“กบฏชิมะบาระ” เมื่อถูกกดขี่บีบคั้น กีดกันคริสต์ศาสนา ประชาชนจึงลุกฮือต่อต้าน 

เมื่อประชาชนถูกกดขี่มากเข้า รวมกับการถูกกีดกันไม่ให้นับถือศาสนาคริสต์ จึงเกิด “กบฏชิมะบาระ” (Shimabara Rebellion) ขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1637 ถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 1638 ในยุคเอโดะ สมัย รัฐบาลโทกุงาวะ ที่มีผู้เข้าร่วมมหาศาล จนรัฐบาลส่วนกลางต้องส่งหน่วยทหารเรือนแสน และขอความช่วยเหลือจากกองเรือปืนชาวดัตช์มาปราบปราม

กบฏชิมะบาระ ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยเกษตรกร และผู้นับถือศาสนาคริสต์ โดยมีกลุ่มโรนิน (ซามูไรไร้เจ้านาย) ให้ความช่วยเหลือ และเลือกให้เด็กหนุ่มชาวคริสต์วัย 16 ปี นามว่า อามะคุสะ ชิโร่ (Amakusa Shiro) ขึ้นเป็นผู้นำ ด้วยเหตุว่า ลักษณะของเขาตรงกับคำทำนายเก่าแก่ของบาทหลวงเยซูอิตว่า ชายผู้นี้จะเป็นผู้นำพาชาวญี่ปุ่นทั้งปวงไปสู่พระคริสต์

ที่มาของกบฏชิมะบาระเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ เรื่องเศรษฐกิจและสังคม ในยุครัฐบาลโทกุงาวะ “โชกุน” คือผู้กุมอำนาจสูงสุดในการปกครอง มี “ไดเมียว” เป็นผู้ปกครองท้องถิ่นที่อยู่ใต้อำนาจโชกุน คอยเก็บภาษี ส่งทหารป้อนเข้าส่วนกลาง หรือทำภารกิจอื่น ๆ ตามแต่โชกุนจะสั่งการ

ไดเมียวจะไม่ได้พำนักอยู่ในเขตปกครองของตัวเองตลอดเวลา เพราะทุกปีต้องเดินทางเข้าสู่เมืองหลวง และพำนักในเอโดะเป็นเวลาหลายเดือน ทั้งยังต้องให้ลูกหรือภรรยาอยู่ในเอโดะเป็นตัวประกันด้วย ระบบนี้เรียกว่า ซันคินโคไต (sankin kotai) 

ระบบซันคินโคไตทำให้ไดเมียวไม่สามารถสะสมกำลังและความมั่งคั่งจากท้องถิ่นได้เหมือนที่เคยเป็น เนื่องจากการเดินทางเข้าเมืองหลวงบ่อย ๆ ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายสูงมาก จากเดิมที่ต้องเก็บภาษีคนในท้องถิ่นเพื่อส่งให้ส่วนกลางอยู่แล้ว ในบางครั้งต้องเก็บเพิ่มเพื่อให้ไดเมียวและผู้ติดตามอย่างซามูไรมีเงินพอเดินทางไปเมืองหลวงได้ หลายครั้งที่ไดเมียวต้องยืมเงินจากพ่อค้าจนเกิดหนี้สินจำนวนมาก ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้คนไม่ผูกพันกับไดเมียวเท่าไรนัก 

นอกจากเกษตรกรและช่างฝีมือจะถูกขูดรีดภาษี พวกเขายังมีหน้าที่ต้องเข้ารับใช้หรือส่งผลผลิตเป็นกรณีพิเศษหากไดเมียวเรียกร้อง ประกอบกับขณะนั้น “ตระกูลมัทซึคุระ” ซึ่งเป็นไดเมียวแห่งเขตชิมะบาระก็ยังสร้างปราสาทใหม่ ทั้งหมดทั้งมวลสร้างความหงุดหงิดไม่พอใจในหมู่ชาวบ้านเป็นอย่างสูง 

อีกปัจจัยที่เร่งให้เกิดการกบฏ คือ การกวาดล้างศาสนาคริสต์และการเมือง ย้อนกลับไปในยุคเซ็นโกคุ เมื่อศาสนาคริสต์เข้ามาถึงญี่ปุ่นในราวทศวรรษ 1540 ผ่านการติดต่อทางการค้ากับชาติตะวันตก อย่าง โปรตุเกส, ฮอลันดา และอังกฤษในภายหลัง เจ้าเมืองจำนวนมากในเขตทางใต้ของญี่ปุ่น มักจะเข้ารีตคริสต์ศาสนาเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า และอาวุธปืน ชาวบ้านจำนวนหนึ่งเข้ารีตตามไดเมียวของตน แต่บางส่วนก็เข้ารีตด้วยความเลื่อมใส ทั้งนี้ การเข้ามาของศาสนาคริสต์ไม่ได้หมายถึงความเชื่อเท่านั้น แต่รวมไปถึงองค์ความรู้ใหม่ โลกทัศน์แบบใหม่ และอาวุธใหม่ ๆ ด้วย 

หลังสิ้นยุคเซ็นโกคุ ซึ่งเป็นยุคสงครามแย่งชิงระหว่างไดเมียว รัฐบาลโทกุงาวะ ขึ้นมามีบทบาท และพยายามรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ความต้องการปืนก็ลดลง ช่วงนั้นรัฐบาลเริ่มไม่อยากให้ไดเมียวติดต่อกับตะวันตก เพราะเป็นทางหนึ่งในการสั่งสมความมั่งคั่ง และอาวุธจากการค้า ส่วนกลางจึงพยายามจำกัดการติดต่อกับตะวันตก รวมไปถึงการเข้ารีตเป็นคริสตชน  

