ยุคไทโช ในดาบพิฆาตอสูร คือยุคอะไร? ทำไมถึงไม่ได้รับการพูดถึงเท่าที่ควร?

ยุคไทโช อนิเมะ ดาบพิฆาตอสูร ย่านอาซากูซะ โตเกียว
ย่านอาซากูซะ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในยุคไทโช เมื่อ ค.ศ.1922 (ภาพจาก The New York Public Library)

ท่านผู้อ่านคงผ่านตากับการ์ตูนเรื่อง “ดาบพิฆาตอสูร” หรือ Kimetsu no Yaiba อนิเมะเรื่องดังที่กำลังเป็นกระแส ซึ่งมีฉากหลังเป็นประเทศญี่ปุ่นใน ยุคไทโช และเชื่อว่าเป็นลูกหลานหลายคนของท่านคงติดงอมแงม เพราะมีเนื้อเรื่องที่สนุก เข้าใจง่าย และเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้มีจินตนาการกับพลังปราณกับวิถีดาบ จึงทำให้การ์ตูนเรื่องนี้เป็นที่ฮอตฮิตทั้งในไทยและทั่วโลก

การดำเนินเนื้อเรื่องของดาบพิฆาตอสูร ด้วยยุคไทโชนั้นมีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะเป็นยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่เราหลายคนอาจไม่ค่อยคุ้นชินเท่ายุคเมจิหรือยุคโชวะ เพราะ ยุคไทโช ได้ปรากฏบนหน้าประวัติศาสตร์เพียง 15 ปีเท่านั้น

ไทโช (Taisho : 大正) ในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่า ความชอบธรรมอันยิ่งใหญ่ เป็นชื่อรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิโยชิฮิโตะ ซึ่งครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1912 ถึง 25 ธันวาคม ค.ศ. 1926 (ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7) 

สมเด็จพระจักรพรรดิโยชิฮิโตะ หรือ จักรพรรดิไทโช ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระจักรพรรดิมุตสึฮิโตะ หรือ จักรพรรดิเมจิ ผู้ฟื้นฟูพระราชอำนาจของจักรพรรดิกลับมาและนำพาญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ผ่านการปฏิรูปเมจิ

ญี่ปุ่นในยุคเมจิสามารถเติบโตจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการยึดครองไต้หวัน เกาหลี และแมนจูเรีย หลังจากรบชนะจีนในสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 และสงครามญี่ปุ่น-รัสเซีย ทำให้เมื่อจักรพรรดิไทโชสืบราชสมบัติต่อจากพระบิดาเมื่อพระชนมายุได้ 33 ปี ญี่ปุ่นในยุคสมัยของพระองค์กลายเป็นยุคต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในยุคเมจิ

ทว่า ยุคไทโชได้เริ่มต้นด้วย “วิกฤตการเมืองแห่งยุคไทโช” เกิดการเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลติดกัน 3 คน ภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี จักรพรรดิไทโชไม่อาจรักษาสถานะทางอำนาจของสถาบันจักรพรรดิเหมือนเช่นพระบิดา เพราะพระองค์ทรงมีพระพลานามัยอ่อนแอ ไม่สามารถบริหารบ้านเมืองได้สะดวก 

อีกทั้ง แนวคิดประชาธิปไตยและเสรีนิยมจากตะวันตกได้กลายเป็นที่นิยมแพร่หลายในยุคไทโช ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายต่อระบอบคณาธิปไตยที่นายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของจักรพรรดิตามคำปรึกษาของคณะรัฐบุรุษอาวุโส 

การเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองสู่ระบอบรัฐสภาและพรรคการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้รัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งขึ้นมาบริหารประเทศ โดยที่จักรพรรดิไทโชแทบไม่มีบทบาทใด ๆ ในทางการเมือง ซึ่งการเมืองญี่ปุ่นในยุคดังกล่าว ถูกเรียกว่า ประชาธิปไตยยุคไทโช หรือ ไทโชเดโมเครซี

แต่ญี่ปุ่นในยุคไทโชยังคงสามารถแสดงแสนยานุภาพได้อย่างต่อเนื่อง โดยการชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 ร่วมกับฝ่ายไตรภาคี (สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา) ทำให้ญี่ปุ่นสามารถแผ่ขยายอำนาจไปที่หมู่เกาะแปซิฟิกตอนใต้ และมีตำแหน่งเป็นสมาชิกถาวรของสันนิบาตแห่งชาติ สะท้อนให้เห็นได้ว่า ยุคไทโช คือ ช่วงที่จักรวรรดิญี่ปุ่นก้าวขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจของโลกได้อย่างแท้จริง 

การเปิดกว้างทางวัฒนธรรมที่มากขึ้นในยุคไทโช โดยการยอมรับวัฒนธรรมจากตะวันตกเข้ามาปรับใช้ในสังคมญี่ปุ่น จากแนวคิดที่พยายามทันสมัยทัดเทียมกับตะวันตก ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมต่าง ๆ ของตนเองไว้ ทำให้ยุคไทโชกลายเป็นยุคผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างความดั้งเดิมกับความเป็นสมัยใหม่

