ผู้เขียน | ธงชัย อัชฌายกชาติ |
---|---|
เผยแพร่ |
ในปี 1612 “ซาซากิ โคจิโร” และ “มิยาโมะโตะ มูซาชิ” สองนักดาบระบือนาม ที่ต่างก็ขึ้นชื่อว่าไร้พ่าย ได้มาประลองฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์ว่าผู้ใดคือที่หนึ่ง เวลานัดคือ 8 โมงเช้า แต่ดูท่าจะได้ประลองจริงช้า เพราะมีคนมาสาย
ซาซากิ โคจิโร
ซาซากิ โคจิโร เป็นนักดาบวัยรุ่นที่เก่งกาจ เขาฝึกในสำนักชูโจริว (หรืออีกชื่อเรียกตามผู้ตั้งสำนักว่า “โทดะริว”) ที่เน้นฝึกวิชาดาบสั้นเป็นหลัก เขาเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ในวัยเด็กเขาเคยประลองดาบกับอาจารย์แต่แพ้ เขาจึงฝึกปรือจนสามารถประลองชนะรุ่นพี่ร่วมสำนักทุกคนได้ และพัฒนาวิถีดาบใหม่ของตนขึ้นมา ซึ่งแตกต่างจากวิถีดาบสั้นของสำนักเดิม แต่ใช้ดาบยาวที่เรียกว่า “โนดาจิ (nodachi)” ที่มีความยาวประมาณ 150 เซนติเมตร ซึ่งยาวกว่าดาบคาตะนะธรรมดาราว 20 เซนติเมตร (ยาวกว่าเกือบ 1 ไม้บรรทัด!)
ภายหลังโคจิโรก่อตั้งสำนักดาบ ตามฉายาที่ผู้คนตั้งให้เขาว่า “กันริว” เป็นสำนักที่เน้นการใช้ดาบยาวและโจมตีจากบนลงล่าง หรือจากล่างขึ้นบนด้วยความเร็วสูง ท่าไม้ตายที่ขึ้นชื่อเรียกว่า “นางแอ่นหัวกลับ (tsubamegaeshi)” ซึ่งโคจิโรได้แรงบันดาลนกนางแอ่นที่บินร่อนด้วยความเร็วสูงและสามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ การจะฟันนกดังกล่าวได้นั้นต้องมีความแม่นยำและความเร็ว นำมาสู่ท่าฟันจากศีรษะลงมาถึงพื้นและฟันกลับไปในทางเดียวกัน ด้วยความเร็วราวกับเป็นการฟันครั้งเดียว
มิยะโมโตะ มูซาชิ เป็นนักดาบที่ได้ชื่อว่า “เคนเซย์ (kensei)” มีความหมายว่า “นักบุญดาบ” ซึ่งเป็นศักดิ์พิเศษที่ใช้เรียกยอดนักดาบ ที่มิได้เป็นยอดคนในเรื่องทางโลกอย่างเดียว แต่ยังเชี่ยวชาญทางธรรมด้วย มูซาชิยังมีชื่อทางพุทธว่า “นิเท็น โดราคุ” อีกด้วย
มูซาชิพัฒนาวิชาดาบของตัวเองเรียกว่า “นิโตริว” ซึ่งเป็นวิชาดาบ 2 มือ นอกจากนี้เขายังฝึกการใช้อาวุธทุกประเภท ศึกษาตำราพิชัยสงคราม และฝึกฝนจิตใจ ด้วยจุดมุ่งหมายว่าจะเป็นที่หนึ่งในใต้หล้า หนึ่งในงานเขียนซึ่งกลายเป็นคัมภีร์ทั้งในแง่การศึกและในแง่ของการฝึกฝนจิตใจ ที่มีตกทอดจนถึงทุกวันนี้เรียกว่า “คัมภีร์ห้าห่วง”
วันหนึ่ง เมื่อมูซาชิเดินทางมาถึงแคว้นโคกุระ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในจังหวัดฟุกุโอกะ ด้วยความที่เป็นคนพอมีเส้นสาย ก็ติดต่อกับซามูไรที่รับใช้เจ้าแคว้นโคกุระ ไหว้วานให้เขาช่วยติดต่อท้าประลองกับ อสูรแดนประจิม ซึ่งเป็นอีกฉายาหนึ่งของโคจิโร โดยนัดไว้ตั้งแต่ 8 โมงเช้า ณ เกาะฟุนะจิมะ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวแผ่นดินออกไป
เมื่อถึงวันประลอง โคจิโรตื่นแต่เช้าตรู่ นั่งเรือไปถึงเกาะดังกล่าวตามนัด แต่มูซาชิกลับนอนหลับสบายจนตื่นสาย และยังเสียเวลาแต่งองค์ทรงเครื่อง ซึ่งจริงๆ มูซาชิได้ชื่อว่าแต่งตัวมอซอ ปล่อยผมเผ้ารุงรัง เป็นที่ลือกันด้วยซ้ำว่าไม่ยอมอาบน้ำ (ขัดกับลักษณะของซามูไรในยุคนั้น) จนกว่าจะถึงก็ปาไปกว่า 10 โมงแล้ว บางตำนานยังบอกว่า ไม่ได้เตรียมอาวุธมาเอง แต่ขอยืมไม้พายของคนเรือมาใช้ด้วยซ้ำ!
