“สุคุนะ” ราชาแห่งคำสาป ปีศาจของราชสำนัก วีรบุรุษของชาวบ้าน

เรียวเมน สุขุนะ ราชาคำสาป ใน มหาเวทย์ผนึกมาร อนิเมะ สัญชาติ ญี่ปุ่น
เรียวเมน สุคุนะ (ภาพจาก Jujutsu Kaisen Gallery)

“เรียวเมน สุคุนะ” ราชาแห่งคำสาป จาก มหาเวทย์ผนึกมาร ปีศาจของราชสำนัก วีรบุรุษของชาวบ้าน

หลัง Jujutsu Kaisen หรือชื่อภาษาไทยคือ “มหาเวทย์ผนึกมาร” ซีซันแรก ออกฉายทางโทรทัศน์ในประเทศญี่ปุ่น ระหว่างเดือนตุลาคม ปี 2021 ถึงเดือนมีนาคม ปี 2022 รวม 24 ตอน ก็เกิดกระแส “JJK fever” ขึ้นทันที มีการนำตัวละครต่าง ๆ มาออกแบบเป็นสินค้ามากมาย ทั้งเสื้อผ้า ตุ๊กตา พวงกุญแจ ฯลฯ เป็น “ซอฟต์ พาวเวอร์” ที่สามารถกวาดรายได้ไปถึง 1.48 หมื่นล้านเยน หรือราว 133 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

หนึ่งในตัวละครที่แฟน ๆ ชื่นชอบและได้รับการพูดถึงอยู่บ่อย ๆ คือ “เรียวเมน สุคุนะ” (両面宿儺) ราชาแห่งคำสาป โดย “เรียวเมน” แปลว่า 2 หน้า ส่วน “สุคุนะ” แปลว่า ภูติหรือปีศาจ ในเรื่องสุคุนะคือปีศาจหรือเรียกอีกอย่างว่า “คำสาป” ที่เก่าแก่และมีพลังสูงที่สุด มี 2 หน้า 4 มือ แม้จะถูกปราบไปแล้ว แต่ก็ซุกซ่อนพลังต้องสาปไว้ในนิ้วทั้ง 20 ที่กระจัดกระจายออกไป จึงเป็นเป้าหมายของฝ่ายคำสาปที่พยายามชุบชีวิตสุคุนะผ่านการเก็บนิ้วทั้ง 20 ให้ได้ 

ขณะที่ฝ่ายมนุษย์หาทางทำลายนิ้วเหล่านั้น “อิทาโดริ ยูจิ” พระเอกของเรื่อง ก็เกิดเหตุร้าย จนจำเป็นต้องกลืนกินนิ้วสุคุนะเพื่อให้ได้พลังมาปกป้องคนใกล้ตัว ซึ่งต้องแลกกับการที่สุคุนะจะสามารถสิงร่างและยึดร่างกายมาใช้ชั่วคราว เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ยูจิเข้าสู่โลกแห่งผู้ใช้พลังต้องสาปเพื่อกำจัดสุคุนะ

นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน มหาเวทย์ผนึกมาร อนิเมะที่สร้างสรรค์ขึ้นจากจินตนาการของ เกเกะ อาคุตามิ (Gege Akutami) แต่รู้หรือไม่ว่า ในพงศาวดารและตำนานท้องถิ่นของญี่ปุ่น ก็ปรากฏชื่อ “สุคุนะ” เช่นกัน 

ลักษณะทางกายภาพและความชั่วร้ายของสุคุนะในอนิเมะ ตรงกับที่บรรยายในบันทึกเก่าแก่ของญี่ปุ่น เรียกว่า “นิฮงกิ” (นิฮงโชกิ) หรือ “พงศาวดารญี่ปุ่น” ชำระในปี 720 ตรงกับยุคนารา ในนิฮงกิประกอบด้วยบันทึกเหตุการณ์และตำนานตามลำดับตั้งแต่ยุคบุกเบิก ซึ่งเป็นยุคแรกเริ่มการเกษตรหรือยุคแห่งเทพ มักใช้การสถาปนาเป็นจักรพรรดิของจินมุเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ เรื่อยมาจนถึงปี 697 ตรงกับยุคอาซุกะ 

ในนิฮงกิมีเนื้อหาย่อหน้าหนึ่งกล่าวถึงสุคุนะไว้ดังนี้

“ในปี 377 ณ จังหวัดฮิดะ มีชายนามว่า ‘สุคุนะ’ มีสองหน้า สี่แขน สี่ขา ตัวใหญ่ มีพละกำลัง ทั้งยังคล่องแคล่วว่องไว ด้วยแขนทั้งสี่ เขาพกดาบ 2 เล่ม และสามารถใช้ธนูไปพร้อม ๆ กันได้ ด้วยการครั้งนี้สุคุนะไม่ยอมสวามิภักดิ์แก่องค์จักรพรรดิ และชอบปล้นสะดมชาวบ้าน จักรพรรดิจึงส่งนะนิฮาเนโกะ และ ทะเกะฟุรุคุมะ ผู้เป็นต้นตระกูลวานิแห่งโอมิไปปราบ”