ผู้คนหันมานิยมแต่งตัวทันสมัยตามแบบสากลตะวันตก ตึกรามบ้านช่างก่อขึ้นจากอิฐและปูน แม้แต่บ้านไม้ญี่ปุ่นยังมีการปรับรูปให้เข้ากับชีวิตสมัยใหม่ ผู้คนสามารถเดินทางได้ง่ายขึ้นจากการใช้ถนน รถราง รถไฟ และออกมาใช้ชีวิตตอนกลางคืนได้เพราะมีไฟฟ้า ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการบริโภคในด้านต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ ดนตรี อาหาร และ วรรณกรรม เป็นต้น 

ขบวนการทางการเมืองกลายเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน ยังส่งเสริมให้ผู้คนตระหนักในสิทธิของตนเองมากยิ่งขึ้น ทำให้ค่านิยมอิงกับตะวันตกมากขึ้น เกิดการตระหนักความเท่าเทียมทางเพศ เริ่มให้ผู้หญิงมีบทบาทออกมาทำงาน และให้เกียรติผู้หญิงที่มีตำแหน่งงานสูงกว่า และสภาพสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากการพัฒนาของแนวคิดทางสังคมและเทคโนโลยี 

ทว่า ในช่วงปลายยุคไทโช ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในแถบที่ราบคันโตเมื่อกันยายน ค.ศ. 1923 ซึ่งแผ่นดินไหวครั้งนี้ครอบคลุมไปถึงกรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100,000 ราย และเกิดเหตุเพลิงไหม้ สร้างความเสียหายกว่า 3 ล้านครัวเรือน ความทะเยอทะยานของญี่ปุ่นในการเป็นมหาอำนาจจึงต้องสะดุดลง

สังคมญี่ปุ่นภายใต้ยุคประชาธิปไตยไทโชยังเกิดวิกฤติการเมืองเพราะการแย่งชิงอำนาจภายในของสมาชิกรัฐสภา เปิดโอกาสให้กองทัพได้โอกาสเข้ามามีบทบาท และใช้อำนาจกดขี่ผู้เห็นต่างทางการเมืองกับกองทัพอย่างรุนแรง จนเมื่อพระองค์สวรรคตเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1926 ยุคไทโชจึงได้ปิดฉากลงและมีระยะเวลาเพียง 15 ปี

หลังยุคไทโช สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ พระราชโอรสของจักรพรรดิไทโช ทรงขึ้นครองราชย์และใช้ชื่อรัชสมัย โชวะ ซึ่งตอนต้นรัชสมัยของจักรพรรดิโชวะ กองทัพเริ่มเข้ากุมอำนาจเบ็ดเสร็จ และลดบทบาทรัฐสภา หันไปอิงแอบอำนาจสถาบันจักรพรรดิ โดยการเชิดชูพระจักรพรรดิในฐานะผู้กุมอำนาจสูงสุดผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทำให้ประชาธิปไตยยุคไทโชถดถอยและล่มสลาย เปิดโอกาสให้ลัทธิทหารนิยมรุ่งเรืองถึงขีดสุด และนำจักรวรรดิญี่ปุ่นไปสู่การทำสงครามโลกครั้งที่สอง 

แม้ยุคไทโชจะมีระยะเวลาเพียง 15 ปี และเป็นยุคคั่นกลางระหว่างยุคเมจิและยุคโชวะ ยุคสำคัญของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่มีเหตุการณ์ที่เด่น ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้ยุคไทโชไม่เป็นที่ถูกพูดถึงเท่าที่ควร แต่ยุคไทโชถือเป็นยุคที่มีเสน่ห์และน่าทรงจำสำหรับชาวญี่ปุ่น เพราะเป็นตัวเชื่อมสำคัญระหว่างญี่ปุ่นยุคดั้งเดิมไปสู่ญี่ปุ่นสมัยใหม่ จนมีคำว่า ไทโชโรมัน (大正浪漫) หรือ ความโรแมนติกยุคไทโช เพื่อระลึกถึงความทรงจำที่ดีของชาวญี่ปุ่นต่อยุคดังกล่าว 

โคโยฮารุ โกโตเกะ ผู้เขียน “ดาบพิฆาตอสูร” จึงสามารถนำประวัติศาสตร์ยุคไทโชมาร้อยเรียงเขียนเป็นเรื่องราวของการต่อสู้กับอสูร ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติที่กำลังหายไปและกำลังถูกทดแทนด้วยความเจริญในยุคใหม่ ได้อย่างกลมกลืนและทำให้ผู้คนสามารถหันมาสนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นในยุคไทโชได้เป็นอย่างดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สตอร์รี, ริชาร์ด. ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นสมัยใหม่. [ม.ป.ท.] : โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2520.

https://blog.japanwondertravel.com/taisho-period-japan-22914#toc2

https://doyouknowjapan.com/history/taisho/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มิถุนายน 2566