โคจิโรฉุนเฉียวมูซาชิมาก แหม่..เป็นใครก็ต้องโกรธเป็นธรรมดา คนที่ขึ้นชื่อเรื่องความซกมก เกิดนึกอยากแต่งตัวหรูๆ จนมาสายกว่านัดเกือบ 3 ชั่วโมง แล้วยังมาพร้อมดาบไม้ที่ยาวกว่าดาบตน (บ้างก็ว่าเป็นไม้พายที่เพิ่งเหลาเสร็จ) โคจิโรที่กำลังเดือดดาลก็ชักดาบออกจากฝัก และโยนฝักทิ้งลงน้ำ มูซาชิก็กระหยิ่มยิ้มย่อง และพูดว่า “เจ้าพ่ายแพ้แล้ว เพราะถ้าเจ้าคิดว่าจะชนะ จะโยนฝักดาบทิ้งลงน้ำทำไม?”
ได้ยินอย่างนี้ก็ฟิวส์ขาดสิครับ โคจิโรพุ่งเข้าใส่และใช้วิชาดาบเลื่องชื่อเข้าฟาดฟันมูซาชิ ความโกรธเป็นเหตุทำให้อ่านทางง่ายและวิชาดาบไม่แหลมคมเท่าที่ควร มูซาชิหลบหลีกอย่างไม่ยากเย็น และยังชักจูงให้ตำแหน่งที่ยืนของโคจิโรอยู่ในด้านที่แสงแดดแยงตาพอดี เมื่อโคจิโรพลาดพลั้งจากแสงแดดยามสาย มูซาชิก็ฉวยโอกาสใช้ดาบไม้ยาวฟาดเข้าที่ศีรษะของโคจิโรจนสิ้นชื่อนักดาบในทันที
เป็นที่รับรู้กันว่ามูซาชิจงใจมาสายเพื่อกวนประสาทให้โคจิโรเสียความเยือกเย็น และเพื่อใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์ ซึ่งโคจิโรก็ตกอยู่ใต้เหลี่ยมของมูซาชิจนพ่ายแพ้และสิ้นชีวิตไป
อย่างไรก็ตามชื่อเสียงของโคจิโร ทำให้มีอีกชื่อเรียกที่ผู้คนใช้เรียกเกาะที่เป็นสถานที่ประลองยุทธนี้ว่า “เกาะกันริว” ที่นำมาจากชื่อสำนักและฉายาของซาซากิ โคจิโร นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- ดาบซามูไร ตำนานอาวุธสังหาร-งานศิลปะ และสุดยอดดาบของมาซามูเน่-มารามาซะ
- ดาบสั้นของหนึ่งในซามูไรรุ่นสุดท้าย ผู้ปรารถนาล้มระบอบโชกุนโผล่ที่สหรัฐฯ ได้อย่างไร
- ปริศนาตัวตนซามูไรผิวดำนาม ยาสึเกะ ในทัพโอดะ โนบุนากะ สู่แอนิเมชั่น Yasuke
อ้างอิง :
กรกิจ ดิษฐาน. มิยะโมะโตะ มุซาชิ ดาบพเนจรไร้พ่าย. กรุงเทพฯ: ยิปซี, 2560.
Miller, Nick. “Who Was Sasaki Kojiro and What Happened at Ganryu Island?” Discovery UK (blog), สืบค้น 25 กรกฎาคม 2566. https://www.discoveryuk.com/mysteries/who-was-sasaki-kojiro-and-what-happened-at-ganryu-island/.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กรกฎาคม 2566