ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ภาพลักษณ์ซามูไรญี่ปุ่นในความทรงจำของคนทั่วโลกย่อมเป็นเหล่านักรบผิวขาวแบบชาวตะวันออก แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ซามูไร” ในบันทึกญี่ปุ่นมีแม้แต่นักรบหญิง หรือกระทั่งซามูไรผิวดำผู้มีเชื้อสายแอฟริกันด้วยซ้ำ อาทิ ยาสึเกะ (Yasuke) ซามูไรผิวดำ ในทัพของ โอดะ โนบุนากะ (Oda Nobunaga)
ยาสึเกะ ซามูไรผิวดำ
บันทึกของ มัตสึไดอาระ อิเอทาดะ (Matsudaira Ietada) ซามูไรร่วมสมัยที่เชื่อกันว่าน่าจะจดจารึกเมื่อปี 1579 บรรยายซามูไรผิวสีรายหนึ่งว่า “เขาสูง 6 ชากุ (Shaku) 2 ซุน (Sun) [ประมาณ 6 ฟุต 2 นิ้ว] … เขามีผิวสีดำ ผิวของเขาราวกับถ่าน”
หากเปรียบเทียบกับความสูงเฉลี่ยของชายญี่ปุ่นจากสถิติเมื่อปี 1990 ซึ่งตัวเลขอยู่ที่ 5 ฟุต 2 นิ้ว ทำให้สันนิษฐานได้ว่า นักรบผิวดำรายนี้ย่อมสูงใหญ่กว่าชายญี่ปุ่นทั่วไปในศตวรรษที่ 16 ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่รับรู้กันดีว่าสภาพร่างกายของคนในยุคนั้นยังไม่ได้สูงใหญ่มากนัก เนื่องจากสภาพบกพร่องทางโภชนาการ
ซามูไรที่ถูกเอ่ยถึงในบันทึกของซามูไรผู้อยู่ร่วมยุคสมัยข้างต้นนั้นก็คือ “ยาสึเกะ” (Yasuke) นักรบชายผิวดำที่ได้รับสถานะเป็น “ซามูไร” ภายใต้ทัพของ โอดะ โนบุนากะ (Oda Nobunaga) ขุนพลอีกรายที่พยายามรวบรวมดินแดนญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียว (แต่ถูกลอบสังหารก่อนบรรลุเป้าหมาย)
เรื่องราวของยาสุเกะ ปรากฏอยู่ในบันทึกหลายแห่ง ตั้งแต่บันทึกของซามูไรที่ยกมาเอ่ยถึงแล้ว หรือบันทึกของคณะนักบวชที่ระบุว่า ยาสุเกะ เดินทางมาเกียวโตเมื่อ ค.ศ. 1579 ลอว์เรนซ์ วินเคลอร์ นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับยาสุเกะ อ้างว่า เมื่อชายเชื้อสายแอฟริกันเดินทางมาถึงก็เป็นที่สนใจของชาวพื้นถิ่นอย่างมาก พวกเขาพยายามแย่งกันเข้าไปยลหนุ่มรายนี้ถึงขั้นเหยียบกันตาย
บันทึกของมิชชันนารีคณะเยซูอิตบางรายเอ่ยถึง “ยาสึเกะ” ว่า เดินทางมาญี่ปุ่นพร้อมนักบวชเยซูอิตชื่อ อะเลสซานโดร วาลิกยาโน (Alessandro Valignano) ในฐานะคนรับใช้หรือทาส แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันข้อมูลสถานะของเขาในช่วงแรกที่มาถึงญี่ปุ่น ขณะที่ชื่อ “อะเลสซานโดร วาลิกยาโน” ปรากฏในบันทึกระหว่างปี 1579-1582 เท่านั้น
ภายในเวลาประมาณปีเดียว ยาสึเกะ ไต่เต้าขึ้นมาอยู่ในสถานะนักรบระดับสูงอย่าง “ซามูไร” เขาสามารถพูดญี่ปุ่นได้อย่างคล่องแคล่ว นักวิชาการบางรายบอกว่า เขาสู้รบในกองทัพของโอดะ โนบุนากะ ด้วย
ชื่อเดิมของยาสึเกะ ไม่ปรากฏในบันทึกใดๆ เช่นเดียวกับข้อมูลเรื่องวันเกิด และแหล่งกำเนิดที่แน่ชัด นักประวัติศาสตร์บางรายเชื่อกันว่า เขามาจากโมซัมบิก (Mozambique) แต่บางรายเชื่อว่าอาจมาจากแหล่งอื่นอย่าง เอธิโอเปีย (Ethiopia) หรือไนจีเรีย (Nigeria)
ร่วมรบกับ “โอดะ โนบุนากะ” ขุนศึกผู้ยิ่งใหญ่