เมื่อนำคำบอกเล่านี้ไปประกอบเข้ากับบริบทยุคโคฟุน (ค.ศ. 250-538) อันเป็นยุคสมัยที่ตระกูลยามะโตะเป็นจักรพรรดิและพยายามขยายอาณาเขต มีศูนย์กลางอยู่บริเวณจังหวัดนาราในปัจจุบัน การทำสงครามเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่เหนือเจ้าเมืองแต่ละท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง 

เมืองฮิดะ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในจังหวัดกิฟุ อยู่ไม่ไกลจากศูนย์กลางของยามะโตะก็เป็นหนึ่งในนั้น ตำนานของปีศาจสุคุนะที่ถูกปราบโดยทะเกะฟุรุคุมะ จึงอาจตีความได้ว่า สุคุนะเป็นผู้นำชุมชนในฮิดะ และลุกขึ้นต่อต้านการรวบอำนาจจากศูนย์กลาง พูดอีกอย่างคือสุคุนะเป็นผู้นำก่อกบฏนั่นเอง 

ส่วนตำนานท้องถิ่น มอง “เรียวเมน สุคุนะ” อีกแบบ (ในนิฮงกิจะเรียกแค่ “สุคุนะ” ส่วนชื่อเต็มจะปรากฏในตำนานท้องถิ่นที่เล่าสืบต่อกันเป็นมุขปาฐะ) คือมองในฐานะวีรบุรุษและผู้มีพระคุณต่อท้องถิ่น กล่าวคือเป็นผู้นำตระกูลที่แข็งแกร่ง ปกครองบริเวณภูเขาคุไรยามะ บางตำนานยังเล่าว่าสุคุนะเป็นผู้นำทั้งด้านการเกษตรและการรบ โดยบรรยายลักษณะว่าใส่ชุดเกราะเหมือนนักรบ มีไม้เท้าและขวานอยู่ในมือ จนบางแห่งถือว่าเป็นอวตารหนึ่งของพระโพธิสัตว์ 11 หน้า และบูชาเพื่อให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ 

เรื่องเล่าของสุคุนะในตำนานท้องถิ่นตรงกับรูปปั้นสุคุนะที่ปั้นโดยพระเอ็นคู (Enku) มี 2 หน้า 4 แขน ลักษณะแข็งแรง บึกบึน ในมือถือขวาน ชุดเหมือนสวมเสื้อเกราะ และมีผ้าคล้ายสบงปรากฏให้เห็นบริเวณแขนและขา ดังภาพ

รูปปั้น สุคุนะ พระเอ็นคู
Enku – Ryomen Sukuna (ภาพจาก Jujutsu Kaisen Gallery)

นอกจากนี้ บันทึกของวัดเซนโคจิ ในเมืองทาคายามะ จังหวัดกิฟุ ซึ่งเคยเป็นที่เก็บรักษารูปปั้นสุคุนะ ก็กล่าวไว้ว่า ผู้ก่อตั้งวัดคือ เรียวเมน สุคุนะ ตั้งแต่ 1,600 ปีก่อน และจากความโด่งดังของอนิเมะ Jujutsu Kaisen ก็ทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลไปที่วัดนี้กันอย่างหนาตา 

ย้อนกลับไปพิจารณานิฮงกิและตำนานท้องถิ่น เมื่อมองจากมุมของส่วนกลางที่พยายามยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ อาจตีความได้ว่า สุคุนะก็ไม่ต่างจากปีศาจที่ขัดคำบัญชาจักรพรรดิ แต่หากมองในมุมท้องถิ่น อำนาจของจักรพรรดิก็เปรียบได้กับคนนอกที่เข้ามารุกราน สุคุนะจึงถือเป็นวีรชนผู้ปกปักษ์แผ่นดินเกิด

ไม่ว่าจะมีตัวตนจริงหรือไม่ก็ตาม แต่สุคุนะก็เป็นแรงบันดาลใจให้เกิด “ราชาแห่งคำสาป” ตัวร้ายใน Jujutsu Kaisen ซึ่งเป็นที่จดจำของผู้ชมไปแล้ว 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

crunchyroll. “Jujutsu Kaisen”, สืบค้น 7 กรกฎาคม 2023. https://www.crunchyroll.com/series/GRDV0019R/jujutsu-kaisen.

“Collection of Ryomen Sukuna lore”. Tumblr (blog). สืบค้น 6 กรกฎาคม 2023.  https://tempenensis.tumblr.com/post/641556937531670528/collection-of-ryomen- sukuna-lore.

COMIC BOOK (anime). “Jujutsu Kaisen Tops List of Most Lucrative Japanese Franchises in  2021”. สืบค้น 7 กรกฎาคม 2023. https://comicbook.com/anime/news/jujutsu-kaisen- anime-sales-record-2021-japan/.

“Early Japan (until 710)”, สืบค้น 7 กรกฎาคม 2023. https://www.japan-guide.com/e/e2131.html

Kyodo News. “Popular manga “Jujutsu Kaisen” draws fans to central Japan temple”. สืบค้น 6  กรกฎาคม 2023. https://english.kyodonews.net/news/2021/05/10d9cd6a1d0c-popular- manga-jujutsu- kaisen-draws-fans-to-central-japan-temple.html

“Ryomen-sukuna”. Japanese Wiki Corpus. สืบค้น 6 กรกฎาคม 2023.  https://www.japanesewiki.com/literature/Ryomen-sukuna.html

William George Aston. Nihongi: Chronicles of Japan from the Earliest Times to A.D. 697. United  Kingdom: Society, 1896.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566