ความพยายามสร้างอำนาจรวมศูนย์ในรัฐบาลโทกุงาวะ นอกจากจะป้องกันไม่ให้ไดเมียวสร้างฐานอำนาจได้ ยังต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นและยึดโยงกับวิธีคิดที่ส่วนกลางส่งผ่านให้ ดังนั้น ความเชื่อทางศาสนาพุทธและคริสต์ที่อาจขัดแย้งกับความคิดของรัฐบาลก็จะตกเป็นเป้าการปราบปราม

ชาวคริสต์หลักร้อยคนถูกประหารในเกียวโต ค.ศ. 1619 และนากาซากิ ค.ศ. 1622 และยังปรากฏหลักฐานเป็นบันทึกการทรมานต่าง ๆ นานา เพื่อบังคับให้คนเลิกนับถือศาสนาคริสต์ด้วย 

ผู้คนที่อยู่อาศัยในชิมะบาระช่วงต้นทศวรรษ 1600 ประกอบด้วยชาวคริสต์จำนวนมาก ทั้งที่เป็นลูกหลานของผู้เข้ารีตมาแต่เดิม และผู้ที่เพิ่งเข้ารีตใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งของผู้เข้ารีตใหม่ก็มีทั้งที่เลื่อมใสในศาสนา และที่ต้องการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาวคริสต์ เพื่อจะได้รับการดูแลช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน เนื่องจากอยู่ในช่วงข้าวยากหมากแพง 

ความไม่พอใจจากการถูกขูดรีดภาษี ความยากแค้นทางเศรษฐกิจ บวกกับฟางเส้นสุดท้าย คือ การกำราบผู้นับถือศาสนาที่มีความเชื่อไม่สอดคล้องกับส่วนกลาง ทำให้ประชาชนทนไม่ไหว นำสู่ “กบฏชิมะบาระ” ในที่สุด 

หลังประชาชนลุกฮือ ปรากฏจดหมายที่ส่งสื่อสารระหว่างฝ่ายกบฏกับผู้นำหน่วยปราบของรัฐบาล กล่าวถึงความต้องการ และข้อเรียกร้องของฝ่ายประชาชน ซึ่งมีทั้งผู้ที่แสดงออกถึงความอัดอั้นตันใจจากการถูกขูดรีดโดยไดเมียว และผู้ที่แสดงออกถึงความไม่พอใจในนโยบายปราบปรามศาสนาคริสต์ของรัฐบาล 

ดูเหมือนว่า รัฐบาลโทกุงาวะ เมินเฉยต่อคำเรียกร้องเหล่านั้น ฝ่ายผู้ต่อต้านจึงทำลายทั้งสถานที่ราชการ วัดและศาลเจ้าต่าง ๆ ความโกรธเกรี้ยวที่มีต่อความอยุติธรรมเป็นแรงผลักให้พวกเขาเอาชนะกองทหารส่วนกลางได้หลายครั้ง และด้วยความช่วยเหลือของเหล่าโรนินที่มีความรู้เรื่องยุทธศาสตร์และการต่อสู้ ทำให้พวกเขาเข้ายึดปราสาทฮาระได้สำเร็จ

ด้วยความที่ปราสาทของญี่ปุ่นส่วนใหญ่รวมไปถึงปราสาทฮาระ เป็นทั้งที่พักอาศัยของเจ้าเมืองหรือชนชั้นสูง และเป็นป้อมปราการที่ใช้รับมือข้าศึก การที่กองทัพกบฏชาวนายึดปราสาทได้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายหรือเกิดขึ้นบ่อย เหตุการณ์นี้จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่และน่ากังวลใจอย่างมากในสายตารัฐบาลกลาง

ฝ่ายประชาชนต่อสู้ยืดเยื้อกับกองทัพฝ่ายรัฐบาลได้ราว 4 เดือน ก่อนจะถูกตัดเส้นทางขนส่งเสบียง และพ่ายแพ้ในที่สุด ผู้เข้าร่วมกบฏชิมะบาระกว่า 37,000 คนถูกประหาร ปราสาทฮาระถูกเผาทำลาย ส่วนอามะคุสะ ชิโร่ ผู้นำกบฏ ถูกตัดหัวไปเสียบประสานไว้ที่นากาซากิ 

จากนั้นเป็นต้นมาก็มีการห้ามนับถือศาสนาคริสต์จนถึงทศวรรษที่ 1850

กบฏชิมะบาระ สงคราม ปราสาทฮาระ
รัฐบาลกลางทำสงครามยึดปราสาทฮาระ ในจังหวัดนากาซากิ จากกบฏชิมะบาระ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Jake A. Farias. “The Desperate Rebels of Shimabara: The Economic and Political Persecutions And the Tradition of Peasant Revolt”. Gettyburgs historical journal 15 (2016): 109–34.

NCR. “Amakusa Shiro and the Holocaust at Shimabara”, Access 26 July 2023. https://www.ncregister.com/blog/amakusa-shiro-and-the-holocaust-at-shimabara.

Ohashi Yukihiro. “The Revolt of Shimabara-Amakusa”. Bulletin of Portuguese – Japanese Studies 20 (2010): 71–80.

“Sankin Kōtai | Feudal Japan, Daimyo, Shogunate | Britannica”, Access 26 July 2023. https://www.britannica.com/topic/sankin-kotai.

Yasuka. “The Shimabara Rebellion | KCP International Japanese Language School”. KCP International, Access 26 July 2023. https://www.nmstate-japan.com/2019/01/the- shimabara-rebellion/.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566