาะเครื่องเทศ) ในอินโดนีเซีย รวมถึงที่มะละกา เมืองศูนย์กลางการค้าของมาเลเซีย ซึ่งช่วงที่อยู่มะละกา ท่านได้สนทนากับ อันจิโร (Anjirō) ชายชาวญี่ปุ่นที่สนใจศาสนาคริสต์อย่างลึกซึ้ง และเข้ารับศีลล้างบาปในเวลาต่อมา

นี่เองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ต้องการเผยแผ่ศาสนาในญี่ปุ่น

เรือโปรตุเกสนำนักบุญฟรังซิส อันจิโร และคณะ ไปถึงท่าเรือเมืองคาโกชิมา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ปี 1549 ท่านได้เดินทางไปหลายเมืองเพื่อปฏิบัติภารกิจ รวมถึงไปที่เกียวโต เมืองหลวงของญี่ปุ่นตอนนั้น แต่จักรพรรดิปฏิเสธไม่ให้ท่านเข้าพบ อย่างไรก็ดี ตลอด 2 ปีกว่าที่พำนักในญี่ปุ่น ท่านสามารถเปลี่ยนชาวญี่ปุ่นให้เข้าพิธีรับศีลล้างบาปได้ถึงราว 2,000 คน

ต่อมา ความสนใจของนักบุญฟรังซิสขยับไปอยู่ที่จีน แต่ไม่มีโอกาสไปถึงจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะจีนปิดประเทศ ประกอบกับท่านเริ่มป่วยไข้หนัก กระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 3 ธันวาคม ปี 1552 บนเกาะช่างชวน (Shangchuan) มณฑลกวางตุ้ง

ส่วน “ศาสนาคริสต์” ในญี่ปุ่นก็มีผู้สนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณการว่าช่วงปลายศตวรรษที่ 16 มีผู้นับถือมากถึงราว 300,000 คน

ทว่าด้วยปัจจัยภายในอย่างการเมือง และปัจจัยภายนอกอย่างการค้ากับต่างประเทศ ที่อาจเอื้อให้นักบวชศาสนาคริสต์มีอิทธิพลมากเกินไป เพราะมีความสัมพันธ์กับทั้งไดเมียวและพ่อค้าต่างชาติ อาจกระทบต่อความมั่นคงได้

ท้ายสุด ญี่ปุ่นจึงตัดสินใจกวาดล้างชาวคริสต์อย่างรุนแรงในต้นศตวรรษที่ 17

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Bireley, Robert L.. “St. Francis Xavier”. Encyclopedia Britannica, 29 Feb. 2024, https://www.britannica.com/biography/Saint-Francis-Xavier. Accessed 22 March 2024.

Richard Cavendish. “St Francis Xavier Departs From Japan”. https://www.historytoday.com/archive/st-francis-xavier-departs-japan. Accessed 22 March 2024.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มีนาคม 2567