เหตุผลที่เขาสามารถขึ้นมามีสถานะนักรบชั้นสูงอย่าง “ซามูไร” ได้ก็ยังไม่แน่ชัด ฟลอยด์ เว็บบ์ และ เดบาราห์ เดสนู ผู้สร้างภาพยนตร์ที่กำลังผลิตสารคดีเกี่ยวกับยาสึเกะ เชื่อว่า เป็นไปได้ยากมากที่ยาสึเกะ จะไต่เต้าขึ้นมาเป็นซามูไรในเวลาแค่ปีเดียวโดยที่ไม่มีภูมิหลังเกี่ยวข้องกับนักรบมาก่อน เนื่องจากซามูไรส่วนใหญ่มักเริ่มฝึกฝนตั้งแต่วัยเด็ก
เชื่อกันว่า ยาสึเกะ พบกับโอดะ โนบุนากะ ไม่นานนักหลังจากมาถึงญี่ปุ่น ยาสึเกะย่อมเป็นที่สนใจของขุนพลจากสกุลที่สืบสายจากเชื้อวงศ์ไทระ ช่วงเวลานั้นยาสึเกะ น่าจะพอพูดสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้บ้างแล้ว โธมัส ล็อคคีย์ นักวิชาการที่เขียนหนังสือเกี่ยวชีวิตของยาสึเกะ เชื่อว่าทั้งคู่น่าจะสื่อสารเข้ากันได้ดี
โธมัส เล่าว่า ยาสึเกะน่าจะบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ จากแอฟริกาและอินเดียให้ขุนพลชื่อก้องรับฟัง ในประการนี้โธมัสเชื่อว่า ยาสึเกะน่าจะใช้เวลาอยู่ในแอฟริกาและอินเดียอยู่บ้างก่อนจะเดินทางมาถึงญี่ปุ่น นักประวัติศาสตร์บางรายยังมองว่า ยาสึเกะไม่เพียงสื่อสารและเข้าใจภาษาญี่ปุ่น เขายังชอบการเต้นรำและการแสดงที่เรียกว่า “Utenzi” ศิลปะการแสดงที่ใช้ภาษา Swahili บอกเล่าเรื่องราวของวีรบุรุษตามแบบฉบับแอฟริกาตะวันออก (ข้อมูลส่วนนี้เองที่เชื่อมโยงกับสันนิษฐานเรื่องชาติกำเนิดของยาสึเกะ ที่ส่วนหนึ่งเชื่อกันว่าเขามาจากโมซัมบิก เนื่องจากภาษา Swahili ก็ยังมีใช้กันตามพื้นที่ทางเหนือของประเทศโมซัมบิกในปัจจุบัน)
อีกประการหนึ่งนั้นอาจเป็นด้วยลักษณะของโนบุนากะ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ไม่เพียงเป็นขุนพลชำนาญศึก แต่เขายังสนใจในด้านศิลปวัฒนธรรม และศิลปะการต่อสู้ โนบุนากะ เป็นขุนพลที่ฉลาดหลักแหลม และมักใหญ่ใฝ่สูงในเวลาเดียวกัน ฟลอยด์ เว็บบ์ เชื่อว่า โนบุนากะ แต่งตัวแบบชาวตะวันตกและมักสอดส่องหาบุคคลที่ฉลาดหลักแหลมมาร่วมงาน
ในฐานะซามูไรต่างชาติ มีกลุ่มนักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อกันว่ายาสึเกะร่วมรบกับโนบุนากะ ในศึกสำคัญหลายครั้ง รวมถึงค่ำคืนที่เป็นจุดเปลี่ยนของโนบุนากะ เมื่อ อาเกชิ มิตสึฮิเดะ (Akechi Mitsuhide) นายพลคนหนึ่งของโนบุนากะ หักหลังเจ้านายในคืนที่ขบวนของโนบุนากะ พักค้างแรมที่วัดฮนโนจิ ระหว่างการเดินทัพไปช่วย โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ปราบตระกูลโมริ ที่มีอำนาจอิทธิพลทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
ตามเอกสารพงศาวดารญี่ปุ่นบรรยายว่า อาเกชิ มิตสึฮิเดะ เคียดแค้นโนบุนากะ ซึ่งเคยดูถูกข่มเหงและไม่พอใจที่โนบุนากะ ปฏิบัติกับเขาเหมือนกับทหารระดับพื้นๆ ทั่วไปจึงวางแผนแก้แค้น ในช่วงที่เขาได้รับคำสั่งให้ยกทัพไปช่วยโทโยโตมิ จึงเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะแก้แค้น เขาวางแผนโจมตีเจ้านายขณะที่ โนบุนากะ ไม่มีกำลังทหารมากพอก็ต่อสู้จนได้รับบาดเจ็บ
เมื่อไม่เห็นโอกาสที่จะมีกำลังยกมาช่วยเหลือได้ทัน โนบุนากะ จึงเผาวัดและปลิดชีพตัวเอง บุตรชายคนโตก็ฆ่าตัวตายตามบิดา (ในข้อเท็จจริงแล้ววาระสุดท้ายก่อนการเสียชีวิตของโนบุนากะ ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดเนื่องจากข้อมูลหลายแหล่งยังบ่งบอกไม่ตรงกัน)
โธมัส ล็อคคีย์ ที่ศึกษาตำนานส่วนหนึ่งยังยกเรื่องราวที่เล่ากันสืบต่อมาว่า โนบุนากะ ขอให้ยาสึเกะเป็นผู้ตัดศีรษะของเขา และนำศีรษะพร้อมดาบประจำตัวไปมอบให้บุตร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไว้วางใจอย่างมาก แต่แน่นอนว่า ข้อมูลที่ยาสึเกะ อยู่ในสถานการณ์คับขันกับโนบุนากะ ก็ไม่มีหลักฐานอ้างอิงแน่ชัดเช่นกัน
ภายหลังโนบุนากะ สิ้นชีพลงขณะที่ใกล้รวบรวมอาณาจักรมาปกครองไว้ได้ เรื่องราวของยาสึเกะก็มาปิดฉากตามหลังไปด้วย บางรายเล่าว่า ในปี 1582 ยาสึเกะถูกขับไล่ออกจากทัพ และอาจเดินทางกลับไปทำภารกิจของกลุ่มเยซูอิตในเกียวโต แต่ข้อมูลในช่วงปีสุดท้ายของยาสึเกะ ไม่ปรากฏบันทึกแน่ชัด ขณะที่การเขียนประวัติของเขาภายหลังจากเหตุการณ์ผ่านมานานแล้วก็บอกเล่าเรื่องราวแบบแต่งแต้มรสชาติเติมสีสันกันไป
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เรื่องราวของซามูไรผิวดำที่ปรากฏสืบต่อกันมาก็เป็นที่สนใจในหมู่สื่อบันเทิงจากตะวันตก โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ Variety รายงานว่า แชดวิก บอสแมน (Chadwick Boseman) นักแสดงเจ้าของบทซูเปอร์ฮีโร่ Black Panther มีแววได้รับบทยาสึเกะในภาพยนตร์ที่กำลังถูกพิจารณาให้ผลิตขึ้น
ข่าวข้างต้นนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรื่องราวของยาสึเกะ ได้รับความสนใจจากแวดวงภาพยนตร์ เมื่อปี 2017 มีกระแสข่าวว่า Lionsgate สตูดิโอชื่อดังจากฮอลลีวูดกำลังพัฒนาภาพยนตร์เกี่ยวกับซามูไรผิวสีเช่นกัน
และเมื่อ 29 เมษายน 2021 เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ผู้ให้บริการสตรีมมิงรายใหญ่ของโลกเผยแพร่แอนิเมชั่นชื่อ Yasuke เนื้อเรื่องเกี่ยวกับซามูไรผิวดำ
อ่านเพิ่มเติม :
- “คนดำ” เคยเป็นซามูไร มาตั้งแต่สมัย “โนบุนากะ”
- ดาบซามูไร ตำนานอาวุธสังหาร-งานศิลปะ และสุดยอดดาบของมาซามูเน่-มารามาซะ
- โอดะ โนบุนากะ “ขุนพลปีศาจ” ผู้สั่งการสังหารหมู่ที่ “วัดเอ็นเรียคุจิ”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
Mohamud, Naima. “Yasuke: The mysterious African samurai”. BBC. Online. Published 14 OCT 2019. Access 15 OCT 2019. <https://www.bbc.com/news/world-africa-48542673>
Sato, Hiroaki. Legends of the Samurai. New York, London : Overlook Duckworth. 1995
ฮีโช ไซโต และเอลิซาเบธ ลี. พงศาวดารญี่ปุ่น. แปลโดย ยูปิเตอร์. พิมพ์ครั้งที่ 3 : ศรีปัญญา, 2561
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ตุลาคม 2562